ชวนชมงานนิทรรศการภาพถ่าย 'อยู่กับป่า' สะท้อนวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า-ภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 3682 ครั้ง

ชวนชมงานนิทรรศการภาพถ่าย 'อยู่กับป่า' สะท้อนวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า-ภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์

โครงการ “สู่นโยบายเอื้ออนุรักษ์มรดกทางสิ่งแวดล้อม: แรงผลักดันจากปฏิบัติการของชนพื้นเมืองในประเทศไทย” (Towards Heritage-Sensitive Conservation Policy: Impulses from Indigenous Practice in Thailand) จัดนิทรรศการภาพถ่ายหัวข้อ 'อยู่กับป่า' (Living with the Forest) เพื่อแสดงภาพถ่ายที่สะท้อนวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า ซึ่งรุ่มรวยไปด้วยภูมิปัญญาของสองกลุ่มชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอบ้านสบลานและบ้านแม่ยางห้า กับม้งบ้านแม่สาน้อย แม่สาใหม่และบ้านหนองหอยเก่า จัดที่เวิ้งคุณนลี ถ.สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 24 มิ.ย.-12 ก.ค. 2567

17 มิ.ย. 2567 ภาควิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมนักวิจัยจากโครงการ “สู่นโยบายเอื้ออนุรักษ์มรดกทางสิ่งแวดล้อม: แรงผลักดันจากปฏิบัติการของชนพื้นเมืองในประเทศไทย” (Towards Heritage-Sensitive Conservation Policy: Impulses from Indigenous Practice in Thailand) ได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายในวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย. 2567 หัวข้อ 'อยู่กับป่า' (Living with the Forest) ที่ เวิ้งคุณนลี ถ.สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เพื่อแสดงภาพถ่ายที่สะท้อนวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า ซึ่งรุ่มรวยไปด้วยภูมิปัญญาของสองกลุ่มชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอบ้านสบลานและบ้านแม่ยางห้า กับม้งบ้านแม่สาน้อย แม่สาใหม่และบ้านหนองหอยเก่า

ในงานดังกล่าวมีเวทีเสนอผลลัพธ์การศึกษาเพื่อยกระดับความรู้ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมของทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เป็น “มรดกวัฒนธรรมทางสิ่งแวดล้อม” ซึ่งมีรากฐานมาจากการสรุปความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา วิถีชีวิต สำนึกร่วมในการอยู่กับป่า และกระบวนการสืบทอดวัฒนธรรมการปกป้องรักษาผืนป่าต่อคนรุ่นหลัง

“ผู้นำระดับโลกต่างกระตือรือร้นที่จะสนับสนุนชนเผ่าพื้นเมืองและบทบาทของพวกเขาในการอนุรักษ์ผืนป่า แต่มีคำแนะนำเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับวิธีการ งานวิจัยของเราเน้นย้ำว่า เราสามารถทำงานร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองได้โดยเรียนรู้จากพวกเขา และส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมของพวกเขาในฐานะเครื่องมือสำคัญในการเคลื่อนนโยบายการอนุรักษ์ในระดับโลก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Marco J. Haenssgen ผู้จัดการโครงการกล่าว

ส่วนหนึ่งจากผลลัพธ์การวิจัยระบุว่า การยกระดับความรู้ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เป็นมรดกวัฒนธรรมทางสิ่งแวดล้อมจะช่วยสร้างพื้นที่ปฏิบัติการที่คนในอย่างกลุ่มชาติพันธุ์และคนนอกอย่างเจ้าหน้าที่รัฐสามารถร่วมมือกันสร้างความยั่งยืนในการอนุรักษ์ป่าไม้ พื้นที่สีเขียว อย่างเคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน เพราะเป็นการผสมผสานความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาและความรู้วิทยาการสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างความเข้าใจต่อสังคมวงกว้างเป็นเรื่องจำเป็น เพราะยังพบการตีตราผ่านวาทกรรม ‘ชาวเขาเผาป่า’ ‘ไร่เลื่อนลอย ภาพลบ อคติตีตราไร่หมุนเวียน’ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการใช้อำนาจกฎหมายของรัฐอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อสร้างทางเลือกที่เป็นทางออกของประเด็นขัดแย้งเรื่องพื้นที่ทำกินกับวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า

ด้วยเหตุนี้ โครงการวิจัยจึงขอเสนอให้มีการยกระดับความรู้ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมทางสิ่งแวดล้อม ที่คนชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมในพื้นที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดกระบวนการส่งต่อความรู้ สร้างความเข้าใจในสังคมวงกว้าง และสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

นอกจากนี้ ในวงเสวนาเรื่อง “โอกาสการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชนชาติพันธุ์” ยังมีนักการเมืองรุ่นใหม่ อาทิ คุณศรีโสภา โกฏคำลือ สส. พรรคเพื่อไทย คุณมานพ คีรีภูวดล และ คุณอรพรรณ จันตาเรือง สส. พรรคก้าวไกล และนักวิชาการปกาเกอะญอ ได้แก่ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการภูมิวัฒนธรรม ประจำวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนถึงโอกาสและแนวทางการผลักดัน ความรู้ภูมิปัญญาการอยู่กับป่า ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนชาติพันธุ์สามารถอยู่ร่วมกับป่า และรัฐก็ได้ประโยชน์จากการมีผู้ร่วมดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ใกล้ชิดติดพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือกฎหมายโลกร้อน ฉบับประชาชน และ การอนุมัติร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ของคณะรัฐมนตรีจะเป็น ‘โอกาส’ หรือ ‘ความท้าทาย’ ต่อการยกระดับความรู้ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เป็นมรดกวัฒนธรรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างไร

นิทรรศการภาพถ่าย “อยู่กับป่า” จะจัดอยู่ที่เวิ้งคุณนลี (หลังมช.) ถ.สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 24 มิ.ย.-12 ก.ค. 2567 ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการภาพถ่ายได้ที่ คุณนานา 099-103-0823 บริษัท ไทยคอนเซนท์จํากัด หรือข้อมูลเกี่ยวกับโครงการวิจัยได้ที่ คุณไอซ์ 061-843-8885 นักวิจัยและผู้ประสานงานโครงการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: