โลกมุสลิมหลัง 'ทรัมป์' หวนคืนตำแหน่งสมัยที่ 2

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 19 พ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 6133 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน รวมทั้งผู้อ่านทุกท่าน

การหวนคืนทำเนียบขาวของโดนัลด์ ทรัมป์ ในสมัยที่ 2 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการปรับรูปโฉมนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสำคัญในหลายด้าน ในบริบทที่สงครามและความไม่แน่นอนยังเกาะกุมอยู่ในหลายส่วนของโลก ทั้งต่อจีน รัสเซีย ยูเครน

สําหรับมุสลิมทั่วโลกตามที่ติดตามจากสื่อโลกมุสลิม ไม่ว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน อาหรับ และมุสลิมในยุโรปและอเมริกา แม้แต่ไทย มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า "ตามประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาต่อโลกมุสลิมไม่ว่าใครเป็นผู้นำนโยบายต่อโลกมุสลิม ไม่ต่างกันมาก อีกทั้งโน้มเอียงเข้าข้างอิสราเอลมากกว่าอาหรับ"

อย่างไรก็แล้วแต่มารยาททางการฑูตผู้นำโลกมุสลิมก็ยินดีกับทรัมป์ เช่นประธานาธิบดีตุรกีพร้อมสะกิดเบาๆ หวังโลกสงบ โดยแอร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ยักษ์ใหญ่โลกมุสลิม กล่าวในโพสต์บนแพลตฟอร์ม “X” ว่า “ขอแสดงความยินดีกับเพื่อนของฉัน โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง หลังจากชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี” และว่า "หวังว่าความสัมพันธ์ตุรกี-อเมริกันจะกระชับขึ้นในช่วงเวลาใหม่นี้ และวิกฤตการณ์โลกจะสิ้นสุดลง โดยเฉพาะปัญหาปาเลสไตน์และสงครามรัสเซีย-ยูเครน” หรือนายกรัฐมนตรีมาเลเซียดาโต๊ะสรีอันวาร อิบรอฮีม ก็กล่าวอวยพรและหวังว่าทรัมป์จะใช้ตำแหน่งประธานาธิบดี หยุดสงครามเช่นกัน (ดูอ้างอิง)

จากผ่านมา 1 ปี ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตโดยอิสราเอล โจมตีฉนวนกาซ่าตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2023 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 43,552 ราย ผู้บาดเจ็บอยู่ที่กว่า 102,765 ราย ผู้เสียชีวิตที่แก้ไขของอิสราเอลอยู่ที่ 1,139 ราย เสียชีวิตในอิสราเอลระหว่างการโจมตีที่นำโดยกลุ่มฮะมาส และมีผู้ถูกจับกุมเป็นเชลยมากกว่า 200 รายในขณะที่เลบานอนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,136 ราย และได้รับบาดเจ็บ 13,979 (ข้อมูลสรุปโดยไวท์นิวส์)

ความเป็นจริงตอนหาเสียงทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่าจะนำพาสันติภาพมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยนัยแล้วก็คือ เขามีความต้องการที่จะยุติสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา รวมถึงสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน แต่เขาก็ยังไม่ได้ระบุว่าจะดำเนินการอย่างไร“ (ดูอ้างอิง) ซึ่งเขาก็ทราบดีว่าชาวอเมริกันมุสลิมกำลังโกรธแค้นกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมเเครตที่กำลังหนุนอิสราเอลโจมตีพลเรือนปาเลสไตน์โดยเฉพาะที่กาซ่า ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ฐานเสียงพรรคเดโมแครตที่เป็นชาวมุสลิมและมีเชื้อสายอาหรับซึ่งเหนียวแน่นกับพรรคนี้มาถึง 2 ทศวรรษ หลังผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มนี้หันไปสนับสนุนว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จนเป็นฝ่ายมีชัยและเตรียมกลับคืนสู่ทำเนียบขาวในสมัยที่ 2 อย่างไรก็แล้วแต่พอดูคะแนนอย่างละเอียดแล้วพบว่ามุสลิมส่วนใหญ่ร้อยละ 53 เทคะแนนให้ทางเลือกที่สาม ในขณะที่ทรัมป์ได้ร้อยละ 21 และกมลา เเฮร์ริส ได้ร้อยละ 20

กล่าวคือพวกเขาไม่เอาทั้งทรัมป์-แฮร์ริสเป็นแคมเปญของคณะกรรมาธิการทางการเมืองมุสลิมและอาหรับอเมริกัน (American Arab and Muslim Political Action Committee: AMPAC) โดยให้เหตุผลว่า ทั้งทรัมป์และแฮร์ริสต่างไร้ความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาวิกฤตมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ของปาเลสไตน์ (ดูอ้างอิง)

โลกมุสลิม เคยลิ้มรสนโยบายทรัมป์

สำหรับ 8 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ สมัยภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (2017-2020) หรือสมัยแรกขอเขานั้น เขาก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศ “อเมริกาต้องมาก่อน” ซึ่งBBC(ภาษาไทย)ได้สรุป “การเน้นย้ำอำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ และสิทธิของทุกชาติในการขีดเส้นอนาคตของตัวเอง โดยมุ่งเน้นเรื่องความมั่งคงและเจริญรุ่งเรืองของชาติ

แล้วในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร มันก็หมายถึงการแยกตัวออกจากข้อตกลงระหว่างประเทศขนาดใหญ่ อย่างความตกลงปารีส (ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) หรือการถอนตัวจากองค์การระหว่างประเทศขนาดใหญ่อย่างองค์การอนามัยโลก นอกจากนี้เขายังท้าทายความเป็นพันธมิตรกับนานาชาติ ผลักดันให้ชาติสมาชิกนาโต้เพิ่มเงินสมทบในองค์กรพันธมิตรทางทหารแห่งนี้... (ผู้สนับสนุน)ในการบรรลุข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรนเพื่อปรับความสัมพันธ์ต่อกัน และเขาก็สั่งการปฏิบัติการสังหารนายอาบู บาการ์ อัล-บักห์ดาดี หัวหน้ากลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม และ นายพลคาเซ็ม สุเลมานี ผู้ทรงอิทธิพลในอิหร่าน” นอกจากนี้ "ประกาศรับรองสถานะให้ เยรูซาเลมหรือโลกมุสลิมเรียกว่าอัลกุดลเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ “และ”ห้ามพลเมืองจาก 6 ประเทศมุสลิม ได้แก่ อิหร่าน ลิเบีย ซีเรีย โซมาเลีย ซูดาน และเยเมน เข้าอเมริกา" นโยบายเหล่านี้มีผลต่อโลกมุสลิมมาก

ไม่เพียงแต่โลกมุสลิมแม้แต่สังคมมุสลิมในประเทศก็รู้สึก ซึ่ง “สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ร่วมกันแสดงพลังและจุดยืน ต่อต้านคำประกาศของสหรัฐอเมริกา กรณีให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ด้วยเหตุผลว่า

1. คำประกาศดังกล่าวเท่ากับการยกดินแดนนี้ให้อิสราเอลโดย นายโดนัลด์ ทรัมป์

2. คำประกาศดังกล่าวไม่เพียงละเมิดสิทธิ์ของชาวปาเลสไตน์เจ้าของดินแดนอัลกุดล์เท่านั้น แต่ยังละเมิดสิทธิ์ของมุสลิมทั่วโลกอีกด้วย เนื่องจากไปยกมัสยิดอัล อักซอ อันเป็นศาสนสถานที่สำคัญของอิสลาม ลำดับ 3 รองจากมัสยิดอัลหะรอม และมัสยิดอัลนะบะวีย์ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ให้ไปอยู่ใต้การปกครองของอิสราเอลทั้งๆ ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาสันติภาพ

3. คำประกาศดังกล่าวขัดแย้งและสวนทางกับมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 242, 252, 267, 465 ซึ่งมติทั้งหมดเรียกร้องให้อิสราเอลถอนทหารออกจากกรุงเยรูซาเลมทันที รวมทั้งการยุติการสร้างอาณานิคมชาวยิวในบริเวณดังกล่าวด้วย

4. คำประกาศดังกล่าวสะท้อนอคติเชิงชาติพันธุ์และเชิงศาสนาของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อประชาชาติอิสลามอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นอคติที่จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น”

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ จากศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนว่า “การเเสดงจุดยืนจากองค์กรสูงสุดของศาสนาอิสลามครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญของสังคมมุสลิมไทยที่ประกาศต่อมหาอำนาจเเละนานาชาติที่พร้อมยืนอยู่เคียงข้างกับความชอบธรรม ถึงเเม้ในอนาคตเเน่นอน บุคคลต่างๆที่ร่วมยืนเเถลงการณ์ผ่านการถ่ายถอดสด เเละสื่อทั้งในเเละต่างประเทศอาจต้องกระทบกับความมั่นคงส่วนตัวเเละองค์กร อย่างไรก็เเล้วเเต่ในเเถลงการณ์ครั้งนี้เป็นการจุดยืนที่ประณามรัฐบาลทรัมป์เท่านั้น เเต่ก็พร้อมเป็นมิตร ร่วมสานเสวนา เเละยินดีร่วมมือกับคนอเมริกันทุกคนที่ยืนหยัดบนความถูกต้องชอบธรรมอีกทั้งต่อต้านอาชญกรรมต่างๆ การก่อการร้ายที่ผิดหลักมนุษยธรรมเเละศาสธรรม” (อ่านเพิ่มเติม)

"ข้อตกลงอับราฮัม" (Abraham Accords) จะถูกต่อยอดอีกครั้งสมัยทรัมป์

คือข้อตกลงสันติภาพของอิสราเอลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรนภายใต้การสนับสนุนของทรัมป์ซึ่งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ หนึ่ง ทำกัน ที่ทำเนียบขาว ประเทศอเมริกาเมื่อวันอังคารที่ 15 ก.ย. ปี 2020

โดยข้อตกลงนี้เน้นโอกาสทางธุรกิจ มากกว่า ประวัติศาสตร์บาดหมาง โดยจะเน้นจุดร่วมทางประวัติชาติพันธ์ุ ซึ่งคำว่า อับราฮัม นั้น เป็นชื่อต้นบรรพบุรุษทั้งยิวและอาหรับ ซึ่งคนอาหรับและมุสลิมรู้จักในนามศาสดาอิบรอฮีม เป็นต้นตระกูลศาสดาของยิว หรือลูกหลานอิสรออีล(Bani Israil )และอาหรับจากศาสดาอิสมาอีล ต้นตระกูลของศาสดามุฮัมมัด

จากจุดเริ่มที่สองประเทศอาหรับคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ก็จะขยายประเทศอาหรับอื่นๆที่ละประเทศ อย่างไรก็แล้วแต่นโยบายนี้สร้างความไม่พอใจต่อชาวปาเลสไตน์ โลกมุสลิมที่ยืนเคียงข้างปาเลสไตน์และอิหร่าน เพราะเป็นการยิ่งให้การยอมรับอิสราเอล (ดูอ้างอิง)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: