'ภาคบริการอีสาน' โอกาสใหม่ที่ต้องคว้าไว้

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ก.ย. 2567 | อ่านแล้ว 364 ครั้ง

รายงานพิเศษจาก 'ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ' พบภาคบริการของอีสานมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเมืองในหลายจังหวัดของอีสาน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรและการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต

ภาคเกษตรและภาคผลิตที่เกี่ยวข้องกับเกษตร เป็นกิจกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสานมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2565) ภาคบริการของอีสานมีความสำคัญมากขึ้น บทความนี้จึงมุ่งเจาะลึกศักยภาพธุรกิจบริการดาวรุ่งในระดับจังหวัดของอีสาน โดยใช้ข้อมูล e-Payment ปี 2564 ซึ่งสะท้อนโครงสร้างการใช้จ่ายเงินบนระบบออนไลน์ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการและหาแนวทางการยกระดับภาคบริการอีสานอย่างยั่งยืนต่อไป

ภาคบริการในอีสานเติบโตจากธุรกิจอะไร

ภาคบริการของอีสานมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเมืองในหลายจังหวัดของอีสาน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรและการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต สะท้อนจากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันภาคบริการมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 23% ของเศรษฐกิจอีสาน จาก 20% ในปี 2557 ขณะที่การจ้างงานใกล้เคียงเดิมที่ 13% ของแรงงานอีสานดังนั้น จึงจะวิเคราะห์ศักยภาพของ 4 ธุรกิจบริการสำคัญที่มีมูลค่าธุรกรรมการรับเงินสูง และเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่ได้รับผลดีโดยตรงจากการเติบโตของเมือง กระแสรักสุขภาพ และการเข้ามาของเทคโนโลยี อย่าง E-commerce ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจขนส่งพัสดุ และธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม\r\n

4 ธุรกิจบริการ สัดส่วนรวมกันถึง 48%” ของกิจกรรมบริการทั้งหมด “เติบโตเฉลี่ยถึง 5%2 ต่อปี”มากกว่าการเติบโตของกลุ่มธุรกิจบริการอื่น ๆ

 

มูลค่าธุรกรรมการรับเงินของ 4 ธุรกิจบริการแห่งอนาคต 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจด้านสุขภาพ

ในอีสาน ปี 2564 มีมูลค่าการรับเงิน 4.2 พันล้านบาท และ 2.5 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยมูลค่ามากกว่าครึ่งของทั้ง 2 ธุรกิจ รับเงินมาจากกลุ่มลูกค้าบุคคล (รูปที่ 2) และมูลค่ากว่า 80% กระจุกอยู่ในโคราช ขอนแก่น อุบลราชธานี และอุดรธานี ซึ่งเป็น “หัวเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจอีสาน” ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเกือบครึ่ง และมีจำนวนประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ของอีสาน จากปัจจัยหลัก ดังนี้ 

  • การมีกิจกรรมด้านอุตสาหกรรม การลงทุน การท่องเที่ยว การแพทย์ และการศึกษา
  • การเป็นจังหวัดหลักที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟความเร็วสูงสายอีสาน มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช (M6) และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในโคราช อุดรธานี และอุบลราชธานี
  • การมียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ.2560 - 2569 ในขอนแก่น โคราช และอุดรธานี 
 
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใน ขอนแก่น อุบลราชธานี และอุดรธานี มูลค่าการรับเงินกว่า 80% มาจากกลุ่มลูกค้าในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ที่มีความต้องการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยจริง โดยเฉพาะบ้านแนวราบ ทั้งกลุ่มกำลังซื้อสูง อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าของกิจการ กลุ่มมีรายได้ประจำหรือกำลังซื้อปานกลาง อาทิ ข้าราชการ และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงคนเข้ามาทำงานหรือเรียนจากต่างถิ่นขณะที่ โคราช มูลค่าการรับเงินกว่า 60% มาจากกลุ่มลูกค้าในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง และ 30% มาจากกลุ่มลูกค้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล สะท้อน 2 กลุ่มลูกค้าหลัก ที่มีความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในทำเลที่ต่างกัน ดังนี้
  • บริเวณอำเภอเมือง กลุ่มลูกค้าเป็นคนในพื้นที่ที่ต้องการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยจริง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสุรนารี และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ที่นิยมบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท
  • บริเวณอำเภอปากช่อง บ้านระดับราคา  3-5 ล้านบาท และมากกว่า 5 ล้านบาท มีสัดส่วนยอดขายสูง สะท้อนลูกค้ากลุ่มมีกำลังซื้อจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีความต้องการบ้านหลังที่ 2 เช่น บ้านพักตากอากาศ และบ้านพักยามเกษียณ
โอกาสที่เกิดขึ้นในพื้นที่

 

เริ่มเห็นการเข้ามาซื้อบ้านจัดสรรในทำเลอำเภอเมืองโคราชของกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อปานกลางจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากโครงการรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน เฟส 1 กรุงเทพฯ - โคราช และมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช (M6) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อระยะเวลาในการเดินทางระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน อีกทั้ง เห็นแผนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่อำเภอปากช่อง เพื่อรองรับกลุ่มกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะโครงการรูปแบบ Mixed-Use ที่เป็นการผนวกรวมคอนโด โรงแรม และบริการดูแลสุขภาพ (Wellness) เข้าไว้ด้วยกัน  

ธุรกิจด้านสุขภาพใน ขอนแก่น โคราช อุดรธานี และอุบลราชธานี มูลค่าการรับเงินมากกว่า 60% มาจากกลุ่มลูกค้าในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง จากการเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพ รวมถึงการมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่หลากหลาย โดยเฉพาะ ขอนแก่น ที่มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ของอีสาน อีกทั้ง ขอนแก่น โคราช และอุดรธานี ได้รับการสนับสนุนเป็นเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ด้วย

โอกาสที่เกิดขึ้นในพื้นที่

เห็นสัญญาณใหม่ ๆ ในพื้นที่ขอนแก่น โคราช และอุดรธานี ที่มีมูลค่าการรับเงินมาจากกลุ่มลูกค้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล เกือบ 10% คาดว่า เป็นกลุ่มที่ต้องการใช้บริการทางการแพทย์ระยะยาว จากราคาที่ถูกกว่า การให้บริการที่มีคุณภาพ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางขอนแก่น โคราช อุดรธานี และอุบลราชธานี ต่างเป็นหน้าด่านในการรองรับกลุ่มผู้ใช้บริการทางการแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้โรงพยาบาลจากส่วนกลางเริ่มเห็นศักยภาพและขยายสาขามายังอีสาน อาทิ เครือโรงพยาบาลพริ้นซ์ ที่ขยายมาอุบลราชธานี มุกดาหาร และสกลนคร รวมถึงโรงพยาบาลในพื้นที่ขยายการลงทุนเพื่อรองรับกลุ่ม CLMV อย่างโรงพยาบาลกรุงเทพอุดร อีกทั้งเริ่มเห็นชาวจีน ทั้งกลุ่มที่เป็นนักธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มที่เดินทางมาจากประเทศจีน เข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในหนองคาย อุดรธานี และขอนแก่น จากข้อได้เปรียบด้านความสะดวกและความรวดเร็วในการเข้ารับบริการทางการแพทย์

 

ธุรกิจขนส่งพัสดุ

ในอีสาน ปี 2564 มีมูลค่าการรับเงิน 3.2 พันล้านบาท โดยมูลค่ารับเงินส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าบุคคล (รูปที่ 2) และมูลค่ากว่า 87% กระจุกอยู่ใน ขอนแก่น จากการมี “ตัวแทนใหญ่ของธุรกิจขนส่งพัสดุ” เข้ามาตั้งบริษัทในจังหวัดเพื่อขยายจุดรับ-ส่งพัสดุ (Drop-off) ให้ครอบคลุมพื้นที่อีสานมากยิ่งขึ้น ผ่านการเปิดรับตัวแทนแฟรนไชส์หน้าร้านรับ-ส่งพัสดุ ในระดับราคาเริ่มต้นไม่กี่พันบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีพื้นที่หน้าร้านเพื่อสนองจุดรับ-ส่งพัสดุแก่พ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่นอีสานที่หันมาค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ตามพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปสู่ไลฟ์สไตล์ที่นิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (E-commerce) มากขึ้น จนเป็น New Normal ของผู้คนในปัจจุบัน

 

ธุรกิจขนส่งพัสดุใน ขอนแก่น มูลค่าการรับเงินมาจากกลุ่มลูกค้าในหลายจังหวัดอีสาน สะท้อนความต้องการซื้อแฟรนไชส์หน้าร้านรับ-ส่งพัสดุของผู้ประกอบการรายย่อยที่กระจายในหลายพื้นที่ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นจากรายได้รวมของบริษัทขนส่งพัสดุรายใหญ่ในขอนแก่นที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับ New Normal ของผู้คนในปัจจุบัน

โอกาสที่เกิดขึ้นในพื้นที่

ธุรกิจขนส่งพัสดุเติบโตได้ดีในอีสาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนส่งต่าง ๆ ที่ขยายจุดรับ-ส่งพัสดุในทุกพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการส่งสินค้าของผู้ประกอบการที่ปรับตัวมาขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งกลุ่มผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม และกลุ่มผู้ประกอบการอาหารแปรรูป จากการเข้าถึงช่องทางการขายและรูปแบบการขายใหม่ ๆ เช่น “ Live ขายสินค้า” เป็นต้น ส่งผลให้สินค้าท้องถิ่นในหลายจังหวัดอีสานสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปที่ได้รับมาตรฐาน GI และมีมูลค่าสูง อาทิ สัปปะรด ลิ้นจี่ แคนตาลูป ทุเรียน ข้าวฮางทิพย์ หมูยอ และวัตถุดิบอีสาน รวมถึงสินค้าหัตถกรรม อาทิ ผ้าย้อมคราม ตะกร้าหวาย และตะกร้าสาน อีกทั้ง เริ่มเห็นผู้ประกอบการในอีสานพัฒนาการขายสินค้าโดยดึงผู้มีชื่อเสียงในโลกโซเชียล (Influencer) มา Live ขายสินค้าเพื่อเพิ่มยอดขายอีกด้วย

หมายเหตุ: มาตรฐาน GI หมายถึง เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจงซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้น ๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่

 

ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม (ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว)

ในอีสาน ปี 2564 มูลค่าการรับเงิน 1.5 พันล้านบาท โดยมูลค่ารับเงินส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าบุคคล (รูปที่ 2) และมูลค่ากว่า 70% กระจุกอยู่ใน 2 กลุ่มจังหวัด ได้แก่

    1. กลุ่มจังหวัดใหญ่ โคราช ขอนแก่น อุบลราชธานี และอุดรธานี

  1. กลุ่มจังหวัดท่องเที่ยว นครพนม หนองคาย และบุรีรัมย์ 

เนื่องจากเป็นจังหวัดที่รองรับผู้เยี่ยมเยือนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้เยี่ยมเยือนคนไทยที่กระจุกอยู่ใน 2 กลุ่มจังหวัดกว่า 70% ของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยทั้งหมดในอีสาน จากปัจจัยสนับสนุนหลักคือ กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและมีอัตลักษณ์ตามแต่ละพื้นที่ ทั้งกิจกรรมงานบุญประเพณี กิจกรรมกีฬา และกิจกรรมสายธรรมชาติ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มใน กลุ่มจังหวัดใหญ่ มูลค่าการรับเงินมากกว่า 60% มาจากกลุ่มลูกค้าในพื้นที่และจังหวัดอื่นในอีสาน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีประชากรในพื้นที่สูงและแม้จะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการเที่ยวกันในภาค ตามการท่องเที่ยวอีสานที่ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม ขณะที่กลุ่มจังหวัดท่องเที่ยว มูลค่าการรับเงินมากกว่า 50% มาจากกลุ่มลูกค้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล สะท้อนการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างภาคที่เป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง

โอกาสที่เกิดขึ้นในพื้นที่

การท่องเที่ยวในอีสานส่วนใหญ่เป็นการเที่ยวกันเองในภาค แต่เห็นสัญญาณการเข้ามาของนักท่องเที่ยวนอกภาคชัดขึ้น ทั้งในแถบจังหวัดริมโขง จากกระแสการท่องเที่ยวเชิงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาทางศาสนา รวมถึงการมีงานบุญประเพณีขนาดใหญ่อย่างงานไหลเรือไฟ และงานบุญบั้งไฟ และ บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่มีกิจกรรมตลอดปี อาทิ งานแข่งขันมอเตอร์ไซค์ทางเรียบ ตั้งแต่รายการย่อยไปจนถึงรายการใหญ่อย่าง MotoGP รวมถึงงานมาราธอนมาตรฐานโลก จากการมีกิจกรรมในพื้นที่ที่เป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ที่ได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมในพื้นที่ แหล่งท่องเที่ยว และเส้นทางท่องเที่ยว ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่งผลให้จำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยในจังหวัดท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวสูง และขยายตัวมากกว่าช่วงก่อน Covid-19

ข้อเสนอแนะในการยกระดับภาคบริการของอีสาน\r\n"}}">

ข้อเสนอแนะในการยกระดับภาคบริการของอีสาน

งานศึกษานี้ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภูมิภาค เพื่อสะท้อนศักยภาพของพื้นที่และสรุปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้น ดังนี้

  1. “ดึงภายนอก” การศึกษาพบว่า 4 จังหวัดหลักของภาคอีสาน คือ โคราช ขอนแก่น อุบลราชธานี และอุดรธานี มีศักยภาพสูงในการดึงดูดนักลงทุนและผู้บริโภคจากต่างพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสุขภาพ ซึ่งเป็นผลจากการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญและการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ศักยภาพที่โดดเด่นนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ดังนั้น การสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ของภาคอีสาน อาทิ การใช้กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลผ่านการดึง Influencer มาร่วมโปรโมท อาจช่วยให้ภาพลักษณ์ใหม่ของภาคอีสานเป็นที่รู้จักมากขึ้น และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
  2. “ยกระดับภายใน” การศึกษาชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงและมีความต้องการที่หลากหลายในปัจจุบัน ส่งผลต่อธุรกิจอีสานทั้งในจังหวัดใหญ่และจังหวัดท่องเที่ยว อาทิ การซื้อขายผ่าน E-commerce และการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ อย่างกิจกรรมบุญประเพณี กิจกรรมกีฬา และกิจกรรมสายธรรมชาติ ที่ได้รับความนิยมและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนอกภาคได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจในพื้นที่จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ไว อาทิ การยกระดับมาตรฐานสินค้า บริการ และทักษะแรงงาน อย่างด้านภาษาและการสื่อสาร เพื่อรักษาคุณภาพการให้บริการและความสามารถในการแข่งขัน จึงจะคว้าโอกาสใหม่ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้

อ้างอิง

1 ข้อมูล e-Payment จาก ธปท. คิดเป็นกว่า 80% ของธุรกรรม e-Payment ทั้งหมด โดยเส้นทางธุรกรรมสามารถแสดงให้เห็นมูลค่าการรับ/ส่งเงินในระดับจังหวัด

2 อัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2557-2565

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย” 

ที่มา:
พาเบิ่ง… ภาคบริการอีสาน โอกาสใหม่ที่ต้องคว้าไว้ (นุดี ไชยรัตน์ | ปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, 7 ส.ค. 2567)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: