ผลวิจัยเตือนมลพิษ PM 2.5 ภายในอาคาร ย่ำแย่กว่ากลางแจ้ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 มี.ค. 2567 | อ่านแล้ว 18469 ครั้ง

ผลวิจัยเตือนมลพิษ PM 2.5 ภายในอาคาร ย่ำแย่กว่ากลางแจ้ง

Dyson ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เผยข้อมูลจาก Dyson Global Connected Air Quality Data ที่เชื่อมต่อเครื่องฟอกอากาศมากกว่า 2.5 ล้านเครื่อง ชี้ให้เห็นว่า ส่วนใหญ่แล้ว มลภาวะภายในบ้านมักที่จะเลวร้ายกว่ามลภาวะที่อยู่ภายนอกอาคารที่พักอาศัย

VOA รายงานเมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2024 ว่าบริษัทไดสัน (Dyson) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เปิดเผยข้อมูลที่จัดทำครั้งแรก จากโครงการข้อมูลคุณภาพอากาศที่เชื่อมต่อทั่วโลกของบริษัทไดสัน (Dyson Global Connected Air Quality Data) ซึ่งระบุว่า ข้อมูลที่ได้รับจากการเชื่อมต่อกับเครื่องฟอกอากาศมากกว่า 2.5 ล้านเครื่องชี้ให้เห็นว่า ส่วนใหญ่แล้ว มลภาวะภายในบ้านมักที่จะเลวร้ายกว่ามลภาวะที่อยู่ภายนอกอาคารที่พักอาศัย

การวิจัยพบว่า ระดับ PM2.5 ที่พบภายในอาคารในทุกประเทศมีค่าเฉลี่ยต่อเดือนเกินกว่าตัวเลขที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้สัมผัสได้ในระยะยาวเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนต่อปี

เคน อาร์มสตรอง หัวหน้าฝ่ายคุณภาพอากาศ จากบริษัทไดสัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การที่คุณภาพอากาศภายในอาคารย่ำแย่กว่าคุณภาพอากาศภายนอกอาคารนั้นเป็นเรื่องจริง และเกิดขึ้นนานได้ถึง 11 เดือนต่อปีซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างปกติ

การศึกษาดังกล่าว ได้มาจากการรวบรวมจุดข้อมูล (data point) มากกว่า 5 แสนล้านจุด ของผู้ใช้งานที่เชื่อมต่อเครื่องฟอกอากาศกับแอปฟลิเคชัน MyDyson ในเกือบ 40 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2022 ถึงปี 2023

ข้อมูลข้างต้น ระบุถึงมลพิษสองประเภท ได้แก่ PM2.5 และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)

PM2.5 หมายถึงอนุภาคที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือราว 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ทั่วไป เป็นสิ่งที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สามารถสูดดมเข้าไปได้ รวมถึงเป็นหัวข้อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสุขภาพที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ตัวอย่างแหล่งกำเนิดของ PM 2.5 อย่างเช่น การเผาไหม้ของการปรุงอาหารด้วยก๊าซหรือการใช้เตาฟืน สะเก็ดรังแคจากสัตว์เลี้ยง ขี้เถ้า และฝุ่น

สำหรับ สารอินทรีย์ระเหย (VOCs) คือสารมลพิษจากก๊าซ ซึ่งรวมถึงก๊าซเบนซีน (Benzene) และก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่ถูกปล่อยออกมาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การทำความสะอาดภายในบ้านหรือการปรุงอาหารด้วยก๊าซ การใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย สเปรย์ฉีดร่างกาย เทียน เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน

โซฟี ริง นักวิจัยด้านคุณภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยแห่งพอร์ทสมัธ ประเทศอังกฤษ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการวิจัยนี้ กล่าวว่า “ผู้คนอาจจะค่อนข้างประหลาดใจ กับแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศภายในอาคาร”

นักวิจัยท่านนี้ยังเล่าว่า “ถ้าคุณนั่งอยู่บนโซฟา อนุภาค (ฝุ่นละออง) ก็จะฟุ้งกระจาย และคุณนั่งดูทีวีที่รายล้อมไปด้วยพวกมัน แม้แต่เตียงนอนของเรา อนุภาคเหล่านี้ก็ยังเกาะอยู่บนเตียงได้ ดังนั้น หากเราพลิกตัวในตอนกลางคืน จะทำให้อนุภาคฝุ่นกระจายอีกครั้ง และเราก็จะหายใจเอาพวกมันเข้าไป ขณะที่หลับอยู่”

ข้อมูลการศึกษาของประเทศส่วนใหญ่ ชี้ว่า ระดับของ PM2.5 ในพื้นที่อาคารจะมีปริมาณสูงที่สุดในช่วงเย็นและกลางคืน ขณะที่ผู้คนใช้ชีวิตภายในบ้าน ซึ่งสูงกว่าช่วงที่คนอยู่ในที่ทำงานหรือสถานศึกษา

นอกจากนี้ ข้อมูลยังทำให้ทราบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศส่วนใหญ่จะประสบปัญหาความแตกต่างของปริมาณฝุ่น PM 2.5 ระหว่างพื้นที่ในอาคารและพื้นที่กลางแจ้ง

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การทำความสะอาดทั่วไป สามารถลดปริมาณฝุ่นละอองในที่พักของเราได้ แต่ ริง นักวิจัยด้านคุณภาพอากาศ ย้ำเตือนเรื่องการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ โดยบอกว่า หากเราใช้สเปรย์ละอองลอย (aerosol spray) ทำความสะอาด สิ่งนี้อาจไปเพิ่มปัญหาฝุ่นละออง อันเป็นส่วนประกอบของมลพิษทางอากาศให้กับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเกี่ยวกับการเลือกใช้สารเคมีในการทำความสะอาดที่พักอาศัยของเราด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: