สตง. ชี้ 'โครงการทัวร์เที่ยวไทย' ช่วงโควิด-19 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 10080 ครั้ง

สตง. ตรวจสอบ 'โครงการทัวร์เที่ยวไทย' ช่วงเยียวยาผลกระทบโควิด-19 พบไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งการใช้สิทธิและเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้าหมาย การเข้าร่วมโครงการฯ ของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผย ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการทัวร์เที่ยวไทย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนับว่ามีบทบาทที่สำคัญต่อเศรษฐกิจรวมของประเทศซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศตลอดมา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ เดือนมกราคม 2563 เนื่องด้วยมาตรการควบคุมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ลดลงจากมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัดภายในประเทศ และความวิตกกังวลของนักท่องเที่ยวต่อความปลอดภัยด้านสุขอนามัยขณะเดินทาง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้หน่วยงาน ก.ดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจท่องเที่ยว ใช้งบประมาณจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในส่วนของแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวร้อยละ 40 สูงสุด แต่ไม่เกิน 5,000.00 บาท ต่อ 1 สิทธิ ให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศผ่านบริษัทนำเที่ยว โดยกำหนด 1 สิทธิต่อคน จำนวน 1 ล้านสิทธิ วงเงินงบประมาณ 5,000.00 ล้านบาท โดยให้เริ่มจองสิทธิเดินทาง เดือนพฤษภาคม 2564 ใช้สิทธิเดินทางได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และสิ้นสุดการเบิกจ่ายวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 และมีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานให้มีผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,000 ราย

โครงการทัวร์เที่ยวไทย มีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเพื่อเร่งผลักดันมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบ และเป็นการฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศที่ซบเซาอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ อันจะทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังคงเกิดการจ้างงาน และมีการสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการทัวร์เที่ยวไทย ของหน่วยงาน ก. พบว่า โครงการทัวร์เที่ยวไทยไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งในส่วนของผลการใช้สิทธิและเบิกจ่ายงบประมาณ รวมไปถึงผลการเข้าร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทย ของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ดังนี้

ข้อตรวจพบ โครงการทัวร์เที่ยวไทย ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

1. ผลการใช้สิทธิและเบิกจ่ายงบประมาณ ภายใต้โครงการทัวร์เที่ยวไทยต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้

ผลการดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทย พบว่า โครงการไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ และมีการขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการ จำนวน 3 ครั้ง รวมถึงมีการปรับลดสิทธิรวมถึงกรอบงบประมาณภายใต้โครงการจากเดิม 1,000,000 สิทธิ เป็น 200,000 สิทธิ ทำให้กรอบวงเงินลดลงจาก 5,000.00 ล้านบาท เป็น 1,000.00 ล้านบาท โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการมีผู้มาจองใช้สิทธิจำนวน 127,430 ราย คิดเป็นร้อยละ 63.72 ของเป้าหมายที่มีการปรับเปลี่ยนจำนวน 200,000 สิทธิ และมีจำนวนงบประมาณตามรายการจอง 582.90 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.29 ของกรอบวงเงินงบประมาณที่มีการปรับเปลี่ยนจำนวน 1,000.00 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการมีการเบิกจ่ายงบประมาณภายหลังตรวจสอบความถูกต้องของรายการขอเบิกจ่ายเงิน จำนวนทั้งสิ้น 121,209 สิทธิ และมีการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 553.83 ล้านบาททำให้มีจำนวนงบประมาณคงเหลือ จำนวน 446.17 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.62 ของกรอบวงเงินงบประมาณที่มีการปรับเปลี่ยนจำนวน 1,000.00 ล้านบาท

2. ผลการเข้าร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทย ของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้

จากการตรวจสอบผลการดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทย พบว่า ผลการดำเนินงานโครงการต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่มียอดการจองและมีการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้โครงการเพียง 324 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 32.40 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ และคิดเป็นร้อยละ 38.34 ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 845 ราย ที่มีการเสนอขายรายการนำเที่ยว มีจำนวนการให้บริการนำเที่ยวของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเฉลี่ย 393 สิทธิต่อราย โดยกว่าร้อยละ 61.63 ของงบประมาณตามรายการจอง หรือจำนวน 359.22 ล้านบาท เป็นส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเพียง 77 รายเท่านั้น

การที่โครงการทัวร์เที่ยวไทยมีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และการกระตุ้นและช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวทั้งในส่วนของค่าเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณส่วนดังกล่าวไปใช้ในการดำเนินงานโครงการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมไปถึงการเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจอันจะกระจายรายได้ให้กับอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องเป็นจำนวนกว่า 23,787.01 ล้านบาท

ทั้งนี้ การที่ผลการดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทยมีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เกิดจากขาดการเตรียมความพร้อมและความละเอียดรอบคอบในการบริหารจัดการโครงการ ได้แก่ การวางแผนการประเมินและการจัดทำข้อเสนอโครงการ (Planning, Appraisal and Design) การเตรียมความพร้อม (Activation) ในการจัดทำแผนดำเนินงาน การประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ รวมไปถึงการบริหารจัดการข้อมูลที่เป็นระบบและเพียงพอ นอกจากนี้ การดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทยยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการที่ส่งผลต่อการไม่บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานโครงการ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว (Supply) และข้อจำกัดในการเข้าร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทยของประชาชน (Demand)

ข้อเสนอแนะ

เพื่อให้การดำเนินมาตรการหรือนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นและเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีผลการดำเนินงานที่เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงาน ก. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. หากในอนาคตมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการหรือโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องการกระตุ้นและเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก เห็นควรให้มีการวางแผนการประเมินและออกแบบโครงการ (Project design) ร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและมีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้การกำหนดแนวคิดโครงการ (Project identification and formulation) และการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการดำเนินงานของผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว และพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและลดความเสี่ยงที่ขั้นตอนการดำเนินงานจะเป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการบรรลุเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของโครงการ ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญในการศึกษาความเป็นไปได้และประเมินโครงการ (Feasibility studies and appraisal) เพื่อให้การกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัด และวงเงินงบประมาณ สอดคล้องและใกล้เคียงกับผลการดำเนินงานที่เป็นไปได้ ไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน เกิดความคุ้มค่าของงบประมาณ และไม่เกิดความเสี่ยงที่ผลการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ ให้มีการถอดบทเรียน (Lesson Learned) จากมาตรการหรือโครงการขนาดใหญ่ที่มีการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกันโครงการกำลังใจ รวมถึงโครงการทัวร์เที่ยวไทย เป็นต้น เพื่อเก็บรวบรวมเป็นข้อมูลและนำไปใช้ประกอบการออกแบบโครงการ (Project design) หากต้องมีการดำเนินมาตรการหรือโครงการภาครัฐอีกในอนาคต ทั้งนี้เพื่อให้ผลการดำเนินงานของมาตรการหรือโครงการภาครัฐเกิดประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานได้อย่างแท้จริง

2. ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม (Activation) ในการจัดทำแผนดำเนินงานให้มีความรอบคอบ รัดกุม และครอบคลุมการบริหารจัดการโครงการในทุกด้าน เช่น แผนงบประมาณแผนการบริหารจัดการ แผนกำลังคน การคัดเลือกผู้บริหารโครงการ การบูรณาการทีมงาน การจัดโครงสร้างการบริหารงาน รวมไปถึงแนวทางการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเตรียมทีมที่คอยรับแจ้งแก้ปัญหาในการดำเนินงานตามขั้นตอน หรือ Helpdesk และการวางแผนด้านงบประมาณในการบริหารโครงการ ในส่วนของการประชาสัมพันธ์โครงการ การติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการ และส่วนของการจัดทำระบบการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศของโครงการ รวมทั้งเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแบบแผนและโครงสร้างระบบการดำเนินโครงการให้มีความชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ทำให้ผลของการนำโครงการไปปฏิบัติ (Implementation) เกิดปัญหาและข้อจำกัดจนเป็นเหตุให้การดำเนินงานไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

3. ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการภาครัฐแก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับพื้นที่ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและประชาชนเข้าถึงรายละเอียดข้อมูลโครงการ รวมไปถึงสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่หน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ สามารถเป็นกลไกในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ประกอบธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและประชาชนเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานโครงการต่อไป

4. การดำเนินงานโครงการด้านการท่องเที่ยว มีหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การที่ขาดความพร้อมและความชัดเจนของข้อมูล อาทิ ข้อมูลด้านผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ข้อมูลนักท่องเที่ยว และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการกำหนดแนวทางและเงื่อนไขในการดำเนินงาน จึงทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในกระบวนการออกแบบโครงการ (Project design) การกำหนดแนวคิดโครงการ (Project identification and formulation) รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะสามารถทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปกำหนดมาตรการในภาวะที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น จึงเห็นควรให้หน่วยงาน ก. นำรายงานผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เรียนที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเพื่อทราบสภาพปัญหาข้อจำกัดในการดำเนินมาตรการและโครงการภาครัฐด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในภาวะที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมและออกแบบแนวทางการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดมาตรการ และการดำเนินนโยบายด้านการท่องเที่ยวในอนาคตต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: