ม.มหิดล วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคไทย สู่มาตรฐานติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร GMOs

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 3425 ครั้ง

ม.มหิดล วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคไทย สู่มาตรฐานติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร GMOs

สาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยพฤติกรรมศาสตร์ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภคไทย สู่มาตรฐานติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร GMOs

19 มิ.ย. 2567 งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่าในปัจจุบันมีพืช และสัตว์หลากหลายชนิดที่ได้รับการดัดแปรพันธุกรรม (GMOs - Genetically Modified Organisms) เพื่อประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การเพิ่มความทนทานต่อสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น และต้นทุนที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลว่าพืชและสัตว์ที่ได้รับการดัดแปรพันธุกรรมเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้หากไม่ได้รับการควบคุม

ประเด็นที่มีความสำคัญต่อคนทั่วไป คือ การนำพืช และสัตว์ที่ได้รับการดัดแปรพันธุกรรมมารับประทานเป็นอาหาร โดยผู้บริโภคแต่ละประเทศมีการยอมรับอาหาร GMOs ที่ไม่เหมือนกัน

ในขณะที่บางประเทศอาจยอมรับได้มาก แต่หลายประเทศอาจยังไม่สบายใจด้านผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว ความแตกต่างของการยอมรับนี้ ส่งผลให้แต่ละประเทศมีข้อกำหนดให้ติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร GMOs ที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้อาหารที่มีส่วนผสมของ GMOs อย่างน้อย 5% ต้องแสดงข้อมูลในฉลากให้ผู้บริโภคทราบ และห้ามแสดงข้อความที่ระบุว่าอาหารดังกล่าวไม่มี GMOs

รองศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ รองคณบดีฝ่ายคลังและทรัพยากรบุคคล และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ผู้นำทีมริเริ่มงานวิจัยเพื่อตีแผ่พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร GMOs ในวารสาร Thailand and the World Economy (Volume 40 Number 3)

โดยยังคงเป็น “งานวิจัยจรรโลงสังคม” เช่นเดียวกับ “Behavioral Game Experiment in Thailand” ตำราที่เปรียบเสมือน “เกมวัดจริยธรรมทางเศรษฐศาสตร์” ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ที่ผ่านมาโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ ด้วยภาษาอังกฤษซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยแพร่หลาย ทั้งที่เป็นรูปเล่ม และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ทางสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล

นับเป็นงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่สร้างความตระหนักต่อผู้บริโภคคนไทยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร GMOs ชิ้นแรกที่ได้อาศัยวิธีการทดลองด้วยการจำลองสถานการณ์การซื้อขายอาหารด้วยเงินจริง ทั้งนี้ เพื่อศึกษาความเต็มใจในการจ่าย (Willingness to Pay) การทดลองอาศัยกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคในวัยทำงาน โดยทีมวิจัยได้ให้เงินจำนวนหนึ่งแก่กลุ่มตัวอย่าง สำหรับเลือกซื้ออาหารที่มีการใช้ฉลาก GMOs ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยราคาของการซื้อขายจะถูกกำหนดด้วยวิธีการประมูลทางเศรษฐศาสตร์เพื่อหาความเต็มใจในการจ่ายที่แท้จริง

ทีมวิจัยได้ทำการทดลอง 2 ครั้ง และเปรียบเทียบผลการทดลองที่ระยะเวลาห่างกัน 12 ปี โดยผลการทดลองเพื่อศึกษาอุปสงค์ (Demand) ทั้ง 2 ครั้ง มีทิศทางเดียวคือ ไม่พบความแตกต่างระหว่างความเต็มใจในการจ่ายอาหาร GMO 1% จะสูงกว่า 5% อย่างไรก็ดียังคงต้องเน้นในเรื่องของการติดตามตรวจสอบให้ผู้ขายติดฉลากตามความเป็นจริง และให้ผู้บริโภคใส่ใจอ่านฉลากก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร

ผลการวิจัยยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญต่ออาหารที่ “ไม่มี GMOs” อย่างมีนัยสำคัญ และมีความเต็มใจในการจ่ายสูงขึ้นเมื่อเทียบผลการทดลองทั้ง 2 ครั้ง แม้ว่าข้อกำหนดปัจจุบันจะไม่อนุญาตให้ผู้ขายติดฉลากลักษณะนี้ แต่ผลการวิจัยแสดงถึงความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งอาจเป็นโอกาสของผู้ขายอาหารปลอด GMOs ได้ในอนาคต

สุดท้ายนี้ ทีมวิจัยหวังให้ผลจากการทดลองเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการใส่ใจเรื่องการให้ข้อมูลในฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร GMOs เพื่อประโยชน์สำหรับผู้บริโภคกันให้มากขึ้น การยกระดับคุณภาพชีวิตในประเทศให้ดีขึ้นมาจากการให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนแก่ผู้บริโภค เพื่อส่งผลให้ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกอย่างแท้จริง

ในส่วนของภาครัฐนั้น ควรติดตามให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการด้วย นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้มีการสำรวจและประเมินอุปสงค์ และการยอมรับอาหาร GMOs อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทัศนคติ และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ จะได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้เหมาะสม และเป็นปัจจุบัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: