เวที “เขื่อน โรงไฟฟ้า และแผนพลังงาน คนอีสานว่าจั่งใด๋” ระดมความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 คนอีสานขอให้หยุดสร้างและรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาว หันมาใช้ทรัพยากรในประเทศให้เต็มที่
JustPow รายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2567 ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี Louder, International Rivers ร่วมกับ JustPow จัดเวที “เขื่อน โรงไฟฟ้า และแผนพลังงาน คนอีสานว่าจั่งใด๋” ระดมความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 พร้อมจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อให้เสียงของคนภาคอีสานถูกรับฟังในร่างแผน PDP2024 ฉบับนี้
เริ่มต้นด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อปเรื่องโครงสร้างพลังงานไทยและค่าไฟ ตามมาด้วยเวทีเสวนา “แผนพีดีพี 2024 สิ่งที่เห็นและสิ่งที่ควรจะเป็น” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าโครงการวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ธีรวุฒิ ไชยธรรม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไพบูลย์ จงสุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยิ่งยงมินิมาร์ท และสดใส สร่างโศรก เครือข่ายจับตาน้ำท่วมและเขื่อนแม่น้ำโขงอุบล
สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย Fair Finance Thailand กล่าวถึงตัวเลข 4 ตัวในแผน PDP ที่น่าสนใจและควรตั้งคำถามอย่างจริงจัง คือ 100-15-0-0 โดยตัวเลข 100 มาจากการคาดการณ์ว่าภายในปี 2580 เราจะมีกำลังการผลิตไฟสำรองเกิน 100% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งเป็นการวางแผนที่เกินความจำเป็นและอาจสร้างภาระต้นทุนที่สูงเกินไป ตัวเลขที่ 2 คือ 15 ซึ่งหมายถึงสัดส่วนเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศที่เพิ่มจาก 9% เป็น 15% จากการซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนในประเทศลาวกว่า 3,500 เมกะวัตต์ แม้เขื่อนที่มีจะยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาถูก แต่ประเทศไทยกลับเลือกไม่ต่อสัญญากับเขื่อนเก่า และเลือกจะเซ็นสัญญากับเขื่อนใหม่แทน ซึ่งอาจทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
ส่วนเลข 0 ตัวแรกหมายถึงจำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าก๊าซที่จะปลดระวาง ในแผนยังคงมีถ่านหินอยู่ 7% และแม้ว่าการใช้ก๊าซจะมีสัดส่วนลดลง แต่กำลังการผลิตและจำนวนโรงไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้น ทั้งที่องค์การพลังงานโลกย้ำว่าการจะบรรลุเป้าหมาย net zero ทุกประเทศต้องหยุดสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซและถ่านหินเพิ่ม และทยอยปลดระวางโรงเก่า ตัวเลข 0 ตัวสุดท้าย หมายถึงจำนวนเมกะวัตต์ที่จะรับซื้อจากโซลาร์รูฟท็อปของประชาชนในร่างแผน PDP ทั้งที่โซลาร์รูฟท็อปมีศักยภาพและเป็นโอกาสสำคัญของพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย หากรัฐต้องการให้พลังงานมั่นคงจริง ควรส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม สุดท้าย สฤณีให้คะแนนร่างแผน PDP นี้เพียง 2 จาก 10 คะแนน เนื่องจากแผนไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม และมีการใช้เทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) ในปลายแผน แต่การใช้ CCS มีต้นทุนสูงมาก และแผนยังไม่มีการกล่าวถึงภาษีคาร์บอนในอนาคต ทำให้ต้นทุนจริงที่ผู้ใช้ไฟต้องแบกรับอาจสูงกว่าที่ประเมินไว้มาก
ธีรวุฒิ ไชยธรรม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า หากจะมองพลังงานอาจแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ 1.สัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้ามาจากไหนและมีผลกระทบอย่างไร และ 2.ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้หลายครั้งมักขัดแย้งกันเอง เช่น ถ่านหินลิกไนต์ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง แต่ต้นทุนต่ำ ขณะที่พลังงานน้ำหรือแสงอาทิตย์ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย แต่ต้นทุนยังสูง ถ้าอยากจะลดค่าไฟ พลังงานที่จะเอามาผลิตก็จะทำลายธรรมชาติ ฉะนั้น เราจึงต้องพยายามหาจุดสมดุลของทั้งสองส่วน นอกจากนั้น ธีรวุฒิยังกล่าวถึงบทบาทของภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับแผน PDP ว่า ถ้ามองว่าเราเป็นคนคนหนึ่ง เราส่งเสียงไปไม่ถึงหรอกครับ แต่ถ้ามองว่าเราเป็นกลุ่มก้อน เราก็จะมีเสียงที่ดังมากพอที่อาจจะไปทำให้เขารู้สึกรำคาญหูได้ ถ้าเราอยากจะมีบทบาทในแผนระดับประเทศ เราต้องรวมกลุ่มกันให้ได้ ให้เป็นน้ำเสียงเดียวกัน เพื่อที่จะส่งเสียงไปถึงภาครัฐให้ได้
ไพบูลย์ จงสุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยิ่งยงมินิมาร์ท ซึ่งเป็นเจ้าของ 7-11 กว่า 237 สาขาในจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ และเป็นหนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าโซลาร์เซลล์มีต้นทุนที่ถูกและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ภาครัฐกลับไม่สนับสนุนให้ประชาชนและเอกชนเข้าถึงได้ง่าย ยกตัวอย่าง กรณีรัฐบาลอินเดีย ที่ออกนโยบายติดโซลาร์เซลล์ให้กับประชาชน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ในขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่ทำตามนโยบายเหมือนที่เคยหาเสียงไว้ เมื่อผลกระทบตกมาที่ประชาชน ภาคธุรกิจก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ทั้งนี้ ไพบูลย์เชิญชวนให้ภาคประชาชนออกมาส่งเสียงไปยังรัฐบาลให้สนับสนุนโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน ควรส่งเสริมให้ประชาชนสามารถติดโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าไฟในครัวเรือน โดยที่การไฟฟ้าต้องรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนคืนด้วย และสนับสนุนให้การไฟฟ้าหันมาใช้มิเตอร์แบบ TOU (Time of Use Meter) แทนมิเตอร์แบบเดิม
สดใส สร่างโศก จากเครือข่ายจับตาน้ำท่วมและเขื่อนแม่น้ำโขงอุบล ผู้ต่อสู้เรื่องเขื่อนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน กล่าวว่ากระบวนการต่อสู้มี 2 ระยะ คือระยะยาวและระยะสั้น สำหรับระยะยาวมองว่าต้องติดตามแผน PDP หากปีนี้สู้ไม่สำเร็จแต่ฉบับใหม่ในปีต่อๆ ไปต้องทำให้สำเร็จให้ได้ สิ่งที่เสนอคือในการร่างกรอบแผนต้องสอดคล้องกับนโยบายที่กำหนดมา 8 ข้อ และเสนอว่ากระบวนการพยากรณ์ไฟฟ้าควรคำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่านี้ และจะต้องให้ประชาชนเข้าถึงและสามารถผลิตไฟเองได้ ภาครัฐควรสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน อาจเป็นมาตรการจูงใจการติดตั้ง หรือการสนับสนุนในทางการเงิน
ขณะที่ระยะสั้น สดใสเสนอว่า ต้องร่วมกันหยุดเขื่อนในแม่น้ำโขง เนื่องจากร่างแผน PDP ระบุให้สร้างเขื่อนเพิ่มอีก ต้องร่วมกันลงชื่อคัดค้านโรงไฟฟ้า จากที่ผ่านมามีการสร้างโรงไฟฟ้าจากเขื่อนมากมายก็ไม่ได้ทำให้คนอีสานจ่ายค่าไฟลดลง ทั้งที่แบกรับผลกระทบจากโรงไฟฟ้ามากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างเป็นผลจากการวางแผน PDP ที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเลย
ในส่วนของการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ มีข้อเสนอให้รัฐต้องมีแผนปลดระวางเขื่อนที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน โดยผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพก่อน กำหนดเงื่อนไขในการปลดระวางเขื่อนให้ชัดเจน และชดเชยผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนให้ครบถ้วน เสนอให้ทุบเขื่อนเพื่อลดก๊าซคาร์บอนและก๊าซมีเทน ซึ่งจะส่งผลต่อการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรมีการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวและสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงอีก พร้อมเรียกร้องให้ศึกษาผลกระทบของเขื่อนใน สปป. ลาวที่มีอยู่ก่อนจะสร้างเขื่อนใหม่ ควรตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบของเขื่อนในลาวที่สร้างแล้ว เช่น ไซยะบุรี หรือเขื่อนที่ทำสัญญาแล้ว ก่อนที่คิดจะเดินหน้าสร้างเขื่อนใหม่ ควรคำนึงถึงความมั่นคงของไฟฟ้าไทยที่พึ่งพิงไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในสัดส่วนที่มากขึ้นในแผน PDP ว่าจะมีความเสี่ยงลักษณะใดที่เกิดขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะการที่ไทยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยที่สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศผันผวน เช่น อิทธิพลของจีนต่อลาว นอกจากนี้ ด้วยความที่ทรัพยากรที่ใช้ในการสร้างเขื่อนมาจากประชาชนทุกคน จึงควรต้องให้ประชาชนเป็นผู้ถือหุ้นในการลงทุนสร้างเขื่อนด้วย
ขณะที่ข้อมูลจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ระบุถึงแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 โรงในภาคอีสานนั้น ผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นตรงกันว่าไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะนั้น ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.3/2559, 4/2559 ซึ่งให้โรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นที่ใดก็ได้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีอยู่ในปัจจุบันกระจายตัวในทุกจังหวัดไม่โปร่งใส ต้องให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ต้องการให้โรงไฟฟ้าชีวมวลตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน ต้องเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้เทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานและวางแผนบนฐานทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่จริง เช่น ปริมาณขยะหรือวัสดุที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า
ส่วนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ มีข้อเสนอว่า ควรต้องเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในแผน PDP เป็นอย่างน้อย 25% ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เอง เช่น โซลาร์เซลล์บนหลังคา ควรมีกองทุนเพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโครงการคนละครึ่งที่รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งครึ่งหนึ่งของต้นทุนทั้งหมด
ส่วนกระบวนการจัดทำแผน PDP2024 นั้น มีข้อเรียกร้องให้ทบทวนแผน PDP เพราะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็น ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยเน้นการกระจายอำนาจ แทนที่จะกำหนดมาจากส่วนกลาง ควรมีการจัดทำแผน PDP ภาคประชาชน และเสนอต่อหน่วยงานจัดทำแผน PDP นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ชี้แจงเรื่องการปรับการปรับหลักเกณฑ์การเปลี่ยนจากเกณฑ์สำรองไฟฟ้า 15% มาเป็นการใช้เกณฑ์ LOLE 0.7 วันต่อปี และหากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต้องพิจารณาจากระดับของผลกระทบก่อนเป็นลำดับแรกด้วย
หมายเหตุ : JustPow ขอเชิญชวนผู้ใช้ไฟทุกภาคทั่วประเทศร่วมโหวตความเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอไปยังภาครัฐ โดยสามารถเข้าไปโหวตได้ที่ https://forms.gle/TSbYPrVWLQyRmG3L6 ซึ่งประเด็นในการโหวตความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 นี้มาจากประเด็นที่อยู่ในเอกสาร “13 ข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024” ซึ่งจัดทำโดย JustPow https://justpow.co/project-ebook-pdp/ |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ