ศัลยแพทย์สหรัฐฯ ใช้การปลูกถ่ายชิ้นส่วนสัตว์แก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะโลก

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 3495 ครั้ง

ศัลยแพทย์สหรัฐฯ ใช้การปลูกถ่ายชิ้นส่วนสัตว์แก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะโลก

ศัลยแพทย์ในสหรัฐฯ พยายามผลักดันกระบวนการซีโนทรานซ์แพลนเทชั่น (Xenotransplantation) หรือกระบวนการที่นำอวัยวะของสัตว์มาปลูกถ่ายให้แก่มนุษย์ ซึ่งในสหรัฐฯ ขั้นตอนนี้อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอาการร้ายแรงหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตเท่านั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะทั่วโลก

VOA รายงานว่าข้อมูลจากแพทย์ระบุว่ามีผู้ป่วยที่ต้องการการปลูกถ่ายอวัยวะในสหรัฐฯ เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้รับการปลูกถ่ายเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนอวัยวะ ดังนั้นศัลยแพทย์คนหนึ่งที่ NYU จึงพยายามผลักดันกระบวนการซีโนทรานซ์แพลนเทชั่น (Xenotransplantation) หรือกระบวนการที่นำอวัยวะของสัตว์มาปลูกถ่ายให้แก่มนุษย์ ซึ่งในสหรัฐฯ ขั้นตอนนี้อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอาการร้ายแรงหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตเท่านั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะทั่วโลก

นายแพทย์โรเบิร์ต มอนต์โกเมอรี ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายหัวใจรุ่นบุกเบิก ผู้มีความชื่นชอบในงานของตัวเองอย่างลึกซึ้งซึ่งเกิดจากการที่ต้องต่อสู้กับอาการของโรคหัวใจมาก่อนกล่าวว่า เขาต้องผ่านภาวะหัวใจหยุดเต้นถึงเจ็ดครั้งและเฉียดตายมาก่อนที่จะสามารถจะมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้รอรับการปลูกถ่าย เพราะการที่จะมีชื่ออยู่ในบัญชีนี้ได้ จะต้องมีอาการป่วยหนักมากจึงจะสามารถรอรับอวัยวะได้

ในปี 2018 เขาได้รับหัวใจดวงใหม่และมีโอกาสที่จะสานต่องานของเขาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอวัยวะทั่วโลกด้วยกระบวนการซีโนทรานซ์แพลนเทชั่น ซึ่งเป็นกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของมนุษย์ด้วยอวัยวะของสัตว์ โดยส่วนใหญ่จะใช้อวัยวะของสุกร และยีนของพวกมันได้รับการแก้ไขเพื่อลดความเสี่ยงที่ร่างกายจะปฏิเสธอวัยวะหลังการปลูกถ่าย

นายแพทย์มอนต์โกเมอรีกล่าวต่อไปว่า “มีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตก่อนที่จะมีชื่ออยู่ในบัญชีรอรับบริจาค และมีเพียงหนึ่งในสามของผู้ที่มีรายชื่อในบัญชีนี้เท่านั้นที่จะได้รับการปลูกถ่าย ส่วนที่เหลืออาจป่วยเกินกว่าจะได้รับประโยชน์จากการปลูกถ่ายหรือไม่ก็เสียชีวิตไปก่อน”

หลังจากการปลูกถ่ายหัวใจ นายแพทย์มอนต์โกเมอรีซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าสถาบันการปลูกถ่ายอวัยวะของ NYU Langone ได้มุ่งศึกษาผลกระทบของกระบวนการซีโนทรานซ์แพลนเทชั่นในร่างกายมนุษย์

ในปี 2022 ครอบครัวคาปูอาโน กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของนายแพทย์มอนต์โกเมอรี หลังจากที่อัลวา คาปูอาโน ต้องทนทุกข์กับภาวะความเสียหายทางสมองที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ครอบครัวของเธอบริจาคร่างกายของคาปูอาโนเพื่อการทดลองกระบวนการปลูกถ่ายซีโนทรานซ์แพลนเทชั่น

ซึ่งทิม คาปูอาโน ลูกชายของเธออธิบายว่า การมีส่วนร่วมในงานวิจัยทางการแพทย์ถือเป็นหนึ่งในความปรารถนาสุดท้ายของคุณแม่ของเขา

โดยอัลวาได้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมูและมีชีวิตอยู่กับมันได้เป็นเวลาสามวัน

ทิม ลูกชายของอัลวากล่าวว่า “ทุกอย่างประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่ของข้อมูลที่สามารถรวบรวมได้ และหัวใจเต้นรัวและทำงานได้อย่างราบรื่นตลอดระยะเวลา 72 ชั่วโมงจนกระทั่งการทดลองสิ้นสุดลง”

ในปี 2023 นายแพทย์มอนต์โกเมอรีและทีมงานของเขาได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหมูกับชายคนหนึ่ง ซึ่งไตนั้นสามารถทำงานในร่างกายผู้ป่วยได้เป็นเวลาสองเดือน โดยที่ร่างกายของเขาไม่ปฏิเสธอวัยวะของสัตว์ที่ปลูกถ่ายเข้าไป

นายแพทย์มอนต์โกเมอรีกล่าวว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอวัยวะทั่วโลก เขาคิดว่าขั้นตอนต่อไปคือการทำการทดลองในมนุษย์ให้สำเร็จ และแสดงให้เห็นว่าไตเหล่านี้ยังสามารถทำงานได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่งซึ่งบุคคลจะได้รับประโยชน์จากไตที่ได้รับปลูกถ่ายมา

ศัลยแพทย์จาก NYU ผู้นี้กล่าวส่งท้ายว่า เขาจะยังคงพยายามต่อไปเพื่อค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอวัยวะที่เพิ่มมากขึ้น และว่าตัวเขาเองยังโชคดีพอที่สามารถรอดชีวิตมาได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: