สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า เสน่ห์ของชาที่มัดใจใครหลาย ๆ คนให้หลงใหล คงหนีไม่พ้นเรื่องของรสชาติกับกลิ่นหอมที่ดึงดูดใจ และรวมไปถึงสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สีสันสวยงามของชาที่เราดื่มนั้นเป็นสีจากธรรมชาติหรือมาจากการเติมแต่งเข้าไป วันนี้ อย. ชวนมาหาคำตอบในบทความนี้กัน
ชา หมายถึง ใบ ยอด และก้าน ที่ยังอ่อนอยู่ของต้นชาในสกุล Camellia ที่ทำให้แห้งแล้ว ส่วนชาปรุงสำเร็จ จะหมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากชา หรือชาผงสำเร็จรูป (instant tea) มาปรุงแต่งกลิ่นรส ในลักษณะพร้อมบริโภคและบรรจุในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ไม่ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นชนิดเหลวหรือแห้ง เช่น ชาไทยปรุงสำเร็จ ชาเขียวปรุงสำเร็จ จะจัดอยู่ในหมวดอาหาร“เครื่องดื่มแต่งกลิ่นรสเข้มข้นหรือแห้ง” โดยหมวดอาหารกลุ่มนี้อนุญาตให้ใช้วัตถุเจือปนอาหาร (สี) ได้ แต่การใช้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ปริมาณวัตถุเจือปนอาหาร (สี) ที่อนุญาตให้ใช้
- กรณีใช้สีใดสีหนึ่ง อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 100 ppm
- กรณีใช้หลายสีผสมกัน ผลรวมของสีต้องไม่เกิน 100 ppm
โดยคำนวณในสภาพพร้อมบริโภค ซึ่งปริมาณที่อนุญาตให้ใช้มีความปลอดภัย และสอดคล้องกับสากล (CODEX)
ตัวอย่างวัตถุเจือปนอาหาร (สี) เช่น
- SUNSET YELLOW FCF (ซันเซตเยลโลว์เอฟซีเอฟ) (INS 110)
- TARTRAZINE (ตาร์ตราซีน) (INS 102)
- BRILLIANT BLUE FCF (บริลเลียนต์ บลู เอฟซีเอฟ) (INS 133)
แต่สำหรับอาหารที่มีลักษณะเป็นผง หรือใบ และมีสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของผลิตภัณฑ์เอง เช่น ชา ชาสมุนไพรชนิดชงดื่ม (Herbal infusion) จะเป็นหมวดอาหารที่ไม่อนุญาตให้ใช้วัตถุเจือปนอาหาร (สี) ยกเว้นสีในกลุ่มคาราเมล
ข้อแนะนำการเลือกชาปรุงสำเร็จในภาชนะบรรจุ
- ให้เลือกที่มีเลข อย.
- อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ กรณีที่มีการใช้สีจะแสดงคำว่า “สีสังเคราะห์ หรือสีธรรมชาติ (INS…หรือ ชื่อของสี)
- สังเกตสีเครื่องดื่ม ซึ่งเมื่อชงพร้อมดื่มแล้ว มีสีตามธรรมชาติ หรือที่มีสีไม่เข้มฉูดฉาด
- เลือกเครื่องดื่มที่หลากหลายเพื่อลดการได้รับสีผสมอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ
ข้อมูลอ้างอิง
ชาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาโดยเทคโนโลยีการผลิต
ฐานข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive Database)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ