ธรรมาภิบาล กระจายอำนาจ ความหวังของ 'คนไร้ที่พึ่ง' (1) กลับไม่ได้เพราะไม่มีบ้านให้กลับ

ภัทรภร ผ่องอำไพ รายงาน/ถ่ายภาพ 19 พ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 8430 ครั้ง

 
โมเดลการสร้างสถานสงเคราะห์ชดเชยปัญหาที่อยู่อาศัยเพื่อให้คนไร้บ้านมีบ้านอยู่เพียงพอหรือแท้จริงแล้วเป็นไปตามความต้องการของคนไร้บ้านหรือไม่? มิติของการแก้ปัญหาให้กลุ่มคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง ได้รับการแกไขอย่างถูกจุดแล้วหรือไม่?
 
 

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

“คนไร้บ้าน” แค่มีบ้านก็พอใจสุขสบายแล้วจริงหรือ? 

โมเดลการสร้างสถานสงเคราะห์ชดเชยปัญหาที่อยู่อาศัยเพื่อให้คนไร้บ้านมีบ้านอยู่เพียงพอหรือแท้จริงแล้วเป็นไปตามความต้องการของคนไร้บ้านหรือไม่?

มิติของการแก้ปัญหาให้กลุ่มคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง ได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุดแล้วหรือไม่? 

สารคดีตอนแรกซึ่งเป็นหนึ่งในสองตอนนี้จะได้ทำความรู้จักกับ คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่งใน กรุงเทพมหานคร พื้นที่บริเวณตรอกสาเกและพื้นที่หัวลำโพง เรื่องเล่าที่ต้องการสะท้อนความรู้สึก ความทรงจำ เกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ที่เรียกว่า “บ้าน” และภาวะที่กลับบ้านไม่ได้เพราะ “ไม่มีบ้าน” ให้กลับนั้นเป็นอย่างไร 

เรื่องเล่าจาก “คนไร้บ้าน/คนไร้ที่พึ่ง”

หนึ่ง วัย 38 ปี อดีตคนไร้ที่พึ่งที่เคยอาศัยนอนบริเวณ หัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษม ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง คนแรกรู้จักในชื่อ หนึ่ง พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัด อุบลราชธานี ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ กับพ่อแม่ พ่อประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ส่วนแม่ขายส้มตำ 

หลังจากย่าของเขาเสียชีวิต ครอบครัวจึงย้ายถิ่นฐานกลับบ้านที่ อุบลฯ ตามเดิม แต่หนึ่งไม่ได้ตามไปด้วย แต่ไปได้งานเสิร์ฟอาหารในร้านอาหารแห่งหนึ่งในย่านสุขุมวิท 

กระทั่งเจอโควิดระลอกแรก แม้เขาจะยังพอมีเงินจุนเจือให้สามารถประคองชีวิตอยู่รอดได้ แต่ชีวิตของหนึ่งต้องมาพบกับความอับจนเมื่อร้านอาหารนั้นสังกัดปิดตัวลงหลังจากเจอโควิดรอบสองด้วยว่าไม่สามารถแบกต้นทุนต่อไปได้ ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2565 เมื่อไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าห้องอีกต่อไป หนึ่งจึงตัดสินใจออกมาอาศัยพื้นที่บริเวณหลังสถานีหัวลำโพงที่เป็นพักพิง

“ถ้าถามว่าทำไมถึงไม่กลับไปพร้อมกับพ่อแม่ที่อุบลฯ ถ้าเป็นคนต่างจังหวัดจะเข้าใจว่างานในต่างจังหวัดมันไม่ได้มีเยอะ กลับบ้านมันก็เหนื่อยนะ”

จากห้องเช่า เป็น “บ้านถาวร”

หัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษม ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

หัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษม ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

“วันแรกที่มานอน ก็กลัวนะ ไม่ใช่ไม่กลัว แต่มันเป็นภาวะต้องยอมจำนน คืนแรกหลับๆ ตื่นๆ ตลอด หลังจากนั้นก็มารวมกลุ่มนอนกับป้าๆ แถวๆ นี้เอา นอนไปนอนมามันก็ชินไปเองเรื่องอาหารก็ไม่ได้ลำบากอะไร เพราะมีคนมาแจกข้าวบ่อยจนกินไม่ทันต้องขอให้เขาให้อย่างอื่นแทน เช่น ยากันยุงบ้าง ยาลดปวดไข้บ้าง คนมาแจกเขาก็เข้าใจนะ บางคนก็ให้เป็นเงินสดแนบมาก็มี ลำบากบ้างเวลาจะอาบน้ำเข้าห้องน้ำหรือถ้าหนักสุดบางคนป่วยไม่มีบัตรประชาชนก็ตายตรงนี้เลย คนไร้บ้านแถวนี้ตายเป็นข่าวก็เยอะ แต่ก็ทำได้แค่มองดูเขาตายช่วยอะไรทำอะไรไม่ได้”

หนึ่ง เล่าว่า ในช่วงโควิดระลอกหลังที่เขาและเพื่อนที่อาศัยนอนสาธารณะแถวนั้นจำต้องคอยหลบเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หน่วยงานของ กทม. หน่วยงานเทศกิจ ฯลฯ ไม่ให้โดนจับ การรับมือกับสถานการณ์คนไร้บ้านช่วงนั้นถือว่าใช้มาตรการที่รุนแรงไม่ว่าจะเป็น ใช้รถทหารจับคนขึ้นรถ ใช้ปืนน้ำแรงสูงฉีดน้ำไล่ ทำให้เวลาที่ได้ยินเสียงรถหรือเห็นคนใส่ชุดสีชมพู คนแถวนี้เป็นที่รู้กันว่าต้องวิ่งหนี

“ตอนนี้มีงานทำอยู่แล้วเพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ ที่อยู่อาศัย มันคงไม่สามารถเปลี่ยนจากห้องเช่ามาเป็นบ้านถาวรได้หรอก มันก็คงต้องเป็นบ้านเช่าแบบนี้ไปนั้นแหละ” หนึ่ง หัวเราะ

“มีบ้านต่างจังหวัดแก่ตัวอายุ 40 อย่างมากก็กลับบ้านได้ แต่คนที่ไม่มีบ้านอ่ะเขาจะยังไง” หนึ่ง กล่าว

พิษเศรษฐกิจบีบบังคับให้กลายสถานะเป็น “คนไร้ที่พึ่ง”

บังอร วัย 62 ปี อดีตคนไร้ที่พึ่งที่เคยอาศัยนอนบริเวณ หัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษม

บังอร วัย 62 ปี อดีตคนไร้ที่พึ่งที่เคยอาศัยนอนบริเวณ หัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษม ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง คนที่สองชื่อ บังอร วัย 62 ปี เป็นคนจังหวัด สมุทรปราการ ประกอบอาชีพขายของและขายผลไม้เดินทางจากสมุทรปราการมาขายผลไม้ในเมืองใกล้กับตลาดมหานาคและหาห้องเช่าใกล้ๆ เพื่ออยู่อาศัย แต่หลังจากเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เธอค้าขายได้ไม่ดีนัก เงินที่ได้ก็ไม่เพียงพอที่จะเช่าห้อง จนสุดท้ายเธอกลายสถานะมาเป็น “คนไร้ที่พึ่ง”

“ช่วงแรกที่มานอนใหม่ๆ ก็กลัวไม่กล้านอน แต่ว่าเห็นว่าแถวนี้ก็มีผู้หญิงด้วย และคนก็เยอะ ตอนช่วงโควิดก็มีคนมาแจกข้าว น้ำ และก็มีให้เงินด้วยบางคน ก็เลยอยู่ตรงนี้ นอนตรงนี้จนเป็นปีอ่ะ”

บังอร เล่าว่า ระลอกแรกของโควิด-19 เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม. ไม่ได้เข้ามาช่วย ตรงกันข้ามกลับมองว่าไม่ทำมาหากิน และว่ากล่าว ติเตียน กลุ่มคนที่มาแจกของแจกข้าวว่าพฤติกรรมนี้เป็นการส่งเสริมให้กลุ่มคนไร้บ้านมีนิสัยขี้เกียจ ไม่ยอมออกไปหางานทำ บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศกิจ ไล่ไม่ให้คนมาแจกเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทให้เห็นบ่อยครั้ง 

มาระลอกหลังที่มีเจ้าหน้าที่พยาบาลจากโรงพยาบาลเข้ามาตรวจฉีดวัคซีนโควิด-19 ดูแล รวมทั้งมีหน่วยงานภาคประชาสังคม (NGOs) เช่น เครือข่ายคนไร้บ้าน รวบรวมข้อมูลสอบถามความคิดเห็นพี่น้องคนไร้บ้าน และทำงานหน่วยงานภาครัฐมากขึ้นได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุน รวมทั้งเช็คสิทธิ์สวัสดิการต่างๆ ท่าทีของหน่วยงานก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

“สำหรับตนไม่ได้ขออะไรเยอะขอแค่โอกาส ช่วยหาห้องเช่าในช่วงไม่มีบ้าน ไม่มีที่นอน ช่วยหางานให้ทุนในการช่วยเหลือให้ตั้งหลักได้ แค่นี้ตนก็พอใจแล้ว”

“บ้าน” ที่กลับไม่ได้

เวท วัย 50 ปี คนไร้บ้านที่นอนประจำแถวเทเวศร์ ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

เวท วัย 50 ปี คนไร้บ้านที่นอนประจำแถวเทเวศร์ ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง รายสุดท้ายที่ได้สัมภาษณ์ ชื่อ เวท วัย 50 ปี เป็นคนจังหวัด ราชบุรี อาชีพเดิมรับจ้างทำสวน แต่รายได้ไม่ดีมากนักจึงตัดสินใจเข้ามาทำงานที่ กรุงเทพฯ เป็นเด็กกระเป๋ารถเมล์ รับจ้างทั่วไป ปัจจุบันด้วยอายุที่มากขึ้นจึงไม่ได้ทำงาน อีกทั้งเขายังเคยประสบอุบัติเหตุถูกรถชนทำให้ขาพิการ

เวทเล่าว่าช่วงแรกไม่ได้นอนที่ไหนเป็นพิเศษย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ รวมกลุ่มนอนกับเพื่อนบ้าง นอนคนเดียวบ้าง แต่ไม่ได้ไปนอนแถวซอยตรอกสาเก ราชดำเนินฯ เพราะเห็นเจ้าถิ่นใช้กำลังทำร้าย ขโมยของบ้าง ปัจจุบันนอนอยู่ที่เทเวศร์ เพราะสงบเงียบกว่ามาก นานๆ ทีถึงจะกลับราชบุรี

“บ้านที่ราชบุรีที่เคยอยู่ ตอนนี้ไม่มีแล้ว”

“มีแต่ทะเบียนบ้าน ถ้าจะกลับก็ไปอยู่กับญาตินานๆ ทีผมจะกลับ ญาติก็มีจำได้บ้าง ไม่ได้บ้างเหมือนกัน เขาก็ไม่อยากให้เราอยู่” เวท กล่าว

ตรอกสาเก

ตรอกสาเก ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

ป่วย ไข้ ไม่สบาย แก้ได้ถ้าเข้าถึงสิทธิ์

เวท เล่าว่า เขามีบัตรประชาชน บัตรคนพิการเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีมูลนิธิอิสรชนที่พาไปทำเรื่องลงทะเบียนรักษา 30 บาทรักษาทุกโรค เวลาป่วยจึงไม่ได้กังวลเพราะใช้สิทธิ์รักษาตามบัตรได้ เจ้าหน้าที่พยาบาล โรงพยาบาลดูแลให้บริการดี แต่กรณีเพื่อนคนไร้บ้านที่รู้จักก็มีหลายคนที่ไม่มีบัตรประชาชน และยังไม่ได้ทำเรื่อง

“แต่ถ้าอย่างบางคนไม่มีบัตรอะไรเลย ป่วยที มันก็แล้วแต่เวรกรรมแต่ละคน” 

รัฐเสนอ “โครงการบ้านอิ่มใจ” และ “โครงการค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง”

จากเรื่องราวของคนทั้งสามคน ทำให้เกิดคำถามว่าคนที่ไร้บ้านไร้ที่พึ่งพาอาศัยเขามีชีวิตกันอย่างไร มีใครให้ความช่วยเหลือพวกเขาบ้างหรือเปล่า ทางการดูแลเขาแค่ไหน เท่าที่ได้สำรวจทำให้ทราบถึงโครงการบ้าน 2 ชื่อ คือ “โครงการบ้านอิ่มใจ” และ “โครงการค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง” แล้วโครงการทั้งสองนี้เป็นอย่างไร อยู่ภายใต้การดูแลหน่วยงานไหน และใช้งบประมาณใด?

‘บ้านอิ่มใจ’ 

‘โครงการบ้านอิ่มใจ’ เปิดโครงการครั้งแรกวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555 โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขณะนั้นมีแนวทางต้องการช่วยเหลือคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง คนมีรายได้น้อย ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่ผู้รับบริการ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

บ้านอิ่มใจเป็นห้องพักรายวัน ตั้งอยู่ที่สี่แยกแม้นศรี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย บริเวณสำนักงานการประปา สาขาแม้นศรี (เดิม) เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 64.70 ตารางวา พื้นที่ใช้สอยรวม 10,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่เช่าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อาคารตึกสูง 3 ชั้น แบ่งห้องพักเป็นห้องพักรวม ห้องพักชาย และห้องพักหญิง รองรับการเข้าพักได้วันละ 200 คน

บ้านอิ่มใจ

ที่มา : เฟสบุ๊ค บ้านอิ่มใจ กรุงเทพมหานคร

ต่อมา 14 มีนาคม 2562 ในสมัยที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมติเห็นชอบให้คืนพื้นประปาแม้นศรี(เดิม) ให้กับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในเดือนกันยายน 2562 เนื่องจาก กทม. เช่าพื้นที่ดังกล่าวในอัตราปีละ 28 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2555 – 2562 รวมเป็นเงินราว 200 ล้านบาท แต่กลับใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่าประกอบกับคนไร้ที่พึ่งเข้าพักอาศัยอยู่ไม่มาก โดย กทม. กำหนดให้คนไร้ที่พึ่งออกภายในเดือนมิถุนายน 2562

ทั้งนี้ทาง กทม. ได้ย้ายมาเช่าพื้นที่บริเวณศูนย์ฝึกอาชีพบางพลัด อาคาร 4 ชั้น ที่วัดบางพลัดแทน เพื่อรองรับให้กับ คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง ในส่วนอัตราค่าเช่าเสียปีละ 100,000 บาท และสิ้นสุดสัญญาเช่าในปี 2565 จากนั้นข่าวคราวเกี่ยวกับโครงการก็เงียบหายไป

จนกระทั่ง 29 กุมภาพันธ์ 2567 ปรากฏข่าวเกี่ยวกับโครงการบ้านอิ่มใจอีกครั้ง โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน มีแผนจะเปิดให้บริการโดยกลับไปเช่าพื้นที่สำนักการประปาสาขาแม้นศรี(เดิม) กับสำนักงานทรัพย์สินฯ อีกครั้งเป็นสัญญาเช่า 30 ปี ค่าเช่า 3 ปีแรก 2567-2569 เดือนละ 1,071,050 บาท หรือปีละ 12,852,600 บาท และหากเป็นไปตามแผนบ้านอิ่มใจจะได้เปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2567

‘ค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง’

โครงการค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง คือ โครงการจัดที่อยู่อาศัยผ่านการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านในรูปแบบการ ‘แชร์’ ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ร่วมกับกองทุนเครือข่ายคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม 

จุดประสงค์ของโครงการเพื่อสนับสนุนที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน ส่งเสริมการทำอาชีพต่างๆ และจัดการการเงินผ่านกองทุนเก็บออม เพื่อนำไปสู่การตั้งหลักชีวิตในระยะยาว ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเสี่ยงทางสุขภาวะของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ โดยให้คนไร้บ้านสมทบค่าเช่าร่วมกับโครงการฯ ในสัดส่วน 60:60 ของค่าเช่าห้อง ส่วนต่างที่เหลือร้อยละ 20 จะนำไปเป็นเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกคนไร้บ้านรายอื่นๆ หรือ สมทบในด้านอื่นๆ ต่อไป

วราวุธ ศิลปอาชา รมว. การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึง เงื่อนไขของผู้เข้าร่วมโครงการค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง คือ ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีงานทำ ห้องเช่าราคาถูกไม่เกิน 2,000 - 3,000 บาท เพื่อที่จะทำให้คนที่ประสบปัญหาไม่มีที่พักอาศัยสามารถมีที่อยู่และมีงานทำ กรณีคนไม่มีงานทำ กรมพัฒนาสังคมฯ จะช่วยหางานช่วยฝึกอาชีพให้  ซึ่งทางกระทรวง พม. ตั้งเป้าเอาไว้ว่าภายในปี 2579 ประชาชนทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากการที่เราได้สัมภาษณ์คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง หนึ่งและบังอรเป็น 2 คน ที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้และเห็นด้วยที่จะให้โครงการนี้มีต่อไป

“ตอนแรกจะเข้าโครงการบ้านอิ่มใจ แต่เพราะไม่มีใครไปด้วย คนที่เคยไปแล้วกลับมาเล่ามีทั้งดีบ้างไม่ดีบ้างก็เลยไม่ได้ไป หลักๆ ก็ไกลเกินคนเลยไม่อยากจะไปจนมาได้รู้จักกับ โด่ง และ พัฒน์ เพื่อนเครือข่ายคนไร้บ้าน ทั้งสองคนชวนให้มารู้จักกับ ‘โครงการเช่าบ้านคนละครึ่ง’ ตอนนั้นลงทะเบียนเข้าร่วมอยู่เฟส 3 ก็รู้สึกว่าไม่แน่ใจว่าโครงการดีไหม จนอยู่บ้านเช่ามีเจ้าหน้าที่ช่วยหางาน หน่วยงานสนับสนุนให้ทุนซื้อรถเข่งผลไม้ มีเงินผ่อนค่าห้อง ปัจจุบันก็ไม่ได้มานอนหัวลำโพงแล้ว ถ้ามีโครงการนี้อีกก็สนใจจะสมัครเข้าร่วมด้วย” บังอร กล่าว

“รู้จักโครงการค่าเช่าบ้านคนละครึ่งผ่านทาง โด่ง มูลนิธิที่อยู่เพื่อการพัฒนา เคยเข้าร่วมโครงการครั้งหนึ่ง รู้สึกว่าโครงการนี้ช่วยคนไร้บ้านได้เยอะมาก หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยดูในเรื่องหางาน พาทำบัตรประชาชน เช็คสิทธิ์การรักษาต่างๆ ให้” หนึ่ง กล่าว

แต่ก็ยังมีเสียงที่สะท้อนความกังวล อย่างเช่น เวท ที่ถึงแม้ว่าจะรับรู้เรื่องโครงการทั้งสองแล้ว แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมเลือกใช้ชีวิตนอนสาธารณะดั่งเดิม

“เคยได้ยินมาเหมือนกัน โครงการบ้านต่างๆ ที่ให้คนไร้บ้านไปอยู่ แต่ไม่อยากไป ไม่อยากเข้าไปยุ่ง มันมีกติกา กฏระเบียบที่เราฝืนไม่ได้ สถานที่มันรวมกลุ่มคนที่ต่างคนก็ต่างมาจากหลายที่ ต่างคนก็ต่างจิตใจกัน คนเร่รอนในกรุงเทพฯ รั่วเยอะ” เวท กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการทั้งสองที่ว่ามา ยังอยู่ห่างไกลจากสถานะที่จะเป็นที่พักพิงให้คนที่ไร้ที่พึ่งได้อย่างจริงจัง ทั้งปัญหาที่เกิดจากภายในระบบราชการเองอย่างกรณีของบ้านอิ่มใจ เมื่อมีเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เปลี่ยนผู้บริหารกรุงเทพมหานครแต่ละทีก็เปลี่ยนนโยบาย โครงการนี้จึงดูเหมือนจะกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น เอาตัวเองยังไม่รอด ดูไม่น่าจะเป็นที่พึ่งให้ใครได้ ส่วนโครงการบ้านคนละครึ่งนั้นก็ฟังดูดี แต่ทางปฏิบัติก็อาจจะยาก เพราะคนที่ไร้ที่พึ่ง ไร้อาชีพจริงๆ หรือ อาจจะมีอาชีพที่ไม่สามารถหารายได้เพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าได้แม้แต่ 2,000-3,000 บาทต่อเดือนก็จัดว่าเป็นเงินที่ไม่น้อย ยังไม่นับว่าจะมีที่อยู่อาศัยแบบนั้นให้อย่างเพียงพอหรือไม่

เห็นได้ว่าการช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านไร้ที่พึ่งนั้นมีหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะแยะมากมายไม่ว่าจะเป็น รัฐ ภาคประชาสังคมและเครือข่ายรวมทั้งนักวิชาการ แต่ก็ยังดูเหมือนไม่มีแนวทางที่ยั่งยืนนักและการขาดรายได้ที่เพียงพอก็ยังอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย

คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความต้องการ “บ้าน”เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสวัสดิการคุณภาพชีวิตที่ดีในฐานะประชาชนคนหนึ่งด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: