Samyan NewGen กับย่านแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

โยษิตา สินบัว 19 ต.ค. 2567 | อ่านแล้ว 6902 ครั้ง

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

  • รายงานข่าวจากโครงการ #ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ เยี่ยมชั้นเรียนพิเศษกับครูอาสาสมัคร ‘สามย่านนิวเจน’ รอบๆ ย่านการศึกษาชั้นนำของประเทศ ‘สามย่าน’ ที่ไม่ได้มีเพียงแค่สาธิตจุฬาฯ เตรียมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์ฯ แต่ยังรายล้อมด้วยโรงเรียนวัดและเด็กนักเรียนที่มีพื้นเพมาจากครอบครัวคนหาเช้ากินค่ำ อย่างไรก็ตามครอบครัวและนักเรียนเหล่านี้กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลังเจ้าของพื้นที่อย่างจุฬาฯ กำลังปรับปรุงพื้นที่ รื้อถอนอาคาร ก่อสร้างขนานใหญ่ รวมไปถึงขึ้นค่าเช่าที่ ทำให้หลายครอบครัวใน ‘สามย่าน’ อยู่ไม่ได้เช่าไม่ไหว ต้องย้ายไปอยู่แถวหัวลำโพงหรือบ้างก็ออกไปอยู่แถบชานเมือง

 

ห้องเรียนพิเศษของสามย่านนิวเจน

ห้องเรียนพิเศษขนาด 2 คูหาจุนักเรียนได้ 30 คนที่แบ่งพื้นที่กับสถานที่ห้องซ้อมดนตรี บนชั้นสองของร้านกาแฟ Entrance Coffeehouse & Studio ในซอยจุฬา 50 หรือใจกลางชุมชนสามย่าน ที่นี่หนูดี (นามสมมติ) นักเรียนประถมจากโรงเรียนวัดหัวลำโพง จะมาเรียนพิเศษกับครูอาสาสมัครของโครงการสามย่านนิวเจน (Samyan NewGen) ช่วงห้าโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม ทุกวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี ซึ่งช่วยให้หนูดีได้เรียนเสริมและรอกลับบ้านพร้อมผู้ปกครองซึ่งทำงานเลิกช่วงค่ำ

หนูดีและครอบครัวเดิมอาศัยอยู่ละแวกสามย่าน จึงเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดหัวลำโพงซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านสามารถเดินทางไปกลับได้เอง แต่เมื่อ 3 ปีที่ก่อนที่ค่าเช่าบ้านแถวสามย่านเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ครอบครัวของหนูดีจึงย้ายออกจากสามย่านไปอยู่ชานเมืองย่านถนนเพชรเกษม หนูดีจึงต้องรอเดินทางจากไป-กลับระหว่างโรงเรียนกับบ้านแถวชานเมืองพร้อมกับผู้ปกครอง การเรียนพิเศษกับครูอาสามัครโครงการสามย่านนิวเจนจึงช่วยให้หนูดีมีอะไรทำระหว่างรอผู้ปกครอง

‘สามย่านนิวเจน (Samyan NewGen)’ เป็นโครงการสนับสนุนการศึกษาโดยมูลนิธิอิเมจิ้น ไทยแลนด์ ที่รวบรวมครูอาสาสมัครที่เป็นนักเรียน นิสิต และนักศึกษา มาสอนนักเรียนที่มีความยากลำบากในพื้นที่ชุมชนสามย่านหลังเลิกเรียนให้กับเด็กนักเรียนประมาณ 25-30 คน โดยเปิดสอนทั้งหมด 3 วิชา คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ และห้องเรียนพิเศษวันเสาร์ ทุกวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี ตั้งแต่ห้าโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม

‘สามย่าน’ เป็นแหล่งรวมของสถาบันการศึกษาที่มีการแข่งขันสูงและถูกมองว่าเป็นศูนย์รวมหัวกะทิของประเทศ มีสถานศึกษาชั้นนำชื่อดังตั้งแต่ สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมอุดมศึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ขณะเดียวกันเด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นหลายคนไม่สามารถเข้าเรียนสถาบันเหล่านี้ได้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทั้งฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ การดูแลจากครอบครัว ภูมิลำเนา และ สภาพแวดล้อมของผู้เรียนเอง

อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ประเด็นนี้ในบทความ ‘จากแยกสามย่านถึงแยกพญาไท: ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สัมผัสจับต้องได้’ เผยแพร่โดยประชาไท เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2562 ว่า พื้นที่สามย่าน -พญาไท เป็นภาพสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่น่าสนใจเพราะเป็นพื้นที่ที่มีทั้งโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงระดับประเทศ แต่คนในพื้นที่โดยรอบไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการศึกษาที่โรงเรียนเหล่านี้ ด้วยปัจจัยทางสังคม และเศรษฐกิจของครอบครัว

รายงานนี้ทำการสำรวจบริการทางการศึกษาในพื้นที่สามย่านที่มีการแบ่งแยกและแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำขั้นพื้นฐานของบริการที่เยาวชนในพื้นที่สมควรจะได้รับ พร้อมทั้งนำเสนอความพยายามของภาคเอกชนเข้ามาอาสาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รัฐสร้างขึ้น

เปิดเกณฑ์การรับนักเรียนของสถานศึกษาบริเวณสามย่าน

หากอ้างอิงจากบทความที่กล่าวข้างต้น สามารถแบ่งโรงเรียนตามการแข่งขันเพื่อเข้าเรียนในสถานศึกษาเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรกคือ โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ผู้ปกครองจัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง ระดับปานกลาง - บน นักเรียนเกือบทั้งหมดไม่ได้มีภูมิลำเนาในพื้นที่ใกล้เคียงส่วนมากอาศัยอยู่ย่านชานเมืองที่ต้องใช้เวลาในการเดินทาง บางคนต้องเช่าหอหรือคอนโดเพื่ออยู่ใกล้สถานศึกษามากขึ้น คือ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นโรงเรียนที่ขึ้นชื่อว่ารวมหัวกะทิทั่วประเทศมาไว้ในที่เดียวด้วยอัตราการสมัครเข้าเรียนเรือนหมื่นเกือบทุกปี โดยล่าสุดปีการศึกษา 2567 ได้มีผู้สมัครจากทั่วประเทศ 11,607 คน จากการเปิดรับนักเรียน 1,520 คน ค่าเทอมอยู่ที่ 5,650 - 5,950 บาท/ภาคการศึกษา

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยม สังกัดแผนกวิชาครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานฝึกวิชาชีพของนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ โดยเกณฑ์ในการเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 คือมีวันเกิดอยู่ระหว่างที่กำหนดในแต่ละปีการศึกษา พร้อมค่าธรรมเนียมการสมัคร 1,000 บาท และมีการทดสอบประเมินความพร้อม ปีละ 100 คน หากมีผู้ผ่านเกณฑ์เกินจำนวนจะใช้วิธีจับฉลากนักเรียนที่ได้คะแนนเท่ากัน

นักเรียนที่เรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม จะสามารถยื่นความจำนงเพื่อศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาได้ ทำให้จำนวนที่นั่งของสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยมค่อนข้างมีจำกัด และเปิดรับสมัครนักเรียนแต่ละปีไม่เท่ากัน และมีค่าเทอมห้องเรียนปกติประมาณ 15,700 บาท/ภาคการศึกษา (ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ)

นอกจากนั้น สาธิตจุฬาฯ ยังเป็นสวัสดิการสำหรับบุคลากรที่มีบุตร โดยมหาวิทยาลัยจะมีเงินสนับสนุนค่าใช้จ่าย 7,000 บาท/ภาคการศึกษา สามารถยื่นเข้าเรียนระหว่างชั้นปีได้แต่ไม่ใช่ระหว่างภาคการศึกษา ซึ่งจะพิจารณาจากจำนวนนักเรียนขณะนั้น และต้องทดสอบผ่านเกณฑ์ของโรงเรียนด้วย

กลุ่มที่สองคือ โรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจอันดับแรกๆ ของผู้ปกครอง และฐานะเฉลี่ยครอบครัวนักเรียนอยู่ในชนชั้นกลางระดับล่าง นักเรียนของโรงเรียนเกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวที่อาศัยอยู่ใกล้โรงเรียน ทั้งที่อาศัยอยู่ถาวรและโยกย้ายตามครอบครัวมา เช่น โรงเรียนวัดหัวลำโพง โรงเรียนวัดดวงแข โรงเรียนพุทธจักรวิทยา โรงเรียนวัดไตรมิตร เป็นต้น

โรงเรียนวัดหัวลำโพง และ โรงเรียนวัดดวงแข เป็นโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีเกณฑ์ในการรับนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษา คือ การรับนักเรียนในเขตพื้นที่โดยไม่ต้องมีการทดสอบเรียกว่า ‘นักเรียนในเขตพื้นที่บริการ’ หมายถึง นักเรียนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน อย่างน้อย 2 ปี หากการสมัครของนักเรียนในพื้นที่ยังไม่เต็มโควต้าที่กำหนดโรงเรียนจะสามารถเปิดรับเด็กนอกพื้นที่เพิ่มได้ แต่หากมีนักเรียนสมัครเข้ามาเกินจำนวนโรงเรียนจะใช้วิธีการจับฉลากและประสานงานกับสถานศึกษาพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อให้เด็กมีที่เรียนทุกคน

โรงเรียนพุทธจักรวิทยา และ  โรงเรียนวัดไตรมิตร เป็นโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาอยู่ในสังกัด สพฐ. และเป็นหนึ่งในโรงเรียนทางเลือกของผู้ปกครองที่มีรายได้ไม่สูงนักนอกจากนี้ยังเปิดรับสมัครนักเรียนในเขตพื้นที่บริการอีกด้วย

โรงเรียนรอบชุมชนสามย่าน

โรงเรียนที่รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ

1. โรงเรียนวัดหัวลำโพง

สังกัด กรุงเทพมหานคร ระยะห่างจากชุมชนสามย่าน 500 เมตร ระดับชั้น ปฐมวัยและประถมศึกษา 
ค่าบำรุงการศึกษาต่อภาคการศึกษา N/A จำนวนนักเรียน 262 คน จำนวนครู 20 คน

2. โรงเรียนวัดดวงแข

สังกัด กรุงเทพมหานคร ระยะห่างจากชุมชนสามย่าน 1,600 เมตร ระดับชั้น ปฐมวัยและประถมศึกษา 
ค่าบำรุงการศึกษาต่อภาคการศึกษา N/A จำนวนนักเรียน 279 คน จำนวนครู 23 คน

3. โรงเรียนวัดไตรมิตร

สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระยะห่างจากชุมนุมสามย่าน 1,600 เมตร ระดับชั้น มัธยมศึกษาตอนต้น/ตอนปลาย ค่าบำรุงการศึกษาต่อภาคการศึกษา 3,050 บาท จำนวนนักเรียน 782 คน (โรงเรียนชายล้วน) จำนวนครู 36 คน

โรงเรียนที่รับนักเรียนนอกเขตพื้นที่บริการ

1. โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม

สังกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะห่างจากชุมชนสามย่าน 750 เมตร ระดับชั้น ปฐมวัยและประถมศึกษา 
ค่าบำรุงการศึกษา 15,700 บาท/เทอม (หมายเหตุ: มีส่วนลดบุคลากรจุฬาฯ 7,000 บาท) จำนวนนักเรียน (ไม่มีข้อมูล) จำนวนครู 125 คน

2. โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

สังกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะห่างจากชุมชนสามย่าน 0650 เมตร ระดับชั้น มัธยมศึกษาตอนต้น/ตอนปลาย
ค่าบำรุงการศึกษา 15,700 บาท/เทอม (หมายเหตุ: มีส่วนลดบุคลากรจุฬาฯ 7,000 บาท) จำนวนนักเรียน 1,202 คน จำนวนครู 135 คน

3. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระยะห่างจากชุมนุมสามย่าน 1,100 เมตร ระดับชั้น มัธยมศึกษาตอนปลาย ค่าบำรุงการศึกษาต่อภาคการศึกษา 5,650 - 5,950 บาท จำนวนนักเรียน 4,420 คน จำนวนครู 211 คน

ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

หมายเหตุ:

(1) ระยะห่างจากชุมชนสามย่านวัดจากศาลเจ้าพ่อเสือซึ่งเป็นใจกลางของชุมชนเดิม

(2) นักเรียนในเขตพื้นที่บริการ หมายถึง นักเรียนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน อย่างน้อย 2 ปี

(3) ค่าบำรุงการศึกษาต่อภาคการศึกษา นับเฉพาะโปรแกรมที่เป็นชั้นเรียนปกติ

(4) จำนวนครู ประกอบไปด้วย ข้าราชการครู ครูผู้ช่วย และคณาจารย์

Samyan Newgen โครงการสอนพิเศษในชุมชนสามย่าน

ภาพการเรียนการสอนที่โครงการสามย่านนิวเจน

เกรเซ่น ออร์เตกา ผู้ดูแลโครงการสามย่านนิวเจน

“มีครอบครัวหนึ่งที่พ่อแม่ขายของอยู่แถวพระราม 4 ไม่ห่างจากจุฬาฯ มากนัก พวกเขามีลูก 2 คน ที่ถูกมองว่าเรียนไม่เก่ง จึงพยายามหาคนช่วยสอนวิชาภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีใครช่วยสอนพวกเขาได้เลย ผมเลยอาสาเข้าไปสอนให้ เมื่อได้สอนก็พบว่าเด็ก 2 คนนี้ ไม่ได้ไม่เก่งแต่เขาแค่ไม่เข้าใจเนื้อหาในโรงเรียน พวกเขาแค่ต้องการคนเข้ามาช่วยอธิบายเพิ่มเติมและเอาใจใส่มากขึ้นเท่านั้น” เกรเซ่น ออร์เตกา (Graysen Ortega) ผู้ดูแลโครงการสามย่านนิวเจน เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการสามย่านนิวเจน ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานก่อนที่โรคโควิด-19 จะระบาด

เกรเซ่นในวัย 33 ปี อยู่ประเทศไทยมา 6 ปีแล้วหลังจบการศึกษาจาก Texas Tech University สหรัฐอเมริกา เขาร่วมงานกับมูลนิธิอิเมจิ้นไทยแลนด์ ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาและช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่อยู่ในความเสี่ยง ด้านความยากจน ขาดแคลน ด้อยโอกาส และชุมชนชายขอบต่างๆ ตามแนวทางและความเชื่อในแบบคริสเตียน

เกรเซ่นได้รู้จักกับเพื่อนที่ทำงานในมูลนิธิอิเมจิ้นซึ่งจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ตัวเขาได้เข้ามาใช้ชีวิตบริเวณชุมชนสามย่านอยู่บ่อยๆ และมีโอกาสช่วยสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกๆ ของคนที่อาศัยอยู่ในย่านถนนพระราม 4 ดังกล่าว

หลังจากนั้นได้มีการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมมาตรการล็อกดาวน์ในปี 2563 - 2564 ทำให้โรงเรียนหลายแห่งปรับรูปแบบการสอนเป็นออนไลน์ นักเรียนหลายคนต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านของตนเอง บางคนสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ และผู้ปกครองก็มีภาระงานต้องจัดการ ทำให้ไม่สามารถดูแลลูกหลานของตนเองได้ เด็กกลุ่มนี้จึงไม่ได้รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

เกรเซ่นจึงอยากสร้างโครงการเพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับน้อง ๆ ในชุมชน ประกอบกับเป็นช่วงที่มูลนิธิอิเมจิ้นมอบหมายให้เกรเซ่นริเริ่มโครงการใหม่ของตนเอง แต่ตัวเขาไม่ถนัดเรื่องการสอนและการดูแลเด็กจำนวนมาก จึงประสานงานกับมูลนิธิ Saturday School องค์กรการศึกษาที่มีพันธกิจเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปสามารถมามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย

การฝึกอบรมครูอาสาและทำความรู้จักกับเด็กในชุมชนสามย่านช่วงก่อตั้งโครงการสามย่านนิวเจน ปี 2564 (ที่มา: เพจ Samyan Newgen)

เริ่มจากการเดินสำรวจชุมชนตลาดเก่าสามย่านเพื่อดูความเป็นอยู่ของเด็กในชุมชนเมื่อปี 2563 พร้อมเชิญชวนมาเข้าร่วมเรียนในโครงการสามย่านนิวเจน ก่อนจะมีการอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจในความเป็นเด็กให้กับอาสาสมัคร พร้อมสอนเทคนิคการเสริมแรงกระตุ้นการเรียนรู้ วิธีการพูดคุย วิธีรับมือกับเด็กในสถานการณ์ต่าง ๆ การทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างครูในระบบกับบทบาทครูอาสา

ที่สำคัญคือการออกแบบหลักสูตรการสอนที่เน้นกิจกรรมพร้อมแทรกทักษะการเรียนรู้ จากทั้ง 3 วิชาที่ผู้ปกครองเห็นตรงกันว่าลูกหลานของตนขาดทักษะในวิชาเหล่านี้จริง ๆ คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์

“ระยะแรกเราวางแผนโปรแกรมสามย่านนิวเจนเป็นคอร์ส 10 สัปดาห์ โดยเปิดสอนแค่วิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนวันเสาร์จะเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านการสร้างกิจกรรมให้เด็กมาเล่นกันอย่างเดียว ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากเด็กในชุมชนและอาสาสมัครพร้อมข้อเสนอแนะจากผู้ปกครองเขาก็บอกว่าอยากให้เพิ่มวิชาภาษาไทยเข้ามาด้วย เพราะเป็นวิชาที่เด็กหลายคนมีปัญหาไม่ต่างจากสองวิชาแรก” เกรเซ่นกล่าว

ผลกระทบระดับครัวเรือนถึงเด็กโรงเรียนวัด เมื่อสามย่านขึ้นค่าเช่าที่

นักเรียนในโครงการสามย่านนิวเจน

เกรเซ่นเล่าว่านักเรียนในโครงการสามย่านนิวเจนส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียนวัดหัวลำโพง โรงเรียนวัดดวงแข โรงเรียนพุทธจักรวิทยา และโรงเรียนวัดไตรมิตร ซึ่งเด็กเหล่านี้มีครอบครัวอาศัยอยู่ในชุมชนสามย่านเดิม ก่อนจะสู้ค่าเช่าพื้นที่เดิมไม่ไหวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้บางครอบครัวต้องขยับไปอยู่ย่านข้างเคียงอย่างหัวลำโพง ขณะที่หลายครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ชานเมืองแถวถนนเพชรเกษม

ปัจจุบัน สามย่านนิวเจนมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 - ม.3 ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนชั้น ป.4 รวมทั้งโครงการมีนักเรียนทั้งหมด 25 คน จากระยะแรกเริ่มโครงการมีเพียง 8 คน ซึ่งจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้มาจากการเชิญชวนเพื่อนที่โรงเรียนของนักเรียนกลุ่มเดิม ส่วนบางคนก็มาจากการประชาสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลต่อสมาธิของนักเรียนที่ไม่สามารถโฟกัสการเรียนในกลุ่มใหญ่ได้ และทำให้ครูอาสาไม่สามารถดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง

นักเรียนในโครงการสามย่านนิวเจนและครูอาสาที่เป็นนิสิตจุฬาฯ

สามย่านนิวเจนจึงแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มละไม่เกิน 3-4 คนต่อหนึ่งครูอาสา ปัจจุบันครูอาสาส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ม.ปลาย คือ นักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดม โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย นอกจากนั้นยังมีนิสิตจุฬาฯ อีกประมาณ 8 คน ซึ่งคนเหล่านี้รู้จักสามย่านนิวเจนจากการประกาศรับสมัครผ่านช่องทางออนไลน์หรือการบอกต่อจากเพื่อนสู่เพื่อนที่เคยเป็นครูอาสาเหมือนกัน

โดยสามย่านนิวเจนจะเปิดรับสมัครครูอาสาในแต่ละฤดูกาลตามภาคการศึกษา ผู้สมัครครูอาสาทุกคนจะต้องผ่านการสัมภาษณ์และจะได้เลือกว่าต้องการสอนวิชาไหน ระดับชั้นใด ซึ่งบางคนอาจไม่ได้สอนในวิชาที่ตนเองต้องการหากเป็นวิชาที่มีคนสอนอยู่เดิมแล้วหรือไม่มีนักเรียนในวิชานั้น โดยวิชาที่มีคนสมัครมาน้อยที่สุด คือ วิชาภาษาไทย

เด็กสามย่านหลายคนกลับมาเรียนอีก ถือเป็นหนึ่งความสำเร็จ

“การที่เด็กหลายคนมาเรียนและกลับมามาที่นี่บ่อย ๆ ถือเป็นหนึ่งความสำเร็จ เพราะการดูแลเด็กคนหนึ่งต้องใช้เวลาหลายปีและต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถเห็นผลสำเร็จได้ใน 1-3 เดือน สามย่านนิวเจนจึงเป็นโครงการระยะยาวที่คงทำต่อไปอีกหลายปี” เกรเซ่น เล่าความสำเร็จของโครงการสามย่านนิวเจนจากมุมมองของเขา

นอกจากนั้น เกรเซ่นยังมองว่าสามย่านนิวเจนเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการเติบโตของเด็กเท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างภูมิหลังและความเอาใจใส่จากผู้ปกครอง

ทั้งนี้ เกรเซ่นยังเห็นปัญหาจากการรับสื่อผ่านโทรศัพท์ของเด็กที่ไม่มีคนช่วยคัดกรอง ทำให้เด็กติดนิสัยที่ไม่ดีกลับมา เช่น การพูดคำหยาบ การปฏิบัติตัวต่อเพื่อนและคนอื่นๆ ซึ่งส่วนนี้เกรเซ่นก็จะพยายามแนะนำให้เด็กเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดีอย่างไร พฤติกรรมแบบไหนที่ไม่ควรทำตาม

“ครูอาสาทุกคนดูแฮปปี้กับการสอน แต่บางครั้งก็มาบอกกับเราว่าเครียดเพราะน้อง ๆ ดื้อ เราก็ช่วยให้กำลังใจและแนะนำวิธีการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ หวังว่าที่นี่จะเป็นเซฟโซนให้ทุกคน ทั้งครูอาสาและนักเรียนในโครงการ เพราะเราอยากให้สามย่านนิวเจนเป็นโครงการเพื่อทุกคนไม่ใช่แค่ใครคนหนึ่ง” เกรเซ่นกล่าวถึงความสำเร็จในการสร้างครูอาสา 

บอร์ดสำรวจอารมณ์ก่อนเริ่มเรียน

ขณะที่ ภูมิ (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้เป็นครูอาสาสอนวิชาภาษาอังกฤษของโครงการสามย่านนิวเจนเล่าว่าการสอนพิเศษที่นี่ทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้นยกตัวอย่างจากตนเองที่ครอบครัวมีกำลังทรัพย์ในการส่งเขาไปเรียนภาษาอังกฤษกับครูต่างชาติได้ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีโอกาสเรียนรู้เยอะกว่า เพราะครอบครัวมีทรัพยากรที่พร้อมจะส่งเสริมและตัวเขาได้เรียนในโรงเรียนที่สอนอย่างเข้มข้นขณะที่เด็กจากชุมชนสามย่านไม่สามารถเข้าถึงโอกาสเหล่านั้น

นอกจากนั้น การเป็นครูอาสายังทำให้ภูมิได้มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนสามย่านมากขึ้น ผ่านการพูดคุยกับเด็กที่มาเรียนด้วย ทำให้เข้าใจการเป็นอยู่ การศึกษา การใช้ชีวิตทั่วไปของพวกเขา จากที่ตอนแรกตนเองเป็นเพียงเด็กมัธยมปลายคนหนึ่งที่เข้ามาเรียนกลางเมืองแล้วกลับบ้านโดยไม่ได้สนใจความเป็นอยู่ทั่วไปของชุมชนใกล้โรงเรียน

การพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯ กับนักเรียนจากชุมชนสามย่าน

ภาพนักเรียนในโครงการสามย่านนิวเจนเล่นเกมระหว่างรอเรียน

อย่างที่กล่าวข้างต้นว่านักเรียนที่เรียนพิเศษกับครูอาสา ‘สามย่านนิวเจน’ ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียนที่ไม่ห่างจากชุมชนสามย่านมากนัก แต่ด้วยการพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯ ในปัจจุบัน ที่มีทั้งการปรับปรุงพื้นที่ รื้อถอนอาคารเก่า ก่อสร้างอาคารใหม่ และขึ้นค่าเช่าที่ ทำให้หลายครอบครัวต้องเขยิบไปอยู่แถวหัวลำโพงหรือชานเมืองแถวเพชรเกษม

“มีเด็กหลายคนที่ต้องย้ายบ้าน บางคนก็เครียดจากการย้ายที่อยู่อาศัย แต่เราก็ดีใจที่เด็กยังกลับมาที่นี่ได้เหมือนเดิม ส่วนตัวอยากช่วยให้เด็ก ๆ ได้อยู่แถวนี้ตลอดไป แม้จะทำอะไรได้ไม่มาก แต่จะพยายามหาทางช่วยดูแลน้องไปเรื่อยๆ” เกรเซ่นกล่าว

“ตอนนี้เราอาจจะเปิดโครงการนี้อยู่ที่เดิม จุฬา 50 แต่อีกประมาณ 2-3 ปี ข้างหน้า ร้านกาแฟแห่งนี้อาจจะต้องปิดหรือย้ายสถานที่เช่นกัน ซึ่งตอนนี้คิดว่าจะย้ายไปอยู่บริเวณวัดหัวลำโพง เพื่อให้ไม่ไกลจากที่เดิมมากนัก” เกรเซ่นเล่าถึงผลกระทบจากการขึ้นค่าเช่าที่

การเรียนการสอนในโครงการสามย่านนิวเจน

บทสรุปของเรื่องนี้สามารถกล่าวได้ว่า โครงการสามย่านนิวเจน (Samyan NewGen) เป็นความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่สามย่าน โดยเน้นการให้โอกาสเด็กและเยาวชนในชุมชนที่มีข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐกิจในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของอาสาสมัคร นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ที่มุ่งมั่นสอนวิชาพื้นฐานและเสริมทักษะต่าง ๆ ให้กับเด็กในชุมชนสามย่าน เพื่อช่วยเติมเต็มความรู้และส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

โครงการสามย่านนิวเจนไม่เพียงแต่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กในชุมชน แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับครูอาสาในการพัฒนาทักษะการสอนและการเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยแม้จะเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การย้ายที่อยู่อาศัยของเด็ก ๆ และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในชุมชนสามย่าน แต่โครงการนี้ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในชุมชนนี้อย่างยั่งยืน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: