รายงานล่าสุด โดยกรีนพีซ ประเทศไทย ศึกษาประสิทธิภาพด้านการย่อยของพลาสติกชีวภาพและความเป็นไปได้ในการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ระบุผลิตภัณฑ์ 'พลาสติกชีวภาพ' หรือ 'พลาสติกชนิดย่อยสลายได้ทางชีวภาพ' (Biodegradable plastics) ไม่ใช่ทางออกของการยุติวิกฤตมลพิษพลาสติก
รายงานล่าสุด “Beyond the Label: Debunking the Biodegradable Plastic Myth” โดยกรีนพีซ ประเทศไทย ที่ศึกษาประสิทธิภาพด้านการย่อยของพลาสติกชีวภาพและความเป็นไปได้ในการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ระบุผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ หรือพลาสติกชนิดย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable plastics) ไม่ใช่ทางออกของการยุติวิกฤตมลพิษพลาสติก
รายงานดังกล่าวพบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ไม่ย่อยสลายระหว่างการทดสอบทั้ง 3 สภาพแวดล้อม ได้แก่ แก้วพลาสติกอินทนิล ที่ทำมาจากพอลิแลคติคแอซิด (PLA), ถุงหูหิ้ว Smart-R ที่ระบุบนถุงว่าถุงใบนี้ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ, ถุงหูหิ้วรักษ์โลก AdvanceBIO, กล่องพลาสติก Smart-R, และกล่องพลาสติก UNI-WARE ที่ระบุว่าย่อยสลายได้และใช้พลาสติกประเภท PP นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกบางประเภทที่ขาดเป็นชิ้นๆ ย่อยสลายเพียงเล็กน้อยและพบไมโครพลาสติกหลุดออกมา
การทดสอบอัตราการย่อยและความเป็นไปได้ในการเกิดไมโครพลาสติกของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพนี้ ดำเนินการโดยคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และกรีนพีซ ประเทศไทย โดยนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีการระบุว่าเป็นพลาสติกที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ทั้งหมด 11 ประเภท มาทดสอบอัตราการย่อยสลายและตรวจสอบความหนาแน่นของจำนวนชิ้นส่วนขนาดเล็กที่หลุดรอดหรือแตกหักออกมา ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน 3 สภาพแวดล้อม นั่นคือ การทดลองแช่ในตู้ปลาที่ใส่น้ำทะเลที่มีการเติมออกซิเจนตลอดเวลา การทดสอบแช่ในน้ำทะเล และการทดลองฝังไว้ในดิน โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 161, 135 และ 178 วันตามลำดับ
การนำเสนอรายงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่ถูกทาง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการรู้เท่าทันในเรื่องการใช้ฉลากสีเขียวหรือฉลากอื่นๆ บนบรรจุภัณฑ์สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการรณรงค์ให้เจ้าของแบรนด์สินค้าและธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ตระหนักถึงบทบาทของตนในฐานะผู้ผลิตสินค้าให้มีวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษพลาสติกที่ต้นทางและมีความยั่งยืน
พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า“หลายผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดพยายามปรับเปลี่ยนให้ตราสินค้าของตนเองมีกลิ่นอายรักษ์โลกมากขึ้น โดยการเปลี่ยนจากการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งมีวัสดุตั้งต้นมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลาสติกฐานชีวภาพ ที่มีวัตถุดิบตั้งต้นมาจากพืชหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแทน แต่การทดสอบนี้ชี้ให้เห็นแล้วว่าการทำเช่นนั้นไม่ช่วยตอบโจทย์การลดมลพิษพลาสติก เนื่องจากผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพบางประเภทอาจไม่ย่อยสลายตามที่กล่าวอ้าง หรือท้ายสุดเป็นเพียงการแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งนั่นเป็นการสร้างอีกปัญหาหนึ่งนั่นคือไมโครพลาสติกที่จัดการยาก โดยเฉพาะเมื่อหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม เพราะเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า”
ผลการศึกษาอัตราการย่อยสลายใน 3 สภาพแวดล้อม ดังนี้
การทดลองแช่ในตู้ปลาที่ใส่น้ำทะเลที่มีการเติมออกซิเจนตลอดเวลา:
1. ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ย่อยคือ แก้วพลาสติก Inthanin ที่ผลิตจากพลาสติก PLA, ถุงหูหิ้ว Smart-R, กล่องพลาสติก UNI-WARE, ถุงหูหิ้วรักษ์โลก AdvanceBIO, ถุงน้ำตาลยี่ห้อมิตรผล, หลอดกระดาษยี่ห้อไมโล, หลอดยี่ห้อ Amazon, และกล่องยี่ห้อ Smart-R ส่วนทิชชูเปียก Watsons, จานกระดาษชานอ้อย Lotus’s ขาดเป็นชิ้นๆ
2. เฉพาะแก้วกระดาษ All café เท่านั้นที่มีการย่อยเล็กน้อย
การทดสอบแช่ในน้ำทะเล:
1. ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ย่อย คือ แก้วพลาสติก Inthanin, ถุงหูหิ้ว Smart-R, ถุงหูหิ้วรักษ์โลก AdvanceBIO, กล่องพลาสติก UNI-WARE, และกล่องยี่ห้อ Smart-R
2. หลอดกระดาษไมโล ทิชชูเปียก Watsons และจานกระดาษชานอ้อย Lotus’s ที่แช่อยู่ในทะเล ย่อย 100%
3. ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยบางส่วน คือ แก้วกระดาษ All café ถุงน้ำตาลมิตรผล และหลอดพลาสติก Amazon
การทดลองฝังไว้ในดิน:
1. ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ย่อย คือ แก้วพลาสติก Inthanin, ถุงหูหิ้ว Smart-R, ถุงหูหิ้วรักษ์โลก AdvanceBIO, กล่องพลาสติก UNI-WARE, และกล่องยี่ห้อ Smart-R
2. บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยบางส่วน คือ แก้วกระดาษ All café, ถุงน้ำตาลยี่ห้อมิตรผล
3. บรรจุภัณฑ์ที่ย่อย 100% คือ หลอดกระดาษยี่ห้อไมโล, ทิชชูเปียก Watsons, จานกระดาษชานอ้อย Lotus’s และหลอดพลาสติก Amazon ย่อยสลายเพียง 2% เท่านั้น
ผลการศึกษาการพบไมโครพลาสติกใน 3 สภาพแวดล้อม ดังนี้
● การทดลองแช่ในตู้ปลาที่ใส่น้ำทะเลที่มีการเติมออกซิเจนตลอดเวลา: บรรจุภัณฑ์ที่พบไมโครพลาสติก คือ แก้วพลาสติก Inthanin ซึ่งมาจากสีที่หลุดลอกออกมา, ถุงหูหิ้ว Smart-R, และกล่องพลาสติก UNI-WARE
● การทดสอบแช่ในน้ำทะเล: บรรจุภัณฑ์ที่พบไมโครพลาสติก คือ แก้วกระดาษ All café, ถุงน้ำตาลยี่ห้อมิตรผล และหลอดพลาสติก Amazon
● การทดลองฝังไว้ในดิน: บรรจุภัณฑ์ที่พบไมโครพลาสติก คือ ถุงน้ำตาลยี่ห้อมิตรผล และหลอดพลาสติก Amazon
“ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามชีวภาพอาจจะไม่ใช่ทางออกของปัญหามลพิษพลาสติกอีกต่อไป ความพยายามของบริษัทที่ผลิตสินค้าทั้งหลายจำเป็นต้องไปให้ไกลกว่าการคิดพลาสติกประเภทใหม่ๆออกมา เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ยังเป็นการใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้งไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เจ้าของแบรนด์สินค้าและผู้ผลิตจึงต้องหันไปสร้าง ‘ระบบ reuse และ refill’ ที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีทางเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ และบรรจุภัณฑ์มีการหมุนวนใช้อยู่เรื่อยๆ จนหมดอายุการใช้งาน และสร้างวัฒนธรรมการบริโภคใหม่ในสังคม กรีนพีซเชื่อมั่นว่า บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทในไทยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบใช้ซ้ำในประเทศได้” พิชามญชุ์ รักรอด กล่าวเพิ่มเติม
กรีนพีซ ประเทศไทย นำเสนอผลการทดสอบการย่อยสลายของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ผ่านนิทรรศการ “ย่อย ไม่ย่อย ไบโอพลาสติกย่อยได้จริงไหม” ตั้งแต่วันที่ 17-28 ธันวาคม 2567 ที่ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมกิจกรรมเวิร์ชอปที่ช่วยให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับมลพิษพลาสติกมากขึ้น สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ facebook: Greenpeace Thailand
หมายเหตุ:
ดาวน์โหลดรายงาน “Beyond the Label: Debunking the Biodegradable Plastic Myth” ได้ที่ www.greenpeace.org/thailand/single-use-plastic
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ