วงเสวนาเห็นร่วมกระจายอำนาจ ยกเลิกหลายระเบียบ ฉุดรั้งท้องถิ่น

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ต.ค. 2567 | อ่านแล้ว 7477 ครั้ง

ภูมิใจไทย-คณะก้าวหน้า ตัวแทนวิชาการ ภาคประชาชนร่วมวงถก กระจายอำนาจแบบใด สามารถพัฒนาท้องถิ่นได้ดีที่สุด สองกลุ่มการเมืองเห็นตรงกัน ควิกวินเสนอแก้ระเบียบที่เป็นอุปสรรค ภูมิใจไทยเสนอกระจายเม็ดเงิน ส่วนธนาธรเชียร์ พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เลือกตั้งผู้ว่าฯ ลองก่อนหนึ่งจังหวัด

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567 ที่ SCC Creative Space ประชาไทจัดงานเสวนาในหัวข้อ “เดินหน้าแล้วถอยหลัง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์เสวนา ‘ประเทศไทยในรอบ 20 ปี’ โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นในวาระครบรอบ 20 ปี ก่อตั้งสำนักข่าวประชาไท

ผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือ EnLaw และ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แก้ระเบียบที่เป็นอุปสรรค ก้าวแรกที่ทำได้เลย

สิริพงศ์ จากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่านโยบายการกระจายอำนาจของพรรคภูมิใจไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายงบประมาณและกระบวนการมีส่วนร่วม จึงมองว่าก้าวแรกของการกระจายอำนาจคือการตรากฎหมายใหม่ ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขกฎหมายชั้นรอง ระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค อะไรเดินหน้าได้ง่ายก็ทำก่อน ตัวไหนยากก็เอาไว้สุดท้าย

คนมักบอกว่า สส. พรรคภูมิใจไทยชอบอภิปรายแต่ปัญหาเชิงพื้นที่ เหตุผลก็เพราะมันมีปัญหาแบบนั้นจริงๆ ซึ่งหลายเรื่องท้องถิ่นก็ทำได้ แต่ไม่มีงบประมาณ อย่างเช่นในจังหวัดศรีสะเกษ สะพานลอยหนึ่งใช้งบเทศบาลทำ อีกที่หนึ่งเป็นงบของกรมทางหลวง หรือนโยบายเรียนฟรีของกระทรวงศึกษาธิการ เราก็ยอมรับว่าไม่ได้เรียนฟรีจริง เพราะงบที่จัดสรรไปให้ ไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กเรียนได้ในคุณภาพที่แข่งขันได้จริง มีอยู่บางโรงเรียนที่บริหารจัดการได้ดีโดยที่ไม่ต้องมาเก็บเงินผู้ปกครองเพิ่ม 

ในประเด็นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม สิริพงศ์ยกตัวอย่างกรณีการทำผังเมือง ชาวบ้านมักไม่มาในกระบวนการมีส่วนร่วม แต่จะมาส่งเสียงตอนที่ตัวเองสร้างบ้านไม่ได้ เพราะฉะนั้นตนมองว่าต้องรื้อตั้งแต่รูปแบบกระบวนการเลยแต่ในบางเรื่อง ถ้าส่วนกลางมาเป็นผู้คุมกฎ คอยสนับสนุนในส่วนที่ขาด ตนมองว่าทำได้ เพราะว่าอาจไม่ใช่ทุกเรื่องที่ท้องถิ่นจัดการแล้วเวิร์ค เช่น เรื่องบริหารจัดการน้ำ

ขณะที่ธนาธรจากคณะก้าวหน้า เห็นตรงกับสิริพงศ์ในเรื่องการแก้กฎหมายชั้นรองที่เป็นอุปสรรค กฎหมายที่ไม่ใช่มติครม.และไม่ใช่ พ.ร.บ. สามารถยกเลิกได้ในระดับกระทรวงได้เลย สิ่งที่ควรยกเลิกไปได้แก่ ระเบียบกระทรวงที่เขียนไว้ว่า นายก อบต. จะเดินทางไปสัมมนาที่กรุงเทพฯ ต้องขออนุญาตผู้ว่าฯ ก่อน หรือ การให้ผู้ว่าฯ มาเปิดประชุมสภาท้องถิ่น และยังมีระเบียบอีกหลายฉบับที่จะทำให้การทำงานของท้องถิ่นคล่องตัวขึ้น

พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ลองก่อน 1 จังหวัด

“ตั้งแต่คุณเกิดมา คุณตื่นนอนมาในตำบลของคุณ เช้าถึงเย็นเจออะไรบ้าง บริการที่คุณเจอควรจะอยู่ใน อบต.นั้นๆ เรื่องพื้นฐาน ให้จังหวัดเชื่อมโยงท้องถิ่นเข้าหากัน ส่วนระดับประเทศ เลิกยุ่งกับสะพานลอย เลิกยุ่งกับน้ำบาดาล แล้วไปทำในสิ่งที่พาประเทศไปข้างหน้า”

ธนาธรเริ่มต้นด้วยการเล่าปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่สุดของท้องถิ่น จากที่อํานาจและงบประมาณกระจุกอยู่ส่วนกลาง โดยยกกรณีการสร้างโรงประปาในเทศบาลหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ ทางเทศบาลต้องการสร้างโรงประปาใหม่ข้างๆ โรงเดิม บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ป่า แต่ในสภาพความเป็นจริงไม่เหลือป่าแล้ว เป็นเพียงพื้นที่ว่างๆ ที่ไม่ใหญ่และเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งกระบวนการในการขอใช้พื้นที่ตรงนี้สร้างโรงประปาจะต้องขออนุมัติถึง 17 ลายเซ็น เพียงเพื่อจะตั้งโครงการให้ทันในปีงบประมาณ

ธนาธรกล่าวต่อไปว่า สิ่งน่าสนใจในขณะนี้คือความเคลื่อนไหวของชาวเชียงใหม่ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เพื่อให้ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ แบบกรุงเทพฯ ซึ่งในช่วงหาเสียงทั้งพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลต่างก็มีนโยบายนี้ เพียงแต่ของเพื่อไทยเป็นการเสนอให้ทำทีละจังหวัด ส่วนก้าวไกล เสนอให้ทำพร้อมกันทั้งประเทศ ถ้าเกิดว่าล่ารายชื่อครบ ร่าง พ.ร.บ.นี้ก็จะเข้าสู่สภา จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นว่าจะโหวตผ่านไหม เพราะก็ตรงกับนโยบายพรรคเพื่อไทยด้วย

เพราะว่าในการประชุมสภา เรามักจะเห็น สส.เอาปัญหาในท้องถิ่นมาพูด ซึ่งก็มักเป็นการขออำนาจและงบจากกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ คงไม่สามารถรับรู้ปัญหาของประชาชนในระดับตำบลได้ ทั้งเรื่องน้ำประปา สะพานหัก หรือการจัดการขยะ เพราะฉะนั้นการให้ผู้ว่าฯ ต้องเป็นคนเลือกปัญหาในท้องถิ่นไปของบจากส่วนกลางมาแก้มันจึงไม่ตอบโจทย์

ภท.เสนอ “ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน” เพิ่มงบท้องถิ่น

สิริพงศ์กล่าวย้ำว่าพรรคเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจ แต่อาจจะไม่ได้พูดเรื่องนี้มากนัก เพราะว่าพรรคไม่ได้มีวิธีการไปแก้เชิงโครงสร้างเช่นเดียวกับก้าวไกล แต่จะมีวิธีอีกแบบที่เน้นเรื่องการกระจายเม็ดเงินลงท้องถิ่น

“เราคิดว่าการกระจายอำนาจทางการเงินจะเป็นส่วนที่ทำให้ท้องถิ่นพัฒนาได้อย่างรวดเร็วกว่า”

เขาเล่าย้อนว่าตนเป็นเด็กต่างจังหวัด เติบโตมากับการเห็นถนนหน้าโรงเรียนเป็นดินลูกรัง ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มี อบจ. ทำให้เห็นว่าการเติบโตของท้องถิ่นเป็นอย่างไร เมื่อท้องถิ่นตัดสินใจเองได้ก็สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด แต่ปัญหาหนึ่งที่ตนเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ คือภารกิจของท้องถิ่นมีเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่ไม่เพิ่มตามคืองบประมาณ

รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเสริมว่า นี่เป็นที่มาให้พรรคภูมิใจไทยเสนอนโยบาย ‘ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน’ ซึ่งมีลักษณะเป็นภาษีที่เก็บจากผู้ประกอบการที่ไปทำธุรกิจในพื้นที่ท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อเป็นการกระจายเม็ดเงินในการพัฒนาท้องถิ่น

ตัวอย่างเช่น ปกติแล้วเวลาห้างใหญ่ที่ไปเปิดสาขาในต่างจังหวัด ต้องเสียบำรุงท้องที่, ภาษีป้ายให้กับท้องถิ่น แต่ในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีสรรสามิต ก็มีส่วนที่ท้องถิ่นได้ แต่จะมาจากการจัดสรรของส่วนกลางอีกที ซึ่งการจัดสรรแบบนี้ทำให้การพัฒนาของเมืองเล็กกับเมืองใหญ่เป็นไปในลักษณะที่ไม่เท่ากัน

“เมื่อคุณมาใช้ทรัพยากรที่นี่ คุณต้องมีส่วนในการเสียภาษีในการพัฒนาทรัพยากรที่นี่ และประชาชนจะต้องมีสิทธิเลือกเหมือนกับตอนที่เราไปบริจาคเงินให้พรรคการเมือง เราก็เลือกว่าจะบริจาคให้พรรคไหน แต่ทำไมเราไม่เคยตัดสินใจได้เลยว่า เงินภาษีที่ฉันเสียฉันอยากจะให้ 20% หรือ 30% ของฉันไปพัฒนาที่จังหวัดไหน”

กระจายอำนาจจัดการทรัพยากร

“เราต้องมองว่าทรัพยากรแร่ ป่าไม้ การใช้ประโยชน์ในที่ดิน เป็นการใช้ร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ แต่การที่ส่วนกลางมากำหนดว่าพื้นที่นั้นสามารถเปิดให้นายทุนเข้าไปขอเพื่อสัมปทานทำเหมืองแร่ได้ มันเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ เพราะชุมชนเห็นว่าทรัพยากรแร่ในพื้นที่มีประโยชน์อย่างอื่น ที่จะนำไปพัฒนา มากกว่าให้บริษัทเอาไปทำเหมือง”

สุภาภรณ์กล่าวว่า นอกเหนือจากการจัดทำบริการสาธารณะ อีกสิ่งสำคัญคือการกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่เป็นผู้ร่วมตัดสินใจ กำหนดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

ตัวอย่างเช่น แผนการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ในแต่ละจังหวัด ถูกกำหนดจากส่วนกลาง โดยคณะกรรมการบริหารจัดการแร่ว่าพื้นที่ไหนที่จะมีศักยภาพแร่ แล้วเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปขออนุญาตทำเหมือง แต่ว่าท้องถิ่นเองแทบไม่มีส่วนร่วม

ส่วนในประเด็นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ตอนที่มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ก็เป็นกระบวนการออนไลน์ทางเว็บไซต์ การเข้าถึงของประชาชนก็น้อย

อีกส่วนคือ แม้ว่า พ.ร.บ. แร่ จะมีเขียนไว้ว่าจะต้องสงวนบางพื้นที่เอาไว้ แม้ว่าจะมีแร่ แต่สิ่งสำคัญคือการลงไปดูพื้นที่ร่วมกับชุมชน เพื่อประเมินร่วมกันว่าพื้นที่นั้นมีศักยภาพอื่น มีมูลค่าอื่นหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านมักไม่ได้มีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ การมีส่วนร่วมจึงไม่เกิดขึ้นจริง แต่จะเกิดขึ้นแบบทำไปให้ครบๆ โดยการกำหนดมาจากส่วนกลาง

อีกตัวอย่างคือ การบริหารจัดการน้ำ โดยมากส่วนกลางจะเป็นคนกำหนด โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้ทั้งทรัพยากรดินและน้ำ อย่างเช่น อีอีซี (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor : EEC) โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่สร้างจีดีพีให้ประเทศจำนวนมาก แต่คนในพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้

“อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อ้างว่าสร้างเพื่อการเกษตร กลุ่มเกษตรกรก็เข้าไม่ถึง เพราะท่อต่อไปที่บริษัทเอกชน แล้วบริษัทก็เอาน้ำไปขายกับอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำ แต่ว่าคนในพื้นที่ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงน้ำ เพื่อใช้ประกอบอาชีพและดำรงชีวิต อยู่ตรงไหนในกระบวนการตัดสินใจ”

คณะรัฐประหารทำการกระจายอำนาจถอยหลังไปไกล

สำหรับคำถามเรื่องพลวัตรของการกระจายอำนาจในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา วีระศักดิ์ นักวิชาการจากจุฬาฯ มองว่า มี 2 ส่วน ทั้งในมุมที่เดินไปข้างหน้าและถอยหลัง แต่ส่วนที่ถอยหลังนั้นมีมากกว่า

ในสมัยก่อน หน้าที่ของท้องถิ่นอาจจะเป็นพวกการจัดการเรื่องพื้นฐานทั่วไปอย่าง “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” ซึ่งมันเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของคน แต่ต่อมาภารกิจที่เคยทำก็อาจจะไม่พอกับปัญหาที่เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐต้องมาวางทิศทางการพัฒนา แต่ปัญหาของเมืองไทยก็คือ รัฐบาลต้องรับผิดชอบหลายเรื่องเกินไป หลายๆ เรื่องก็ควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการได้

ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนถนนลูกรังให้เป็นถนนลาดยาง แต่เดิมกว่าจะทำได้ต้องใช้เวลาราวๆ 5 ปีถึง 10 ปี ต้องไปเข้าหา สส. กว่าโครงการจะได้งบ กว่าจะได้ทำ แต่พอมีการกระจายอำนาจ โครงการก็เสร็จไวกว่าเดิม

สำหรับคำถามที่ว่า กระจายอำนาจเป็นคำตอบของการพัฒนาท้องถิ่นไหม?

วีระศักดิ์เล่าว่า ช่วงปี 2557 เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ตอนนั้นมีฝ่ายความมั่นคงถามตนทำนองว่า สรุปแล้วการมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี ควรจะมีอยู่ไหม ช่วงนั้นเผอิญว่างานวิจัยของตนเสร็จพอดี วิจัยนี้ทำขึ้นหลังจาก 15 ปีของการมีกฎหมายกระจายอำนาจ โดยตนไปเก็บข้อมูลทั้งจากฝั่ง อปท. ที่นับว่าเป็นผู้ให้บริการ และฝั่งประชาชน ที่ถือเป็นผู้รับบริการ ไปถามประชาชนหมื่นกว่าครัวเรือนทั่วประเทศ  

คำถามสำคัญของงานวิจัยนี้มี 2 ข้อ ข้อแรก – ถ้าคุณอยากได้บริการสาธารณะมากมายจากท้องถิ่น แล้วคุณอยากจ่ายภาษีให้ท้องถิ่นไหม ผู้ตอบคำถามร้อยละ 75 ตอบว่ายินดีจ่ายภาษีให้ท้องถิ่น

ข้อสอง – เรามักได้ยินว่าเรื่องนักการเมืองในท้องถิ่นคอร์รัปชัน ฉะนั้นคุณคิดว่าควรแก้ปัญหาด้วยการยุบ อปท. ทิ้งไปเลยดีไหม ผู้ตอบร้อยละ 75 อยากให้ อปท.มีอยู่ต่อไป ส่วนเรื่องการโกงก็ควรไปแก้กันให้ตรงจุด

ในเรื่องของการกระจายอำนาจ ถ้ามองในมิติของการบริหาร บทบาทของส่วนกลางควรเป็นผู้หนุนเสริมศักยภาพของท้องถิ่น แต่ก็พบว่ามีอุปสรรคหลายอย่างที่คอยดึงฉุดรั้งไม่ให้ท้องถิ่นโตไปกว่านี้

ผ่านมาแล้วจะเข้าทศวรรษที่สี่ตั้งแต่สมัย รสช. ตนคิดว่ามันมีส่วนที่เดินหน้า แต่ส่วนที่ฉุดให้ถอยหลังมีเยอะกว่า เป็นการเดินหน้า 10 ก้าว แต่ถอยกลับไปถึง 20 ก้าว

การยึดอำนาจในปี 2557 ถือเป็นจุดหนึ่งที่ยิ่งทำให้เราก้าวถอยหลัง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมรดกของ คสช. หลายอย่าง ได้แก่ การชะลอไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น, กระบวนการตรวจสอบนักการเมืองที่ไม่ได้ทำอย่างตรงไปตรงมา แต่ใช้อำนาจ ม.44, ผลงานหลายชิ้นที่เกิดขึ้นและสำเร็จในท้องถิ่นถูกเคลมโดยส่วนกลาง, มายาคติว่าท้องถิ่นโกง ประชาชนยังไม่พร้อมสำหรับการกระจายอำนาจ

การบริหารงานท้องถิ่นถูกดึงเข้ามาให้อยู่ในกรอบ ทั้งเรื่องเงินและแผนงาน ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, พ.ร.บ. ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง อีกเรื่องคือการหาบุคลากรเข้ามาทำงานในท้องถิ่นก็เป็นไปล่าช้า และปัญหาทุจริตก็ไม่ได้น้อยไปกว่าเดิม

“รัฐธรรมนูญ (60) วางอุปสรรคให้ท้องถิ่นไว้เยอะ แม้ว่าจะมีหมวด 14 ว่าด้วยเรื่องท้องถิ่นแต่รัฐธรรมนูญวางกรอบกฎหมายไว้ 2-3 ฉบับ ที่เรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างรวมศูนย์เกือบเต็ม 100%”

ในส่วนของการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยกระจายอำนาจ แต่ตนมองว่ายังไม่เพียงพอ เพราะยังมีกฎหมายลำดับรองที่เป็นอุปสรรคอีกมาก

งบท้องถิ่นกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

สุภาภรณ์กล่าวว่าการแก้รัฐธรรมนูญยังเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนดทิศทางในการกระจายอำนาจ ตัวอย่างคือรัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนไว้ว่า รัฐต้องให้ความเป็นอิสระต่อท้องถิ่น แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนว่า เพิ่มอำนาจของรัฐ ลดอำนาจท้องถิ่นและประชาชน ผ่านกลไกที่กำหนดโดย คสช. ส่วนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ก็มาจากอำนาจตามคำสั่งของ คสช. ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบัน ประชาชนภาคใต้ก็คัดค้าน ร่าง พรบ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ที่จะปูทางไปสู่โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนของการให้อำนาจส่วนกลางมากำหนดอนาคตของคนในพื้นที่

ในประเด็นของอุบัติเหตุ อุบัติภัย ที่เกี่ยวข้องกับการประจายอำนาจ เราจะเห็นว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ในช่วงระยะเวลา 4 เดือน เกิดอุบัติเหตุถึง 5 ครั้งจากโรงงานกากอุตสาหกรรม ถ้าเรามองการแก้ปัญหาในภาพรวม เมื่อเกิดเหตุ โรงงานอยู่ใกล้ชุมชนมาก การสื่อสารความเสี่ยงในพื้นที่ ท้องถิ่นยังไม่สามารถสื่อสารได้ว่าจะให้อพยพไปที่ไหน มลพิษที่สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่มีองค์ความรู้และงบประมาณในการจัดการ เมื่ออำนาจในการตัดสินใจมาจากส่วนกลาง เมื่อเกิดผลกระทบ ท้องถิ่นก็ไม่มีศักยภาพที่จะจัดการได้ ปัญหาทั้งหมดก็จะตกกับชุมชน สิทธิในการพัฒนาควรยึดโยงกับสิทธิของคนในพื้นที่ด้วย

ผู้ดำเนินรายการถามว่าโครงการพัฒนาแบบไหนที่จะไปกันได้กับคนในท้องถิ่น

สุภาภรณ์ตอบว่าชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา เพียงแต่การพัฒนานั้นต้องตอบโจทย์ชีวิต ต่อยอดกับศักยภาพในพื้นที่ของเขา และมีลักษณะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น รวมถึงอีกหนึ่งเรื่องที่คนมักชอบลืมคำนึง ก็คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนในพื้นที่ พวกเขาอาจจะไม่ได้อยากจะเดินเข้าโรงงานในฐานะลูกจ้างเสมอไป ถ้าเรื่องเกษตรกรรมมีปัญหา รัฐส่วนกลางจะทำอย่างไรให้เขายังทำเกษตรต่อไปได้ เพื่อพัฒนาไปด้วยกัน หนุนเสริม มองเป็นคุณค่าทางเศรษฐกิจหรืออะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่คิดโครงการมาจากส่วนกลางแล้วก็ไปบอกว่าเขาต้องยอมรับ หรือในเรื่องการเวนคืนที่ดิน จ่ายเงินแล้วจะมีมาตรการอย่างไรที่ไม่ใช่การไปลิดรอนสิทธิ หรือลดทอนอำนาจคนในพื้นที่

สุภาภรณ์กล่าวเสริมว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการทำผังเมืองคือการกำหนดว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่ไปในทิศทางใด ทำให้ช่วงหนึ่ง EnLaw มีการตั้งหลักสูตรอบรมให้ชุมชนให้เข้าไปมีส่วนร่วมทำผังเมืองโดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้ แต่ในที่สุดก็มีคำสั่งที่ 4/2559 ที่ให้มีโรงไฟฟ้าขยะได้ทุกที่โดยไม่จำเป็นต้องแคร์ผังเมือง และก็มีผังอีอีซี ที่ยกเลิกผังเมืองทั้งหมด

ในเรื่องบทเรียนจากอีอีซี วีระศักดิ์กล่าวเสริมสุภาภรณ์ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านกลไกรัฐวิสาหกิจโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งก็ได้ผล เช่น แหลมฉบังในภาคตะวันออก แต่ยังคงเผชิญกับปัญหาคอขวดตรงที่ อำนาจ กนอ.ไม่สามารถเคลียร์อุปสรรคในเชิงพื้นที่ได้ ทำให้อีอีซีมาแนวใหม่ แก้ปัญหาในพื้นที่ด้วยอำนาจส่วนกลาง ซึ่งอันนี้ก็อาจจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิของชุมชน ตนมองว่าสิ่งนี้สะท้อนทั้งข้อจำกัดและโอกาส ซึ่งถ้าต้องให้ส่วนกลางมาเคลียร์ปัญหาในท้องถิ่น ทำไมไม่เอาอำนาจนั้นให้ท้องถิ่นไปจัดการเองล่ะ ท้องถิ่นเคลียร์เองบ้างได้หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนบอร์ดอีอีซีเป็นคนจากพื้นที่บ้างได้หรือไม่

วีระศักดิ์กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาจากส่วนกลางมีทั้งส่วนที่ได้ประโยชน์และต้นทุน แต่เหตุผลที่คนในพื้นที่ไม่ซื้อ ไม่ใช่เพราะต่อต้านการพัฒนา แต่ว่าการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงคนในท้องถิ่น ทำให้คนในพื้นที่หลุดออกจากสมการของการกำหนดทิศทางการลงทุน ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่รัฐบาลเป็นผู้เล่น แต่เป็นแค่จิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าของทุน ผู้ประกอบการ แต่กลายเป็นว่าทุนภายนอกมาลงทุน คนในพื้นที่ได้เป็นผู้ใช้แรงงาน แบบนี้ใครก็ไม่เอา ผลประโยชน์ตกอยู่กับชุมชนน้อย ทั้งยังไม่คืนกลับมาเป็นภาษีคืนถิ่นด้วย ทิ้งไว้แต่ต้นทุน ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งรัฐบาลไม่เคยชดเชยคืนให้พื้นที่นั้น

ในการพัฒนา ท้องถิ่นต้องเป็นผู้เล่นตัวจริง แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่จริงๆ คือรัฐรวบอำนาจไว้ทำเองหลายอย่างเกินไป คนจะไปหาหมอที่โรงพยาบาลรัฐก็เจอว่าสภาพแออัดมาก จองคิวต้องเอารองเท้าไปวาง ตนเคยต้องตอบคำถามคนญี่ปุ่นเพราะพวกเขาไม่เคยเจอ รพ.ในสภาพที่มันแออัดขนาดนี้ คำตอบคือเพราะเมืองไทยรัฐทำเองทุกอย่าง

แต่อย่างของญี่ปุ่น ระบบสาธารณสุขตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ท้องถิ่นเป็นผู้เล่น ส่วนกลางคอยวางมาตรฐาน ทำได้ครบไหม หากไม่ครบต้องส่งใบเตือน บวกกับช่วยวิเคราะห์ทิศทางว่าจะพัฒนาได้อย่างไร เช่น เติมงบให้ หรือร่วมมือกันระหว่างท้องถิ่น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: