Rocket Media Lab สำรวจกรุงเทพฯ มีลานกีฬาที่ไหน แล้วเล่นกีฬาอะไรได้บ้าง พบมีลานกีฬา 1,126 แห่ง โดยอยู่ในสถานศึกษามากที่สุด 419 แห่ง คิดเป็น 37.21% ในขณะที่ลานกีฬาที่เป็นลานกีฬาสาธารณะมีเพียง 107 แห่งเท่านั้น
- จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร และกรมพลศึกษารวมกัน พบว่า กรุงเทพฯ มีลานกีฬา 1,126 แห่ง โดยอยู่ในสถานศึกษามากที่สุด 419 แห่ง คิดเป็น 37.21% ในขณะที่ลานกีฬาที่เป็นลานกีฬาสาธารณะมีเพียง 107 แห่งเท่านั้น
- ลานกีฬาชุมชนมีจำนวนมากเป็นอันดับสอง 324 แห่ง ซึ่งมักจะเป็นเพียงลานอเนกประสงค์ที่ใช้ในการทำกิจกรรม กีฬา และสันทนาการ เช่น เต้นแอโรบิก ฟุตซอล แบดมินตัน (แบบไม่มีเน็ต) เป็นต้น
- ลานกีฬาทั้ง 1,126 แห่ง เป็นลานกีฬาที่เข้าถึงได้ 521 แห่ง เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไข 410 แห่ง และเข้าถึงไม่ได้ 195 แห่ง แม้ลานกีฬาที่เข้าถึงได้จะมีจำนวนมากที่สุด แต่หากพิจารณาจากขนาดพื้นที่รวมกันจะพบว่าลานกีฬาที่เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไขมีพื้นที่รวมกันมากที่สุดในกรุงเทพฯ
- ลานกีฬาที่เข้าถึงได้ที่ตั้งอยู่ในชุมชนมีจำนวนมากที่สุด แต่เมื่อเปรียบเทียบจากขนาดพื้นที่รวมแล้วพบว่าลานกีฬาสาธารณะนั้นมีพื้นที่รวมมากที่สุดแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าลานกีฬาในชุมชนถึง 3 เท่า ในส่วนของลานกีฬาที่อยู่ในกองทัพ/ตำรวจนั้น พบว่าในประเภทที่เข้าถึงได้ส่วนมากอยู่ภายในพื้นที่ของตำรวจ
- กีฬาที่สามารถเล่นได้มากที่สุด 5 อันดับแรก จากข้อมูลลานกีฬาทั้ง 1,126 แห่ง คือ แบดมินตัน 570 แห่ง รองลงมาคือฟุตบอล 539 แห่ง ตะกร้อ 532 แห่ง บาสเก็ตบอล 430 แห่ง สนามเด็กเล่น 395 แห่ง แต่หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของลานกีฬาที่เข้าถึงได้ 521 แห่ง พบว่ากีฬาที่สามารถเล่นได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ แบดมินตัน 265 แห่ง ตะกร้อ 245 แห่ง ฟุตบอล 229 แห่ง สนามเด็กเล่น 167 แห่ง ฟุตซอล 154 แห่ง
จากกระแสมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 ทำให้ความนิยมในการเล่นกีฬากลับมาเป็นที่สนใจมากขึ้น เช่น แบดมินตัน ที่ประเทศไทยคว้าเหรียญเงิน ประเภทบุคคลชาย ว่าแต่หากคนกรุงเทพฯ อยากจะเล่นกีฬา สามารถไปที่ไหนได้บ้าง แล้วแต่ละสถานที่ แต่ละเขต มีลานกีฬาที่ประกอบไปด้วยกีฬาอะไรให้เราเข้าไปเล่นได้บ้าง
จากข้อมูลกองสารสนเทศภูมิศาสตร์สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร ที่จัดเก็บข้อมูล ‘ลานกีฬา’ ในแต่ละพื้นที่ทั้ง 50 เขต พบว่ากรุงเทพฯ มีลานกีฬาทั้งหมด 935 แห่ง ในขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลลานกีฬาในกรุงเทพฯ ซึ่งจัดเก็บข้อมูลโดย กรมพลศึกษา ซึ่งมีจำนวน 247 แห่ง เมื่อนำทั้งสองข้อมูลมารวมกันและลบข้อมูลลานกีฬาที่มีความซ้ำซ้อนออก จะพบว่า กรุงเทพฯ มีลานกีฬาอยู่ 1,126 แห่ง โดยไม่นับรวมลานกีฬาที่อยู่ในสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ เนื่องด้วยลานกีฬาเหล่านั้นถูกจัดเก็บข้อมูลภายใต้การจัดประเภทว่าเป็น ‘สวนสาธารณะ’
ลานกีฬาในกรุงเทพฯ อยู่ไหนบ้าง
เมื่อนำข้อมูลลานกีฬาทั้ง 1,126 แห่ง มาสำรวจว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ประเภทใด พบว่าตั้งอยู่ใน
- สถานศึกษา 419 แห่ง (2,891,012 ตร.ม.) คิดเป็น 37.21%
- ชุมชน 324 แห่ง (639,141.52 ตร.ม.) คิดเป็น 28.78%
- เอกชน 148 แห่ง (330,024 ตร.ม.) คิดเป็น 11.4%
- สาธารณะ 107 แห่ง (907,476.76 ตร.ม.) คิดเป็น 9.50%
- กองทัพ/ตำรวจ 64 แห่ง (485,860.64 ตร.ม.) คิดเป็น 5.68%
- หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 35 แห่ง (106,840 ตร.ม.) คิดเป็น 3.11%
- วัด/มัสยิด 29 แห่ง (77,588 ตร.ม.) คิดเป็น 2.58%
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าลานกีฬาในกรุงเทพฯ มีจำนวนและขนาดพื้นที่มากที่สุดในสถานศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา รองลงมาคือลานกีฬาเอกชน แม้จะมีจำนวนมากเป็นอันดับสองแต่หากพิจารณาในเรื่องขนาดพื้นที่รวมจะเห็นว่าลานกีฬาที่อยู่ในพื้นที่เอกชนมีขนาดพื้นที่รวมน้อยเป็นอันดับห้า ในขณะที่ลานกีฬาสาธารณะมีจำนวนเป็นอันดับสามแต่มีขนาดพื้นที่รวมมากเป็นอันดับสอง และลานกีฬาที่อยู่ในพื้นที่ของกองทัพ/ตำรวจ มีมากเป็นอันดับสี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในส่วนของทหารมากกว่าตำรวจ ตามมาด้วยหน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่หน่วยงานรัฐ และวัด/มัสยิด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่วัด
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แม้จะมีการเก็บข้อมูลลานกีฬาในกรุงเทพฯ ซึ่งรวมแล้วมี 1,126 แห่ง ลานกีฬาส่วนมากนั้นอยู่ในสถานศึกษา ซึ่งในแต่ละสถานศึกษามักจะมีสนามกีฬา ว่าจะเป็นฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเก็ตบอล ฯลฯ อยู่แล้ว การนับรวมลานกีฬาที่อยู่ในสถานศึกษาจึงทำให้ตัวเลขลานกีฬาในกรุงเทพฯ มีจำนวนสูง ในขณะที่ลานกีฬาที่เป็นลานกีฬาสาธารณะมีเพียง 107 แห่งเท่านั้น ส่วนลานกีฬาชุมชนที่มีจำนวนไม่น้อย 324 แห่ง มักเป็นเพียงลานอเนกประสงค์ที่ใช้ในการทำกิจกรรม กีฬา และสันทนาการ เช่น เต้นแอโรบิก ฟุตซอล แบดมินตัน (แบบไม่มีเน็ต) เป็นต้น
ลานกีฬาในกรุงเทพฯ เข้าถึงได้แค่ไหน
จากนั้นเมื่อนำข้อมูลลานกีฬาทั้ง 1,126 แห่ง มาแยกประเภทโดยแบ่งเป็น
- เข้าถึงได้ หมายถึง คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้งานได้
- เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไข หมายถึง คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้งานได้ ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง เช่น ต้องสมัครสมาชิก ต้องขออนุญาต หรือเฉพาะในช่วงเวลา เช่น โรงเรียน ที่อาจจะต้องหลังเวลาเลิกเรียนแล้ว
- เข้าถึงไม่ได้ หมายถึง คนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้
พบว่า ลานกีฬาทั้ง 1,126 แห่ง เป็นลานกีฬาที่เข้าถึงได้ 521 แห่ง คิดเป็น 2,309,113.16 ตร.ม. เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไข 410 แห่ง คิดเป็น 2,597,080.08 ตร.ม. และเข้าถึงไม่ได้ 195 แห่ง คิดเป็น 531,748.6 ตร.ม. แม้ลานกีฬาที่เข้าถึงได้จะมีจำนวนมากที่สุด แต่หากพิจารณาจากขนาดพื้นที่รวมกันจะพบว่าลานกีฬาที่เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไขมีพื้นที่รวมกันมากที่สุดในกรุงเทพฯ
จากนั้นเมื่อพิจารณาว่าลานกีฬาแต่ละประเภทตั้งอยู่ในสถานที่แบบใดบ้าง พบว่า
ลานกีฬาที่เข้าถึงได้ 521 แห่ง (2,309,113.16 ตร.ม.) ตั้งอยู่ใน
- ชุมชน 324 แห่ง 639,141.52 ตร.ม.
- สาธารณะ 107 แห่ง 907,476.76 ตร.ม.
- วัดและมัสยิด 29 แห่ง 77,588 ตร.ม.
- หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 26 แห่ง 68,287.84 ตร.ม.
- กองทัพ/ตำรวจ 18 แห่ง 286,663.04 ตร.ม.
- สถานศึกษา 17 แห่ง 329,956 ตร.ม.
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า แม้ลานกีฬาที่ตั้งอยู่ในชุมชนจะมีจำนวนมากที่สุด แต่เมื่อเปรียบเทียบจากขนาดพื้นที่รวมแล้วพบว่าลานกีฬาสาธารณะนั้นมีพื้นที่รวมมากที่สุดแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าลานกีฬาในชุมชนถึง 3 เท่า ในขณะที่ลานกีฬาในสถานศึกษา ซึ่งในประเภทที่เข้าถึงได้ส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัย แม้จะมีจำนวนน้อยที่สุดแต่มีขนาดพื้นที่รวมเป็นอันดับสาม และในส่วนของลานกีฬาที่อยู่ในกองทัพ/ตำรวจนั้น พบว่าในประเภทที่เข้าถึงได้ส่วนมากอยู่ภายในพื้นที่ของตำรวจ
ลานกีฬาที่เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไข 410 แห่ง (2,597,080.08 ตร.ม.) ตั้งอยู่ใน
- สถานศึกษา 402 แห่ง 2,561,056 ตรม.
- กองทัพ/ตำรวจ 4 แห่ง 24,584 ตร.ม.
- หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง 9,840 ตร.ม.
- เอกชน 1 แห่ง 1,600 ตร.ม.
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าลานกีฬาที่เข้าถึงได้แบบมีเงื่อนไขที่มีมากที่สุดทั้งจำนวนและขนาดพื้นที่รวม จะเป็นสถานศึกษา ซึ่งส่วนมากจะเป็นสถานศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เนื่องด้วยอาจถูกจำกัดการใช้งานในช่วงเวลาที่ทำการเรียนการสอนที่คนภายนอกอาจไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ ในส่วนของกองทัพ/ตำรวจนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของทหาร เช่น สระว่ายน้ำกองพันทหารสื่อสารที่ 1 ที่อาจจะต้องสมัครเป็นสมาชิก หรือสมัครเรียนว่ายน้ำ ในส่วนของหน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ เช่น สนามฟุตบอลธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธิน และเอกชน เช่น มูลนิธิอนุสรณ์ตระกูลกอดีรี
ลานกีฬาที่เข้าถึงไม่ได้ 195 แห่ง (531,748.6 ตร.ม.) ตั้งอยู่ใน
- เอกชน 147 แห่ง 328,424 ตร.ม.
- กองทัพ/ตำรวจ 42 แห่ง 174,612.6 ตร.ม.
- หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง 28,712 ตร.ม.
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าลานกีฬาที่เข้าถึงไม่ได้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เอกชน ซึ่งเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรรเอกชนที่มีลานกีฬา หรือสนามกีฬาประเภทต่างๆ ไว้รองรับผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านเท่านั้น ในขณะที่ลานกีฬาของกองทัพ/ตำรวจ ที่เข้าถึงไมได้นั้นพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ของหหาร เช่น สนามกีฬากองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ส่วนหน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ เช่น สนามกลางแจ้งสถานทูตออสเตรีย
ดังนั้นแม้กรุงเทพฯ จะมีการเก็บข้อมูล ‘ลานกีฬา’ ซึ่งหากรวมแล้วมีประมาณ 1,126 แห่ง แต่ในทางปฏิบัติแล้วจะพบว่ามีลานกีฬาที่เข้าถึงได้เพียง 521 แห่งเพียงเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลานกีฬาในชุมชนที่มีลักษณะเป็นลานอเนกประสงค์มากกว่าจะเป็น ‘สนามกีฬา’ ประเภทต่างๆ
เขตไหนในกรุงเทพฯ มีลานกีฬาที่เข้าถึงได้ มาก-น้อย ที่สุด
เมื่อนำข้อมูลลานกีฬา ‘ที่เข้าถึงได้’ มาเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรในแต่ละเขตของกรุงเทพฯ พบว่าเขตที่มีพื้นที่ลานพีฬาที่เข้าถึงได้คิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากรมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ
- พระนคร 6.77 ตร.ม./คน
- คันนายาว 2.14 ตร.ม./คน
- ปทุมวัน 1.81 ตร.ม./คน
- ทุ่งครุ 1.55 ตร.ม./คน
- จตุจักร 1.41 ตร.ม./คน
ส่วนเขตที่มีพื้นที่ลานพีฬาที่เข้าถึงได้คิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากรน้อยที่สุด 5 อันดับแรกคือ
- บางบอน 0.003 ตร.ม./คน
- บางรัก 0.007 ตร.ม./คน
- บึงกุ่ม 0.017 ตร.ม./คน
- สัมพันธวงศ์ 0.056 ตร.ม./คน
- บางคอแหลม 0.059 ตร.ม./คน
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะจำนวนลานกีฬาที่เข้าถึงได้ จะพบว่า ดินแดง มีจำนวนลานกีฬามากที่สุดคือ 45 แห่ง รองลงมาคือ หนองจอก 39 แห่ง คลองเตย 29 แห่ง ดอนเมือง 23 แห่ง มีนบุรีและปทุมวันเท่ากันที่ 20 แห่ง ส่วนเขตที่มีจำนวนลานกีฬาที่เข้าถึงได้น้อยที่สุดคือ บางบอน บางรักและสัมพันธวงศ์ เขตละ 1 แห่ง วัฒนาและบึงกุ่ม 2 แห่ง ลาดพร้าว บางนา และคลองสาน 3 แห่ง บางคอแหลม 4 แห่ง สายไหม พระโขนง พญาไท ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางกอกน้อย และคันนายาว เขตละ 5 แห่ง
หากพิจารณาจากขนาดของพื้นที่รวมของลานกีฬาที่เข้าถึงได้ พบว่าเขตที่มีพื้นที่รวมของลานกีฬาที่เข้าถึงได้มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ พระนคร 282,104 ตร.ม. จตุจักร 216,791 ตร.ม. คันนายาว 204,212 ตร.ม. ทุ่งครุ 191,251 ตร.ม. และดินแดง 154,189 ตร.ม. น้อยที่สุด 5 อันดับแรกคือ บางบอน 317 ตร.ม. บางรัก 348 ตร.ม. สัมพันธวงศ์ 1,120 ตร.ม. บึงกุ่ม 2,332 ตร.ม. ป้อมปราบศัตรูพ่าย 2,460 ตร.ม.
ลานกีฬาในกรุงเทพฯ เล่นกีฬาอะไรได้บ้าง
เมื่อนำข้อมูลลานกีฬาในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 1,126 แห่ง มาจำแนกว่าสามารถเล่นกีฬาอะไรได้บ้าง ตามฐานข้อมูลของทางกรุงเทพมหานครที่ระบุไว้และการทำข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ากีฬาที่สามารถเล่นได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ แบดมินตัน 570 แห่ง รองลงมาคือฟุตบอล 539 แห่ง ตะกร้อ 532 แห่ง บาสเก็ตบอล 430 แห่ง สนามเด็กเล่น 395 แห่ง นอกจากนั้นยังมีฟุตซอล วิ่ง วอลเลย์บอล แอโรบิก เทเบิลเทนนิส เปตอง ฯลฯ
แต่หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของลานกีฬาที่เข้าถึงได้ 521 แห่ง พบว่ากีฬาที่สามารถเล่นได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ แบดมินตัน 265 แห่ง ตะกร้อ 245 แห่ง ฟุตบอล 229 แห่ง สนามเด็กเล่น 167 แห่ง ฟุตซอล 154 แห่ง
แม้จะปรากฏว่าแบดมินตันเป็นกีฬาที่มีจำนวนมากที่สุดในลานกีฬาทั้งหมดและลานกีฬาที่เข้าถึงได้ในกรุงเทพฯ และแม้ในฐานข้อมูล จะระบุว่าเป็นลานกีฬาที่สามารถเล่นแบดมินตันได้ แต่จากการสำรวจพบว่าลานกีฬาดังกล่าวเป็นลานที่มีเพียงพื้นที่ไม่ได้มีสนามหรือตาข่ายในแบบสนามแบดมินตันอย่างชัดเจน จึงไม่อาจสรุปว่าลานกีฬาในกรุงเทพฯ มี ‘สนามแบดมินตัน’ มากที่สุดได้
การจัดการดูแลและงบประมาณลานกีฬาของกรุงเทพมหานคร
การจัดการดูแลลานกีฬาในกรุงเทพฯ เป็นความรับผิดชอบของสำนักวัฒนธรรม กีฬาและท่องเที่ยว โดยจะดูแลทั้งลานกีฬาที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรุงเทพฯ โดยตรง หรือลานกีฬาที่โดยพื้นที่อาจจะเป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานอื่น แต่มอบให้กรุงเทพมหานครดูแล
โดยในงบประมาณปี 2567 ของกรุงเทพมหานคร พบว่า งบประมาณในส่วนของการจัดการดูแลลานกีฬา ภายใต้สำนักวัฒนธรรม กีฬาและท่องเที่ยว มีงบประมาณอยู่ที่ 982,035,780 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถออกกำลังกาย เล่นกีฬา ได้อย่างเหมาะสมและถูกวิธีโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการกีฬา และทำกิจกรรมนันทนาการได้ตามอัธยาศัย โดยจัดให้มีสถานที่ อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่สะอาด ได้มาตรฐานและปลอดภัย รวมถึงบุคลากรทางด้านกีฬาที่มีความรู้ความสามารถให้คำแนะนำในการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
พบว่ามีการใช้งบประมาณในการปรับปรุงลานกีฬาจำนวน 43 แห่ง ใน 16 เขต เป็นเงิน 53,730,280 บาท หนึ่งในลานกีฬาที่ได้รับงบฯ ในการปรับปรุงมากที่สุดคือลานกีฬาเพลินพระโขนง ซึ่งเป็นลานกีฬาที่เพิ่งจะมีการสำรวจเพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างศูนย์นันทนาการ (ศูนย์เยาวชน) แห่งใหม่ ของกรุงเทพมหานครไปเมื่อปี 2566
นอกจากนี้จะเป็นการใช้งบในส่วนอื่นๆ ที่สำนักวัฒนธรรม กีฬาและท่องเที่ยว จะส่งผ่านไปยังฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมของสำนักงานเขตแต่ละเขตในกรุงเทพฯ เพื่อใช้ในการดูแลและจัดการลานกีฬาที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเขต ไม่ว่าจะเป็นการจัดจ้างอาสาสมัครผู้ปฏิบัติงานด้านกีฬา หรือแม้กระทั่งการจัดกิจกรรมในลานกีฬา เช่น การเต้นแอโรบิก การประกวดแข่งขันต่างๆ เป็นต้น
โดยนอกจากงบประมาณการจัดการดูแลลานกีฬาแล้ว ยังพบว่าศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ยังเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณในการจัดการแต่ละปี โดยในปี 2567 ได้รับงบประมาณ 13,090,400 บาท
ล่าสุดกรุงเทพฯ เองมีนโยบายอัปเดตข้อมูลลานกีฬาอัพเดตข้อมูลลานกีฬาและโครงการปรับปรุงลานกีฬาในกรุงเทพฯ ซึ่งมีการตั้งเป้าหมาย 4 ปี เพื่อพัฒนาปรับปรุงลานกีฬากรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2566-2569) โดยในปี พ.ศ.2566 มีเป้าหมาย 180 แห่ง พ.ศ. 2567 มีเป้าหมาย 162 แห่ง ปีพ.ศ.2568 มีเป้าหมาย 108 แห่ง และปี พ.ศ.2569 มีเป้าหมาย 104 แห่ง เพื่อรองรับการที่กรุงเทพฯ จะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ 2025 นอกจากนี้ยังมีนโยบายการพัฒนาลานกีฬา 1 เขต 1 ลาน และนโยบายการพัฒนาลานกีฬานำร่อง เพื่อเป็นต้นแบบของลานกีฬาอีกด้วย
ข้อมูลจาก กรุงเทพมหานคร และกรมพลศึกษา
หมายเหตุ : ข้อมูลลานกีฬาของกรุงเทพมหานคร ไม่รวมลานกีฬาที่อยู่ในพื้นที่สวนสาธารณะ เนื่องจากลานกีฬาเหล่านั้นถูกนับเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ
ดูข้อมูลได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-sport-ground-2024
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ