กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เสนอ 2 มาตรการต่อรัฐมนตรีพลังงานแล้ว คือ “มาตรการลดภาษีสำหรับผู้ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อป” และ “มาตรการลดหย่อนภาษีในส่วนของนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ใน 13 รายการ” เพื่อเตรียมยื่น ครม. เห็นชอบเร็ว ๆ นี้ คาดเริ่มใช้จริง ก.ค. 2567 คงเป้าหมายเดิมที่กลุ่มบ้านอยู่อาศัย 9 หมื่นครัวเรือนที่ติดโซลาร์รูฟท็อปไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี | ที่มาภาพ: การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
Energy News Center รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2567 ว่านายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เผยความคืบหน้ามาตรการลดภาษีสำหรับผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ว่า พพ. ได้นำมาตรการดังกล่าวเสนอต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขรายละเอียด เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้จริงประมาณเดือน ก.ค. 2567 นี้ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่คาดว่าจะได้ใช้จริงในเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2567
โดย พพ. ยังคงเป้าหมายเดิม คือให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีกับกลุ่มบ้านอยู่อาศัย 9 หมื่นครัวเรือน ซึ่งเบื้องต้นระยะเวลาของมาตรการดังกล่าวน่าจะกำหนดใช้เพียง 2 ปี คือ ระหว่างปี 2567-2569 ซึ่งจะลดหย่อนภาษีให้ผู้ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อป เฉพาะกลุ่มบ้านอยู่อาศัย ที่เน้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้าน และมีระบบโซลาร์รูฟท็อปไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย ซึ่งกระทรวงการคลังจะออกหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษีที่ชัดเจนต่อไป เช่น ให้ 1 คน ต่อ 1 สิทธิ์ สำหรับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใน 3 ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ตามคาดว่ามาตรการลดภาษีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนี้ จะช่วยให้เกิดการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปประมาณ 20,250 ล้านบาท และช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 585 ล้านหน่วยต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้ประมาณ 9,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,100 ล้านบาท รวมทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.28 ล้านตันต่อปี
นอกจากนี้ พพ. จะนำเสนอ ครม. พิจารณาในคราวเดียวกัน เพื่อขออนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีในส่วนของนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ใน 13 รายการดังนี้ ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, เครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็นแสดงสินค้า, เครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ, เครื่อง VSD, เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ, ปั๊มความร้อน, เครื่องเชื่อมไฟฟ้า, ฟิล์มติดกระจก, สีทาอาคาร, มอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำ และกระจก ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ต้องเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 ด้วย
โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์ดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้ แบบทยอยหักต่อเนื่อง 5 ปีภาษี ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าสะสม 5 ปี ได้ 29,020 ล้านหน่วยต่อปี และยังช่วยลดการนำเข้า Spot LNG หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลวในราคาตลาดจรได้ 203 ล้าน MMBTU หรือคิดเป็นมูลค่า 105,551 ล้านบาท และลดการสะสมก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ