พบละครออกอากาศข้ามแพลตฟอร์ม 'ทีวีดิจิทัล Netflix และ Prime Video' จัดเรตต่างกัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ก.พ. 2567 | อ่านแล้ว 7415 ครั้ง

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำรวจการจัดระดับความเหมาะสมและการขึ้นคำเตือนในทีวีดิจิทัล Netflix และ Prime Video พบการจัดเรตต่างกันของละครที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์ม

เลือดสาด ซอมบี้คลั่ง ข่มขืน เสียงปืนที่ดังลั่น จะทำอย่างไรเมื่อละครเรื่องนี้มีความรุนแรงเกินกว่าที่จะให้เด็กดู ปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์ส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน มักมีเนื้อหาตื่นเต้น เร้าใจ เรียล ๆ แสนฟินนี้มีการรับชมร่วมกันของครอบครัว ที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ด้วยปัจจุบันผู้บริโภคสื่อโทรทัศน์มีทางเลือกในการรับชมได้หลากหลาย ทั้งช่องทาง เนื้อหา เวลา วิธีการรับชม จึงมีความห่วงใยการเลือกรับเนื้อหารายการของเด็กและเยาวชน ดังนั้น การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์จึงมีความสำคัญจำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ทั้งเป็นเครื่องมือปกป้องเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย

MEDIA ALERT กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงสนใจการศึกษาการจัดระดับความเหมาะสมของรายการ (การจัดเรต) ระหว่างทีวีดิจิทัลไทย และบริการ OTT 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Netflix และ Prime Video ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ผลการสำรวจพบความแตกต่างในการจัดระดับความเหมาะสมและการขึ้นคำเตือนของรายการในทีวีดิจิทัลกับ Netflix และ Prime Video อีกทั้งยังพบการจัดระดับความความเหมาะสมของละครที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์มถึง 4 เรื่องจากทั้งหมด 6 เรื่องที่เป็นหน่วยการศึกษา

การสำรวจในครั้งนี้ เป็นการมุ่งเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง 1) การจัดระดับความเหมาะสมในภาพรวม 2) การขึ้นคำเตือน 3) เปรียบเทียบการจัดระดับความเหมาะสมของละครที่เผยแพร่ข้ามแพลตฟอร์ม ทั้งในทีวีดิจิทัลของไทย Netflix และ Prime Video โดยรายการที่สุ่มตัวอย่างเพื่อการสำรวจ เป็นละครที่เผยแพร่ในระหว่างวันที่ 15-30 ธ.ค. 2566

กรอบการอ้างอิงในการสำรวจ คือ

  • แนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556
  • ระดับความเหมาะสมของรายการทีวีและภาพยนตร์ใน Netflix
  • การจัดเรตติ้งตามกลุ่มอายุของ Prime Video
จากการเปรียบเทียบ พบว่า ทั้ง 3 แพลตฟอร์ม มีการกำหนดผู้รับชมในทุกช่วงอายุ โดยทางทีวิดิจิทัลใช้สัญลักษณ์ ท (ทั่วไป) Netflix ใช้สัญลักษณ์ ทุกวัย ในขณะที่ Prime Video ใช้สัญลักษณ์ ALL

สำหรับการจัดช่วงอายุผู้รับชมในกลุ่มรายการสำหรับเด็กนั้นมีความแตกต่างกัน โดยทีวีดิจิทัลไทยจะแบ่งเป็น ป 3+ (3-5 ปี) และ ด 6+ (6-12 ปี) แต่ใน Netflix และ Prime Video พบว่ามีการแบ่งระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการสำหรับเด็กที่ต่างออกไป โดยใน Netflix จะแบ่งรายการสำหรับเด็กเป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่ 7-9 ปี (7+) และ 10-12 ปี (10+) ในขณะที่ Prime Video พบว่ามีการกำหนดช่วงอายุ 7-12 ปี (7+) ไว้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งใน Netflix และ Prime Video จะมีช่องทาง Kid Safe หรือมุมเด็ก ซึ่งในโหมดนี้จะเป็นการแบ่งเนื้อหารายการสำหรับเด็กไว้โดยเฉพาะ เช่น ภาพยนตร์แอนนิเมชัน การ์ตูน ฯลฯ โดยใน Netflix พบว่าเป็นรายการที่สามารถรับชมได้ทุกช่วงวัย (ทุกวัย) รวมถึงกลุ่ม 7-9 ปี (7+) และ 10-12 ปี (10+) ส่วน Prime Video พบว่าเป็นรายการที่มีสามารถรับชมได้ทุกช่วงวัย (All) และกลุ่ม 7-9 ปี (7+)

ในขณะที่กลุ่มรายการสำหรับวัยรุ่น พบว่า ทีวีดิจิทัลไทย และ Netflix มีการแบ่งช่วงอายุการรับชมของวัยรุ่นที่เหมือนกันคือ เป็นรายการที่เหมาะกับอายุ 13 ปีขึ้นไป ทั้ง 2 แพลตฟอร์ม (น 13+ และ 13+) ต่างจาก Prime Video ที่กำหนดช่วงอายุวัยรุ่นไว้ที่ 2 ช่วง ได้แก่ 13 ปีขึ้นไป (13+) และ 16 ปีขึ้นไป (16+)

สำหรับการจัดระดับความเหมาะสมของช่วงอายุการรับชมของผู้ใหญ่ พบว่า ทีวีดิจิทัลไทย และ Prime Video จะมีความเหมือนกันในการกำหนดช่วงอายุคือ เป็นรายการสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป (น 18+ และ 18+) นอกจากนี้ ในทีวีดิจิทัลไทย ยังมีการจัดเนื้อหาเฉพาะ (ฉ) สำหรับรายการที่รับชมได้เฉพาะผู้ใหญ่ ที่ออกอากาศได้แต่ 12.00-05.00 น. ในขณะที่ Netflix มีการจัดช่วงอายุผู้ชมในรายการสำหรับผู้ใหญ่ ไว้ 2 ช่วงอายุคือ 16 ปีขึ้นไป (16+) และ 18 ปีขึ้นไป (18+)

ทั้งนี้ กลุ่มฟรีทีวีหรือทีวีดิจิทัลไทยนั้นเป็นการออกอากาศรายการตามผัง ในขณะที่กลุ่ม OTT เป็นลักษณะการเลือกรับชมแบบ On Demand อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการจำแนกกลุ่มช่วงอายุที่ต่างกันนั้น ถือเป็นข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่ง ในการพิจารณาทบทวนการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการ ที่นอกจากควรครอบคลุมกลุ่มผู้รับชมทุกช่วงวัยแล้ว ยังควรต้องมีความสอดคล้องกับความเฉพาะของกลุ่มช่วงอายุผู้รับชมนั้น ๆ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆด้วย เช่น พัฒนาการด้านต่าง ๆ แนวโน้มความชื่นชอบ ฯลฯ

 
 
จากการเปรียบเทียบระบบการขึ้นคำเตือนของทั้ง 3 แพลตฟอร์ม พบความแตกต่างที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ทีวีดิจิทัลไทย ใช้สัญลักษณ์และเสียงบรรยายในการบอกระดับความเหมาะสมของอายุคนดู ตามความแตกต่างของกลุ่มรายการ โดยใช้คำเตือนหรือคำชี้แจงก่อนเข้าเนื้อหารายการในลักษณะเดียวกันทั้งหมด โดยไม่มีการจำแนกให้เห็นความเฉพาะของเนื้อหานั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การใช้เสียงบรรยายเตือนว่า “รายการ

ต่อไปนี้เหมาะสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป อาจมีภาพ เสียง หรือเนื้อหา ที่ไม่เหมาะสมด้านพฤติกรรม ความรุนแรง เพศ และการใช้ภาษา ซึ่งต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำ”

2. ใน Netflix และ Prime Video มีมากกว่า 1 คำเตือนในแต่ละตอน เช่น การอ้างอิงถึงเซ็กซ์ที่รุนแรง ทารุณกรรมเด็ก การฆ่าตัวตาย ฯลฯ ที่ปรากฏในเนื้อหารายการนั้น ๆ เป็นการเฉพาะ เพื่อเตือนให้ได้รับทราบก่อนตัดสินใจรับชม

3. ใน Prime Video มีการจัดระดับความเหมาะสมทุกตอนของรายการหรือละครที่ออกอากาศ โดยแต่ละตอนอาจมีระดับความเหมาะสมที่แตกต่างกัน ตามลักษณะของเนื้อหาที่ปรากฏจริง จึงทำให้ระดับความเหมาะสมของแต่ละตอนที่ออกอากาศนั้นแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามเนื้อหาที่ยังไม่มีการกำหนดระดับจะขึ้นสัญลักษณ์ NR และคำเตือน เรตติ้งอายุ NR (Not Rated) ในรายการตอนนั้น ๆ 

 
จากการเปรียบเทียบตัวอย่างละครที่มีการออกอากาศทั้งในทีวีดิจิทัลไทย และใน Netflix หรือ Prime Video จำนวน 6 เรื่อง พบว่า 4 เรื่อง มีการจัดระดับความเหมาะสมแตกต่างกัน ดังนี้
  1. เรื่องพรหมลิขิต เป็นระดับ ท (ทั่วไป) ในช่อง 3 แต่เป็นระดับ 13+ ใน Netflix
  2. เรื่องพนมนาคา เป็นระดับ ท (ทั่วไป) ในช่อง ONE แต่เป็นระดับ 16+ ใน Netflix
  3. เรื่องรากแก้ว เป็นระดับ น 13+ (น้อยกว่า 13 ควรได้รับคำแนะนำ) ในช่อง 3 แต่เป็นระดับ 16+ ใน Netflix
  4. เรื่อง Home School นักเรียนต้องขัง เป็นระดับ น 13+ (น้อยกว่า 13 ควรได้รับคำแนะนำ) ในช่อง GMM25 แต่เป็นระดับ 16+ใน Prime Video

จากผลการสำรวจ พบว่า ทั้งใน Netflix และ Prime Video มีการจัดระดับความเหมาะสม หรือจัดเรตในกลุ่มช่วงอายุที่สูงกว่าทีวีดิจิทัล ทั้ง 4 เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ละครเรื่อง พรหมลิขิต และพนมนาคา ซึ่งทางทีวีดิจิทัล จัดให้เป็นระดับทั่วไป (ท)  แต่ใน Netflix จัดให้เป็นระดับ 13+ และ 16+ ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการใช้เกณฑ์ มาตรฐาน และแนวทางในการพิจารณาระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการที่แตกต่างกันของทั้ง 2 แพลตฟอร์ม

จากการสำรวจยังพบว่า Prime Video มีแนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการที่แตกต่างจากทีวีดิจิทัล และ Netflix กล่าวคือ โดยทั่วไปในทีวีดิจิทัลและ Netflix จะให้วิธีการจัดระดับความเหมาะสมของรายการหนึ่ง ๆ ในภาพรวม แต่ Prime Video จะมีการระบุระดับความเหมาะสมของรายการหนึ่งๆ ทั้งในภาพรวม และรายตอน (Episode) โดยหากตอนใดตอนหนึ่งในรายการนั้น ๆ มีเนื้อหาที่มีแนวโน้มมีความรุนแรง เพศ และภาษา ที่เข้มข้นต่างจากตอนอื่น ๆ ก็จะมีการระบุระดับที่สูงขึ้น เป็นต้น

สรุปผลการศึกษา   

จากข้อค้นพบทั้ง 3 ข้อข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด และการจัดระดับความเหมาะสมเนื้อหารายการที่แตกต่างกันของทีวีดิจิทัลไทย Netflix และ Prime Video  3 ประการ ได้แก่  1)  การจำแนกกลุ่มช่วงอายุผู้รับชมที่สะท้อนวิธีการมองและให้ความสำคัญของช่วงวัยที่แตกต่างกัน  2) การให้ความสำคัญกับระบบการขึ้นคำเตือนที่แตกต่างกันของแต่ละแพลตฟอร์ม และ 3) การจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการที่มีมาตรฐานแตกต่างกัน

การสำรวจเปรียบเทียบการจัดระดับความเหมาะสมจากทั้ง 3 แพลตฟอร์มในครั้งนี้ จึงอาจนำไปสู่ข้อเสนอแนะให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการทบทวนการจัดระดับความเหมาะสม ตลอดจนมีการบังคับใช้ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิทัลของไทยอย่างเคร่งครัด แต่ในขณะเดียวกันก็มีความทันสมัย เท่าทันความเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากล และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบริการ OTT

ที่มา: Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: