‘บึงห้วยโจด’ เมื่อแหล่งน้ำธรรมชาติกลายเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย

ตติยา ตราชู รายงาน/ถ่ายภาพ 22 ก.ค. 2567 | อ่านแล้ว 8323 ครั้ง

 

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

  • บึงห้วยโจด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะกว่า 600 ไร่ ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ในอดีตเคยเป็นแหล่งหาปลาของชาวบ้านและแหล่งน้ำสำหรับเพาะปลูก ได้กลายเป็นที่ทิ้งน้ำบำบัดจากโรงงาน ก่อนที่จะระบายลงแม่น้ำพองอีกทีหนึ่ง ในช่วงปี 2535-2541 เคยเกิดมลพิษน้ำเสียจนทำให้ปลาตาย หน่วยงานราชการต้องสั่งปิดโรงงานเพื่อให้แก้ไขหลายครั้งก่อนกลับมาเปิดโรงงานใหม่ และปัญหาคุณภาพน้ำกลายเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังในพื้นที่มาถึง 37 ปีแล้ว
  • ขณะเดียวกันบึงห้วยโจด ยังอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเทศบาลตำบลกุดน้ำใส ไม่ใช่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
  • เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเทศบาลตำบลกุดน้ำใสจึงทำได้เพียงเฝ้าระวัง และตรวจสอบอาคารสถานประกอบการให้เป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังไม่ให้ดินตะกอนใต้บึงห้วยโจดที่มีปริมาณสารเคมีตกค้างปนเปื้อน ฟุ้งกระจายออกสู่ลำน้ำพอง จนก่อปัญหามลพิษทางน้ำ #ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ

“คุณ (โรงงาน) โชคดีนะ ที่มาอยู่ตรงนี้ เพราะคุณมีบ่อพักน้ำเสียโดยธรรมชาติรองรับไว้แล้ว ก่อนที่จะลงแม่น้ำพอง…เพราะเขาเอา(น้ำเสีย) ไปใช้ในพื้นที่โปรเจ็กกรีน คือเอาธรรมชาติไปบำบัด” ภราดร ศรีโพธิ์ นายกสมาคมรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำพองเพื่อคุณภาพชีวิต กล่าวอย่างรวบยอดเพื่ออธิบายถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ ฟินิคซ์ ในจังหวัดขอนแก่น 

ข้อความที่ฟังดูเหมือนการประชดประชันเช่นนี้บอกให้รู้ว่า บึงห้วยโจด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะตั้งอยู่ที่ ตำบล กุดน้ำใส อำเภอ น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ ที่ในอดีตเคยเป็นแหล่งหาปลาของชาวบ้าน และแหล่งน้ำสำหรับเพาะปลูก ได้กลายเป็นที่ทิ้งน้ำจากระบบบำบัดของโรงงาน ก่อนที่จะระบายลงแม่น้ำพองอีกทีหนึ่ง จนกลายเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานานนับถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลาถึง 37 ปีแล้ว

โรงงานผลิตเยื่อกระดาษของบริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,065 ไร่ในเขตตำบาลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นในเขตอำเภอน้ำพองเมื่อปี 2518 ทำการก่อสร้างตัวโรงงานจนสามารถเดินเครื่องทำการผลิตได้ในปี 2525 แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 4 ปี เริ่มพบปัญหาสิ่งแวดล้อมเมื่อแม่น้ำเกิดเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น สัตว์น้ำล้มตายเป็นเบือ

สาคร ประสา ชาวบ้านห้วยโจด

สาคร ประสา ชาวบ้านห้วยโจดเล่าว่าเมื่อครั้งชาวบ้านยังใช้น้ำจากบึงเพื่อทำนา คุณภาพน้ำยังพอหาปลาได้ จนเมื่อโรงงานปล่อยน้ำทิ้งที่บำบัดแล้วมาที่บึงห้วยโจด “น้ำมีกลิ่นแรง ซึ่งเขาได้รับอนุญาต มีเครื่องมือวัดค่าคุณภาพน้ำติดตั้งตรงสะพาน”

“พ่อแม่เคยหาปลาในบึงโจด เดี๋ยวนี้ไม่ทำแล้ว เพราะมีผักตบชวาเยอะกว่าเดิมและน้ำไม่ดี เกิดจากการทับถมของผักตบชวาและโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงมา” วรากร เสาศิริ ชาวบ้านบ้านห้วยโจดอีกคนหนึ่งเล่า

เครื่องวัดคุณภาพน้ำตั้งอยู่บริเวณริมบึงห้วยโจด แสดงค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) และปริมาณค่าออกซิเจนที่ละลายน้ำ (ตติยา ตราชู/ถ่ายภาพ)

โรงงานที่ถูกปิดถึง 3 ครั้งยังอยู่ได้

โรงงานผลิตเยื่อกระดาษของบริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด น่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมบ่อยครั้งแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับแต่เริ่มการผลิตเมื่อเกือบ 4 ทศวรรษก่อน

โรงงานแห่งนี้ถูกสั่งปิดครั้งแรกในเดือน เมษายน 2535 เนื่องจากขยายกำลังผลิตจนไม่สามารถบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ทำให้น้ำมีค่ามลพิษสูง ครั้งที่สองในเดือนพฤษภาคมปีถัดมาต้องหยุดการผลิตเพื่อปรับปรุงระบบน้ำเสียหลังจากที่ละเมิดการปล่อยน้ำเสียตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้ปลาตายตั้งแต่บึงโจดจนถึงฝายชลประทานหนองหวายยาวถึง 15 กม.
ครั้งที่ 3 ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2541 - มกราคม 2542 ถูกสั่งปิดเนื่องจากตรวจพบความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปล่อยน้ำเสียซึ่งทำความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังอย่างมาก และที่สำคัญคือโปรเจ็กกรีน ซึ่งเป็นการใช้แปลงปลูกยูคาลิปตัสเป็นที่รองรับน้ำเสียจากโรงงาน ที่เคยใช้เป็นข้ออ้างว่าจะสามารถแก้ปัญหาน้ำเสียได้จนทางการยอมให้โรงงานฟินิคซขยายกำลังการผลิตเป็น 200,000 ตันต่อปี กลับสร้างปัญหาเสียเอง

ภราดร ศรีโพธิ์ นายกสมาคมรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำพองเพื่อคุณภาพชีวิต กล่าวว่าเหตุผลสำคัญที่สุดในการสั่งปิดโรงงานครั้งที่ 3 นั้นเนื่องมาจากโครงการโปรเจ็กกรีนซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยแก้ไขปัญหาแต่สุดท้ายน้ำจากโปรเจ็กกรีนนั่นเองได้ไหลซึมออกมาสู่ลำน้ำพองจนน้ำเสีย

แต่ใช่ว่าการสั่งปิดโรงงานถึง 3 ครั้งแล้วจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะหลังจากนั้นประชาชนในท้องถิ่นยังคงรวมตัวกันร้องเรียนต่อกระทรวงอุตสาหกรรมอีกบ่อยๆ เช่น ในปี 2544 ชาวบ้านจากอำเภอน้ำพองต้องเดินทางเข้าไปประท้วงที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้ทางการยกเลิกโครงการโปรเจ็กกรีนเสีย เพราะยังปรากฏว่ายังมีน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร และปลาที่เลี้ยงในกระชังตาย ได้รับความเสียหาย

ตำนานการปิดโรงงานฟินิคซ

  • 27 เมษายน 2535 ศักดา อ้อพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มีคำสั่งปิดโรงงานเยื่อกระดาษฟินิคซ เป็นเวลา 60 วันอันเนื่องมาจากการขยายกำลังการผลิตให้ได้ถึง 100,000 ตันต่อปี ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียไม่สามารถรองรับได้ตามมาตรฐานที่กำหนด น้ำทิ้งมีปริมาณมากและมีความสกปรกสูง เป็นเหตุให้น้ำในบึงโจด ห้วยโจด และ แม่น้ำพองเน่าเสีย จนไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้
  • 29 พฤษภาคม 2535 ปลอดประสพ สุรัสวดี แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทฟินิคซ ในข้อหาปล่อยวัตถุมีพิษลงในแหล่งจับสัตว์น้ำ และ ทำการเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำ ศาลมีคำพิพากษาในวันที่ 26 เมษายน 2536 สั่งปรับบริษัท 20,000 บาท แต่เนื่องจากรับสารภาพจึงลดให้กึ่งหนึ่งเหลือ 10,000 บาท
  • 24 พฤษภาคม 2536 ปิดโรงงานฟินิคซอีกเป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เคยให้ไว้ หลังจากประชาชนในท้องถิ่นพบปลาตายในแม่น้ำพองตั้งแต่บึงโจดลงไปจนถึงหน้าฝายชลประทานหนองหวาย เป็นระยะทางยาวถึง 15 กิโลเมตร น้ำในแม่น้ำเน่าเสีย ขุ่น มีตะกอนขุ่นขาว เฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าฝายพบว่ามีปลาตายเป็นจำนวนมากถึง 3 ตัน
  • 24 มิถุนายน 2536 กรมโรงงานอุตสาหกรรม อนุญาตให้เปิดโรงงานฟินิคซอีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขให้นำน้ำทิ้ง 25 เปอร์เซ็นต์มาใช้ในการเกษตรด้วยการนำไปรดต้นยูคาลิปตัส เพื่อลดปริมาณน้ำทิ้งลงในห้วยโจด
  • 27 กรกฎาคม 2541 กรมโรงงานอุตสาหกรรม สั่งปิดโรงงานฟินิคซ (โรงที่ 1) อีกครั้งหนึ่งเป็นเวลา 180 วัน หลังจากพบว่า ปลาที่เลี้ยงในกระชังตายเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้เกษตรกรคิดเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท เพราะสาเหตุสำคัญคือ น้ำเสียจากโครงการซึมลงแม่น้ำพอง มีน้ำเสียจากบ่อเก็บกากของเสียไม้ไผ่ และปรากฏว่ามียาฆ่าแมลงที่ใช้กับกองวัตถุดิบถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
  • 29 กรกฎาคม 2541 บริษัทฟินิคซปิดโรงงานแห่งที่สอง หยุดรับซื้อไม้จากเกษตรกรเพื่อเป็นการตอบโต้คำสั่งปิดโรงงานแห่งแรก
  • 31 สิงหาคม 2541 กรมโรงงานอุตสาหกรรมยอมให้โรงงานฟินิคซ เปิดดำเนินการอีกครั้ง

ผู้บริหารบริษัท ฟินิคซ ได้ยืนยันต่อสาธารณะเรื่อยมาว่า โรงงานของบริษัทในจังหวัดขอนแก่น หยุดปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติตั้งแต่ ปี 2540 คุณภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป หรือ แม้แต่ปลาที่เลี้ยงในกระชังตายไม่เกี่ยวข้องกับทางโรงงาน ขณะที่ในการชี้แจงกับสื่อมวลชนในเดือนมกราคม 2557 ตัวแทนฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ยืนยันว่าจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากกระบวนการผลิตอย่างเร่งด่วน โดยคำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รวมทั้งหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ส่วนภาครัฐนั้น มีรายงานข่าวว่า ได้เข้าตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของบริษัทตามกำหนดระยะเวลา เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 (ขอนแก่น) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment--EIA) โครงการโรงงานผลิตเยื่อกระดาษของบริษัทฟินิคซโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรับฟังการบรรยายและเข้าตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการในพื้นที่การผลิตเยื่อกระดาษ โรงไฟฟ้า และระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงาน

ทุกครั้งที่มีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งให้โรงงานฯปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งตรวจสอบการปนเปื้อนโลหะหนักที่พบในบึงโจดมีความเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตของโรงงานหรือไม่ เฝ้าระวังป้องกันการเกิดอุบัติเหตุสารเคมีรั่วไหล และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องกลิ่นที่อาจเป็นเหตุรำคาญให้กับประชาชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง  โดยคำนึงถึงการดำรงอยู่ร่วมกับราษฎรรอบโรงงานให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

จากข้อมูลคุณภาพน้ำลุ่มน้ำชีตอนบนของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 กรมควบคุมมลพิษ เมื่อเดือนมกราคม 2566 พบว่า คุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดิน (WQI) ของพื้นที่บริเวณบึงโจด จากสถานีวัดคุณภาพน้ำ 3 แห่งใน ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น มีแนวโน้มเปลี่ยนจากเกณฑ์พอใช้ (61-70) ไปเป็นเสื่อมโทรม (31-60)

น้ำในบึงโจด ห้วยโจด มีค่านำไฟฟ้าค่อนข้างสูง ค่าความเค็มค่อนข้างสูง เพราะรองรับน้ำทิ้งปริมาณมากจากการประกอบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ ทำให้น้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ และควรใช้ทำการเกษตร (โดยทั่วไป) อย่างระมัดระวัง

ตารางแสดงค่าคุณภาพน้ำผิวดิน สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 | ที่มา: สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษภาค 10 ขอนแก่น

กลิ่นของปัญหาในปัจจุบัน

สมพร เสาศิริ ชาวบ้านบ้านห้วยโจด กล่าวว่าระบบปัจจุบันมีการส่งน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วให้ชาวบ้านใช้ผ่านระบบท่อ แม้ว่าจะข้อดีอีกอย่างคือทำให้บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้และประชาชนในท้องถิ่นมีงานทำ แต่ข้อเสียคือมันทำลายระบบนิเวศจากการปล่อยน้ำเสียที่ไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ แถมคุณภาพอากาศก็แย่ลงเพราะมีกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน ลมพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นมาทางทิศเหนือที่เป็นที่ตั้งหมู่บ้านห้วยโจด

อย่างไรก็ตาม น้ำทิ้งนั้นก็ยังคงปนเปื้อนด้วยสารพิษที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพและธรรมชาติ ภราดร นายกสมาคมรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำพอง ยกตัวอย่างสารเคมีในตัวอย่างน้ำ เช่น แคดเมียม โครเมียม ปรอท นิกเกิล และสังกะสี ฯลฯ ส่งผลกระทบทำให้สิ่งมีชีวิตเป็นโรคมะเร็ง โรคฉี่หนู โรคง่อยเปลี้ยเพลียแรง และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

โรงงานตั้งอยู่ติดกับหมู่บ้าน 4 หมู่ ในเทศบาลตำบลกุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

ฉลวย พริศักดิ์ ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า นาน ๆ ทีกลิ่นเหม็นจากโรงงานจะมีมา โดยเฉพาะเมื่อความกดอากาศสูงหรือช่วงฤดูฝนที่อากาศไม่ถ่ายเท แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เคยชินกับสภาพแบบนี้ไปแล้ว  เขายังเสริมอีกว่า อยากพัฒนาบึงโจดให้มากขึ้นกว่าเดิม ทำเป็นสวนสาธารณะ ให้ชาวบ้านหรือผู้อาศัยอยู่รอบ ๆ ไปใช้ประโยชน์ เพิ่มแสงสว่างทำเป็นลู่วิ่งให้ออกกำลังกาย คงจะดีกว่านี้ เพราะตอนนี้ทางกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรง ก็เริ่มขุดลอกตะกอนกากของเสีย เพราะเกิดน้ำเน่าเสียซ้ำซากทุกปี แต่ในอนาคตไม่รู้เขาจะทำเป็นอะไร ทราบเพียงปัจจุบันเริ่มทำคล้ายเขื่อนกั้นกักน้ำไว้ และโรงงานออกมาพูดคุยกับชาวบ้านบ่อยกว่าเทศบาลด้วยซ้ำ

“เท่าที่เขามาประชาสัมพันธ์พบปะชุมชน โรงงานเขาก็ปรับปรุง มีโครงการดูดซับกลิ่นก่อนปล่อยออกมา มีการซักถามเพื่อนำไปปรับปรุง มีไลน์กลุ่มชาวบ้านรอบโรงงานที่สามารถเข้าไปร้องเรียนได้ว่าพบเจอปัญหาอะไร” ฉลวยกล่าว

ทางออกของบึงห้วยโจด

บึงโจดเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ใช่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เมื่อเกิดปัญหาขึ้น หน่วยงานในท้องถิ่นอย่างเทศบาลตำบลกุดน้ำใสจึงทำได้เพียงเฝ้าระวัง และมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบอาคารสถานประกอบการให้เป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น โครงการขุดลอกบึงโจดนั้นทางเทศบาลมีกรรมการควบคุม ดูแล และเฝ้าระวังการฟุ้งกระจายของตะกอนใต้น้ำที่อาจไหลลงลำน้ำพอง และดินที่ขุดจากบึงโจดซึ่งมีสารตกค้างปนเปื้อน จะอยู่ในบึงโจด ห้ามเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ โดยแผนจะนำเอามาทำถนน ขยายถนนเส้นทางเข้าบึงโจด ทำลายพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมของชาวบ้าน

สภาพน้ำในบึงห้วยโจดมีลักษณะเป็นสีดำ มีฟองสีน้ำตาลลอยอยู่ผิวน้ำ

“ผมเคยอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรม โรงงานเหล่านั้นมีการกำจัดกากของเสียเหล่านั้น (โลหะหนักต่างๆ) อย่างดี เขามีความรับผิดชอบ อันนี้ปล่อยลงน้ำเฉยเลย” ภราดร โพธิ์ศรีกล่าวถึงความคาดหวังที่จะเห็นการแก้ไขอย่างจริงจัง

เช่นเดียวกันกับ ฉลวย พิรศักดิ์ที่ได้คาดหวังทิ้งท้ายว่าต้องการให้ทางโรงงานและทางการรับฟังชาวบ้านว่าต้องการอะไร มีอะไรให้ปรับปรุงบ้าง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: