องค์กรสิทธิฯ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.ยุติธรรม ตรวจสอบการเสียชีวิต ‘บุ้ง เนติพร'

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 3520 ครั้ง

องค์กรสิทธิฯ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.ยุติธรรม ตรวจสอบการเสียชีวิต ‘บุ้ง เนติพร'

7 องค์กรสิทธิมนุษยชนส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแสดงความกังวลและขอให้ยุติการใช้กระบวนการยุติธรรมโดยมิชอบและการควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนักกิจกรรมและผู้ชุมนุมประท้วงโดยพลการ และให้สอบสวนการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง” โดยทันที อย่างมีประสิทธิภาพ รอบด้าน เป็นอิสระ ไม่ลำเอียง และโปร่งใส ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตามพันธกิจที่จะปกป้องและคุ้มครองตามสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ | ที่มาภาพ: แมวส้ม

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่า 7 องค์กรสิทธิมนุษยชนอันประกอบไปด้วยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สมาคมนานาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ฟอรั่ม-เอเชีย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ฟอร์ตี้ฟายไรต์ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลองค์กรภายใต้กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อพิทักษ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยโครงการความร่วมมือระหว่างสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล พร้อมกับองค์กรต่อต้านการทรมานโลก และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เขียนจดหมายเพื่อแสดงความกังวลถึงทางการไทยที่ได้ละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยมีการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล เพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ส่งผลให้ถูกตัดสินว่ากระทำผิดและถูกสั่งจำคุก การใช้กระบวนการยุติธรรมโดยมิชอบอย่างต่อเนื่องในลักษณะนี้ ยังหมายรวมถึงการปฏิเสธการประกันตัวชั่วคราวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้ชุมนุมประท้วงอย่างเป็นระบบอีกด้วย

การยื่นจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้ 7 องค์กรมองว่าการที่ทางการไทยสั่งจำคุกและไม่ให้สิทธิประกันตัวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้ชุมนุมประท้วงเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมโดยมิชอบ เข้าข่ายละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อทำให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ รวมถึงเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีด้วย โดยมีข้อเสนอว่าทางการไทยต้องตรวจสอบการให้สิทธิประกันตัวอย่างรอบด้านเให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกคนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการการแสดงของตัวเองได้รับความเป็นธรรมและจะต้องได้รับสิทธิประกันตัวทันทีและไม่มีเงื่อนไข รวมถึงต้องยกเลิกการสอบสวนที่มีการฟ้องคดีอาญากับบุคคลที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ หรือสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ด้วย

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงพฤษภาคม 2567 พบว่าทางการไทยดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลอย่างน้อย 1,954 คนใน 1,296 คดี รวมทั้งมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 คน ที่ร่วมการชุมนุมประท้วงอย่างโดยสงบหรือแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์และออฟไลน์รวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังมีบุคคลอย่างน้อย 424 คน รวมทั้งเด็กและเยาวชน ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับ “ความมั่นคง” ซึ่งมีโทษจำคุกเป็นเวลานาน และทางการไทยได้ดำเนินคดีกับบุคคลอย่างน้อย 272 คนในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ (มาตรา 112) และอีก 152 คนในข้อหายุยงปลุกปั่น (มาตรา 116) รวมถึงดำเนินคดีกับบุคคลอีกอย่างน้อย 202 คนในข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการแสดงออกทางบนโลกออนไลน์

หน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงความกังวลและเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ (มาตรา 112) และยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก ตามข้อเสนอแนะของกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติ และจัดให้มีการเสวนาอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบกับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อตอบสนองข้อกังวลของพวกเขาในทั้งสองประเด็น และให้พวกเขามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้อง

โดยทั้ง 7 องค์กรเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการเพื่อให้ยุติการใช้กระบวนการยุติธรรมโดยมิชอบและการควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิและนักกิจกรรมโดยพลการ โดยต้องเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของทุกคน รวมถึงเด็กและเยาวชน ในเสรีภาพการแสดงออก การรวมกลุ่มและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ทบทวนกระบวนการประกันตัวอย่างละเอียดเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทำให้มั่นใจว่าการคุมขังของบุคคลที่ใช้สิทธิมนุษยชนโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น การใช้กฎเกณฑ์ข้อยกเว้นต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เป็นการกระทำโดยพลการและมิชอบด้วยกฎหมายนั้นควรปรับให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ แทนที่จะเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้อย่างตายตัว ปล่อยตัวบุคคลจากการควบคุมตัวโดยพลการโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้ยกเลิกการสอบสวนและการฟ้องคดีอาญา และให้ยกเลิกคำตัดสินลงโทษซึ่งเป็นผลมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ รวมทั้งแก้ไขให้เนื้อหาของกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ (มาตรา 112) และยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก ตามข้อเสนอแนะของกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติ และจัดให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบกับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขข้อกังวลในจดหมายนี้ และให้พวกเขามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้อง

ในด้านการสอบสวนการเสียชีวิตของ ‘บุ้ง’ เนติพร เสน่ห์สังคม นั้น ทั้ง 7 องค์กรเรียกร้องให้ดำเนินการให้มีการสอบสวนโดยทันที อย่างมีประสิทธิภาพ รอบด้าน เป็นอิสระ ไม่ลำเอียง และโปร่งใสต่อพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของเนติพร ให้สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดในพิธีสารมินนิโซตา ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (2559) เพื่อพิสูจน์ความรับผิดรับชอบ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำในอนาคต จัดให้มีการเยียวยาในรูปแบบที่เหมาะสม รวมทั้งค่าชดเชย และค่าสินไหมทดแทนในรูปแบบอื่นให้สอดคล้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ และประกันให้ผู้ต้องขังทุกคนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ ในขั้นต่ำและตามที่กำหนดในข้อกำหนดเนลสันแมนเดลลา รวมทั้งการจัดให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยทันที และการรักษาพยาบาลเป็นพิเศษหรือการผ่าตัดที่จำเป็น

ท้ายสุด ทั้ง 7 องค์กรระบุว่า พร้อมที่จะทำงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ และพร้อมสนับสนุนรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: