เปิดราคา 'ไฟฟ้าสีเขียว' แพงกว่าค่าไฟฟ้าปกติ กกพ. เตรียมรับฟังความเห็น ม.ค. 2567

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 4242 ครั้ง

เปิดราคา 'ไฟฟ้าสีเขียว' แพงกว่าค่าไฟฟ้าปกติ กกพ. เตรียมรับฟังความเห็น ม.ค. 2567

ก.พลังงาน ประกาศเตรียมเปิดขายไฟฟ้าสีเขียวให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ช่วง ก.พ. 2567 ด้านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดรับฟังความเห็นอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว ม.ค. 2567 แบ่งเป็น อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวทั่วไป (ค่าไฟฟ้าปกติ รวมกับค่าบริการส่วนเพิ่ม 0.0594 บาทต่อหน่วย) และอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าใหม่ ในราคาประมาณ 4.55 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะแพงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าปกติที่เฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย | ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2567 ว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม,นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเตรียมเปิดขายไฟฟ้าสีเขียว

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมเปิดขายไฟฟ้าสีเขียว หรือ ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน โดยตามขั้นตอนจะต้องเปิดรับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับราคาค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (UGT) ภายในเดือน ม.ค. 2567 นี้ จากนั้นจะเริ่มเปิดขายไฟฟ้าพร้อมให้ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) ในเดือน ก.พ. 2567 เป็นต้นไป

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดรับฟังความเห็นอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวต่อประชาชนในเดือน ม.ค. 2567 โดยจะแบ่งอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1.อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) โดยกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าดังนี้ คือ ค่าไฟฟ้าปกติที่ประชาชนใช้ (ค่าไฟฟ้าฐาน+ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft) และบวกรวมค่าบริการส่วนเพิ่มอีก 0.0594 บาทต่อหน่วย

ประเภทที่ 2 คือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT 2) หรือผู้ที่ต้องการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหม่เท่านั้น โดยอัตราค่าไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1.สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) ในปี พ.ศ. 2568-2570 ในอัตรา 4.56 บาทต่อหน่วย และกลุ่มที่ 2 สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ COD ระหว่างปี 2571-2573 ในอัตรา 4.55 บาทต่อหน่วย

สำหรับการซื้อไฟฟ้าสีเขียวครั้งนี้ จะเปิดใช้เฉพาะกับลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น โดยใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) จะแบ่งเป็น กรณีใบรับรองจากการซื้อไฟฟ้าของ UGT 1 จะเป็นใบรับรองแบบปีต่อปี ที่จะออกโดยการไฟฟ้าแต่ละแห่งที่ผู้ซื้อติดต่อซื้อไฟฟ้าไว้ ส่วน UGT2 จะเป็นใบรับรองระยะยาว เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งหมายถึงผู้ซื้อจะใช้ราคาเดียวตลอด 10 ปี

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวซึ่งกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดบริการไฟฟ้าสีเขียวให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างเป็นทางการ

​“การเตรียมความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว อัตราค่าบริการ และมาตรฐานกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียว กกพ. ได้ทยอยดำเนินการมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว” นายเสมอใจ กล่าว

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด อยู่ที่สัดส่วน 25% และตามข้อตกลงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่ประเทศไทยเข้าร่วมนั้น ในส่วนของภาคพลังงาน มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 250 ล้านตัน จำนวนนี้คิดเป็นภาคไฟฟ้าถึง 100 ล้านตัน ซึ่งจะต้องลดลงให้เหลือ 75-76 ล้านตัน ภายในปี 2573 โดยกระทรวงพลังงาน ตระหนักถึงเรื่องนี้จึงมุ่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดถึง 5,000 เมกะวัตต์ ในเฟส 1 และจะเปิดรับซื้อในเฟสที่ 2 อีกประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแตะ 50% ภายในปี 2580 และในจำนวนนี้ จะเป็นเชื้อเพลิงโซลาร์ฯ มากกว่า 20,000 เมกะวัตต์ รวมถึงเรื่องของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย ฉะนั้น ในอนาคตปี 2593 คาดว่าประเทศไทย จะมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 70% โดยรายละเอียดการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมีความชัดเจนอยู่ใน แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018 Rev.1) ที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นในเดือน ก.พ. 2567 นี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: