นักศึกษา มทร.ศรีวิชัย สงขลา สุดเจ๋ง นำเทคโนโลยี AR มาช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว Street Art ย่านเมืองเก่าสงขลาให้มีชีวิตชีวาและเคลื่อนไหวได้เสมือนจริง ผ่านจอโทรศัพท์มือถือ | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2567 ว่าย่านเมืองเก่าสงขลา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา มีถนนสายสำคัญ 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ถนนทั้ง 3 สายนี้ ประกอบไปด้วยอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของจังหวัดสงขลาในสมัยก่อน พร้อมทั้งได้มีการพัฒนาย่านเมืองเก่า และถ่ายทอดเรื่องราวผ่านจินตนาการบนฝาผนัง กำแพง หรือที่เรียกว่า Street Art เป็นภาพวาดสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ จนทำให้ย่านเมืองเก่าแห่งนี้ ได้รับความนิยมและเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลา
แต่ปัจจุบัน ภาพวาดที่ถูกสร้างขึ้นโดย Street Art บริเวณย่านเมืองเก่าสงขลา เริ่มมีการเลือนราง และได้รับความนิยมลดลง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยสงขลา จึงได้ร่วมกันออกแบบ เพื่อเพิ่มจุดเด่นให้กับภาพวาดแนวสตรีทอาร์ตให้กลับมามีชีวิตชีวา และกลายเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมอีกครั้ง ด้วยการนำเทคโนโลยี AR เข้ามาเติมเต็มความแปลกใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นภาพเคลื่อนไหวในจอภาพกลายเป็นวัตถุ 3 มิติ ลอยอยู่เหนือพื้นผิวจริง ผ่านการสแกน QR code
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไชยยะ ธนพัฒน์ศิริ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย สงขลา กล่าวว่า เรามุ่งหวังให้เด็กนักเรียนสามารถที่จะเรียนรู้และนําไปสู่การใช้งานจริง ซึ่งทางอาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เราพยายามที่จะนำเอานโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน รวมไปถึงการผลักดันเมืองเก่าสงขลาไปสู่มรดกโลก และนโยบายด้าน Soft Power ของรัฐบาล มาเป็นแนวทางดำเนินงาน เพื่อให้กลายเป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัด ต่างภูมิภาคให้เข้ามาเที่ยวในจังหวัดสงขลาของเราได้มากยิ่งขึ้น
และขณะนี้เรามีภาพวาด Street Art ย่านเมืองเก่าสงขลา ที่นำเทคโนโลยี AR มาประยุกต์ อาทิ ภาพสตรีทอาร์ตร้านน้ำชาฟุเจา, ภาพสตรีทอาร์ตด้านหลังห้างลีวิวัฒน์ 7 โดยเป็นภาพรูปปั้นนางเงือกสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา และฝูงปลาโลมาในท้องทะเล, ภาพสตรีทอาร์ตหนังตะลุงใส่สูท บริเวณธนาคารกสิกรเก่า, สตรีทอาร์ตบริเวณหอดูดาว, ภาพสตรีทอาร์ตบริเวณร้านสงขลาสเตชั่น และภาพสตรีทอาร์ตบริเวณร้านไอติมยิว เป็นต้น ซึ่งสามารถสแกน QR code ได้ ณ จุดที่มีสตรีทอาร์ตนั้น ๆ
ทั้งนี้ นักศึกษาในหลักสูตรเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนของเรา ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนางานร่วมกับอาจารย์ และนําเทคโนโลยีด้านคอนเทนต์ มีเดียต่าง ๆ หรือ VR, AR มายกระดับเขตเมืองเก่าสงขลา โดยเฉพาะสตรีทอาร์ตให้กลับมามีชีวิตชีวา และเคลื่อนไหวได้เสมือนจริง ซึ่งสามารถตอบโจทย์นโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องการสนับสนุน และส่งเสริมให้การท่องเที่ยวชุมชนมีศักยภาพที่เข้มแข็ง และมีความยั่งยืน ต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ