ภูมิทัศน์การรวมกลุ่มของไรเดอร์ พ.ศ. 2555-2557 : ข้อค้นพบจากการวิจัย (1)

พฤกษ์ เถาถวิล และ วรดุลย์ ตุลารักษ์ 23 ต.ค. 2567 | อ่านแล้ว 3989 ครั้ง


บทความโดย พฤกษ์ เถาถวิล และ วรดุลย์ ตุลารักษ์ [1]

“มีกลุ่มมันดี ช่วยกันได้ ตอนเปิดแอปใหม่ ก็ได้เพื่อนๆช่วยแนะนำ มีเทคนิคอะไรดีๆก็บอกกัน”

“แรกสุดเลยตั้งกลุ่มไว้ช่วยกัน เวลามีเรื่องกับ..... ก็ส่งข่าว ทีมเคลื่อนที่เร็วจะรีบระดมไปช่วยกัน”

“เราพบว่าเวลาไปร้องเรียนกับบริษัท ถ้าไปคนเดียวเขาไม่สนใจ แต่ถ้าไปเป็นกลุ่มมันจะเร็วขึ้น”

ข้อความข้างต้นคือตัวอย่างคำอธิบาย เมื่อถามไรเดอร์ว่าทำไมจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม กลุ่มของไรเดอร์มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่กลุ่มธรรมชาติ ไปถึงกลุ่มที่จัดองค์กรแบบกึ่งทางการ และเป็นทางการ กลุ่มไรเดอร์คือพลังที่อยู่เบื้องหลังการแสดงออกในที่สาธารณะ และเป็นแรงขับเคลื่อนการประท้วงนับร้อยครั้งในหลายปีที่ผ่านมา

บทความนี้ให้ภาพรวมสาเหตุการรวมกลุ่ม ลักษณะ เป้าหมาย และความสัมพันธ์ภายในและระหว่างของกลุ่มไรเดอร์ หรือที่เรียกว่า “ภูมิทัศน์การรวมกลุ่ม” (organizing landscape) โดยจำกัดเวลาอยู่ระหว่าง ปี 2565 ถึงกลางปี 2567 เนื่องจากกลุ่มไรเดอร์มีความเปลี่ยนแปลงสูงมาก ทั้งจากปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกกลุ่ม การนำเสนอจึงเป็นการหยุดภาพในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อวางแนวทางทำความเข้าใจเรื่องการรวมกลุ่ม เนื้อหาต่อไปนี้ปรับปรุงจากส่วนหนึ่งของการวิจัยของผู้เขียน (โปรดดูเชิงอรรถ)

คำตอบของไรเดอร์ที่อ้างถึงข้างต้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแรงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มคือ ความต้องการช่วยเหลือกัน การช่วยเหลือกันมีหลายมิติ นับตั้งแต่การช่วยเหลือกันในการทำงาน การเยียวยาอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต ปกป้องกันเองจากการกระทบกระทั่งกับฝ่ายอื่น ไปจนถึงระดมกำลังประท้วงบริษัท ลักษณะเช่นนี้ทำให้กล่าวได้ว่า กลุ่มไรเดอร์มีแรงผลักดันพื้นฐานคือเป็นกลุ่มช่วยเหลือกัน (mutual aid)

ในแวดวงแรงงานศึกษา (labour studies) กลุ่มช่วยเหลือกันมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ข้อดีคือ กลุ่มช่วยเหลือกัน ตอบโจทย์สมาชิกครอบคลุมทุกมิติของชีวิต นับตั้งแต่เรื่องชีวิตประจำวัน การทำงาน เจ็บป่วย ให้กำลังใจ กลุ่มมีความยืดหยุ่น เปิดกว้างต่อสมาชิก ไม่เรียกร้องระเบียบวินัยและความเสียสละมากเกินไป และกลุ่มแบบนี้สอดคล้องกับการเป็นกลุ่มธรรมชาติ ทำกิจกรรมร่วมกันเฉพาะกิจ แต่ลักษณะเช่นนี้ กลายเป็นจุดอ่อน เมื่อจำเป็นต้องรวมมือกันแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การแก้ไขกฎหมาย หรือการมีสถานะเป็นทางการเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกับนายจ้าง พูดอีกอย่างคือ การช่วยเหลือกันจำเป็นแต่ไม่เพียงพอในการต่อสู้ปกป้องสิทธิแรงงาน[2]

พักข้อถกเถียงเชิงความคิดไว้ก่อน มาดูว่ากลุ่มไรเดอร์ที่มีอยู่เป็นอย่างไรบ้าง จากการสำรวจในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุบลราชธานี ชลบุรี สระบุรี กระบี่ ปัตตานี และภูเก็ต พบว่าสามารถจำแนกกลุ่มไรเดอร์ได้เป็นสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือกลุ่มเชิงพื้นที่ (location-based) กลุ่มประเภทนี้เกิดจากการพบปะและพูดคุยกันในพื้นที่ทำงาน ในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯและปริมณฑล มีกลุ่มเชิงพื้นที่กระจายอยู่ทั่วไปนับร้อยกลุ่ม กลุ่มมักตั้งชื่อตามย่านที่ทำงานเช่น กลุ่มไรเดอร์ฝั่งธนบุรี กลุ่มไรเดอร์ซอยอ่อนนุช กลุ่มไรเดอร์รังสิต กลุ่มเกือบทั้งหมดสมัครใจเป็นกลุ่มธรรมชาติ รวมตัวกันหลวมๆ มีแกนนำธรรมชาติ มักตั้งกลุ่มไลน์ไว้สื่อสารในหมู่สมาชิก บางกลุ่มทำเพจเฟสบุ๊ค แต่มักตั้งค่าเป็นกลุ่มปิดสื่อสารกันในหมู่สมาชิก

ในบรรดากลุ่มเชิงพื้นที่นั้น มีกลุ่มจำนวนน้อยซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษ มีแนวคิดยกระดับการจัดองค์กรจากกลุ่มธรรมชาติให้เป็นทางการมากขึ้น มีการจัดทำทะเบียนสมาชิก กำหนดกฎระเบียบของกลุ่ม กำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว เช่น จัดตั้งกองทุนสุขภาพ การผลักดันกฎหมายคุ้มครองไรเดอร์ บางกลุ่มเลือกหนทางยื่นจดทะเบียนเป็นสมาคม เพื่อให้มีคณะกรรมการ เป้าหมาย และสถานะเป็นทางการ ในบรรดากลุ่มเชิงพื้นที่ทั้งหมดนี้ ภายในกลุ่มสมาชิกมีความแตกต่างหลากหลายมาก และกลุ่มในพื้นที่ต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี กระบี่ มีความแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมท้องถิ่น

กลุ่มอีกประเภทหนึ่งคือ กลุ่มออนไลน์ (online-based) กลุ่มประเภทนี้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสารหลัก โดยเฉพาะเพจเฟซบุ๊ค เพจของไรเดอร์มีจำนวนหลายสิบเพจ มีทั้งเพจที่บริษัทแพลตฟอร์มจัดทำเพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารของบริษัท เพจที่แฝงไปด้วยการขายสินค้า เพจที่ต้องการสร้างความนิยมเพื่อเป้าหมายบางอย่าง และเพจเพื่อสื่อสารเรื่องการทำงานในหมู่ไรเดอร์ ในที่นี้จะกล่าวถึงเพจประเภทหลังเท่านั้น  

เพจของไรเดอร์เพื่อสื่อสารเรื่องการทำงานในหมู่ไรเดอร์ บางกลุ่มเริ่มจากเป็นกลุ่มเชิงพื้นที่ก่อน ต่อมาแกนนำได้จัดทำเพจกลุ่ม เมื่อเพจเป็นที่รู้จักและมีผู้ติดตามมากขึ้น จึงถอยห่างจากการเป็นกลุ่มเชิงพื้นที่ กลายเป็นกลุ่มออนไลน์เต็มตัว ในทางกลับกัน บางกลุ่มเริ่มจากทำเพจก่อน เมื่อขยายความคิดได้ จึงใช้เป็นช่องทางติดต่อกับกลุ่มเชิงพื้นที่ หรือลงจัดตั้งกลุ่มเชิงพื้นที่ แล้วสร้างเครือข่ายของกลุ่มภายใต้เพจ

กลุ่มออนไลน์ทั้งสองทิศทาง ใช้เพจเป็นพื้นที่สื่อสารอย่างต่อเนื่อง เป็นเวทีให้ข่าวหรือประสานงานการช่วยเหลือกันในการทำงาน นอกจากนั้นใช้เพจเป็นพื้นที่แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และระดมกำลังทำกิจกรรม กลุ่มออนไลน์ต่างกับกลุ่มเชิงพื้นที่ตรงที่ กลุ่มออนไลน์มีผู้ติดตาม (สมาชิก) ซึ่งไม่ผูกติดกับพื้นที่กายภาพ แต่เป็นไรเดอร์และสาธารณะชนในวงกว้าง ที่เข้ามาติดตามทางออนไลน์ ท่ามกลางเพจไรเดอร์จำนวนมาก อาจยกตัวอย่างเพจ ซึ่งเป็นต้นแบบที่แตกต่างกัน ได้ 3 กรณีตัวอย่างดังนี้

เพจ A กลุ่มช่วยเหลือกัน จัดองค์กรแบบกึ่งทางการ : เพจ (หรือกลุ่ม) A เป็นกลุ่มยอดนิยม มีผู้ติดตามเพจสูงสุดคือ 1 แสนกว่าคน กลุ่มก่อตัวจากไรเดอร์ส่งผู้โดยสาร หรือ “งานวิน” แรกเริ่มตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือกันเมื่อมีเหตุกระทบกระทั่งกับวินมอเตอร์ไซค์ เริ่มจากเพจเล็กๆ แต่มีไรเดอร์งานวินเข้ามาติดตามจนเพจเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ภายหลังกลุ่มให้ความสำคัญกับไรเดอร์ส่งสินค้าทุกประเภทภายใต้บริษัทสีเขียวเข้ม เพจให้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องส่งคน อาหาร และสินค้า ด้วยเหตุที่เป็นเพจที่แอคทีฟ อัปเดทข่าว ติดตามปัญหา จึงมีผู้ติดตามเพจจำนวนมากจนเป็นเพจที่มีผู้ติดตามมากที่สุด  

รวมทั้ง เพจ A ให้ความสำคัญกับการขยายฐานสมาชิกและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจัดทำทะเบียนสมาชิก ทำสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์กลุ่มสำหรับติดรถ เพจ A จัดการกลุ่มในรูปแบบกึ่งทางการ คือมีกฎระเบียบในการโพสต์เนื้อหาในเพจ มีแอดมินเพจเป็นเสมือนคณะกรรมการกลุ่ม แม้มีอิทธิพลสูง แต่กลุ่มจำกัดภารกิจอยู่ในประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าในการทำงาน เช่น ค่ารอบ การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบของบริษัท แกนนำกลุ่มส่วนใหญ่ สนับสนุนแนวคิดที่ว่าไรเดอร์ คืออาชีพอิสระ ไม่เห็นด้วยกับการมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน  เพราะคิดว่าจะทำให้สูญเสียความอิสระ กลุ่มเคยมีบทบาทสำคัญในการระดมพลประท้วงบริษัทครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2565 แต่หลังจากนั้นลดบทบาทด้านนี้ลง

เพจ B กลุ่มที่จดทะเบียนเป็นสมาคมไรเดอร์ : ไม่ต่างจากกลุ่มอื่น เพจ (หรือกลุ่ม B) เกิดจากความต้องการช่วยเหลือกันในการทำงาน แต่ที่แตกต่างออกไป คือกลุ่มได้จดทะเบียนจัดตั้งสมาคม เป็นองค์กรนิติบุคคลตามกฎหมาย มีโครงสร้างการบริหารองค์กร วัตถุประสงค์ ทรัพยากรพื้นฐานการทำงานอย่างเป็นทางการ กลุ่มประกาศเป้าหมาย ต้องการแก้ไขปัญหาสัญญาไม่เป็นธรรม สวัสดิการ ผลักดันให้เกิดราคากลางที่เป็นธรรมสำหรับไรเดอร์ และทำให้ไรเดอร์มีตัวตนและสถานะทางอาชีพที่ชัดเจน

นอกจากนั้นเพจ/สมาคม B มีบทบาทปกป้องผลประโยชน์สมาชิก ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ช่วยแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับหนี้เสีย คดีความจราจร การให้ข้อมูลซื้อขายรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า อะไหล่รถจักรยานยนตร์ สมาคมให้ความสำคัญกับการแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เป็นตัวแทนไรเดอร์ยื่นข้อเรียกร้องและปรึกษาหารือกับหน่วยงานรัฐ เข้าพบปรึกษาหารือกับ หน่วยงานในกระทรวงแรงงานหลายครั้ง แม้กลุ่มมีบทบาทผลักดันให้ไรเดอร์เป็นอาชีพที่มีสถานะชัดเจน แต่กลุ่มไม่แสดงท่าที่แน่ชัดต่อข้อถกเถียงว่า ไรเดอร์คืออาชีพอิสระ หรือแรงงาน (ไม่สนับสนุนว่าไรเดอร์เป็นอาชีพอิสระ และไม่สนับสนุนกฎหมายคุ้มครองไรเดอร์ในฐานะลูกจ้าง/แรงงาน) เพจ B มีบทบาทในการระดมกำลังประท้วงบริษัทแพลตฟอร์มหลายครั้ง

เพจ C กลุ่มที่ชูแนวคิดสหภาพแรงงาน : เพจ (หรือกลุ่ม) C เป็นกลุ่มยอดนิยมอีกกลุ่มหนึ่ง กลุ่มแสดงให้เห็นว่ายึดมั่นในแนวคิดสหภาพแรงงาน ในฐานะที่เป็นแนวทางสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อปกป้องสิทธิและสวัสดิการของแรงงาน นอกจากเป็นสื่อกลางช่วยเหลือกันในการทำงาน เพจ C เสนอเนื้อหาครอบคลุมประเด็น ประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงาน สหภาพแรงงาน สิทธิแรงงาน และการเคลื่อนไหวทางสังคม ทำให้เพจมีผู้ติดตามหลากหลายกลุ่ม นอกจากใช้เพจเผยแพร่ความคิด แกนนำเพจ C ทำงานภาคสนาม ออกไปพบปะกลุ่มเชิงพื้นที่ต่างจังหวัด ทำงานจัดตั้งความคิด และสนับสนุนให้กลุ่มที่พร้อม ยื่นจดทะเบียนสมาคม เป็นกลยุทธ์สร้างสถานภาพและจัดองค์กร  

เพจ C เป็นองค์กรกึ่งทางการ จัดการเพจในรูปคณะกรรมการ มีตัวแทนจากกลุ่มเชิงพื้นที่ในภาคต่างๆ ร่วมเป็นทีมแอดมินเพจ  ทำให้เป็นเพจที่มีการทำงานประสานกันระหว่างออนไลน์และออนไซต์ เป็นเครือข่ายครอบคลุมหลายจังหวัดในทุกภาคของประเทศ เพจ C แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ไรเดอร์คือลูกจ้าง/แรงงาน จึงสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้ยอมรับไรเดอร์ (และแรงงานแพลตฟอร์ม) เป็นแรงงาน เพื่อได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานอื่นๆ เพจ C ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่างๆ และเช่นเดียวกับกลุ่มอื่น เพจ C มีบทบาทหลายวาระ และหลายรูปแบบในการระดมกำลังเรียกร้องสิทธิพึงมีพึงได้จากบริษัท

ที่กล่าวมาทั้งหมด ควรเพิ่มเติมด้วยว่า หากมองจากทิศทางของไรเดอร์ที่เป็นบุคคล พบว่าไรเดอร์แต่ละคนมักติดตามหลายเพจในเวลาเดียวกัน และอาจไม่ได้ผูกพันกับเพจใดเพจหนึ่งอย่างตายตัว และแอดมินเพจหลักแต่ละเพจอาจรู้จักกันเป็นส่วนตัว และเป็นพันธมิตรกันในบางเรื่องบางระดับ ชาวไรเดอร์จึงเป็นเครือข่ายทางสังคมที่กว้างขวางและเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ส่วนในประเด็นการจดทะเบียนเป็นสมาคม พบว่าการจดทะเบียนสมาคมไม่ง่ายนัก ซึ่งอาจมาจากกฎระเบียบขั้นตอนของราชการ หรืออาจมาจากความไม่พร้อมของกลุ่มไรเดอร์เอง สำหรับบางกลุ่มการเป็นสมาคมอาจกลายเป็นข้อจำกัด แต่บางกลุ่มการเป็นสมาคมเป็นผลดี ทำให้การจัดองค์กรมีระบบและชัดเจนขึ้น

อาจสรุปภาพรวมการรวมกลุ่มของไรเดอร์ เป็นแผนภาพ (building blocks) ของกลุ่มไรเดอร์ในประเทศไทยได้ดังนี้

 


แผนภาพ (building blocks) ของกลุ่มไรเดอร์ในประเทศไทย

 

ข้อมูลทั้งหมด นำมาสู่บทเรียนและโจทย์ใหม่ว่าด้วย กลุ่มและการกระทำรวมหมู่ของไรเดอร์ดังนี้

ประการแรก กลุ่มไรเดอร์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย แสดงให้เห็นความจริงที่สวนทางกับการคาดการณ์ว่า แรงงานงานแพลตฟอร์มซึ่งถูกแบ่งแยก มีความเป็นเอกเทศ จะรวมตัวกันได้ยาก แต่ไรเดอร์แสดงให้เห็นว่า การพบปะกัน การเผชิญปัญหาร่วมกัน และการมีโซเชียลมีเดียเป็นตัวช่วย กลับทำให้การรวมกลุ่มของแรงงานกลุ่มนี้เกิดขึ้นทั่วไป กระนั้นก็ดี กลุ่มส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธรรมชาติ ซึ่งอาจร่วมมือกันได้ดีในบางกิจกรรม และเป็นเรื่องเฉพาะหน้า แต่หากเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกันในระยะยาว กลุ่มประเภทนี้มีข้อจำกัด

นำมาสู่ประการที่สอง ซึ่งเป็นปัญหาดั้งเดิมของขบวนการแรงงาน คือจะยกระดับจากกลุ่มช่วยเหลือกัน ให้เป็นองค์กรเป็นทางการได้อย่างไร แต่การเป็นองค์กรทางการ อย่างสหภาพแรงงาน ก็มีปัญหาคือ สหภาพแรงงานถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบตามกฎหมาย ทำให้กิจกรรมขององค์กรมีขั้นตอนตามระบบราชการ และความสัมพันธ์ในองค์กรเป็นแนวตั้ง เป็นอุปสรรคการมีส่วนร่วมของสมาชิก และไม่ตอบโจทย์ความต้องการในมิติชีวิตของสมาชิก นำมาสู่คำถามว่า จะมีทางที่สามของการจัดองค์กรไรเดอร์ ที่ทำให้องค์กรเข้มแข็งและสอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกส่วนใหญ่หรือไม่

ประการที่สาม หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ในประเทศไทยยังไม่มีสหภาพแรงงานที่ออกมาจัดตั้งไรเดอร์[3] หรือมี แต่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ประสบการณ์จากต่างประเทศ แสดงให้เห็นความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างกลุ่มไรเดอร์กับสหภาพแรงงาน ในการจัดตั้งองค์กรแรงงานรูปแบบใหม่ๆ และช่วยฟื้นฟูบทบาทของสหภาพแรงงานในเวลาเดียวกัน[4] การไม่เห็นบทบาทสหภาพแรงงานในไทย ด้านหนึ่งสะท้อนความอ่อนแรงของสหภาพแรงงานไทย และน่าเสียดายโอกาสทดลองสร้างสรรค์จัดตั้งองค์กรแรงงานรูปแบบใหม่ๆ

ประการสุดท้าย ปมขัดแย้งสำคัญในหมู่ไรเดอร์คือความเห็นต่างระหว่าง ไรเดอร์คืออาชีพอิสระ กับไรเดอร์คือแรงงาน  ซึ่งบริษัทมักใช้เป็นประเด็นสร้างความแตกแยก ว่าหากไรเดอร์อยู่ภายใต้คุ้มครองแรงงาน ก็จะเสียความอิสระ ทั้งที่มีกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ ไรเดอร์สามารถได้รับการคุ้มครองในฐานะลูกจ้าง แต่ก็ยังมีอิสระในการทำงานได้ คำถามก็คือทำอย่างไรจะทำให้เกิดการสื่อความเข้าใจร่วมกันในหมู่ไรเดอร์ ให้เกิดการร่วมมือไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งจะทำให้ไรเดอร์มีอำนาจต่อรองสูงขึ้นอีกมาก

(ตอนหน้า การใช้โซเชียลมีเดียและกลยุทธ์การต่อรองของไรเดอร์)

 

เชิงอรรถ

[1] พฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระ บทความนี้ปรับปรุงจากส่วนหนึ่งของรายงานการวิจัย “การรวมกลุ่มและขบวนการต่อรองของไรเดอร์เพื่อปกป้องสิทธิและสุขภาวะ” (2567) โดยได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ความเห็นในบทความเป็นของผู้เขียน สถาบันฯ และ สสส. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย ผู้สนใจรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ download ได้จาก link https://shorturl.asia/S1PU4

[2] Ford, M., & Honan, V. (2019). The limits of mutual aid: Emerging forms of collectivity among

app-based transport workers in Indonesia. Journal of Industrial Relations, 61(4), 528-548.

[3] อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีนักจัดตั้งแรงงาน และนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่ง มีบทบาทอย่างมากในการจัดตั้งไรเดอร์ จะกล่าวถึงประเด็นนี้ในบทความต่อไป

[4] Basualdo, V., Dias, H., Herberg, M., Schmalz, S., Serrano, M., & Vandaele, K. (2021). Building

workers' power in digital capitalism: Old and new labour struggles. Friedrich-Ebert-Stiftung.

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: