สงขลาเตรียมตัวสู่เมืองมรดกโลกท่ามกลางความคิดเห็นแตกต่าง

พิชญ์สินี ชัยทวีธรรม 22 ก.ย. 2567 | อ่านแล้ว 8248 ครั้ง

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

การผลักดันเมืองเก่าสงขลาให้เป็นมรดกโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายว่าจะอนุรักษ์หรือพัฒนาเมือง โดยประธานสมาคมภาคีคนรักเมืองเก่าสงขลา เผยว่าเมืองเก่าสงขลาอยู่ในขั้นตอนสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ก่อนเตรียมสมัครเมืองมรดกโลก ขณะที่นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลาชี้แจงกรณีย่านมัสยิดบ้านบนไม่อยู่ในเขตมรดกโลกว่า เพราะไม่ได้อยู่ในเขตที่กำหนดเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก แต่ในอนาคตจะมีการขยายเขตเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่อื่นรวมถึงย่านมัสยิดบ้านบนด้วย เพื่อให้เมืองเก่าสงขลาเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และครอบคลุมทุกกลุ่ม

 

วุฒิชัย เพชรสุวรรณ ประธานสมาคมภาคีคนเมืองเก่าสงขลา

เพื่อเตรียมสงขลาสู่การเป็นเมืองมรดกโลก ชาวสงขลาทุกกลุ่มทุกอาชีพรวมทั้งภาครัฐ เอกชน ศิลปิน นักธุรกิจ และนักวิชาการ ร่วมกันหาทางประนีประนอมความต้องการและมุมมองที่แตกต่างเพื่อความลงตัวระหว่างสิ่งเก่าและใหม่

วุฒิชัย เพชรสุวรรณ ประธานสมาคมภาคีคนรักเมืองเก่าสงขลา หรือ ‘อาจารย์ก้อย’ เล่าว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีการจัดเวทีประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเมืองเก่าสงขลาเกี่ยวกับการผลักดันเมืองเก่าให้เป็นมรดกโลก โดยรวมแล้ว คนในพื้นที่เห็นด้วยกับการอนุรักษ์คุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมือง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวอาจมีข้อจำกัด เช่น การห้ามสร้างอาคารสูงหรือการควบคุมการปรับปรุงอาคารในเขตเมืองเก่าตามที่เทศบาลกำหนด

วุฒิชัย อธิบายแนวคิด “Put Songkhla on the Map” ซึ่งหมายถึงการทำให้สงขลาเป็นที่รู้จักในแผนที่การท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ ไม่ใช่แค่ในเชิงภูมิศาสตร์ แต่ในแง่เศรษฐกิจและการเรียนรู้ เพื่อให้สงขลาเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ โดยหลังจากที่สมาคมภาคีคนรักเมืองเก่าสงขลาได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาคมแล้ว ได้มีโอกาสไปดูงานที่ปีนังและมะละกา ทำให้เกิดแนวคิดว่าสงขลาควรได้รับการพิจารณาเพื่อดูแลสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของคนในเมืองเก่าให้คงอยู่ต่อไป

เขายังกล่าวว่า ความคิดที่จะทำให้สงขลาเป็นมรดกโลกเกิดจากภาคประชาสังคม อย่างภาคีคนรักเมืองเก่าสงขลา แต่การจะทำให้เกิดขึ้นจริงต้องการงบประมาณและการจัดการที่เหมาะสม ซึ่งได้มีการพูดคุยกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่สนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ผ่านงบประมาณเบื้องต้น โดยมีนักการเมือง นิพนธ์ บุญญามณี สนับสนุน และได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและหารือกับหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อแสดงความเป็นไปได้ของโครงการนี้

การศึกษาความเป็นไปได้ดำเนินการโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งผลการศึกษาชี้ว่าสงขลามีศักยภาพที่จะเป็นมรดกโลกได้ จากนั้นมีการจัดซิมโพเซียมเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เช่น ปีนังและอินโดนีเซีย มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งยอมรับว่าคุณค่าของเมืองเก่าสงขลามีความเหมาะสมที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

อย่างไรก็ตาม หลังจากการศึกษาและเสนองบประมาณจบลง รายงานผลการศึกษาได้ถูกส่งกลับไปยัง อบจ. วัตถุประสงค์ของการใช้งบประมาณคือเพื่อศึกษาเท่านั้น เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้น อาจารย์ก้อยตั้งคำถามว่าใครจะดำเนินการต่อไป เพราะการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเป็นงานในระดับประเทศที่ต้องดำเนินการผ่านคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่เพียงภาคประชาชนเท่านั้น

“ในช่วงโควิด-19 ระบาด การผลักดันสงขลาให้เป็นมรดกโลกต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว เนื่องจากงบประมาณหมดลง อย่างไรก็ตาม ภาคียังคงดำเนินงานต่อไปตามกรอบและกำลังที่มี เพราะงานนี้ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ ผมยังจำได้ว่าหลังจากโควิดเริ่มซาลง นิพนธ์ตั้งคำถามว่า ‘หลังจากที่เราศึกษาแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป?’ หากไม่มีการดำเนินการต่อ งบที่ใช้ไปก็สูญเปล่า ดังนั้นจึงต้องหาทางเดินหน้าต่อ ทุกคนมองมาที่ภาคี องค์การปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาเพื่อคำแนะนำในการดำเนินการขั้นต่อไป” วุฒิชัยกล่าว

เขาอธิบายต่อว่า การที่สมาคมภาคีคนรักเมืองเก่าสงขลาจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้สมาคมสามารถเจรจาต่อรองกับโครงการต่างๆ ของเอกชนได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้บางอย่างสามารถร่วมมือกับสมาคมได้โดยมีจุดประสงค์ร่วมกัน ส่งผลให้เอกชนหลายราย เช่น ปตท. และเชฟร่อน ได้เข้ามาเป็นส่วน

หนึ่งของเครือข่ายภาคี เมื่อการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการเป็นมรดกโลกเสร็จสิ้นลง แต่ก็ยังมีภารกิจอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการต่อไป

“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเมืองเก่าในช่วงแรกๆ มาจากความพยายามของภาคี เมื่อองค์กรอย่าง ปตท. เชฟรอน และอื่นๆ เข้ามาสนับสนุน เราจึงจัดการประชุมใหญ่หลายครั้ง เช่น งานซิมโพเซียม ซึ่งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานทหารเรือ เพื่อหารือและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเป็นมรดกโลก” วุฒิชัยกล่าว

ภาคีคนรักเมืองเก่าสงขลาได้ดำเนินโครงการ "Upstream Process" เพื่อเตรียมสงขลาเป็นมรดกโลก โดยได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. และความร่วมมือจากสภาโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของยูเนสโก แม้จะล่าช้าเนื่องจากโควิด-19 แต่โครงการเสร็จสมบูรณ์ในปี 2563

หลังจากเสร็จสิ้น ภาคีได้ส่งรายงานกลับไปยัง ปตท. และจังหวัด ซึ่งส่งต่อไปยังคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อพิจารณาต่อไปในระดับกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงสิ่งแวดล้อม

"หากกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านการตรวจสอบและไม่มีข้อแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อส่งต่อให้ยูเนสโกพิจารณาต่อไป ขณะนี้สงขลากำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ 'Dossier' ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการสมัครเป็นมรดกโลก" วุฒิชัย เพชรสุวรรณ ประธานสมาคมภาคีคนรักเมืองเก่าสงขลา กล่าว

วุฒิชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า การที่จะทำให้สงขลาเป็นมรดกโลกนั้นต้องยืนยันถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ของเมือง เช่น การเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญในอดีต และการมีส่วนร่วมในเครือข่ายวัฒนธรรมระดับโลก ทำให้สงขลามีโอกาสเชื่อมโยงกับภูมิทัศน์และประวัติศาสตร์โลก

ชายขอบและใจกลางของเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก

พื้นที่แผนผังเมืองเก่าสงขลาประกอบด้วยถนนนครนอกอยู่ติดทะเลสาบสงขลาถนนนครในและถนนนางงาม 

โดยแต่ละจุดได้รับงบประมาณในการดูแลและพัฒนาพื้นที่โดยมีเป้าหมายคือเมืองมรดกโลก

วันชัย ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรีเมืองนครสงขลา และอดีต ส.ส. พรรคพลังประชารัฐปี 2562 ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองเก่าสงขลาสู่การเป็นมรดกโลก ว่า “เทศบาลได้ออกเทศบัญญัติใหม่เพื่อคุ้มครองพื้นที่ที่มีสถาปัตยกรรมดั้งเดิมในเมืองเก่า โดยจะมีการปรับปรุงผังเมืองให้รองรับการพัฒนาในอนาคต ซึ่งเทศบัญญัตินี้อ้างอิงมาจากผังเมืองใหม่ที่จะออกเพื่อคุ้มครองตัวอาคารเก่าทั้งหมดในพื้นที่เทศบาลเมืองนครสงขลา”

วันชัยอธิบายถึงปัญหาหลักที่เมืองเก่าสงขลากำลังเผชิญว่า “ปัญหาหลักของอำเภอเมืองสงขลาคือเศรษฐกิจที่ไม่เติบโต แม้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่รายได้ในเมืองเก่าสงขลาไม่ได้สูงมาก เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกพักที่หาดใหญ่และขับรถมาเที่ยวเมืองเก่าสงขลาแล้วกลับไปนอนที่หาดใหญ่” เขาเสริมว่า การท่องเที่ยวในเมืองเก่าก่อให้เกิดปัญหาขยะและการจราจร และรายได้ของผู้ค้าในเมืองเก่าก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น

 

วันชัย ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองนครสงขลา กำลังสนทนากับแม่ค้ามุสลิม

 

ถนนนางงามบริเวณมัสยิดบ้านบนที่ยังไม่อยู่ในโครงการนำสายไฟฟ้าลงท่อเคเบิลใต้ดิน

ด้านขวาบริเวณสี่แยกคือถนนพัทลุงย่านที่ตั้งของมัสยิดบ้านบน ซึ่งยังไม่อยู่ในพื้นที่พัฒนาเมืองเก่าสงขลา

วันชัยเรียกร้องให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว โดยกล่าวว่า “เราต้องรีบแก้ไขด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว และขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในหาดใหญ่ที่ประกอบกิจการโรงแรมและที่พักต่าง ๆ เพื่อร่วมมือในการสร้างรายได้ให้กับเมืองเก่าสงขลามากขึ้น” เขายังเน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่สำคัญ เช่น ถนนนครนอก ซึ่งเป็น “พื้นที่ไข่แดง” ที่จะได้รับการพัฒนาเป็นลำดับแรก

วันชัยกล่าวถึงแผนการนำสายไฟฟ้าลงดินว่า “เราเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำไฟฟ้าลงดิน เพราะที่นี่ไฟดับบ่อย การนำไฟฟ้าลงดินไม่เพียงแต่จะเสริมความสวยงาม แต่ยังช่วยเพิ่มเครือข่ายการกระจายไฟฟ้าและความมั่นคงทางไฟฟ้า” อย่างไรก็ตาม การนำสายไฟฟ้าลงดินในเมืองเก่าต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ

วันชัยยังชี้แจงถึงบริเวณมัสยิดบ้านบนว่า “มัสยิดบ้านบนไม่ได้รับการพัฒนาเพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เมืองเก่าที่กำหนดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก แม้จะอยู่ในเขตเมืองเก่า แต่สถาปัตยกรรมของมัสยิดบ้านบนมีความแตกต่างจากสถาปัตยกรรมหลักในเมืองเก่า”

 

สายไฟประดับย่านชุมชนมัสยิดบ้านบน

เมื่อพูดถึงพหุวัฒนธรรมของเมืองเก่าสงขลา ซึ่งประกอบด้วยวัฒนธรรมไทย จีน และมุสลิม เขากล่าวว่า “ในแผนผังเมืองเก่าที่ถูกควบคุมโดยเทศบาลนครสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว จะเห็นว่ามีการก่อสร้าง รื้อถอน และซ่อมแซมอาคารต่าง ๆ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวและจุดบริการต่าง ๆ แต่มัสยิดบ้านบนซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวมุสลิมยังไม่ได้รับการพูดถึง”

วันชัยสรุปว่า “ขณะนี้เร่งฟื้นฟูเฉพาะพื้นที่ในแผนผังสีเขียวก่อน เพราะสามารถปรับปรุงได้ง่ายและเห็นผลเร็วกว่า แต่ในอนาคตเราจะขยายการพัฒนาให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น รวมถึงมัสยิดบ้านบน เพื่อให้เมืองเก่าสงขลามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม”

เส้นทางยาวไกลสู่การเป็นเมืองมรดกโลก

เมืองเก่าสงขลามีประวัติศาสตร์อันยาวนานและหลากหลายวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นผ่านสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต และประเพณีที่ยังคงมีชีวิตชีวาจนถึงปัจจุบัน การผลักดันให้เมืองเก่าสงขลานำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกอันล้ำค่าของตนให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นเป็นความพยายามที่สำคัญในการอนุรักษ์และเผยแพร่คุณค่าทางวัฒนธรรมเหล่านี้

แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ต้องพิจารณาหลายด้านและมีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบ ซึ่งรวมไปถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการตัดสินใจ การสร้างความร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ ในเมืองเก่าสงขลาที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน การพัฒนาซึ่งให้ความสำคัญกับทุกชุมชน ไม่ได้เน้นแต่ย่านท่องเที่ยว และการร่วมมือกับ UNESCO ที่ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน การมีแผนงานที่ชัดเจนและกลยุทธที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสำเร็จในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งการดำเนินการตามแนวทางเหล่านี้จะช่วยให้เมืองเก่าสงขลาสามารถรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของตนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมในระดับสากล

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: