จับตา: แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) คืออะไร เกี่ยวข้องยังไงกับบิลค่าไฟของเรา

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 21952 ครั้ง


ข้อมูลที่เรียบเรียงโดย JustPow ระบุว่าการผลิตไฟฟ้าของประเทศอยู่ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) หรือ PDP รวมไปถึงค่าไฟของเราด้วย เพราะ PDP เป็นตัวกำหนดว่าเราต้องมีการสำรองไฟฟ้าเท่าไร จะต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกกี่แห่ง ประเภทไหน เป็นของใคร จะซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีกเท่าไหร่ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้จะกลายมาเป็นบิลค่าไฟของคนไทยทุกคน

JustPow ชวนทำความเข้าใจแผน PDP ว่าเป็นมาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร แล้วที่ผ่านมา แผน PDP มีปัญหาอะไร ก่อให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

PDP คืออะไร

สิ่งที่กำหนดว่าระบบไฟฟ้าในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในระยะเวลา 15-20 ปีข้างหน้าคือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) หรือ PDP ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 แผนพลังงานภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่กำกับทิศทางการพัฒนานโยบายพลังงานของประเทศ โดยประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

PDP เป็นแผนแม่บทที่กำหนดการลงทุนขยายระบบไฟฟ้าในประเทศไทยว่าต้องสำรองไฟเท่าไร จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าประเภทใด จะถูกสร้างเมื่อไหร่ โดยใคร มีจำนวนกี่โรง (แต่ไม่ระบุสถานที่ก่อสร้างที่ชัดเจน) โดยวางแผนล่วงหน้า 10-15 ปี แม้ว่า PDP เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่จะมีการปรับเปลี่ยนทุกๆ 2-3 ปี ไม่ว่าจะโดยผ่านการทบทวนแผนหรือการจัดทำแผนขึ้นใหม่

ตั้งแต่ปี 2535 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า โดยใช้ชื่อว่า “แผนพัฒนาผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.” และเปลี่ยนเป็นชื่อ “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย” ในปี 2545 โดยมีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ รวม 13 ฉบับ จนพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 บังคับใช้ กระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในปี 2545 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ ตั้งแต่ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ในปี 2555 เป็นต้นมา

ปัจจุบันกระบวนการจัดทำ PDP แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

1) การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า โดยคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า กระทรวงพลังงาน 

ขั้นตอนการจัดทำ “การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า” คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าจะประมาณการจากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว (GDP) และประมาณการอัตราการเจริญเติบโตของประชากรเป็นหลัก จากนั้นจะวางแผนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าด้วยการคำนวณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ต่ำกว่า 15%

คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

ตัวแทนผู้ผลิต/จำหน่ายไฟฟ้า 3 การไฟฟ้าและสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ผู้แทน ปตท. ตัวแทนผู้ใช้ไฟฟ้าได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตัวแทนนักวิชาการ

 2) การจัดทำแผน ซึ่งรับผิดชอบโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ภายใต้กรอบแนวนโยบายกว้างๆ ของกระทรวงพลังงาน

หลังจาก สนพ. จัดทำแผน PDP แล้วจากนั้นจะส่งไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะจากทุกภาคส่วน และนำมาพิจารณาปรับปรุงซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาไปตามลำดับขั้นโดยคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ผู้ให้ความเห็นชอบคือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ ก่อนที่จะส่งให้ ครม. เห็นชอบและประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

โดยใน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันได้ระบุแนวทางการจัดทำว่าให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นคือ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า

PDP กับการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า

กระบวนการจัดทำ PDP ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นๆ และหากมีการสร้างโรงไฟฟ้ามากขึ้น ค่าไฟที่เราต้องจ่ายก็จะแพงขึ้นด้วย เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะส่งผลให้ค่าใช้ในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น

จากการรวบรวมข้อมูลของ JustPow พบว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่ระหว่าง PDP 2004 กับ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยที่มีโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 5 เท่า 

ใน PDP 2004 ที่รัฐบาลอนุมัติเมื่อ 24 สิงหาคม 2547 ระบุว่า ภายในปี 2558 จะมีโรงไฟฟ้าใหม่ 16 โครงการ รวมกำลังการผลิต 20,761.95 เมกะวัตต์ โดยปลดระวาง 475 เมกะวัตต์ PDP ที่จัดเตรียมโดย กฟผ. กำหนดให้แผนหลักมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วน 81%

ต่อมา PDP 2007 ที่อนุมัติเมื่อ 16 กันยายน 2550 ระบุว่าในปี 2564 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 39,675.85 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าใหม่ 73 โครงการ โดยที่มีการปลดระวาง 8,462 เมกะวัตต์ มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ/LNG สูงถึง 62.8% รองลงมาคือ ถ่านหินนำเข้า 9.8% พลังน้ำ 9.7% (รวมซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ) และนิวเคลียร์ 9% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงใน PDP

การปรับปรุง PDP 2007 ครั้งที่ 1 มีขึ้นเมื่อกระทรวงพลังงานเห็นว่าควรนำโครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว และการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ที่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานที่ชัดเจนระบุเป็นโครงการในแผน PDP 2007 มาพิจารณาร่วมด้วย มีกำลังการผลิตใหม่ 38,093.30 เมกะวัตต์ มีโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ 53 โครงการ

ส่วน PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งมติ ครม. อนุมัติห่างจาก PDP 2007 เป็นเวลา 2 ปี กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 30,155 เมกะวัตต์ ปลดระวาง 7,502.00 เมกะวัตต์ มีก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด 60% ในปี 2564 รองลงมาคือ ถ่านหินและลิกไนต์ 21% ซื้อจากต่างประเทศ 9% ส่วนพลังงานหมุนเวียน 3%

PDP ที่มีโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดคือ PDP 2010 ที่ระบุว่า ภายในปี 2573 จำนวนโรงไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอีก 111 โครงการและมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 54,007.40 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม มีสัดส่วนการปลดระวางสูงที่สุดด้วยอยู่ที่ 17,671.00 เมกะวัตต์ พร้อมกันนี้ยังระบุด้วยว่าหากพิจารณาสถานการณ์ความเสี่ยงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก ระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมของประเทศอาจสูงกว่า 20% นับตั้งแต่ PDP ฉบับนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ สัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในปี 2573 มีก๊าซธรรมชาติเป็นสัดส่วนมากที่สุด 39% รองลงมา ถ่านหินและลิกไนต์ 23% อันดับสาม ซื้อจากต่างประเทศ 19% ส่วนพลังงานหมุนเวียน 6%

ในขณะที่ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มีขึ้นเพื่อปรับแผนระยะสั้น รองรับความต้องการไฟฟ้าที่มากกว่าที่พยากรณ์ไว้และปรับแผนให้สะท้อนปัญหาความล่าช้าของโรงไฟฟ้าเอกชน จากนั้นเมื่อมีเหตุการณ์อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ญี่ปุ่น ปี 2554 มีการปรับ PDP เป็น PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เลื่อนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าระบบออกไป 3 ปี และนำโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมาใช้เร็วขึ้น ต่อมาใน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่งที่ประชุม กพช. ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อนุมัติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555

มีกำลังการผลิตใหม่ 55,130 เมกะวัตต์ โดยกำหนดให้สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ภายในปี 2573 เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 10% จากเดิม PDP 2010 ฉบับปรังปรุงครั้งที่ 2 มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5%

หลังจากรัฐประหาร 2557 ภายใต้นโยบายใหม่จากรัฐบาล คสช. คณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศจัดทำ PDP 2015 แผนสำหรับ พ.ศ.2558-2879 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ปรับตัว แผนการลงทุน รวมทั้งการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมแล้วมีกำลังการผลิตใหม่ 57,458 เมกะวัตต์ โดยที่มีการปลดระวาง 24,736 เมกะวัตต์

สำหรับ PDP 2018 ซึ่งเป็นการจัดทำแผนกำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2561-2580 มีความเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดทำที่ต่างจากแผนที่ผ่านมาตรงที่แทนที่จะพิจารณาเฉพาะการจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการทั้งประเทศเป็นหลัก ก็เพิ่มการพิจารณาเงื่อนไขด้านการกระจายระบบผลิตไฟฟ้า การบริหารแหล่งเชื้อเพลิง และความมั่นคงทางไฟฟ้าในแยกตามภูมิภาค PDP ฉบับนี้มีกำลังการผลิตใหม่ 56,429.3 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้า 89 โครงการ ปลดระวาง 25,310.00 เมกะวัตต์ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในปี 2580 มีก๊าซธรรมชาติมากที่สุด 53% รองลงมาเป็นพลังงานหมุนเวียน 20% อันดับ 3 ถ่านหินและลิกไนต์ 12% ส่วนนำเข้าจากต่างประเทศไทย 9%

การปรับปรุง PDP 2018 มีขึ้นหลังจากที่ กพช.มีนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ใน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากให้สอดคล้องกับมติ กพช. ครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ห่างจากฉบับก่อนหน้านี้ที่มีมติเมื่อ 30 เมษายน 2562 ประมาณ 18 เดือนเท่านั้น PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มีกำลังการผลิตใหม่ 56,433.3 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ 93 โครงการ ปลดระวาง 25,310.00 เมกะวัตต์ สัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเฉพาะที่เปลี่ยนไปจาก PDP 2018 คือ ถ่านหินและลิกไนต์ ลดลงเหลือ 11% และพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 21%

การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเหล่านี้ใน PDP เป็นผลจากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาว เมื่อนำกำลังการผลิตทั้งหมดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดพบว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ 15% ค่อนข้างมาก ซึ่งสิ่งนี้เองที่ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟของเราแพงเกินความจำเป็น เพราะการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศนั้นต่ำกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีในระบบอย่างมาก ยังไม่นับว่า ยังมีต้นทุนที่เราต้องจ่ายแม้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องไม่เต็มกำลังก็ตาม เพราะเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของรัฐกับผู้ผลิตเอกชน กำหนดให้รัฐต้องจ่ายเงินให้กับโรงไฟฟ้าอยู่ดี ไม่ว่าจะเดินเครื่องหรือไม่ก็ตาม หรือที่เรียกว่า ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ซึ่งก็คือ ค่าออกแบบ จัดจ้าง จัดซื้อ ก่อสร้าง ทดสอบ เดินเครื่อง บำรุงรักษา รวมไปถึงดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายคงที่อื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งโรงไฟฟ้าที่พร้อมผลิตกระแสไฟฟ้าทันที

และค่าใช้จ่ายนั้นก็ถูกผลักภาระมาไว้ในบิลค่าไฟของเราทุกคน โดยที่คณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อการพยากรณ์เลย 

PDP กับการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้แบกภาระค่าไฟฟ้า

สำหรับการดําเนินโครงการของหน่วยงานของรัฐอันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการดําเนินการโดยหน่วยงานของรัฐหรือโดยวิธีการให้สัมปทานหรือ อนุญาตให้บุคคลอื่นทํา ที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย วิถีชีวิต หรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้ว่า ต้องประกาศแผนการดำเนินการล่วงหน้าต่อประชาชน ทั้งวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน และสรุปผลต่อประชาชนภายใน 15 วัน

แต่แผน PDP ซึ่งเป็นแผนการขยายกำลังผลิตและระบบส่งไฟฟ้าในอนาคต 15-20 ปีที่เกี่ยวข้องกับภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยตรง ดูเหมือนว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ การกำหนดนโยบายและกำหนดทางเลือกเชื้อเพลิงอย่างจำกัด และแม้จะมีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็น แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด โดยที่มักดำเนินการหลังจากได้มีการกำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์เงื่อนไข และสมมติฐานแล้ว

ที่ผ่านมา PDP มี กฟผ. เป็นผู้รับผิดชอบตลอดทั้งกระบวนการ รวมถึงการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ของประเทศ เพราะหากพยากรณ์ถูกต้องแม่นยำก็จะทำให้การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเหมาะสมก็จะไม่ก่อให้เกิดภาระที่ประชาชนต้องแบกรับผ่านค่าไฟฟ้า

ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานจะกำหนดแผนและอนุมัติให้ กฟผ. หรือเอกชนก่อสร้างก่อน แล้วจึงให้เจ้าของโครงการทำความเข้าใจกับประชาชน จนกระทั่งในการจัดทำ PDP 2007 มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่กระทรวงพลังงานเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 กระทรวงพลังงาน จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง “การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) เพียง 1 วันที่สโมสรกองทัพบก กรุงเทพฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550 จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และต่อมา กพช. เห็นชอบเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง PDP แต่ในทางปฏิบัติ การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้รายละเอียดของกระบวนการจัดทำที่ชัดเจน การไม่เปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าก่อนกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เช่น สมมติฐานที่ใช้ในการจัดทำแผนเป็นอย่างไร ระยะเวลาที่เปิดรับฟังความคิดเห็นก็สั้นและกระชั้นชิดเกินไป ในการจัดทำ PDP 2010 แม้จะมีกรอบการจัดทำแผนที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ขาดรายละเอียดของกระบวนการจัดทำ และถูกมองว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้ครบถ้วนตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น มีระยะเวลาสั้น โดยมีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นแบบเปิดกว้างเพียง 2 วัน ในระยะเวลา 1 เดือน โดยรับฟังความคิดเห็นแบบเปิดกว้างในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 และวันที่ 8 มีนาคม 2553 ก่อนที่ กพช. จะเห็นชอบในวันที่ 12 มีนาคม 2553 หรือ 4 วันหลังจากรับฟังความคิดเห็น ใน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 และ 2 ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างฯ  ส่วน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ที่กรุงเทพฯ กพช. มีมติเห็นชอบ PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555

เช่นเดียวกับการจัดทำ PDP 2015 ที่ขั้นตอนนี้มีระยะเวลา 2 วันเมื่อวันที่ 8 และ 28 เมษายน 2558 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ และเพียง 2 สัปดาห์หลังจากวันที่มีการรับฟังความคิดเห็น กพช. ก็มีมติเห็นชอบแผน PDP2015 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558

หรือกรณีของ PDP 2018 ซึ่งจัดการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคและจัด Open Forum กับกลุ่มต่างๆ 10 ครั้ง ไม่ว่าจะภาคเอกชน นักวิชาการ คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้ประกาศให้สาธารณะรับทราบเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก Energy Empowerment ซึ่งดำเนินการโดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน แจ้งกำหนดการว่าจะเปิดให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น 4 ครั้ง 4 ภาค ระหว่างวันที่ 3-7 ธันวาคม 2561 ช่วง 9:30 น. – 12:00 น. หรือแสดงความเห็นใต้โพสต์สรุปย่อของแผนที่ดำเนินการ 9 หลักการวางแผน ภายใต้เสาหลัก 3E (Energy Security, Economic, Environmental Friendly) ที่โพสต์เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 ซึ่งจะเห็นว่าประกาศอย่างกระชั้นชิดมาก นอกจากนี้เมื่อมีผู้สอบถามถึงร่าง PDP 2018 ที่จะให้แสดงความคิดเห็นก็ได้รับคำตอบในที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ว่า “ตอนนี้ทางแฟนเพจยังไม่มีร่างของแผนครับ หากมีร่างแผนเมื่อไหร่ จะนำมาประชาสัมพันธ์ให้ทราบอีกครั้งครับ” จากนั้นมีการรับฟังความคิดเห็นในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 อีก 1 เดือนต่อมา กพช. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562

ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดเป็นส่วนหนึ่งของเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ฉบับใหม่ รวม 4 แผน ใช้เวลา 1 วัน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น กพช. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ก่อนที่ครม.จะเห็นชอบเมื่อ 20 ตุลาคม 2563

สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นแผน PDP 2024 จากเอกสารที่ได้รับในงาน “สนพ.อุ่นเครื่องก่อน เปิดรับฟังความคิดเห็น PDP2024 และ Gas Plan2024 12-13 มิ.ย. 2567” ซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 เปิดเผยว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 ว่า จะเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2567

ในการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนจะเป็นช่องทางออนไลน์ เฉพาะ 4 ภาค เหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ และกลาง โดยไม่มีภาคตะวันออกและตะวันตก และให้เวลาภาคละ ครึ่งวัน โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน (นานกี่ชั่วโมง) รวม 2 วัน ในเอกสารระบุว่า

“จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นรูปแบบออนไลน์ ใน 4 ภูมิภาค ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ช่วงเช้าสำหรับประชาชนภาคกลาง ช่วงบ่ายสำหรับประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ช่วงเช้าสำหรับภาคประชาชนภาคใต้ ช่วงบ่ายสำหรับประชาชนภาคเหนือ นอกจากนี้สนพ. ยังเปิดรับให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทาง Facebook-EPPO Thailand และเว็บไซต์ www.eppo.go.th ตั้งแต่วันที่ 19-23 มิถุนายน 2567 ซึ่งข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น สนพ. จะนำไปประกอบการปรับปรุงทั้งสองแผนนี้ให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนต่อไป”

นอกจากนี้ในช่วงตอบคำถาม ยังปรากฏข้อมูลเพิ่มเติมว่า การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจะเป็นการสัมมนาออนไลน์ ซึ่งสนพ.จะจัดทำรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม จากนั้นจะส่งอีเมลเพื่อแจ้งลิงก์เข้าประชุม ขณะเดียวกันในช่วงที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ สนพ. จะโพสต์สไลด์ประกอบการบรรยายในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2567 และให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ตั้งแต่ 19-23 มิถุนายน 2567

ทั้งนี้ แม้การจัดรับฟังความคิดเห็นจะมีขึ้นในอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่น่าสังเกตว่า สนพ. ยังไม่เปิดเผยร่างฯ แผน PDP 2024 และยังไม่ประกาศกระบวนการจัดทำและพิจารณาแผนที่มีรายละเอียดชัดเจน รวมถึงยังไม่ให้ข้อมูลว่าจะมีวิธีพิจารณาความคิดเห็นอย่างไร จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ กพช.เมื่อใด

จากการสำรวจกระบวนการจัดทำ PDP ในช่วงสองทศวรรษจะเห็นได้ว่า ประชาชนแทบไม่มีบทบาทใดๆ ผู้มีอำนาจตัดสินใจหลักเป็นคณะกรรมการในชุดต่างๆ ซึ่งมีทั้งฝ่ายการเมือง หน่วยงานราชการ ผู้ผลิตไฟฟ้า บริษัทพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ซึ่งหลายคนยังเป็นกรรมการของบริษัทพลังงานต่างๆ ที่มีผลประโยชน์โดยตรงในกระบวนการวางแผนด้วย ขณะเดียวกัน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นหลังจากมีร่างของแผนแล้วก็ไม่สะท้อนว่า ผู้จัดทำมีเจตนาจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภครายย่อยและสาธารณชนอย่างที่ควรจะเป็น เช่น การไม่เปิดเผยร่างฯ ล่วงหน้า ระยะเวลาที่สั้นเกินไป จนอาจเรียกได้ว่า แผน PDP ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง แต่ประชาชนกลับมีส่วนร่วมได้น้อยมากในกระบวนการตัดสินใจ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: