ชุมชนริมทางรถไฟอยุธยาหวั่นสถานีรถไฟความเร็วสูงกระทบชีวิต

ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ 19 ต.ค. 2567 | อ่านแล้ว 6981 ครั้ง

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

หากมีการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา นอกจากชุมชนริมทางรถไฟอยุธยาจะเสี่ยงถูกไล่รื้อ ก็มีความกังวลว่าเมืองเก่าอยุธยาจะเสี่ยงถูกถอดจากบัญชีเมืองมรดกโลกของ UNESCO หากโครงการก่อสร้างไม่คำนึงถึงผลกระทบรอบด้านและไม่ประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลก  (HIA) ในขณะที่ภาคเอกชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบถามถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ประโยชน์ต่อชุมชน และเสนอลดผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก โดยมีข้อเสนอใช้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงทางเดิม แต่ย้ายจุดก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงไปอยู่ที่สถานีบ้านม้าซึ่งห่างออกไป 3.6 กม.

โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ กับหนองคาย และจะข้ามแม่น้ำโขงไปบรรจบกับรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-เวียงจันทน์ ข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคมปี 2567 การก่อสร้างระยะที่ 1 ระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท มีความคืบหน้าร้อยละ 35 และหากการก่อสร้างเป็นไปตามแผน คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2571 โดยมีสถานีทั้งหมด 6 แห่งได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 2.ดอนเมือง 3.อยุธยา 4.สระบุรี 5.ปากช่อง 6.นครราชสีมา

อย่างไรก็ตามเกิดข้อถกเถียงขึ้นในช่วงเส้นทางจากบางซื่อ-อยุธยา-สระบุรี ที่จะเป็นทางรถไฟยกระดับเพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม โดยข้อถกเถียงหนึ่งก็คือที่ตั้งของสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยาบริเวณเชิงสะพานปรีดี-ธำรง หรือในเขตสถานีรถไฟเดิม ซึ่งเหตุผลสนับสนุนเพราะจุดเดิมสามารถเดินทางเชื่อมต่อกับเมืองเก่าอยุธยาได้อยู่แล้ว แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเห็นว่าเมื่อโครงสร้างอาคารและเส้นทางเป็นทางรถไฟยกระดับการตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงจุดนี้จะส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกอย่างเมืองเก่าอยุธยา

สส.พรรคประชาชนห่วงที่ตั้งสถานี แนะประเมินผลกระทบต่อโบราณสถานรอบด้าน

บริเวณที่จะสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง (ที่มา: เฟซบุ๊ก โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure)


แบบจำลองสถานีรถไฟอยุธยา แบบ 3 มิติ (ที่มา: โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure)


แบบจำลองสถานีรถไฟอยุธยา และทางรถไฟยกระดับ
 

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ส.ส. พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคประชาชน ย้ำว่าเขาเห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและสนับสนุนการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยา แต่จำเป็นต้องพัฒนาจังหวัดอยุธยาอย่างควบคู่ไปกับการอนุรักษ์

ทวิวงศ์ตั้งคำถามถึงหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมิน HIA ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทั้งการอนุรักษ์และพัฒนา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่าจ้างทำการประเมินนั้น ซึ่งปัจจุบันรายงานดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาก่อนจะส่งต่อให้ UNESCO

“หากการทำ HIA สำหรับโครงการสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาเกิดขึ้นจริง จะเป็นครั้งแรกและสำคัญที่สุด โดยจะกลายเป็นมาตรฐาน กรณีศึกษา และตัวอย่างสำหรับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในอนาคต” ทวิวงศ์กล่าว

นอกจากนี้ ทวิวงศ์ยังตั้งข้อสังเกตต่อสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่าการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ (transit-oriented development—TOD) ในรายงานการศึกษา HIA นั้นประเมินเพียงตัวสถานีรถไฟและรางรถไฟที่กำลังจะสร้างเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงผลกระทบโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลก และห่างจากเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯ ประมาณ 1.5 กม. ควรมีการประเมินพื้นที่รอบด้านด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงสัญญาจ้างและการประเมินทางเลือกในการก่อสร้างสถานีในพื้นที่อื่น รวมถึงแนวทางเพื่อลดผลกระทบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะกับมรดกทางวัฒนธรรม

รายงานเสนอ กมธ.ท่องเที่ยว เสนอทบทวนการสร้างสถานีรถไฟใกล้เมืองเก่าอยุธยา

ในเดือนเมษายน 2567 คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการพัฒนาและลดอุปสรรคการท่องเที่ยวไทย โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ได้เสนอรายงานสรุปต่อคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งมรดกโลกอย่างนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา)

รายงานดังกล่าวให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากการก่อสร้างไม่พิจารณาทางเลือกที่รอบคอบ โดยประกอบด้วยความเห็นจากเจ้าหน้าที่องค์การ UNESCO สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา และโครงการประเมินผลกระทบทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลก ตลอดจนผู้แทนภาคประชาชนและกลุ่มนักศึกษาภายใต้โครงการ SAVE อโยธยา ข้อเสนอแนะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่

ในรายงานยังได้อ้างอิงความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญของ UNESCO ว่า "มรดกโลกอยุธยาจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญสำหรับโครงการอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในอยุธยาและเขาใหญ่ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังมีโครงการเขื่อนที่ได้รับการจับตามองอยู่ ปัญหาคือประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดให้การประเมินผลกระทบด้านมรดกทางวัฒนธรรม (HIA) เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย จึงยังไม่มีความชัดเจนว่ารายงาน HIA ของอยุธยาจะถูกบังคับใช้อย่างไร"

รายงานยังระบุว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง โดยมีการประเมินว่าผลกระทบต่อคุณค่าอันโดดเด่นของแหล่งมรดกโลก (OUV - outstanding universal values) ของอยุธยาอยู่ในระดับที่ 4 จาก 5 ระดับ ซึ่งถือว่ารุนแรง การประเมินทางเลือกในการพัฒนาโครงการก็มีข้อจำกัด เนื่องจาก TOR ของโครงการถูกกำหนดโดยกระทรวงคมนาคมและไม่เปิดโอกาสให้ศึกษาแนวทางเลือกอื่นๆ

ในรายงานชิ้นนี้ได้ระบุว่าโครงการนี้เสี่ยงสร้างผลกระทบอย่างรุนแรง ผลการประเมินด้านผลกระทบทางด้านกายภาพของสภาพหลังการเกิดโครงการจึงอยู่ในระดับที่สูงมาก UNESCO จะประเมินเรื่อง OUV 

ข้อโต้แย้งนี้ทำให้โครงการล่าช้าออกไป เนื่องจากต้องมีการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังคงกังวลว่าพื้นที่ก่อสร้างเดิมนั้นไม่เหมาะสมและอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ถึงแม้ประชาชนจะยื่นฟ้องศาลปกครอง แต่ก็คงไม่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ การประเมิน HIA ที่ครอบคลุมทุกด้านจะช่วยให้โครงการนี้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง และยังสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่

จุดก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง ชุมทางท่องเที่ยว-เชื่อมต่อเศรษฐกิจ

ชานชาลาสถานีรถไฟอยุธยาในปัจจุบัน

รอบสถานีรถไฟอยุธยาในปัจจุบัน เป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัด

ผู้สื่อข่าวมีโอกาสสำรวจพื้นที่รอบบริเวณที่จะก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา พบว่าอยู่ไม่ไกลจากเกาะเมืองอยุธยาที่เต็มไปด้วยโรงแรม เกสต์เฮาส์ ตึกแถวที่ให้บริการนักท่องเที่ยว รวมถึงชุมชนหลายร้อยครัวเรือนที่ตั้งอยู่ริมรางรถไฟและในรัศมีไม่เกิน 2-3 กิโลเมตรจากสถานี นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้ริมแม่น้ำป่าสัก 180 เมตรมีท่าเรือข้ามฟากไปยังเขตเทศบาลทำให้พื้นที่นี้เป็นจุดเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งสำหรับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

บริเวณที่เป็นเมืองเก่าอโยธยา หรือพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกจากเกาะเมืองเก่าอยุธยา เป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นที่สุดในจังหวัด โดยเส้นทางรถไฟยังผ่านกลางเมืองที่มีโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัย โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม และวิทยาลัยเทคนิคหลายแห่ง ทำให้ผู้ใช้บริการรถไฟหลักๆ เป็นกลุ่มนักเรียน เยาวชน และคนทำงาน

ความกังวลของชุมชน และผลกระทบต่อสถานีรถไฟเก่า

ปิยะรัตน์ ชูกลิ่นหอม สมาชิกเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่อยุธยา

ปิยะรัตน์ ชูกลิ่นหอม สมาชิกเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่อยุธยา ได้แสดงความคิดเห็นว่าโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงนี้จะส่งผลกระทบต่อชุมชนในหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจฐานรากและการท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนารถไฟรางคู่และรถไฟสายสีแดงที่จะเชื่อมต่อไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอำเภอภาชีผ่านสถานีอยุธยา ซึ่งสถานีนี้มีผู้ใช้บริการหลักเป็นนักเรียนและคนทำงาน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน

การก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงในอยุธยาจะเป็นการสร้างทับสถานีรถไฟเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน การก่อสร้างนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ รวมถึงความปลอดภัยและความสะดวกสบายในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งอาจทำให้ต้องปิดสถานีชั่วคราว และการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา จะส่งผลให้เมืองอยุธยาแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งเกาะเมืองและฝั่งอโยธยา ซึ่งเป็นปัญหาในระดับผังเมือง

ชุมชนริมทางรถไฟจะถูกรื้อตามแผนก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง

ทางเข้าวิหารพระสุริยมุนี หรือหลวงพ่อคอหัก ตรงข้ามสถานีรถไฟอยุธยา

มองจากชุมชนสุริยมุนี บริเวณที่จะถูกเวนคืนเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา

ชาวบ้านในชุมชนสุริยมุนีนอกจากจะต้องถูกรื้อถอนบ้านเรือนกว่า 40 ครัวเรือนแล้ว ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการรักษา “หลวงพ่อสุริยมุนี” พระพุทธรูปโบราณ ศิลปะแบบทวารวดีที่ชาวบ้านเรียกขานว่าหลวงพ่อคอหัก หรือพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรกที่ประดิษฐานภายในวิหารตรงข้ามสถานีรถไฟอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการรถไฟฯ เสนอว่าจะย้ายพระพุทธรูปขึ้นไปบนสถานีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งชุมชนไม่เห็นด้วย และต้องการให้หลวงพ่อคอหักประดิษฐานอยู่ที่เดิม

ป้าต้อย (นามสมมติ) มีอาชีพขายอาหารบนรถไฟ เล่าให้ฟังว่า ในตอนแรกที่ทราบข้อมูลเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้นรู้แต่ว่าต้องออกจากที่การรถไฟและไม่มีสิทธิได้ค่าเวนคืนหรือค่าทดแทนตามกฎหมาย แต่หลังจากนั้นก็มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) มาช่วยเหลือว่าจะให้คนในชุมชนริมทางรถไฟไปเช่าที่วัดประดู่ทรงธรรมซึ่งอยู่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร คิดค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเข้าโครงการออมเงินของ พอช. เพื่อเข้าสู่โครงการช่วยเหลือเยียวยาด้านที่อยู่อาศัย

แต่ปัญหาของคนชุมชนริมทางรถไฟคือ เดิมที่พวกเขาอาศัยริมทางรถไฟไม่ได้เสียค่าเช่าเพราะมีฐานะยากจนอยู่แล้ว แต่ถ้าจะไล่คนจนออกจากทางรถไฟก็จะต้องไปเช่าที่วัด ที่อยู่เดิมนั้นอาศัยมานาน 40 กว่าปีแม้จะไม่มีความมั่นคงเพราะไม่ใช่ที่ดินตัวเอง แต่พอทำมาหากินอยู่รอดได้เพราะทำงานค้าขายตามสถานีรถไฟ แต่การย้ายออกไปเช่าที่ใหม่ยังไงก็ต้องเดินทางมาขายของที่ทางรถไฟเหมือนเดิม ทั้งนี้ในชุมชนเองหลายครอบครัวต้องดูแลคนสูงอายุและเด็กด้วยนับเป็นสิ่งที่ลำบาก

ชี้เคยมีผลการศึกษาเสนอสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงที่บ้านม้า กลับไม่ใช้

สันติ โฉมยงค์ ภาคประชาชนติดตามโครงการพัฒนาด้านคมนาคม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ป้ายสนับสนุนให้สร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงบริเวณสถานีรถไฟจุดเดิม ภาพถ่ายเมื่อ 9 ธันวาคม 2566

สันติ โฉมยงค์ ภาคประชาชนติดตามโครงการพัฒนาด้านคมนาคม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงปัญหาสำคัญด้านการขนส่งมวลชนเขตเมืองอยุธยา โดยเฉพาะวันธรรมดา มีประชากรวัยเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงอุดมศึกษาต้องเดินทางเข้ามาเรียนในเกาะอยุธยา 20,000 คนต่อวัน เด็กๆ เหล่านี้เดินทางมาจากหลายอำเภอ บ้างก็มาจากจังหวัดข้างเคียง เช่น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ประชาชนใช้บริการขนส่งหลายรูปแบบตั้งแต่รถไฟ เรือ จนรถรับจ้าง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุที่พึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะที่ประสบปัญหาการเดินทาง

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ภาคประชาชนได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม “ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ที่คนหลายกลุ่มเข้ามาเป็นสมาชิกและดึงหน่วยงานราชการเข้ามารับฟังปัญหา โดยมีตัวแทนหน่วยงานการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแชร์ประเด็นสำคัญที่เกิดในพื้นที่

สันติกล่าวว่าจนถึงตอนนี้คนพื้นที่ยังไม่รู้เลยว่าสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยาจะสร้างที่ไหนและสร้างอย่างไร นอกจากนี้ภาคประชาชนยังพยายามติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ด้วย เพราะระบบขนส่งมวลชนของอยุธยากำลังจะเปลี่ยน

โดยความไม่ชัดเจนและความไม่ตรงกันของข้อมูลทำให้เกิดความสับสนจนเกิดคำถามต่อเรื่องที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา แม้จะมีผลสรุปว่าควรอยู่ที่สถานีบ้านม้า แต่ก็มีการผลักดันให้สร้างในพื้นที่เดิมที่เป็นประเด็นปัญหาว่าจะกระทบกับพื้นที่มรดกโลก

ที่ตั้งสถานีทำเลเชื่อมต่อเทศบาลเมืองอโยธา-เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา

สันติ ตั้งข้อสังเกตว่า สถานีรถไฟความเร็วสูงที่จะตั้งอยู่ในจุดเดิมของสถานีรถไฟอยุธยา มีความเกี่ยวข้องกับนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอโยธยาและนักการเมืองอดีตผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ ซึ่งเป็นเครือญาติกัน หรือเชื่อมโยงกับธุรกิจตลาดน้ำที่อยู่ใกล้เคียง ที่ตั้งสถานีรถไฟจุดนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย แม้จะมีข้อท้วงติงจาก UNESCO ก็ตาม

ฝ่ายเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยาเสนอให้มีการสร้างสกายวอล์กหรือทางเดินเชื่อมจากสถานีรถไฟความเร็วสูงข้ามแม่น้ำป่าสักไปยังเทศบาลโดยตรง แต่สันติตั้งคำถามว่า การพัฒนานี้จะส่งผลต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ อย่างไร เช่น รถตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และท่าเรือข้ามฟาก ซึ่งจะปรับตัวอย่างไร จะมีคนมากมายที่ได้รับผลกระทบ และเป็นระบบขนสงที่ประชาชนใช้บริการค่อนข้างเยอะ 

เขายังกล่าวถึงความไม่ชัดเจนและข้อมูลที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับการตั้งสถานีรถไฟ โดยชี้ให้เห็นถึงข้อเสนอสร้างสถานีที่บ้านม้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายและมีการศึกษารายงานอย่างชัดเจน แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้

โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ได้เสนอทางเลือก 5 แนวทาง ได้แก่ 1.ก่อสร้างทางลอดผ่านพื้นที่มรดกโลก 2.เปลี่ยนแนวเส้นทางรถไฟออกนอกแนวพื้นที่มรดกโลก 3.ปรับเปลี่ยนสถานีอยุธยาให้ถึงก่อนตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบัน หรือไม่ก็ย้ายออกไปตั้งที่บริเวณนอกเมืองคือ แถวบ้านม้า 4. ก่อสร้างจุดเดิมแต่ให้ออกผังเมืองเฉพาะคลุม และ 5.สร้างทางวิ่งไปก่อน แล้วค่อยทำสถานีทีหลัง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการเห็นว่า แนวทางที่ 1 และ 2 ดีที่สุด

สันติยังกล่าวถึงความสำคัญของอยุธยาในฐานะเมืองต้นแบบในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง (transit oriented development—TOD) ที่มีความเชื่อมโยงกับเส้นทางเศรษฐกิจในแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการพัฒนา เขายังชี้ว่า สถานีรถไฟบ้านม้าอยู่ห่างจากสถานีรถไฟอยุธยาเพียง 3.6 กิโลเมตร และครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล โดยเขาเน้นว่าการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงควรออกแบบให้เชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับการเติบโตและพัฒนาของอยุธยาในอนาคต

ภาคเอกชนแนะนำให้ทบทวนแผน รอช้าได้ถ้าดีกว่าเดิม

ชัยกฤต พุ่มเข็ม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ชัยกฤต พุ่มเข็ม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวในฐานะคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ของจังหวัดว่า "การสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยาเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ แต่เราต้องทบทวนแผนให้รอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ผมคิดว่าถ้าต้องล่าช้า 1-2 ปี เพื่อวางแผนให้ดีกว่าเดิม ก็ถือว่าเป็นการยอมช้าที่คุ้มค่า เพราะสิ่งนี้จะส่งผลกระทบในอนาคตของจังหวัดอยุธยาอย่างแน่นอน"

ชัยกฤตเน้นย้ำว่า "ภาคเอกชนเข้าใจดีว่าต้องสนับสนุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพื่อให้เกิดขึ้นจริง แต่การลงทุนของรัฐต้องตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แผนการสร้างสถานีในเขตเมืองเก่าอยุธยาต้องคำนึงถึงการขยายตัวในอนาคต ไม่เช่นนั้นเราจะพบกับปัญหาเหมือนสถานีหัวลำโพงที่ติดปัญหาพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายต่อได้ ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องย้ายไปพัฒนาที่สถานีกลางบางซื่อ หรืออย่างกรณีของสนามบินดอนเมืองที่ต้องย้ายไปขยายพื้นที่ที่สุวรรณภูมิ เพราะพื้นที่เดิมไม่สามารถรองรับการเติบโตได้"

เขายังเสริมว่า "ในอนาคตอีก 10-20 ปี เราต้องมองภาพรวมให้ชัดเจน ว่าพื้นที่รอบสถานีรถไฟจะพัฒนาไปอย่างไร การฟังเสียงของภาคธุรกิจในพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญ แผนปัจจุบันที่กำหนดให้สร้างสถานีในบริเวณเมืองเก่านั้น อาจไม่สามารถรองรับการเติบโตของจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

ชัยกฤตยังกล่าวถึงความสำคัญของการวางผังเมือง "การวางผังเมืองเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องมีแผนที่สามารถสร้างเมืองใหม่ควบคู่กับการรักษาเมืองเก่าได้อย่างสมดุล เกาะอยุธยาเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม หากแผนการสร้างสถานีในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับการพัฒนาในอนาคต จังหวัดก็จะเสียโอกาสในการเติบโต ผมเชื่อว่าการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่ควรมองเพียงเป็นแค่สถานีหนึ่งในเส้นทาง แต่ต้องมองถึงการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่อยุธยาและภูมิภาคด้วย"

ชัยกฤตยังเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเมืองใหม่ "อยุธยามีเสน่ห์ที่เป็นเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การสร้างเมืองใหม่ควรจะทำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เมืองเก่า ไม่ใช่ให้เมืองใหม่เข้ามาทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์เหล่านั้น ผมมองว่าอยุธยาสามารถเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจได้ ด้วยประชากรที่มีถึง 800,000 คน และแรงงานกว่า 300,000 คนในภาคอุตสาหกรรม การวางแผนที่ดีก็จะช่วยให้เราพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ"

เขาอ้างอิงรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งยังสนับสนุนว่า การพัฒนาสถานีรถไฟความเร็วสูงที่สถานีบ้านม้าจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อจังหวัดอยุธยาในอนาคต การสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยาจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การตั้งสถานีควรมีความเหมาะสมทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการคมนาคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อจังหวัดและประเทศในระยะยาว การวางแผนพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่และตอบโจทย์ทุกภาคส่วน


 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: