เสวนาประเมินมูลค่า เยียวยาฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศ กรณีปลาหมอคางดำ

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 4464 ครั้ง

เสวนาประเมินมูลค่า เยียวยาฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศ กรณีปลาหมอคางดำ

เสวนาออนไลน์ “แนวคิด แนวทางและเครื่องมือประเมินมูลค่า เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศ กรณีปลาหมอคางดำ” เพื่อระดมความเห็นทั้งจากนักวิชาการและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่ - ยืนยัน ปลาหมอคางดำไม่เคยมีในระบบปลาสวยงามของไทย ระบาดไกล 300 กิโล - นักวิชาการย้ำ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย

BIOTHAI แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2567 BIOTHAI ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค และสมัชชาองค์กรเอกชน ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากร จึงจัดเวทีเสวนาออนไลน์ “แนวคิด แนวทางและเครื่องมือประเมินมูลค่า เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศ กรณีปลาหมอคางดำ” เพื่อระดมความเห็นทั้งจากนักวิชาการและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่

ปัญญา โตกทอง เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิด ต.แพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม ให้ความเห็นว่า จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ เพราะปลาออกลูกทุกวินาที แล้วปลาที่รับซื้อก็เป็นปลาบ่อ ยังมีปลาที่อยู่ในคลองอีกจำนวนมาก ซึ่งรัฐลงพื้นที่เดือนละครั้งถึงสองครั้ง แล้วเมื่อไหร่ปลาจะหมด

“ที่อ้างว่าปลาหมอคางดำหมดแล้วไม่จริง รัฐจับปลาได้ไม่กี่กิโล เพราะจับปลาเวลาราชการ ไม่ใช่เวลาราษฎร แล้วปลาที่อยู่ในคลองก็ไม่ถูกกำจัด ถ้าจะให้หมด ปลาคลองต้องหมดก่อนปลาบ่อ จุดรับซื้อก็ต้องใกล้ๆ ให้มีทุกตำบล” เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดกล่าวและว่า ชาวบ้านต้องการให้รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 20 บาทเพื่อเยียวยาด้วย และหากจะให้เป็นธรรมต้องคิดค่าชดเชยตั้งแต่ปี 2560 ที่ปลาหมอคางดำเริ่มระบาดอย่างหนัก

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า เขาไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ เพราะความเสียหายมีทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งใช้คำว่าเสียหายยังน้อยไป แต่มันชิบหายจนยากจะกู้คืน แล้วรัฐไม่เคยแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เขาต้องการเห็นสิ่งที่รัฐจะทำ ไม่ใช่สิ่งที่พูด โดยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา นอกจากปลาหมอเทศที่หายไป ปลากระบอกในพื้นที่ก็ไม่มีแล้ว ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกบริโภคปลาอื่นได้เลย รวมถึงหอยหลอด หอยกระปุกที่ลดจำนวนลง หรือตอนนี้หากออกไปรุนเคยเพื่อมาทำกะปิก็จะไม่มีเคยให้รุนแล้ว มีแต่ปลาหมอคางดำ

“เพื่อนเคยออกไปรุนเคยได้วันละ 500 – 600 บาท แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำอาชีพนั้นได้แล้ว เพราะไม่มีเคยแล้ว วันก่อนออกไปฉกเคยได้มา 5 บาท เพราะปลาหมอมันกินเคยหมด รายได้ก็หาย หรืออย่างบ่อกุ้ง เดือนนึงรายได้ประมาณ 20,000 บาทแต่ 7 ปีแล้วที่ทำอาชีพไม่ได้เลย กลายเป็นที่รกร้าง” บุญยืน กล่าวอีกว่า “ที่รัฐมนตรีบอกว่าดูแล้วปลาน้อยลง ก็เพราะสภาพน้ำมันดี ปลามันจะไม่ลอยหัวมาเสนอหน้าให้รัฐมนตรีเห็นหรอก มันอยู่ก้นคลอง”

ด้านบุญเยียน รัตนวิชา ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง กล่าวว่า ปี 2565 เริ่มพบการระบาดของปลาหมอคางดำที่ อ.หัวไทร และ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งพื้นที่ที่ระบาดหนักที่สุดใกล้กับบริษัทเอกชนที่สงสัยว่าเป็นผู้นำเข้ามาครั้งแรก ขณะที่ฟาร์มขนาดใหญ่ของเอกชนทั่วไปไม่ระบาด หรือพบน้อยมาก จึงอาจมีโอกาสที่จะเกิดจากการบำบัดน้ำเสีย เพราะแหล่งที่พบเป็นคลองน้ำเสียที่เชื่อมกับคลองสาธารณะ

บุญเยียน กล่าวว่า การรับซื้อปลาของบริษัทเอกชนเป็นไปเพื่อเชิงพาณิชย์ในการผลิตปลาบ่น เป็นแค่การถือโอกาสนำเงินมาสร้างมูลค่าขายอาหารสัตว์ให้เกษตรกรต่อไป ไม่ใช่การช่วยเหลือจริงๆ ทั้งนี้ ความเสียหายเฉพาะการเพาะเลี้ยงกุ้งตั้งแต่ปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่ปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายอย่างปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ปลาหมอเทศ ที่สูญหายไป จากเดิมที่ขายตัวละ 25 บาท เป็นกิโลกรัมละ 60 บาท ส่งผลให้คนในพื้นที่ต้องซื้อปลาราคาแพงขึ้น

ยืนยัน ปลาหมอคางดำไม่เคยมีในระบบปลาสวยงามของไทย ระบาดไกล 300 กิโล

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักธรรมชาติวิทยาเจ้าของรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes กับการเดินทางศึกษาธรรมชาติผ่านปลาน้ำจืด กล่าวว่า ถ้าจะบอกว่าการระบาดเกิดจากปลาสวยงาม เขาขอปฏิเสธในฐานะคนเลี้ยงปลาสวยงาม เพราะปลาหมอคางดำไม่เคยมีในระบบปลาสวยงามของไทย และขณะนี้ปลาหมอคางดำถูกพบที่ตอนกลางของคุ้งกระเบน ซึ่งห่างจากจุดแรกที่พบการระบาดประมาณ 300 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลา 12 ปี คิดเป็นปีละ 25 กิโลเมตร จึงสามารถไปไกลถึงกัมพูชา หรือเวียดนามได้แน่นอน

นักธรรมชาติวิทยา เสนอวิธีการแก้ปัญหาว่า ต้องจับปลาหมอคางดำออก แล้วมีคนมารับซื้อไป รวมถึงต้องทำระบบนิเวศให้สมบูรณ์ ไม่ให้มีน้ำเสีย ไม่เพียงเท่านั้น เกษตรกรก็ต้องปรับตัว เช่น การปล่อยน้ำเข้าบ่อ ต้องมีระบบกรองที่ดี ส่วนบ่อกุ้ง บ่อปู ต้องสร้างระบบนิเวศ อย่างมีกองหิน ซอกไม้ให้ลูกกุ้ง ลูกปูหลบเวลาลอกคราบ เป็นต้น

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายสัตว์น้ำ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เสนอว่า แนวทางการแก้ปัญหาให้นำปลาหมอคางดำขึ้นมาให้มากที่สุด โดยตั้งเป้าให้เหลือศูนย์สำหรับทุกขนาด พื้นที่น้ำตื้นก็ใช้อวนจับ เมื่อกำจัดให้เหลือน้อยแล้ว ค่อยปล่อยปลานักล่าลงแหล่งน้ำ โดยสอนลูกปลาให้กินลูกปลาหมอคางดำก่อน ในขณะที่ การแก้ปัญหาระยะยาว ทุกกระทรวง ทุกรัฐบาล ต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพแม่น้ำทุกสายในประเทศไทยไม่ให้เกิดการเน่าเสีย เพราะแม่น้ำที่มีปลาหมอคางดำระบาดอย่างรุนแรง จะมีคุณภาพน้ำแย่ โดยต้องเฝ้ากำจัดอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้น หากแผ่ว หรือหยุดไป ไม่กี่ปี ปัญหานี้จะกลับขึ้นมาเหมือนเดิม

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ให้ความเห็นว่า การประเมินค่าความเสียหายนั้น สิ่งที่ยากที่สุดคือ การทำให้มีผลทางกฎหมายในเชิงฟ้องร้อง หรือเรียกร้อง

ขณะที่ ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ให้ข้อมูลว่า มูลค่าความเสียหายนั้นไม่ได้ดูเพียงแค่จำนวนเงินว่านำมาใช้เท่าไหร่ แต่ต้องดูทั้งระบบนิเวศ ซึ่งกรณีของปลาหมอคางดำเป็นอาชญากรรมความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะเกิดความเสียหายรุนแรง จึงต้องคิดมาตรการควบคุม ชดเชยเยียวยา และเอาความรับผิดชอบมาให้ได้ ในขณะที่กฎหมายของไทย อย่างร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. .... ที่จะออกมาบังคับใช้นั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนยังมีน้อยมาก ทั้งนี้ เราจะทำให้วิถีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร รวมถึงการมีระบบป้องกันที่มีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ เอาผิดได้

นักวิชาการย้ำ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย

ด้านเศรษฐภูมิ บัวทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI TU) วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในปี 2550 – 2561 ชาวบ้านชุมชนแพรกน้ำแดง จ.สมุทรสงคราม เลี้ยงกุ้งทะเล มีรายได้ 100 ล้านบาทต่อปี แต่ตอนนี้ปริมาณกุ้งในลำน้ำแทบไม่เหลือเลย จากการระบาดของปลาหมอคางดำ ทำให้เงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูญหายไป ซึ่งผู้ก่อผลกระทบต้องเป็นผู้ที่ชดเชยความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ จะเรียกร้องได้จากทั้งค่าความเสียหายการตลาด ค่าความเสียหายด้านอาชีพ ที่คนเลี้ยงกุ้งต้องเปลี่ยนอาชีพ การปกป้อง ฟื้นฟู และเยียวยาระบบนิเวศ เช่น การที่รัฐต้องเข้าไปรับซื้อปลาหมอคางดำ 20 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่มูลค่าของปลาอยู่ที่ 6 บาท รวมถึงค่าเสียโอกาสของประเทศ

ดร.สันติ แสงเลิศไสว รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การประเมินมูลค่าความเสียหาย ทำได้ด้วย 1. วิเคราะห์ประโยชน์ที่เคยได้รับมีอะไรบ้าง เช่น จับปลาไปขายได้อย่างไร 2. ผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือคนที่เคยได้รับประโยชน์เป็นใคร 3. ประเมินมูลค่าความเสียหายในทางเศรษฐศาสตร์ 4. วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ต้องใช้ฟื้นฟูให้กลับมาสภาพเดิม หรือใกล้เคียงเดิม ทั้งนี้ ความเสียหายต้องคิดมูลค่าจากประโยชน์ที่เคยได้รับ และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกับระยะเวลาให้กลับมามีสภาพดังเดิม

“ผู้ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่ผลกระทบในพื้นที่ แต่อาจหมายรวมถึงนักท่องเที่ยว เช่น หอยหลอดหายไป สูญเสียประโยชน์ในเชิงนันทนาการ เราต้องคิดให้หมดกับทุกอย่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการระบาดทั้งหมด” ดร.สันติ กล่าว

บันทึกเวทีฉบับเต็ม
https://youtu.be/zYQ8mdDOF84

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: