เสวนาระบุไทยยังไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบอย่างครบถ้วน

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 5239 ครั้ง

เสวนาระบุไทยยังไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบอย่างครบถ้วน

เสวนาปกป้องนโยบายของรัฐจากธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า ระบุการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก มาตรา 5.3 เป็นวิธีที่ป้องกันการแทรกแซงธุรกิจยาสูบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2567 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ได้จัด การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 22 โดยมีการเสวนา เรื่อง ‘การปกป้องนโยบายของรัฐจากธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า’ โดย ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่า เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐจากอุตสาหกรรมยาสูบและเครือข่ายบริวาร ตามมาตรา 5.3 ของ WHO FCTC

ศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการเสวนาครั้งนี้ เปิดเผยว่า บริษัทยาสูบแทรกแซงในการควบคุมยาสูบมาเป็นเวลานานมากและผลประโยชน์หลักของเขาก็คือการสร้างรายได้และจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลกำไรของพวกเขา ส่วนใหญ่บริษัทยาสูบแทรกแซงในเรื่องนโยบายควบคุมยาสูบและก็มีการแทรกแซงทั่วโลกเกือบทุกประเทศ ซึ่งมีกลยุทธ ดังนี้ 1) คุกคามทางกฎหมาย – ฟ้องร้องรัฐบาลด้วยเหตุผลต่างๆ ทำให้การออกกฎหมายและบังคับใช้ล่าช้า ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลียได้ออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ ถูกบริษัทยาสูบฟ้องกลับว่า ซองบุหรี่แบบเรียบขัดต่อทรัพย์สินทางปัญญา ฟ้องถึงองค์การการค้าโลก (WTO) แม้รัฐบาลจะชนะแต่ต้องเสียเวลา งบประมาณ ต่อสู่ในศาลเป็นเวลานาน ในขณะที่อูกันดาเป็นประเทศที่มีกฎหมายปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ครอบคลุมมากที่สุดในแอฟริกา แต่กว่าจะออกเป็นกฎหมายใช้เวลาเป็น 10 ปี รัฐบาลถูกฟ้องว่ากฎหมายควบคุมยาสูบไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ไปฟ้องรัฐบาลอูกันดาในประเทศเคนยาเนื่องจากประเทศอูกันดาเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพบูรณาการทางเศรษฐกิจ คล้ายๆ กับสหภาพยุโรปหรืออาเซียน แต่ในที่สุดบริษัทยาสูบก็แพ้ 2) ล็อบบี้ให้สินบนนักการเมือง ข้าราชการ พนักงานที่ทำงานในกรรมาธิการต่างๆ 3) เผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน 4) บริษัทยาสูบยังใช้บุคคลที่สาม หรือ Front group เป็นกระบอกเสียงให้ทำการล็อบบี้แทน แทรกไปอยู่ในกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการวางนโยบายสาธารณสุขเหมือนที่เหตุการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ 5) มุ่งเป้าที่เยาวชนจะได้สร้างคนรุ่นใหม่ที่ติดนิโคติน และ 6) ข่มขู่ สร้างความไม่น่าเชื่อถือกับบุคคลและกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ศ.ดร.นันทวรรณ กล่าวต่อว่า แต่ก็มีประเทศที่เข้มแข็งและต่อต้านได้ เช่น บราซิล ซึ่งเมื่อต้นปี 2567 นี้ เขาได้ประกาศใช้กฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามผลิตบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ รวมถึง อุปกรณ์การสูบ น้ำยา และบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งบริษัทยาสูบพยายามที่จะแทรกแซงเพื่อที่จะไม่ให้มีกฎหมายฉบับนี้ โดยให้ข้อมูลที่ผิดบิดเบือน มีการล็อบบี้และมีการแทรกแซงในกระบวนการนิติบัญญัติ รวมทั้งใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเป็นกระบอกเสียง ในขณะที่รัฐบาลบราซิล รวมทั้งกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบมีวิธีที่จะตอบโต้การแทรกแซงของบริษัทยาสูบได้สำเร็จ โดยมีหน่วยงานหรือบุคคลต่างๆ มาช่วยในการสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เช่น สมาคมวิชาชีพการแพทย์ ภาคประชาสังคม สื่อสังคม สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งกลยุทธ์ที่ใช้ที่สำคัญที่สุดคือการใช้ประเด็นสุขภาพนำ เพราะฉะนั้น สมาคมวิชาชีพแพทย์จึงมีบทบาทในการรณรงค์โดยภาคประชาสังคม ซึ่งนำโดยกลุ่มเยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ และมีการโต้ตอบข้อมูลที่บริษัทยาสูบเผยแพร่โดยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องทางหลักวิชาการและใช้กลยุทธ์การสื่อสารที่ดีที่สามารถสื่อถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้สำเร็จ รวมทั้งพัฒนากฎหมายใหม่ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียวและเป็นกฎหมายที่มีความครอบคลุมทุกเรื่องและชัดเจน

“สำหรับรัฐบาลฝรั่งเศส มีกลยุทธ์ ในการนำมาตรา 5.3 ของ WHO FCTC ที่สำคัญมาใช้คือ 1) กฎจรรยาบรรณสำหรับข้าราชการ 2) ห้ามไม่ให้บริษัทยาสูบมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมบังหน้า และห้ามบริจาคหรือให้ของขวัญ 3) กฎเกณฑ์ต่อสมาชิกรัฐสภา คือสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทยาสูบได้เมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น และห้ามเข้าร่วมในกิจกรรมที่จัดโดยบริษัทยาสูบ แต่ก็พบว่าบริษัทยาสูบก็หลีกเลี่ยงโดยการใช้บุคคลที่สามมาเป็นกระบอกเสียงหรือทำแทนในเรื่องของการแทรกแซงในการพัฒนานโยบายควบคุมยาสูบ สำหรับออสเตรเลียได้ให้ทุกหน่วยงานไม่ใช่แค่หน่วยงานด้านสาธารณสุขอย่างเดียว ปฏิบัติตามมาตรา 5.3 โดยนำไปบูรณาการหรือบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติและมีแนวทางปฏิบัติให้กับข้าราชการทุกกระทรวง รวมไปถึงสมาชิกรัฐสภาและเจ้าหน้าที่ทุกคน อีกทั้งยังส่งแนวทางการปฏิบัตินี้ให้กับบริษัทยาสูบต่างๆ รับทราบ ส่วนประเทศที่ไม่ให้สัตยาบันใน FCTC เช่น อินโดนีเซีย ถูกเซาะกร่อนเสียจนอัตราการสูบบุหรี่สูงมาก และบริษัทบุหรี่สามารถสนับสนุนกีฬาทุกชนิด จัดอยู่ที่อันดับ 4 ที่มีการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบที่สุดตามตัวชี้วัดขององค์กร Global Center for Good Governance in Tobacco Control (GGTC) ที่ได้พัฒนาตัวชี้วัดที่ประเมินความเข้มข้นของการแทรกแซงธุรกิจยาสูบใน 100 ประเทศ ทั้งนี้อินโดนีเซียให้บริษัทยาสูบเข้าร่วมวางนโยบายควบคุมยาสูบด้วย และประเทศโดนิมิกันที่ไม่ได้ในสัตยาบันมีการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบมากอยู่ที่อันดับ 1 และ 2” ศ.ดร.นันทวรรณ กล่าว

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวสรุปว่า การปฏิบัติตาม อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก มาตรา 5.3 เป็นวิธีที่ป้องกันการแทรกแซงธุรกิจยาสูบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดใน มาตรา 5.3 อย่างครบถ้วน กล่าวคือ อุตสาหกรรมยาสูบยังสามารถเข้าแทรกแซงกระบวนการพิจารณาการออกนโยบายควบคุมยาสูบ ซึ่งประเทศไทยต้องเร่งใช้มาตรา 5.3 ออกกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับ เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐจากอุตสาหกรรมยาสูบ โดยออก ‘ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ เครือข่ายพันธมิตร และองค์กรบังหน้า ต่อนโยบายของรัฐในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ’ มาบังคับใช้อย่างเร่งด่วน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: