เวทีระดมแนวทางส่งเสริมธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน (NAP on BHR) ระยะที่ 2

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 32278 ครั้ง

เวทีระดมแนวทางส่งเสริมธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน (NAP on BHR) ระยะที่ 2

พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จัดเวทีระดมแนวทางส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ภายใต้แผน NAP on BHR ระยะที่ 2 ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ เน้นย้ำถึงการสร้างรูปธรรม รูปแบบความคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ที่ทำได้จริงและก่อให้เกิดการบังคับใช้ไม่ใช่แค่ภาครัฐแต่รวมถึงภาคธุรกิจด้วย

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2567 ณ โรงแรมไอบิส สไตล์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับองค์กรภาคี ได้แก่ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) และ Solidarity Center ได้จัดเวทีสัมมนาว่าด้วยแนวทางส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ด้านแรงงานภายใต้แผนปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (NAP on BHR) ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอความสำคัญและสร้างความเข้าใจของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) สร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องด้านงานคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการ แรงงาน และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการแสวงหาการทำงานร่วมกัน และเพื่อระดมความคิดเห็นที่สามารถนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอในการส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน

เปิดเวทีสัมมนา ‘แนวทางส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ด้านแรงงานภายใต้แผนปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (NAP on BHR)’

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยณรงค์ เหลืองวิลัย คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงานต้อนรับผู้เข้าร่วมโดยเน้นย้ำว่าในฐานะฝ่ายวิชาการนั้น ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และทำงานในประเด็นเรื่องนี้กับเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาควิชาการ มาอย่างยาวนาน รวมถึงประเด็น Business and Human Rights ด้วย อาทิเช่น คณะได้ร่วมจัดงานเพื่อติดตามความคืบหน้าของ NAP 1 และมีข้อเสนอบางส่วนเพื่อการพัฒนา NAP 2 มีงานวิจัยศึกษาในประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงมีการศึกษาและติดตามประเด็นการลงทุนข้ามพรมแดน สำหรับงานวันนี้ ทางคณะนิติศาสตร์, Solidarity Center และ มสพ. ต้องขอขอบพระคุณผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้แทนจากกรรมการนโยบายเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ผู้แทนจากจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนภาคเอกชน/สภาหอการค้า ผู้แทนแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ โดยหวังว่าเวทีนี้จะเป็นการเริ่มต้นของการทำความเข้าใจ หลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงแผนปฏิบัติการระดับชาติ การพิจารณาถึงข้อท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในด้านแรงงาน และแสวงหาแนวทางร่วมกันในการก้าวข้ามข้อจำกัด ข้อท้ายต่างๆ ต่อไป

เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) กล่าวต้อนรับงานประชุมโดยเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจเรื่องหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนรวมถึงแผนปฏิบัติการระดับชาติ โดยองค์การสหประชาชาติ ได้ออกหลักการชี้แนะด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน UN Guiding Principle on Business and Human Rights (UNGPs) เพื่อให้ประเทศสมาชิก ไปปรับใช้และดำเนินการเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจทั้งห่วงโซ่ และประเทศไทยได้รับหลักการดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งได้นำหลักการชี้แนะฯ กรอบในการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plans หรือ NAP) ระยะที่ 1 ในปี 2562-2565) ซึ่งปัจจุบันได้มีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ (พ.ศ.2566-2570 ระยะที่สอง ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ 4 ด้าน (LEDI) 1.ด้านแรงงาน (Labour) 2.ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Environment) 3.ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน(Defender) และ 4.ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ (investment) เพื่อให้เกิดการคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินกิจการของภาคธุรกิจ รวมถึงป้องกันบรรเทา หรือ แก้ไขปัญหาหรือผลกระทบเชิงลบอันเกิดจากการประกอบธุรกิจ

และสำหรับพื้นที่ภาคเหนือ สืบเนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 31 ม.ค.2566 ได้ประกาศให้ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลําพูน และ จ.ลำปาง เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ Northern Economic Corridor: NEC-Creative LANNA ที่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดิจิทัล ท่องเที่ยว ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เกษตรและอาหาร โดยมีแนวคิดว่าจะ นำแนวคิด BCG Model :เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มาเป็นกรอบของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้มีการกระจายความมั่งคั่งจากศูนย์กลางสู่ภูมิภาค แต่สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นของฝั่งด้านแรงงานในภาคเหนือส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานภาคเกษตร แรงงานทำงานบ้าน แรงงานก่อสร้าง จ้างเหมาบริการ ฯลฯ โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ แรงงานต่างชาติ หรือแรงงานชาติพันธุ์ ทำให้แรงงานนอกระบบในส่วนภูมิภาคเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหรือเข้าถึงการคุ้มครองทางกฎหมายขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อแรงงานในภูมิภาคจังหวัดภาคเหนือมีสัดส่วนสูง อันเนื่องจากการได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐกำหนด รวมถึงการใช้สิทธิประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพ จนถึงเรื่องวันหยุดวันลาที่ไม่ชัดเจน เป็นต้น

David John Welsh, ผู้อำนวยการโครงการของ Solidarity Center ประจำประเทศไทย กล่าวว่าการดำเนินเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงปฏิรูปกฎหมายไทยเท่านั้นที่จะทำให้แรงงาน รวมถึงแรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกสหภาพหรือตั้งสหภาพได้ แต่รวมไปถึงการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตการค้าเสรีที่เกี่ยวกับการเจรจาระดับนานาชาติ ฉะนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคแรงงาน ภาคนายจ้าง ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม จนถึงบริษัทข้ามชาติก็มีส่วนในการรับผิดชอบและต้องเคารพด้านสิทธิมนุษยชน

การดำเนินงานของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผ่านกลไกแผน NAP ระยะที่ 2

อานนท์ ยังคุณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบและสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวถึงสาระสำคัญของ NAP ระยะที่ 2 คือ ภาครัฐจะต้องเน้นเรื่องมาตรการการบังคับโดยใช้เครื่องมือออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการต่อส่วนที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของภาคธุรกิจ /รัฐวิสาหกิจ นั้นตอนนี้ยังใช้เป็นมาตรการสมัครใจ โดยภาครัฐคาดหวังให้เพียงภาคธุรกิจดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนและมีความรับผิดชอบ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีหน้าที่ติดตามการดำเนินการ และรายงานว่าภาครัฐว่าได้ดำเนินการตามแผนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่

แนวทางข้อเสนอที่ทางหน่วยงานภาครัฐได้มีให้กับภาคธุรกิจที่จะต้องควรดำเนินการตามกรอบของ NAP ระยะที่ 2 คือ การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบายเกี่ยวกับด้านแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านแรงงาน การจัดหางานที่เป็นธรรมและการขึ้นทะเบียนแรงงาน การคุ้มครองช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน และการฝึกอบรม การขจัดการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิดและการเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ทางแรงงานการดูแลบุตรแรงงานข้ามชาติ การจัดช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงานการส่งเสริมการดำเนินงานของภาคธุรกิจให้เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานต่าง ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบร้องทุกข์ การอำนวยความยุติธรรมผ่านกลไกเยียวยา และกลไกการระงับข้อพิพาท ฉะนั้นกลไกการขับเคลื่อน NAP จะดำเนินโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และดำเนินการผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติฯ ที่เป็นทั้งกลไกระดับประเทศ กลไกลระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ

บุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ผอ.กองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ (กพท.) สภาพัฒน์ กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่นั้น เป็นการส่งเสริมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจที่สูงขึ้น แต่การลงทุนตามเป้าหมายและการได้สิทธิประโยชน์นั้น เงื่อนไขหนึ่งของการได้สิทธิประโยชน์ทางธุรกิจคือการที่ภาคธุรกิจได้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เท่าทันกับอุตสาหกรรมแบบใหม่ในอนาคต โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา อย่างความก้าวหน้าของพื้นที่ในภาคเหนือคือ คือการมีจุดเน้นเรื่อง ‘creative ล้านนา’ หรือ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา แต่ต้องบอกว่าสิ่งนี้เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาความเจริญของกลุ่ม 4 จังหวัดภาคเหนือ มีเป้าหมายเพื่อไม่ให้ความเจริญกระจุกอยู่เพียงกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ซึ่งเป็นการสร้างแนวนโยบายและการขับเคลื่อนส่งเสริม cluster อุตสาหกรรม มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงาน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินการ และให้สิทธิพิเศษต่อผู้ลงทุนธุรกิจที่ทำตามแนวทางของรัฐ ฉะนั้น โครงสร้างกลไกระดับชาติจะต้องประสานเชื่อมรายละเอียดของแผนแต่ละแผน โดยให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแผน NAP ระยะที่ 2 อย่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ ควรดำเนินการเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานและการคุ้มครองด้านแรงงานควบคู่กัน และนอกจากแรวทางข้อเสนอควรมีโครงการที่ขับเคลื่อน ประเมินผล และสามารถกระจายลงไปในพื้นที่ได้ปฏิบัติ

เดชา ยิ่งรักสกุลชัย รองปธ.สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ส่วนภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ยังมีการลงทุนต่อเนื่อง มีความต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก ต้องยอมรับว่าเชียงใหม่ยังเป็นอุตสาหกรรมระดับพื้นที่ฐานที่ต้องใช้แรงงาน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เป็นเป็นแรงงานระดับกลางและระดับล่าง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีความต้องการสูง คือ แรงงานข้ามชาติ โดยทางจังหวัดเชียงใหม่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีทัศนคติเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้ทำงานได้ดีกว่าแรงงานไทย แต่ประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ตนมองว่าการละเมิดสิทธิฯ เกิดจากการที่นายจ้าง และแรงงานเองไม่รู้บทบาทและตระหนักถึงสำนึกรับผิดชอบตามกฎหมาย ตอนนี้เรื่องของคดีความระหว่างนายจ้างและลูกจ้างมีจำนวนมากในชั้นศาลแรงงาน และมองว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นเพียงพอในการแก้ไขปัญหา เพราะมีกระบวนการให้ไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง สิ่งนี้คิดว่าระบบยุติธรรมก็มีช่องทางให้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมายเพียงพอ

“ในแง่ผู้ประกอบการนะครับ เรื่อง Happy Work Place สถานที่ทำงานที่มีความสุขก็คือปลอดภัย ในเรื่องสถานที่ก็ต้องแข็งแรงปลอดภัยสวยงามและในงบประมาณที่เหมาะสม... ผู้ประกอบการปัจจุบันอย่างการจ้างงานแม่บ้าน ภาคธุรกิจก็ก็จ้างผ่านบริษัท ตรงนี้ก็ต้องดูว่าบริษัทนั้นทำตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ ตรวจสอบเอกสารหน่วยงานราชการรับรองให้ครบถ้วน และควรใช้สิ่งนี้ในการพิจารณาการจ้างงานลูกจ้างผ่านบริษัท” เดชา กล่าว

ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างที่เป็นผู้ประกอบการและแรงงาน เดชา กล่าวว่า หากดูในรายละเอียดและพูดอย่างเป็นธรรมต้องมองปัญหาของทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายลูกจ้างต้องพิจารณาตนเองว่าทักษะของตนนั้นเหมาะสมกับงานหรือไม่ หรือมีคุณสมบัติทำงานนั้นหรือไม่ที่จะไม่เป็นภัยหรือเสี่ยงภัยจนเกิดอุบัติเหตเพราะขาดทักษะ ด้านของสถานประกอบการก็ต้องทำตามข้อกำหนดของกฎหมาย เรื่องของภาคธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

“ผมพูดตรงๆว่าผมจัดการตัวเองให้อยู่ภายใต้กฎหมาย สิ่งไหนที่กฎหมายห้ามผมก็ไม่ทำ แล้วถ้าวันนี้ท่านไปสมัครงานคุณก็ถูกพิจารณานะครับว่าคุณสมบัติคุณเข้ากับเขาไหม ถ้าเข้าก็รับไม่เข้าก็ไม่รับ เขาก็มีสิทธิพิจารณาว่าคุณสมบัติของเขาเข้ากับของเราไหม ถ้าไม่เข้าก็ไม่ต้องไปทำมีงานเยอะแยะ ต้องพูดว่าต่างคนต่างเข้าใจและรักษาสิทธิของตัวเองโดยไม่ละเมิดสิทธิของอีกฝั่ง”

เดชา กล่าวว่า อย่างเรื่อง NAP on BHR เป็นเรื่องที่สภาอุตสาหกรรมต้องทำ คนทำภาคธุรกิจจะปฏิเสธการไม่รู้เรื่องสิทธิของแรงงานไม่ควรเกิดขึ้น แม้แรงงานข้ามชาติหรือแรงงานชาติไหนก็ควรปฏิบัติเท่าเทียมกันเพราะเขามาทำงานในประเทศไทย หากมีช่องทางให้รับเรื่องร้องเรียนในสภาอุตสาหกรรมก็จะเห็นว่า องค์กรธุรกิจใดที่มีเรื่องเข้ามาถ้าเป็นสมาชิกก็จะมีการพูดคุย หรือหากไม่ใช่สมาชิกก็ให้ทางหอการค้าทำหน้าที่ชี้ให้ภาคธุรกิจทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย จนนำไม่สู่คู่มือหรือข้อควรปฏิบัติที่ส่งให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ แรงงานเข้าใจแนวทางปฏิบัติที่ควรเป็นด้านธุรกิจด้านสิทธิมนุษยชน

รุ่งทิวา จันทร์ศรี นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กล่าวว่า ข้อท้าทายการจ้างงานจังหวัดเชียงใหม่ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เรื่องประเด็นแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ คือ การที่แรงงานต่างด้าวหนีไปอยู่กับนายจ้างใหม่ทำให้นายจ้างเดิมโดนค่าปรับ การที่แรงงานลูกจ้างที่เป็นคนต่างด้าวเปลี่ยนนายจ้างโดยไม่บอกนายจ้างมีจำนวนมากที่สุด หรือการแอบลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งปัญหาดังกล่าวในส่วนของกรมการจัดหางาน กำลังดำเนินการนำเสอนแนวทางการขึ้นทะเบียนใหม่ให้สถานะแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา โดยเป็นข้อเสนอแนวนโยบายของกระทรวงแรงงาน ปี 2567 ที่เสนอให้มี one stop service และให้ภาคเอกชนมาเป็นผู้ดำเนินการให้การขึ้นทะเบียนจบในที่ที่เดียว ปัญหาค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนที่เปลี่ยนตามมติคณะรัฐมนตรี แนวทางการแก้ไขปัญหาล่าสุดจะมีการกำหนดนโยบายเพื่อให้มีความชัดเจน และต้องมีหลักปฏิบัติ คำนึงถึงการออกกฎหมาย การนำเข้าแรงงานต้องนำเข้าอย่างมีระบบ ถูกต้องตามกฎหมาย และตอบสนองความต้องการแรงงาน ตาม MOU ยุทธศาสตร์การป้องกันและส่งกลับ ไม่ให้มีการแอบซ่อนแรงงานแต่นายจ้างต้องนำมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้ได้

Nan saw yin ประธานสหพันธ์แรงงานข้ามชาติ/ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า กล่าวว่า ความท้าทายของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย ต้องเผชิญกับเรื่องค่าทำเอกสารประจำตัวที่มีราคาสูง ซึ่งนายจ้างไม่อยากดำเนินการให้ การที่นายจ้างไม่รับผิดชอบ ทั้งที่กฎหมายกำหนดทำให้นำไปสู่เรื่องการอยู่อย่างผิดกฎหมาย และการเข้าไม่ถึงสิทธิทางสุขภาพ เช่น ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน แต่ขณะเดียวกันลูกจ้างเหล่านี้ก็ทำงานที่มีความเสี่ยง ซึ่งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ จะทำงานด้านภาคภาคเกษตร ปศุสัตว์ ก่อสร้าง บริการ เมื่อแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงได้ก็ทำให้มีหลายคนที่เมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงานก็ไม่ได้รับการดูแลคุ้มครองและหลายคนก็ต้องอยู่อย่างยากลำบากและผิดกฎหมายอีกด้วยซึ่งในภาคเหนือแรงงานข้ามชาติกว่า ร้อยละ 50 เข้าไม่ถึงสิทธิประกันสุขภาพ นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติยังประสบข้อท้าทายด้านเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสนับสนุนเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วมให้เกิดขึ้นกับแรงงานทุกภาคส่วน

ความท้าทายการดำเนินการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจของไทยและความเกี่ยวข้องกับกลไกกฎหมายธุรกิจในต่างประเทศ

“แรงงานภาคเหนือมีความพิเศษที่ส่วนมากจะเป็นแรงงานข้ามชาติ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกับแรงงานสัญชาติไทยมีสถานะเปราะบางมากกว่า … และการมองเพียงแต่ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมองให้เห็นภาพรวมของห่วงโซ่ธุรกิจ ...นอกจากนี้มาตรการเชิงสมัครใจสำหรับภาคธุรกิจอาจไม่เพียงพอ ขอเสนอให้พิจารณาว่าควรจะมีกฎหมายส่งเสริมให้ภาคธุรกิจต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นอยากให้มีความสำคัญมากขึ้นกับการคุ้มครองแรงงาน” กรกนก กล่าว

กรกนก วัฒนภูมิ ETOs Watch กล่าวว่า พื้นที่เชียงใหม่ภาครัฐอาจต้องเริ่มต้นจากว่าห่วงโซ่อุปทานในเชียงใหม่เป็นอย่างไร โดยกำหนดประเภทกิจการในภาคธุรกิจขึ้นมาศึกษา เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจการเกษตร เพราะแต่ละประเภทกิจการมีความแตกต่างกัน เมื่อมีภาพของห่วงโซ่ธุรกิจในพื้นที่ภาคเหนือชัดเจน ก็จะมองเห็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่าง ภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน

ในส่วนของการคุ้มครองและเยียวยา มีกลไกที่เกี่ยวข้องหลากหลาย เช่น สถาบันการเงิน มีเกณฑ์ในการปล่อยกู้ที่พิจารณาถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือกลไกของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต ที่กำหนดให้ผู้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเขียนรายงาน 56-1 One report เพื่อสะท้อนว่าห่วงโซ่คุณค่า ห่วงโซ่ทางธุรกิจของตนสอดคล้องกับหลัก ESG (สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance :ESG) ฯลฯ และหากเราทราบว่ามีใครที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่นี้ก็จะสามารเรียกร้องแสวงหาการคุ้มครองและเยียวยาให้เกิดขึ้นได้จริง

อย่างไรก็ดี มาตรการต่างๆ ที่มีต่อภาคธุรกิจ ยังเป็นมาตรการในเชิงสมัครใจ ดังนั้น กรกนก มีข้อเสนอว่า จะต้องยกระดับแผน NAP โดยกำหนดตัวชี้วัดว่าภาคธุรกิจได้ดำเนินการในเรื่องใดแล้วบ้าง และที่สำคัญคือการปรับจากมาตรการสมัครใจ เป็นมาตรการในเชิงกฎหมาย โดยหน่วยงานรัฐจะต้องพิจารณาถึงการจัดทำกฎหมายระดับพระราชบัญญัติต่อไป ซึ่งเป็นทิศทางที่ประเทศไทยต้องเดินไป ดังจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศมีการขยับไปมากแล้ว

“สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุด คือ กฎหมายของสหภาพยุโรป (EU) ที่ผ่านจากสภาฯในยุโรปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อว่า CSDDD ซึ่งประเทศในสหภาพยุโรปทุกประเทศจะอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ เพราะฉะนั้นใครที่ทำการค้ากับ EU ก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้” กรกนก กล่าว

กรกนก ได้ยกตัวอย่างกลไกต่างประเทศ อย่างกรณีประเทศอังกฤษ ประเทศออสเตรเลีย และรัฐแคลิฟอร์เนีย มีกฎหมายภายในประเทศ ชื่อ ‘Modern Slavery Act’ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานทาสสมัยใหม่ และยังมีอีกหลายประเทศทีมีกฎหมาย ‘Human Rights Due Diligence (HRDD)’ หรือ ‘การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน’ อย่างประเทศเยอรมัน เรียกว่า ‘Supply Chain DD Act’ ถ้าเราทำธุรกิจกับประเทศเยอรมันก็จะเกี่ยวข้องทันที และประเทศนอรเวย์ จะเน้นเรื่อง ‘การทำงานอย่างมีคุณค่า’(decent work) และประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรก ‘Duty of vigilance’ ที่บังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องทำแผน HRDD โดยหากไม่ปฏิบัติตามก็สามารถฟ้องศาลฝรั่งเศสได้ และล่าสุดสหภาพยุโรปได้ประกาศว่าจะมี Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD)

นอกจากนี้ยังมีองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกและจะต้องดำเนินการตามแนวทางชี้แนะที่ชื่อว่า ‘OECD : Guidelines for Multinational Enterprises on Responsible Business Conduct’ ซึ่งข้อดีคือเมื่อบริษัทไม่ว่าจะดำเนินธุรกิจไม่ว่าที่ใดในโลก ถ้าไม่ทำตามผู้ที่ได้รับผลกระทบมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อ ‘National Contact Points’ แต่ไม่ใช่สภาพบังคับแต่จะต้องมีการเจรจาปัญหาต่อโครงสร้างนี้ซึ่งมีการถกเถียงว่ายังเป็นจุดอ่อนของกลไก ในประเทศไทยเองนั้นทางกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้ทำรายงานเรื่องนี้แล้ว และออกแบบ National Contact Points ของประเทศไทยว่าควรเป็นแบบใด ฉะนั้น การทบทวนเงื่อนไขการดำเนินการด้านธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นกรอบการดำเนินงานให้เห็นว่าประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกอย่างไรและทำไมต้องปฏิบัติเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อาคม สุวรรณกันธา รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ข้อเสนอ 5 ข้อจากภาคเอกชน

1. ‘ยุทธศาสตร์ไทยใหม่’ ที่มีแนวปฏิบัติกับแรงงานต่างชาติ หรือผู้อพยพเดินทางเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทยให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิและถูกต้องตามกฎหมาย โดยเชื่อว่าหากภาครัฐสามารถตรวจสอบตรวจวัดมีข้อมูลคนเข้าเมืองอย่างแม่นยำ จะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แรงงานเหล่างนี้เมื่อได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมาย (permanent resident) ก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒมนาประเทศและคืนภาษีเงินได้ให้ภาครัฐบาล

2. ระบบ one stop service ต้องแม่นยำและประมวลผลสำเร็จ สามารถมีฐานข้อมูล big data ของรัฐที่ติดตามจำนวนประชากรข้ามชาติได้

3. กองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน ต้องแยกให้ชัดระหว่างเงื่อนไขของแรงงานคนไทยและคนต่างชาติ ให้ออกแบบให้เหมาะสม

4. การแก้ไขจุดอ่อนของแรงงานที่ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรี และ ในรูปแบบการนำเข้าแบบMOU ต้องแก้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ระบบปัจจุบันเอื้อให้แรงงานข้ามชาติต้องพึ่งพิงนายหน้าและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

5. การเคารพแรงงานทุกคนในฐานะที่เป็นเป็นคนทำงานเหมือนกันโดยไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งต้องสร้างการเรียนรู้ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้เคารพซึ่งกันและกัน ต้องมีความรู้สึกว่าคนเหล่านี้เข้ามาทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านระเบียงเศรษฐกิจของไทย

“การสร้างความตระหนัก การให้ความรู้ หรือรับฟังข้อเสนอจากภาคแรงงานยังไม่มีใครจัดเลย ทำอย่างไรให้แรงงานรู้จักสิทธิมนุษยชนและเข้าใจมากขึ้นเพราะจริงๆเรามีการขับเคลื่อนเรื่องการให้ sex worker อยู่ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนและเขียนเพียงว่ากลุ่มเปราะบาง การจ้างงานของสถานที่ราชการนิยมใช้ Sub Contract มันเป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ฉะนั้นทำยังไงให้แผน NAP ระยะที่ 2 สามารถบังคับใช้ให้รัฐเลิกใช้การจ้างงาน Sub Contract เพราะคุณส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ศุกาญจน์ตา กล่าว

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) กล่าวถึง ความคาดหวังต่อรูปธรรมในระยะ 2 ของแผน NAP ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน ฉะนั้นจึงมองว่าธุรกิจกับการเคารพด้านสิทธิมนุษยชนยังมีความเลือนลางในการปฏิบัติจริง ในฐานะแรงงานตั้งข้อสังเกตว่าการพูดเรื่องนี้เน้นที่ภาคธุรกิจมากกว่าภาคแรงงาน ไม่มีการส่งเสริมหรือพูดคุยกับกลุ่มแรงงานทั้งที่เกี่ยวข้องกับแผนดังกล่าว และไม่มีโครงสร้างที่นำผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงสร้างการปฏิบัติ ฉะนั้น รูปธรรมสำคัญของ NAP-2 คือ รัฐต้องทำเป็นภาคีอนุสัญญา ILO 87,98 ที่ให้แรงงานสามารถรวมกลุ่มและจัดตั้งเพื่อเป็นพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องนี้ได้ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง พอกล่าวถึงเรื่องนี้ก็จะเห็นว่าทางสภาความมั่นคงแห่งชาติยังมองเรื่องความมั่นคงเป็นหลักมากกว่าเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เรามีแรงงานข้ามชาติในเชียงใหม่เกือบแสนคน และปัญหาที่เกิดขึ้น คือ แรงงานที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนยังคงถูกเลือกปฏิบัติ จำกัดเสรีภาพในการเดินทางได้ หากมองเรื่องของกลไกคุ้มครองหลักการธุรกิจบทบาทการเยียวยา ไทยมีกฎหมายหลายฉับบที่เยียวยาดี เช่น กองทุนเงินทดแทน ประกันสังคม แต่การเข้าถึงสิทธิยากและมีปัญหาเยอะมาก เช่น การแจ้งเกิด หรือการรับสิทธิประโยชน์ค่าเลี้ยงดูบุตร ไม่รวมไปถึงเรื่องอื่นๆที่แม้แรงงานที่มีสิทธิก็ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างง่าย ฉะนั้นมองว่า NAP-2 จะเกิดขึ้นได้จริงรัฐจะต้องเห็นด้วยว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องรู้เท่ากันก่อนทั้งลูกจ้างและนายจ้าง และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: