"เครือข่ายสิ่งแวดล้อม" เปิดเวทีสิทธิที่หายไปในกฎหมายโลกร้อน

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 11733 ครั้ง

‘เครือข่ายสิ่งแวดล้อม’ เปิดเวทีสิทธิที่หายไปในกฎหมายโลกร้อน หวั่นร่างกฎหมายไม่ตอบโจทย์-ละเลยสิทธิชุมชน-เปิดช่อง ‘คาร์บอนเครดิต’ เอื้อกลุ่มทุน

เว็บไซต์ Lanner รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2567 เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมจากทุกภูมิภาค จัดเวที “สิทธิชุมชนกับสิทธิที่หายไปใน พ.ร.บ.โลกร้อนไทย” เพื่อร่วมกันหารือและแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกำลังผลักดันให้คณะรัฐมนตรีรับรองในเร็ว ๆ นี้

แม้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีการปรับปรุงจากฉบับเดิมที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในปี 2563 แต่เครือข่ายฯ ยังคงมองว่าร่างกฎหมายฉบับปัจจุบันยังคงมีปัญหา ทั้งในด้านหลักคิดและโครงสร้างการบริหารจัดการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น และไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจถูกละเลยหรือกระทบจากการดำเนินงานตามกฎหมายฉบับนี้

‘คาร์บอนเครดิต’ ฉุดไทยติดกับดักฟอสซิล:  ภาคประชาชนชี้ พ.ร.บ.โลกร้อนไทยเอื้อกลุ่มทุน จี้แก้กฎหมาย เสนอ พ.ร.บ.สภาพภูมิอากาศฉบับใหม่

กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice for All กล่าวว่า ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 370 ล้านตันคาร์บอนต่อปี ส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานฟอสซิลถึง 60-70% เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก แม้จะมีการพูดถึงการลดการใช้พลังงานฟอสซิล แต่ในความเป็นจริง โครงสร้างพลังงานของไทยและแผน PDP2024 ยังคงยึดติดกับการใช้ฟอสซิลและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก แม้แผน PDP2024 จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน แต่ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับพลังงานฟอสซิล ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนพลังงานขนาดใหญ่ยังคงขยายการลงทุนในพลังงานฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง และใช้โครงการปลูกป่าเพื่อสร้าง ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจของตน สิ่งนี้ทำให้พื้นที่ป่าซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สาธารณะ กลายเป็นพื้นที่ลงทุนเพื่อธุรกิจคาร์บอนเครดิต เปลี่ยนความหมายจากการดูแลสิ่งแวดล้อมสู่การแสวงหาผลกำไร นอกจากนี้ งบประมาณและทรัพยากรที่ควรจะนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศกำลังถูกเบี่ยงเบนไปสู่ภาคเอกชน ทำให้เกิดความกังวลว่าบทบาทของรัฐในการกำหนดนโยบายสาธารณะกำลังถูกแทนที่โดยภาคเอกชน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอ พ.ร.บ.สภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืนของภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และให้แน่ใจว่าการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศจะเป็นไปอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนอย่างแท้จริง

ทางด้าน ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวต่อยอดจากกฤษฎาเกี่ยวกับการสร้าง ‘ความรับผิดชอบ’ (accountability) ของรัฐบาลและกลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิลที่มีต่อเรื่องของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในเรื่องกลไกทางกฎหมาย ทั้งในแง่ของ ‘ความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ’ หรือ Climate Justice และสิทธิมนุษยชน ที่กฎหมายโลกร้อนของไทยทั้ง 3 ฉบับ กลับไม่มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และการใช้ ‘คดีความด้านสภาพภูมิอากาศ’ (Climate Litigation) เป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากทั่วโลกมีการใช้คดีความเพื่อกดดันรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศ แต่ประเทศไทยยังไม่มีคดีความลักษณะนี้เกิดขึ้น แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีคดีความเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโดยตรง แต่คดีที่เครือข่ายภาคเหนือฟ้องประยุทธ์ จันทรโอชา อดีตนายกฯ เรื่องปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็ถือเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเช่นกัน เชื่อมโยงกับปัญหาสภาพภูมิอากาศโดยรวม

วัชลาวลี คำบุญเรือง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวถึงประเด็นสิทธิสิ่งแวดล้อมในกฎหมายไทยว่า แม้จะมีการรับรองสิทธิชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2560 แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกลับตัดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญออกไป ทำให้การต่อสู้คดีด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยากขึ้น สำหรับร่าง พ.ร.บ.โลกร้อน ฉบับปัจจุบัน วัชลาวลีตั้งข้อสังเกตว่า มีการจำกัดสิทธิตามมาตรา 16 โดยไม่มีความชัดเจนว่าเกณฑ์ต่าง ๆ ใครเป็นคนกำหนด และประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังขาดการระบุถึงกลุ่มคนเปราะบาง เช่น ชาติพันธุ์ เด็ก ผู้หญิง และคนพิการ ทั้งที่ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อทุกคน และอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของมนุษยชาติได้ นอกจากนี้ วัชลาวลี ยังวิพากษ์วิจารณ์ว่า ร่าง พ.ร.บ.โลกร้อน มุ่งเน้นไปที่ระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ สภาลมหายใจภาคเหนือ ระบุว่า สภาลมหายใจภาคเหนือมีข้อเสนอสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน ควบคู่ไปกับการปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน การกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา และการสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกภาคส่วน สภาลมหายใจภาคเหนือเน้นย้ำว่าปัญหา PM2.5 เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนของหลายฝ่าย การแก้ไขปัญหาต้องยึดหลักความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ สภาลมหายใจภาคเหนือยังแสดงความกังวลว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด อาจกลายเป็นเพียง ‘เสือกระดาษ’ หากไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง และเรียกร้องให้มีการแยกแยะความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทุนธุรกิจ กลุ่มคนทั่วไป และกลุ่มชาวบ้านในป่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาต่อทุกภาคส่วน

เสียงจากชุมชน: พ.ร.บ.โลกร้อน ต้องเป็นธรรมและยั่งยืน 

ในเวทีเสวนา “ชุมชนอยากเห็นอะไรกับการแก้ปัญหาโลกเดือด” ตัวแทนชุมชนจากทั่วประเทศได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทุกมิติบนพื้นฐานของความเป็นธรรม ความโปร่งใส และการเคารพสิทธิชุมชน โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ ได้แก่ การเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่เป็นอุปสรรค อาทิ มาตรา 44 ปี 2559 ที่เอื้อต่อการพัฒนา EEC โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม การทบทวนพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.บ. EEC และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าร่วมกระบวนการวางแผนพัฒนาต่าง ๆ เช่น แผน PDP การสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการพัฒนา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะพื้นที่ เช่น แก้ไขปัญหาผลกระทบจาก EEC คืนสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ชุมชน ยกเลิกโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม อาทิ กรณีแก่งเสือเต้น ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด หยุดอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนเปราะบาง คนไร้บ้าน ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง การปรับโครงสร้างอำนาจปรับโครงสร้างอำนาจและสร้างความเป็นธรรม การสร้างความตระหนักกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา จับตาการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้มีการรับรองสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้ พ.ร.บ. สภาพภูมิอากาศ ให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม ความโปร่งใส และการเคารพสิทธิชุมชน

ยุติพลังงานฟอสซิล สู่โลกใหม่ที่ยั่งยืน: สภาผู้บริโภคชี้ ฟอสซิลทำลายคุณค่ามนุษย์- สิ่งแวดล้อม เร่งเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด

“ตอนนี้เรากำลังถูกหลอกให้ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เราอยู่ภายใต้กติกาของแรงโน้มถ่วงของโลก ไม่มีใครสามารถฝืนแรงโน้มถ่วงโลกได้ เพราะฉะนั้นต้องเคารพกฎแรงโน้มถ่วงของโลก มนุษย์ต้องปฏิบัติตามกฎของข้อตกลงปารีส จะมาหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะรวยหรือจน”

ประสาท มีแต้ม สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้เหตุผลสำคัญที่เราต้องยุติการใช้พลังงานฟอสซิลว่า พลังงานชนิดนี้กำลังทำลายคุณค่าหลักของมนุษย์ 2 ประการ ประการแรก พลังงานฟอสซิลทำลาย ‘ความเป็นอิสระและการพึ่งพาตนเอง’ เนื่องจากถูกผูกขาดการซื้อขายและใช้พลังงานโดยกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิล ทำให้ประชาชนคนไทยไม่มีทางเลือกอื่นในการใช้พลังงาน ส่งผลให้ความสามารถในการพึ่งพาตนเองของคนไทยลดลงถึง 3 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2536-2566) และประการที่สอง พลังงานฟอสซิลบั่นทอน ‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’ เพราะการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานฟอสซิล เป็นต้นเหตุของปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งภัยธรรมชาติ โรคระบาด รวมถึงการทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศ  

อีกทั้งปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ก้าวล้ำและราคาถูกลงมาก เช่น โซลาร์เซลล์ (S) กังหันลม (W) แบตเตอรี่ (B) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สมาร์ทโฟน และแม้แต่อาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนในการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 1.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งถูกกว่าพลังงานฟอสซิลอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ มนุษย์สามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ 100% ด้วยการผสมผสาน 3 เทคโนโลยีหลักคือ โซลาร์เซลล์ กังหันลม และแบตเตอรี่ หรือเรียกว่า SWB100% ซึ่งจะทำให้เราสามารถผลิตและจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าได้เองในราคาที่ถูกมาก และเป็นอิสระทางพลังงาน แม้ว่าตอนนี้ยังเป็นไปไม่ได้ แต่การศึกษาในหลายประเทศชี้ว่าภายในปี 2030 เราจะสามารถทำได้ และค่าไฟฟ้าจะถูกลงเหลือเพียง 1.20 บาทต่อหน่วย

“โลกมันกำลังเปลี่ยนไป แต่มีคนเพียงกลุ่มเดียวเข้ามาขวาง เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่เราครับ  อยู่ที่เรา ว่าเราต้องการโลกแบบไหน”

รุ่งเรือง ระหมันยะ จากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา ได้นำเสนอแนวคิด ‘เรือโซลาร์’ เพื่อเป็นทางออกในการลดการใช้พลังงานฟอสซิลและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนจะนะ โดยชี้ให้เห็นว่า ชุมชนจะนะมีเรือประมงกว่า 900 ลำ ซึ่งแต่ละลำใช้น้ำมันเฉลี่ยวันละ 400-500 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายหลายร้อยล้านบาทต่อปี หากเปลี่ยนมาใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ โครงการเรือโซลาร์ยังสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาเรือท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เช่น การท่องเที่ยวในคลองโดยใช้เรือประมงที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าโครงการเรือโซลาร์จะยังอยู่ในขั้นตอนของแนวคิด แต่ชุมชนจะนะได้เริ่มใช้พลังงานโซลาร์เซลล์เพื่อให้แสงสว่างแล้ว โดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ 

อรชา จันทร์เดช ผู้ประสานงานกิจการเพื่อสังคมแสงสุรีพาวเวอร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวต่อว่า แสงสุรีพาวเวอร์ เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามว่า หากไม่ใช้พลังงานฟอสซิลแล้ว เราจะใช้พลังงานอะไรแทน? การทำงานร่วมกับเครือข่ายฯ ทำให้เราเห็นว่า พลังงานแสงอาทิตย์เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและช่วยให้เราพึ่งพาตนเองได้ แต่ยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ แสงสุรี คือการรวมกลุ่มของภาคประชาสังคม หน่วยงานราชการ องค์กร และผู้ประกอบการที่สนใจ ร่วมกันขับเคลื่อนการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์อย่างยั่งยืน โดยเน้นให้สามารถเป็นเจ้าของ ซ่อมบำรุง และขยายระบบได้เอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการติดตั้งและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว โดยทางโครงการมีการดำเนินงาน 2 รูปแบบหลัก คือ 1. สร้างพื้นที่ต้นแบบร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วประเทศ เพื่อสร้างพื้นที่ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานสะอาด และเป็นต้นแบบสำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาล และ 2. รณรงค์ลดการใช้พลังงานฟอสซิลร่วมกับเครือข่ายฯ เพื่อสร้างความตระหนักและเรียกร้องให้ลดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า ประชาชนและชุมชนสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเรียกร้องให้รัฐบาลให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง

วรินทร์รัชต์ อัทธายุทธชัย ตัวแทนเครือข่ายพลังงานสะอาดระยอง กล่าวต่อว่า เครือข่ายพลังงานสะอาดระยอง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ทั้งชุมชนภาคเกษตรและประมง ได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล โดยมี 3 แนวทางหลัก คือ 1. สร้างความตระหนัก สื่อสารให้ประชาชนรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมด้านพลังงานที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล และผลกระทบที่พวกเขาได้รับ 2. ผลักดันนโยบายและสร้างโมเดลต้นแบบ ร่วมกันผลักดันนโยบายเพื่อสร้างระบบพลังงานที่เป็นธรรม และสร้างโมเดลต้นแบบที่เป็นรูปธรรมเพื่อแสดงให้เห็นถึงทางเลือกที่เป็นไปได้ 4 โมเดล ได้แก่ โมเดลครัวเรือน โมเดลภาคเกษตร โมเดลธนาคารปู โมเดลแก้ปัญหาไฟฟ้าจากความซับซ้อนที่ดิน และ 3. รณรงค์ให้หยุดการใช้พลังงานฟอสซิล เนื่องจากระยองเป็นพื้นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม EEC จึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้พลังงานฟอสซิล เครือข่ายฯ จึงมุ่งมั่นรณรงค์ให้หยุดการใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ชุมชนในระยองกำลังเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนัก ผลักดันนโยบาย และสร้างโมเดลต้นแบบเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และสร้างระบบพลังงานที่เป็นธรรมและยั่งยืน

‘โลกเดือดไม่ใช่เรื่องล้อเล่น’ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม เรียกร้องรัฐบาลใหม่ทบทวนกฎหมาย ชี้ทบทวนบทบาทกรมโลกร้อนฯ

ที่ประชุมได้นำเสนอข้อเสนอสำคัญ 8 ข้อ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนในการรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ 1. แก้ไขกฎหมายหรือยกเลิกมาตรา 64 65 และ พ.ร.บ.ป่าอุทยาน 2. ติดตามกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต 3. ติดตามการบังคับใช้และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเกี่ยวกับกฎหมาย 3 ฉบับ ของทั้งฝั่งรัฐบาลและพรรคการเมือง 4. จับตาอุตสาหกรรมพลังงานของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ 5. เปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด 6. วางยุทธศาสตร์และกลไกผลกระทบข้ามพรมแดน 7. ทบทวนชุดความรู้เรื่องคาร์บอนเครดิต (ระดับโลก) และ 8. รัฐบาลชุดใหม่ต้องทบทวนนโยบายการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้  เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมจากทุกภูมิภาค ยังร่วมกันออกแถลงการณ์ “รัฐบาลใหม่ต้องทบทวนนโยบายการแก้ปัญหาโลกร้อน” เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ทบทวนนโยบายการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และไม่สนับสนุนกลไกตลาดคาร์บอนเครดิตที่เป็นเพียงการผลักภาระให้ผู้รักษาสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำว่า โลกเดือดเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ วิกฤตโลกร้อนที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องล้อเล่น และประชาคมโลกต้องร่วมกันแก้ไขพฤติกรรมการใช้พลังงานและการดำเนินชีวิตที่ก่อให้เกิดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก ระบบการค้าขายคาร์บอนเครดิตเป็นการหลอกลวง กลไกตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นเพียงการผลักภาระความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษไปให้ผู้รักษาสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง รัฐบาลใหม่ต้องสร้างนวัตกรรมทางความคิด ล้มเลิกความคิดที่จะผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับปัจจุบัน และสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ทบทวนบทบาทหน้าที่ของ ‘กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ให้เป็นกรมที่ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง หาใช่เป็นกรมที่ตั้งขึ้นเพื่อรับรอง ‘ระบบตลาดการค้าคาร์บอน’ เท่านั้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: