'แอมเนสตี้' เผย 'นักกิจกรรมหญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ' ถูกโจมตีบนโลกดิจิทัล

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 พ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 7815 ครั้ง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุในรายงานฉบับใหม่ที่เผยว่านักกิจกรรมที่เป็นผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในประเทศไทยกำลังถูกโจมตีบนโลกดิจิทัลด้วยถ้อยคำที่เหยียดหยามและภาษาที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ซึ่งสร้างความหวาดกลัวต่อผู้หญิง คนรักเพศเดียวกัน เเละคนข้ามเพศ รวมถึงเนื้อหาในโลกดิจิทัลที่ผูกโยงกับประเด็นทางเพศ และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศรูปแบบอื่นๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยี (Technology Facilitated Gender Based Violence - TfGBV)

รายงาน "อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง" (Being Ourselves is Too Dangerous) ชี้ให้เห็นถึงวิธีการที่นักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกสอดส่องติดตามโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วยการเฝ้าติดตามทางดิจิทัล รวมถึงถูกพุ่งเป้าโจมตีด้วยการใช้สปายแวร์เพกาซัสและการคุกคามทางออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะปิดปากพวกเขา ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เผยว่า ประเทศไทยวางตนเป็นผู้นำด้านความเท่าเทียมกันทางเพศมานานเเละให้คำมั่นสัญญาต่างๆ ในระดับนานาชาติว่าจะปกป้องสิทธิผู้หญิงและสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ความเป็นจริงก็คือ ผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI ) ในประเทศยังคงต้องเผชิญกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศอันแสนสาหัสผ่านการใช้เทคโนโลยีอยู่

หลังจาก การรัฐประหารโดยกองทัพในปี 2557 นักกิจกรรมที่ต้องอยู่แนวหน้าของการชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนท่ามกลางพื้นที่พลเมืองที่หดตัวลง

อย่างไรก็ตาม รายงานนี้แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือดิจิทัลกลับถูกใช้เพื่อคุกคามพวกเขา ทั้งการปล่อยข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเพศสภาวะ และเผยแพร่ถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและมีเนื้อหาที่ผูกโยงกับเพศ อันเป็นการดูถูกและย่ำยีศักดิ์ศรีผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

รายงานฉบับนี้อ้างอิงจากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวน 40 คน ซึ่งรวมถึงนักกิจกรรมเยาวชนจำนวนมากและผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม

 

การพุ่งเป้าสอดแนมทางดิจิทัล

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์นักกิจกรรมผู้หญิงจำนวน 9 จาก 15 คนที่ได้รับการยืนยันว่าถูกโจมตีโดยสปายแวร์เพกาซัส ในปี 2563 และ 2564 ซึ่ง เป็นสปายแวร์ที่มีความสามารถในการรุกล้ำอย่างสูง พัฒนาขึ้นโดยบริษัท NSO Group บริษัทเทคโนโลยีทางไซเบอร์จากประเทศอิสราเอล รายงานแสดงให้เห็นว่า การพุ่งเป้าสอดแนมทางดิจิทัลนั้นส่งผลกระทบอย่างไม่ได้สัดส่วนต่อนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยสร้างความหวาดกลัวด้วยเหตุแห่งเพศในหมู่ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย เช่น กลัวว่าข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาอาจถูกนำไปใช้ในการแบล็กเมล การคุกคามทางออนไลน์ และการเลือกปฏิบัติมากขึ้น เป็นต้น

นิราภร อ่อนขาว นักกิจกรรมวัย 22 ปี รู้สึกตกใจมากเมื่อเธอได้รับการแจ้งเตือนภัยคุกคามจาก Apple แจ้งว่าอุปกรณ์ของเธออาจเป็นเป้าหมายของ "ผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ" ในความเป็นจริง iPhone ของเธอถูกเจาะข้อมูลสปายแวร์เพกาซัสถึง 14 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนครั้งที่สูงที่สุดในบรรดาผู้ตกเป็นเป้าหมายทั้งหมดในประเทศไทย นิราภรเชื่อว่าการโจมตีครั้งนี้เชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมของเธอในขบวนการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2563

"ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง การถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องน่ากลัวมาก... ถ้ามีรูปส่วนตัวอยู่ในโทรศัพท์ มันก็อาจถูกปล่อยออกมาเพื่อทำลายชื่อเสียงและทำให้เราเจ็บปวด้จนถึงขั้นที่จะต้องหยุดการเคลื่อนไหวได้เลย"

"เราเชื่อว่า นักกิจกรรมที่เป็นผู้หญิงและ LGBTI กำลังถูกจับตามอง ติดตาม และตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากกว่ากลุ่มอื่นๆ" นิราภรกล่าว

หลักฐานทางเทคนิคและหลักฐานแวดล้อม ประกอบกับนโยบายของบริษัท NSO Group ที่ขายผลิตภัณฑ์ให้กับหน่วยงานรัฐเท่านั้น ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการมีส่วนร่วมของตัวแสดงจากภาครัฐไทยตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปที่มีการใช้เพกาซัส สอดคล้องกับที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยประเมินแบบเดียวกันว่าหน่วยงานรัฐบาลไทยเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้สัมภาษณ์นักกิจกรรมที่ได้รับการแจ้งเตือนจาก Meta ว่าบัญชีเฟซบุ๊ก (Facebook) ของพวกเขาตกเป็นเป้าหมายของ "ผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลหรือผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญ"

พัชรดนัย ระวังทรัพย์ เป็นผู้ที่ระบุตัวตนทางเพศว่าเป็นเกย์ เขาเป็นอดีตสมาชิก "ทะลุฟ้า" ซึ่งเป็นกลุ่มขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตย และเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมหลายคนที่ได้รับการแจ้งเตือนดังกล่าว หลังจากทราบว่ากิจกรรมออนไลน์ของเขาอยู่ภายใต้การเฝ้าระวัง เขาก็กลัวว่าข้อมูลส่วนตัวจะถูกนำมาใช้เพื่อดำเนินคดี พัชรดนัยกล่าวว่า "ฝันร้ายที่สุดของผมคือ การที่อาจจะต้องเข้าคุก สำหรับผู้ชายที่เป็นเกย์และผู้หญิงข้ามเพศ คุกไทยถือว่าเป็นสถานที่ที่โหดร้าย เพราะคุณมีโอกาสมากที่จะถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ"

 

กลยุทธ์ที่หลากหลายของการคุกคามบนโลกออนไลน์

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ตนถูกสร้างภาพให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นตัวแทนจากต่างประเทศที่พยายามบ่อนทำลายรัฐบาลไทย โดยปฏิบัติการพุ่งเป้าใส่ร้ายป้ายสีบนโลกออนไลน์ที่มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งน่าสงสัยว่าอาจจะริเริ่มหรือสนับสนุนโดยรัฐหรือบุคคลอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับรัฐ
นักกิจกรรมบางคนเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบของการจงใจเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว (doxing) ได้แก่ การเปิดเผยเอกสารหรือรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลทางออนไลน์โดยไม่ได้รับความยินยอม

ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ นักเคลื่อนไหวเยาวชนด้านเฟมินิสต์ที่ระบุตัวตนว่าเป็นนอนไบนารี่ (ผู้ที่ไม่อยู่ภายใต้กรอบเพศชาย-หญิง) บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เมื่อเขาอายุ 17 ปี มีบัญชี X (ชื่อเดิมคือ Twitter) ที่ไม่ระบุชื่อ ได้เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเขาต่อสาธารณะ รวมถึงหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และข้อกล่าวหาทางอาญาที่เขาต้องเผชิญจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเป็นการจงใจข่มขู่และกีดกันเขาจากการเคลื่อนไหวต่อไป

นักกิจกรรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากในชุมชนมุสลิมต้องเผชิญกับการตอบโต้อย่างรุนแรงทางออนไลนจากการเคลื่อนไหวของพวกเขา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือนักกิจกรรมผู้หญิงข้ามเพศมุสลิมสามคนถูกข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง หลังจากพวกเธอให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติและการต่อต้านกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศภายในชุมชนของตน

เอลิน่า คาสติลโย ฆิเมเนซ (Elina Castillo Jiménez) นักวิจัยด้านการสอดแนมทางดิจิทัลจาก Security Lab ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เป้าหมายสูงสุดของการโจมตีเหล่านี้คือการมุ่งเป้าไปที่ตัวตนของนักกิจกรรม บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของพวกเขา ลดความชอบธรรมในบทบาทของพวกเขา และแยกพวกเขาออกจากสังคม นี่เป็นกลยุทธ์ที่แพร่หลายซึ่งส่งสารที่ชัดเจนว่า นักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะถูกลงโทษหากพวกเขากล้าที่จะท้าทายสถานภาพปัจจุบัน

 

เมื่อนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต้องถูกปิดปาก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า ความรุนแรงในโลกดิจิทัลได้สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว (Chilling Effect) ในหมู่นักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากที่เริ่มเซ็นเซอร์ตัวเอง และแยกตัวออกจากงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง ในบางกรณี นักกิจกรรมบางคนยังได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตอย่างรุนแรง เช่น อาการหวาดระแวง ภาวะซึมเศร้า และตกอยู่ในสภาวะความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (Post-traumatic Stress Disorder) เป็นต้น

"แน่นอนว่าเราก็ใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ [...] เพื่อสื่อสารกัน แต่ภายในกลุ่มของเรา เราจะไม่โพสต์อะไรเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำลงในโซเชียลมีเดียเลย มันอันตรายเกินไป" นักกิจกรรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศชาวมลายูมุสลิมจากจังหวัดปัตตานีกล่าว

มีรายงานว่าผู้หญิงและเด็กหญิงมากกว่าครึ่งหนึ่งทั่วโลกถูกล่วงละเมิดและคุกคามทางออนไลน์ ทั้งยังต้องเผชิญกับการถูกทำให้เป็นคนชายขอบมากขึ้นเนื่องจากรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกและลักษณะทางเพศ และต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในรูปแบบอื่นๆ ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน

เช็ชฐา ดาส (Shreshtha Das) ที่ปรึกษา นักวิจัยด้านเพศวิถีศึกษา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เครื่องมือดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิง เด็กหญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยและทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกในการแสดงออก การเคลื่อนไหวและส่งเสริมความยุติธรรมทางเพศ แต่ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีทำให้พื้นที่ดิจิทัลไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา อีกทั้งยังขัดขวางไม่ให้พวกเขาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มที่

รัฐบาลไทยปฏิเสธการมีส่วนร่วมใดๆ กับการพุ่งเป้าสอดแนมทางดิจิทัลและการคุกคามออนไลน์ต่อนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้แสดงความเต็มใจที่จะสอบสวนกรณีต่าง ๆ ที่ถูกเน้นย้ำในงานวิจัยนี้

การไม่ดำเนินการอย่างแท้จริงในการปกป้องนักกิจกรรมสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนภายใต้สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี รวมถึงการรับประกันสิทธิที่จะมีอิสรภาพจากความรุนแรงบนพื้นฐานเพศ สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมประท้วงโดยสงบและการสมาคม สิทธิในความเป็นส่วนตัว และสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ เผยว่า รัฐบาลไทยต้องให้คำมั่นต่อสาธารณะที่จะไม่กระทำการละเมิด และปกป้องนักกิจกรรมจากการพุ่งเป้าสอดแนมทางดิจิทัลและการคุกคามทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังต้องสอบสวนทุกกรณีของความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีต่อนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งจัดให้มีการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพแก่บุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้ประเทศไทยหยุดการใช้การใช้สปายแวร์ที่มีการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวสูงและสร้างระบบกำกับดูแลที่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนสำหรับสปายแวร์ประเภทอื่นๆ และในช่วงเวลาที่ยังไม่มีระบบดังกล่าวที่ใช้ได้จริง รัฐบาลควรประกาศยุติการขาย การใช้ การส่งออก การถ่ายโอน และการสนับสนุนสปายแวร์รูปแบบอื่นๆ ทั่วโลก

นอกจากนี้ บริษัท NSO Group ยังล้มเหลวในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เขียนจดหมายถึงกลุ่ม NSO และบริษัทในเครือ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการขายซอฟต์แวร์เพกาซัสที่ใช้สอดแนมผู้ให้สัมภาษณ์ 9 คนจาก 40 คน แต่ยังไม่มีบริษัทไหนตอบกลับมา

NSO Group จะต้องยุติการผลิต ขาย ถ่ายโอน ใช้ และสนับสนุนเพกาซัสหรือสปายแวร์ที่มีลักษณะรุกล้ำอย่างสูงชนิดอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งบริษัทยังต้องจัดให้มีการชดเชยอย่างเพียงพอแก่ผู้เสียหายของการพุ่งเป้าสอดแนมโดยมิชอบด้วยกฎหมายผ่านสปายแวร์เพกาซัสในประเทศไทย

ชนาธิป ตติการุณวงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ประเทศไทยจะไม่มีวันเป็นสวรรค์ของความเท่าเทียมทางเพศอย่างที่กล่าวอ้างกัน เว้นแต่รัฐบาลและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีทันที"

 

 

หมายเหตุ:

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญหลักระดับโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง (Protect The Protest) ซึ่งต่อยอดจากงานที่มีอยู่ขององค์กร ในประเด็นสิทธิในการประท้วงในประเทศไทย รวมถึงเพศสภาวะและเทคโนโลยี

ก่อนหน้านี้ เอกสารรายงานจาก iLaw Digital Reach และ The Citizen Lab พบว่ามีการถูกโจมตีโดยเพกาซัสบนโทรศัพท์ของบุคคล 35 ราย ระหว่างปี 2563 ถึง 2564 และแผนก Security Lab ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ทำการวิเคราะห์โดยอิสระสำหรับ 5 รายในจำนวนนี้

ในขณะนี้ กำลังมีการดำเนินงานต่อเนื่องในการทำวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีในประเทศยูกันดาและแคนาดา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ "ทำให้โลกออนไลน์ปลอดภัย" หรือ Make It Safe Online ที่จะเปิดตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: