คาดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตลอดปี 2567 อยู่ที่ 16.22 สตางค์ต่อหน่วย

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 พ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 5091 ครั้ง

คาดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตลอดปี 2567 อยู่ที่ 16.22 สตางค์ต่อหน่วย

คาดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตลอดปี 2567 อยู่ที่ 16.22 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่า 31,801 ล้านบาท ที่ประชาชนต้องจ่ายรวมในค่าไฟฟ้า ส่วนงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 ต้นทุนค่าไฟฟ้าพลังงานทดแทนปรับขึ้นเป็น 16.47 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้า 10,716 ล้านบาท เหตุจากมาตรการให้เงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) และเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอดีต ทาง กกพ. ย้ำไม่ได้เกิดจากการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวแน่นอน ชี้ค่า Adder จะทยอยหมดปี 2570

ช่วงเดือน พ.ย. 2567 Energy News Center รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ผูกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้างวดล่าสุดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 ที่จะถึงนี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่าจากมาตรการให้เงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) และเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอดีต ยังคงส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2567 คิดเป็น 16.47 สตางค์ต่อหน่วย หรือรวมเป็น 10,716 ล้านบาท ที่ประชาชนต้องจ่ายรวมในค่าไฟฟ้าด้วย

ทั้งนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 ดังกล่าว สูงขึ้นกว่างวดปัจจุบันในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2567 ที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 16.62 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 10,020 ล้านบาท

โดยยืนยันว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าดังกล่าวไม่ได้มาจากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟสแรกที่ผ่านมากว่า 4,800 เมกะวัตต์ ในปี 2566 เนื่องจากภาครัฐได้กำหนดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวในอัตราที่ต่ำประมาณ 2 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นกลุ่มเฉพาะที่ซื้อไฟฟ้าสีเขียวตามอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว (UGT) สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและผู้ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งมีอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าราคาทั่วไป และไม่ได้คิดรวมในค่าไฟฟ้าของประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้การรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 1 และเฟส 2 รวมทั้งสิ้นกว่า 7,000 เมกะวัตต์ นับเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณไฟฟ้าทั้งประเทศที่ 5.5 หมื่นเมกะวัตต์ จึงไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนสูงขึ้น แต่เกิดจากการรับซื้อไฟฟ้าในอดีตของระบบ Adder และ FiT โดยคาดว่าระบบ Adder จะหมดลงในปี 2570

สำหรับต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตลอดปี 2567 นี้คาดว่าจะอยู่ที่ 16.22 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นเงินที่ประชาชนต้องร่วมกันจ่ายอยู่ที่ 31,801 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่มีต้นทุนอยู่ที่ 18.19 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 35,457 ล้านบาท และเมื่อย้อนดูสถิตินับตั้งแต่มีการคิดค่าไฟฟ้าฐานปี 2558 จะพบว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่แพงที่สุด อยู่ที่ปี 2564 โดยมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 30.87 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงินรวม 54,065 ล้านบาท ที่ประชาชนต้องร่วมกันจ่ายรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า

ส่วนค่าไฟฟ้าหลักงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 กกพ. กำลังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากประชาชน 3 แนวทาง ซึ่งแปรผันตามการชำระหนี้คืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คือ 1. ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) 170.71 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.49 บาทต่อหน่วย 2. ค่า Ft 147.53 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.26 บาทต่อหน่วย และ 3. ค่า Ft 39.72 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดย กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นระหว่าง 8-22 พ.ย. 2567 ก่อนจะสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า สัญญา Adder หรือ “เงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” เริ่มทำมาตั้งแต่ประมาณปี 2550 และเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบมาตั้งแต่ปี 2554 มีอายุสัญญาประมาณ 10 ปี ซึ่งกำหนดให้ราคา Adder อยู่ที่ 8 บาทต่อหน่วย และลดลงเหลือ 6.50 บาทต่อหน่วยในภายหลัง โดยผู้ผลิตไฟฟ้าจะได้ค่าไฟฟ้าแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1. ค่าไฟฟ้าขายส่ง ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง 2. ค่า Adder ที่ 8 หรือ 6.50 บาทต่อหน่วย ซึ่ง Adder โครงการสุดท้ายที่เข้าระบบจะสิ้นสุดลงในปี 2570

ดังนั้น เพราะว่า Adder ที่ทยอยหมดอายุลงจึงส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนลดลงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าที่ได้ Adder ยังคงมีสัญญาผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง แม้สัญญา Adder จะหมดลง แต่จะได้รับเฉพาะเงินจากราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว (ค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีเก่า จะมีต้นทุนแพงกว่าโรงไฟฟ้าใหม่)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: