ผลการศึกษาชี้อาหารที่มุ่งขายเด็กเล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปริมาณน้ำตาลและเกลือสูง

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 6882 ครั้ง


ผลการศึกษาใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย โดยยูนิเซฟและพันธมิตร Consortium for Improving Complementary Foods in Southeast Asia (COMMIT) ชี้ร้อยละ 72 ของอาหารทานเล่นและของขบเคี้ยวที่เน้นขายเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี มีการเติมน้ำตาลและสารให้ความหวาน | ที่มาภาพ: UNICEF/UNI484509/Raab

เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2566 มีการเปิดเผยผลการศึกษาชิ้นใหม่ซึ่งสนับสนุนโดยยูนิเซฟและพันธมิตร Consortium for Improving Complementary Foods in Southeast Asia (COMMIT) ชี้ว่าอาหารสำเร็จรูปที่มุ่งทำการตลาดกับเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 3 ปีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีปริมาณน้ำตาลและเกลือสูง และยังติดฉลากที่อาจจะสร้างความเข้าใจผิดและหลอกลวง อีกทั้งยังขาดระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดในขั้นตอนการผลิตและจำหน่าย

การศึกษาชิ้นนี้ทำการประเมินอาหารสำเร็จรูปสำหรับเด็กมากกว่า 1,600 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น อาหารเสริมจากธัญพืชสำหรับทารก อาหารบดในรูปแบบขวดและซอง ของขบเคี้ยว และอาหารพร้อมรับประทานที่มุ่งเป้าไปยังเด็กเล็กใน 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนระเบียบข้อบังคับในทั้ง 7 ประเทศดังกล่าว

การศึกษาพบว่าเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 44) ของอาหารสำเร็จรูปมีการเติมน้ำตาลและสารให้ความหวาน และอัตรานี้สูงถึงร้อยละ 72 ในกลุ่มของขบเคี้ยวและอาหารทานเล่น ในขณะที่กว่า 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีปริมาณโซเดียมสูงกว่าที่แนะนำ นอกจากนี้ เกือบร้อยละ 90 ของอาหารเหล่านี้ติดฉลากที่อาจสร้างความเข้าใจผิดหรือหลอกลวงเกี่ยวกับส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์

เดอเบอรา โคมินี่ ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า “มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่เน้นขายให้กับเด็กเล็กมากเกินไป อีกทั้งยังติดฉลากที่อาจหลอกลวงหรือสร้างความเข้าใจผิดให้กับพ่อแม่ ซึ่งเด็ก ๆ และพ่อแม่ควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้”

ปัจจุบัน เด็กเล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำเร็จรูปเป็นประจำ โดยร้อยละ 79 ของแม่ที่อาศัยอยู่ในเมืองให้ลูกกินอาหารเหล่านี้ทุกวัน และยอดขายของอาหารเหล่านี้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ในด้านของข้อบังคับ การศึกษาระบุว่าทั้ง 7 ประเทศไม่มีนโยบายควบคุมส่วนประกอบและการติดฉลากอาหารดังกล่าวตามคำแนะนำสากล หลายประเทศไม่มีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมปริมาณน้ำตาลและเกลือ ในขณะที่บางประเทศมีการควบคุมปริมาณน้ำตาลหรือเกลือในอาหารบางหมวดหมู่เท่านั้น เช่น อาหารเสริมจากธัญพืชหรือของขบเคี้ยว แต่ปริมาณสูงสุดที่กำหนดก็ยังสูงกว่ามาตรฐานสากล ทั้งนี้ การบริโภคน้ำตาลตั้งแต่ยังเด็กอาจทำให้เกิดฟันผุ น้ำหนักเพิ่ม และนิสัยการกินที่ไม่ดี ในขณะที่การบริโภคโซเดียมในปริมาณสูงอาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ ยังพบการกล่าวอ้างบนฉลากผลิตภัณฑ์อย่างแพร่หลาย โดยร้อยละ 90 มีการระบุส่วนประกอบและปริมาณสารอาหาร ซึ่งมักพบข้อความ เช่น “จากธรรมชาติทั้งหมด”, “แหล่งวิตามินที่ดี” และ “ไม่มีส่วนผสมสังเคราะห์” ในผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาล เกลือ และไขมันสูง นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และลาวส่วนใหญ่มีแต่ฉลากภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อพ่อแม่ในการเลือกซื้ออาหารที่เหมาะสมสำหรับลูก

โคมินี่กล่าวเสริมว่า “รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ และผู้ผลิตอาหารต้องร่วมกันหันมาปกป้องสุขภาพของเด็กเล็ก เพราะโภชนาการที่ดีในขวบปีแรกจะช่วยให้เด็กเติบโตอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างครอบครัวให้แข็งแกร่ง ส่งเสริมแรงงานที่มีประสิทธิภาพและเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ในทางกลับกัน โภชนาการที่แย่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเตี้ยแคระแกร็น การขาดสารอาหาร น้ำหนักเกิน โรคอ้วน และโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลรุนแรงต่อเด็กและครอบครัว และระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจในท้ายที่สุด”

ยูนิเซฟ และ COMMIT มีข้อเรียกร้องดังนี้:

- ปรับปรุงนโยบายและมาตรฐานอาหารสำเร็จรูปสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งรวมถึง การห้ามเติมน้ำตาลและสารให้ความหวาน จำกัดปริมาณโซเดียม และห้ามทำการตลาดหรือติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่สร้างความเข้าใจผิด
- รัฐต้องเฝ้าระวัง และบังคับใช้ข้อบังคับกับอาหารสำเร็จรูปสำหรับทารกและเด็กเล็ก
- ส่งเสริมให้พ่อแม่เลือกอาหารที่หลากหลายให้กับลูกน้อย รู้เท่าทันโฆษณาชวนเชื่อ และศึกษาฉลากผลิตภัณฑ์

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: