ผู้เชี่ยวชาญชี้ แก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังระดับบุคคลไม่พอ ต้องปรับทั้งระบบนิเวศสังคม ตั้งแต่พื้นที่สาธารณะ โรงเรียน ร้านอาหาร จนถึงมาตรการทางภาษี หลังพบยอดเสียชีวิตพุ่งกว่า 4 แสนรายต่อปี พร้อมวางเป้าลดเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 25% ภายในปี 2570
การขับเคลื่อนเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของประเทศไทยก่อนหน้านี้ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นแม่งานหลัก ดูเหมือนว่าอาจยังไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายใหญ่นี้ได้ เห็นได้จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ที่มากกว่า 4 แสนรายต่อปีในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เวทีเสวนาย่อยในหัวข้อ “การปรับสภาพแวดล้อมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ NCDs Ecosystem” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ ระหว่างวันที่ 27 - 28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ธีม “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” ได้มีการชี้ให้เห็นถึงหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา NCDs ให้ได้
“การจัดการโรค NCDs ในระดับบุคคลอาจไม่สำเร็จได้ เพราะสภาพแวดล้อมของชุมชน สังคม เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อโรค NCDs เพราะเป็นโรคที่เชื่อมโยงไปถึงทุกมิติอื่นๆ ในสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ รายได้ การศึกษา การคมนาคมขนส่ง ซึ่งมิติอื่นๆ ในสังคมเหล่านี้ ล้วนแต่สามารถเข้าไปจัดการ หรือออกแบบได้เพื่อลดความเสี่ยงของโรค NCDs ในพื้นที่ของตนเอง” ดร.เพ็ญ สุขมาก ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวในช่วงหนึ่งของงานเสวนา ซึ่งตอบคำถามข้างต้นได้อย่างชัดเจน
ดังนั้นการจะลดโรค NCDs ได้ ทุกฝ่ายที่ดำเนินการอยู่อย่างกระจัดกระจายต้องมาสานพลังดำเนินการร่วมกัน อย่างการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็จะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างมากต่อการจัดการพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชน ไม่ว่าจะทำให้ประชาชนได้มีกิจกรรมทางกาย ผ่านการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ของประชาชนในทุกกลุ่มวัยอย่างเท่าเทียม หรือออกแบบกิจกรรมทางกายในย่านเศรษฐกิจ
“สถาบันนโยบายสาธารณะเองก็ได้เข้าไปหนุนเสริมความร่วมมือในพื้นที่ โดยเฉพาะกับภาคส่วนท้องถิ่นในแสวงหาความเห็นความต้องการของชุมชน รูปแบบการจัดการที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการออกแบบพื้นที่สาธารณะ ทำให้ท้ายสุดทุกกลุ่มวัยในพื้นที่ได้มาใช้ประโยชน์ ซึ่ง อปท. ทั่วประเทศสามารถทำได้ โดยศึกษาตัวอย่างจากหลายพื้นที่ที่ขับเคลื่อนไปก่อนแล้ว เพื่อเป็นตัวอย่าง” ดร.เพ็ญ กล่าว
แน่นอนว่า สธ. เองก็เห็นเช่นกันว่า NCDs เป็นปัญหาสุขภาพที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมากองโรคไม่ติดต่อฯ ก็มีการประสานกับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้ร่วมกันขับเคลื่อนตามแผนดำเนินการของแต่ละหน่วยงาน
รวมถึงนำแผนมาผนวกรวมกันเป็นยุทธศาสตร์สำหรับโรค NCDs ในระดับประเทศ บนเป้าหมายร่วมกันคือการมีวิสัยทัศน์ระดับนโยบาย ที่นำไปสู่ศักยภาพในการจัดการโรค ซึ่งแผนปัจจุบันเป็นแผนดำเนินการปี 2566 - 2570 ที่มุ่งเน้น 3 ด้าน คือ 1. บูรณาการทำงานทุกภาคส่วน 2. ให้ความสำคัญกับการเสริมความรู้ด้านโรค NCDs ของประชาชน และกระตุ้นให้มีพฤติกรรมลดโรค NCDs และ 3. ปรับปรุงสภาพแวดล้อม สร้างระบบ Ecosystem ในภาพรวมของประเทศ ที่เอื้อต่อการควบคุม และป้องกันโรค NCDs
ในส่วนตัวชี้วัดที่จะสะท้อนถึงประสิทธิภาพของการดำเนินการตามแผน มีการตั้งเป้าหมาย 4 ด้านเพื่อชี้วัดความสำเร็จให้ได้ภายในปี 2570 คือ 1. ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ช่วงอายุ 30 - 70 จากโรค NCDs ต้องลดลง 25% หรือมีค่าเป้าหมาย 11% 2. ความชุกของโรคความดันโลหิตสูง ในกลุ่มอายุ 18 ต้องลดลง 25% หรือมีค่าเป้าหมาย 16.95% 3. ความชุกของโรคเบาหวาน กลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปต้องไม่เพิ่มขึ้น หรือมีค่าเป้าหมาย 7.30% และ 4. ความชุกโรคอ้วน ในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องไม่เพิ่มขึ้น หรือมีค่าเป้าหมาย 36.20%
นอกจากนี้ ปัจจุบันหลายภาคส่วนก็เข้าใจถึงการต้องผสานความร่วมมือกัน และยื่นมือมาร่วมดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่นภาคส่วนการศึกษาที่ร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย โดย ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำหนดแนวทางมุ่งเน้นลดโรค NCDs และลดความเสี่ยงของโรคในกลุ่มนักเรียนด้วยการสนับสนุนโรงเรียนปลอดภัยในทุกมิติ
ทั้งนี้ ผ่านมาตรการที่เรียกว่า 3 ป. คือ 1. ป้องกัน ด้วยการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค NCDs พร้อมกับวางมาตรการและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในโรงเรียน และภาคส่วนอื่นในพื้นที่ 2. ปลูกฝัง ด้วยการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ที่มุ่งเน้นเรื่องของโรค NCDs ให้เด็กได้เรียนรู้และดูแลตัวเองได้ต่อไปในอนาคต และ 3. ปราบปราม ช่วยเหลือ และเยียวยา
ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย สธ. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันภาวะอ้วนในเด็กมีจำนวนเพิ่มขึ้น หากปล่อยให้เด็กไทยต้องอ้วนไปเรื่อยๆ ภาครัฐจะต้องเสียงบประมาณสำหรับรักษาสุขภาพของเด็กเหล่านี้อีกมหาศาลในอนาคต ดังนั้น มาตรการที่สำคัญคือการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อลดโรค NCDs
“กรมอนามัยมองว่า มาตรการทางกฎหมายมีส่วนสำคัญอย่างมาก หากสามารถปรับใช้และเชื่อมโยงมายังเรื่องสุขภาพ จะเป็นอีกกลไกที่ทำให้ประชาชนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะการใช้กฎหมายสำหรับควบคุมร้านค้าร้านอาหาร ให้มุ่งเน้นมาที่สินค้า อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และใช้มาตรการกฎหมาย หรือมาตรการทางภาษีมาควบคุมร้านค้าร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารมีผลกระทบต่อสุขภาพ” ดร.พญ.สายพิณ กล่าว
ขณะที่หน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนในการลด NCDs ด้วยการเป็นพื้นที่กลางในการสร้างการมีส่วนร่วมอย่าง สช. ทาง ดร.อรทัย วลีวงศ์ คณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะ ว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ บอกว่า ช่วงที่ผ่านมา สช. และภาคีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพ ได้ร่วมกันขับเคลื่อน มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรค NCDs เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน 5 เรื่องที่เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ประกอบด้วย 1. ลดการดื่มเหล้า 2. ลดการสูบบุหรี่ 3. ลดการกินอาหารไม่เหมาะสม 4. ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกาย และ 5. จัดการปัญหามลพิษทางอากาศ
สำหรับมาตรการที่เห็นตรงกันว่าต้องสานพลังเพื่อจัดการปัจจัย 5 ด้าน ก็มีเครื่องมือ 5 อย่างที่ทุกภาคส่วนจะใช้สานพลังและขับเคลื่อนร่วมกัน คือ 1. ร่วมกันจัดระเบียบสังคม ลดการเข้าถึงสินค้า ผลิตภัณฑ์ และอาหาร ที่อันตรายต่อสุขภาพ 2. ร่วมกันส่งเสริมการผลิต พัฒนามาตรฐานสินค้า และอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 3. เพิ่มการเข้าถึงของประชาชนในสินค้าที่เป็นประโยชน์ ปลอดสารพิษราคาถูก 4. สร้างความตระหนักรู้ และเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ และ 5. สร้างกิจกรรมที่ประชาชนได้รับประสบการณ์สุขภาพดี กระตุ้นการอยากมีสุขภาพที่ดี และเพิ่มเติมกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น
“ในปี 2568 สช. และภาคี จะร่วมกับภาคีระดับพื้นที่ อาทิ สมัชชาสุขภาพจังหวัด อบจ. สสจ. ใน 8 จังหวัด ดำเนินมาตรการสร้าง Ecosystem เพื่อลด NCDs หากทุกพื้นที่ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนอย่างพร้อมเพียงพร้อมกับได้ผลลัพธ์ที่ดี ก็จะทำให้เกิดการขยับขับเคลื่อนในการสร้างนโยบายจากระดับพื้นที่ ไปสู่ระดับชาติที่เป็นภาพรวมของประเทศ ซึ่งผลการขับเคลื่อนดำเนินการ จะมีการรายงานผลความคืบหน้าในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในทุกๆ ปี เป็นเวลา 3 ปี หรือไปจนถึงปี 2570 ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น เราอาจได้เห็นภาพความสำเร็จจากหลายพื้นที่ และได้ระบบ กระบวนการขับเคลื่อนที่ชัดเจนนำไปสู่พื้นที่อื่นๆ” ดร.อรทัย อธิบายถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
ท้ายสุดความเห็นจากวงเสวนา ดร.ณัฐพล สุภาดุลย์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายภาษีสรรพสามิต สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า เห็นด้วยกับทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมกันกำหนดเพื่อลด NCDs โดยเฉพาะการควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายอยู่ในสังคม ไม่ให้เกินกำหนดเพื่อให้เป็นมาตรฐานของประเทศ เพราะแม้ว่าทุกวันนี้จะมีการรณรงค์ลดหวาน ลดเค็ม หรือมีประชาชนตระหนักและสั่งอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ลดความหวานลง แต่การปรุงอาหาร การชงเครื่องดื่มแต่ละร้านค้ามีความแตกต่างกัน ทำให้แต่ละร้านมีมาตรฐานการลดความหวาน ความเค็มที่แตกต่างกันไป
“เช่นที่สิงคโปร์ มีการศึกษาวิจัยทางห้องแล็บ และกำหนดเกณฑ์ความหวานออกมาเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้ร้านค้าร้านอาหารทุกร้านต้องปฏิบัติตาม ขณะที่อาหารที่มีความหวานสูง หรือมีผลกระทบต่อร่างกายสูง จะมีกฎหมายควบคุมไม่ให้ทำการตลาดโฆษณา ซึ่งมาตรการทางภาษี และทางกฎหมาย จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการควบคุมโรค NCDs โดยเฉพาะการจัดเกณฑ์ภาษีกับผลิตภัณฑ์ สินค้า อาหารเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับประเทศไทยได้” นายณัฐพล กล่าวในตอนท้าย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ