นวัตกรน้อยแห่งระยอง รีไซเคิลเปลือกหอยทำกระถาง สร้างรายได้ให้ชุมชน

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 ต.ค. 2567 | อ่านแล้ว 8049 ครั้ง

นวัตกรน้อยแห่งระยอง รีไซเคิลเปลือกหอยทำกระถาง สร้างรายได้ให้ชุมชน

โรงเรียนวัดถนนกะเพรา จ.ระยอง โชว์ศักยภาพนักเรียนสร้างสรรค์นวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น ผลิตกระถางต้นไม้จากเปลือกหอย ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน คว้ารางวัลระดับประเทศ พร้อมปั้นนวัตกรน้อยผ่านหลักสูตร "6 ชั้นเรียน 6 อาชีพ" ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

เมื่อ 3 ปีที่แล้วทางรายการ 1 ในพระราชดำริ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD และมูลนิธิอานันทมหิดล ได้เคยนำเสนอเรื่องของโรงเรียนวัดถนนกะเพรา อ.แกลง จ.ระยอง ที่มีความตั้งใจในการนำนวัตกรรมด้านการศึกษามาส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กประยุกต์ใช้ในการเรียน สร้างหลักสูตรที่ผสมผสานระหว่างโลกาภิวัฒน์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ปลดล็อคข้อจำกัดทางการศึกษา ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบันทางโรงเรียนก็ได้สร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลาย ก่อให้เกิดนวัตกรน้อยเพิ่มขึ้นหลายคน และได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงาน ทำให้เห็นถึงพลังการศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประจำปี 2549 กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทางโรงเรียนวัดถนนกะเพรา อ.แกลง จ.ระยอง ได้มีการพัฒนาที่แสดงให้เห็นว่าเป็นโรงเรียนคุณภาพ ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้อย่างแท้จริง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ได้รับรางวัลในระดับประเทศ อาทิ รางวัลสถานศึกษาพระราชทาน, รางวัลโรงเรียนลูกโลกสีเขียว, โรงเรียนศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ โดย 90% เป็นกิจกรรมที่เด็กได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นโครงการปลูกผัก (สวนผักของพ่อ), เห็ดแปลงร่าง, หอยนางรม 3 รส, น้ำปลา, หอยจ๊อหรรษา ฯลฯ โดยทุกกิจกรรมถูกนำมาแทรกซึมกับการเรียนรู้ในห้องเรียน เป็นหลักสูตรสมรรถนะที่นำมาเรียนรู้คู่กับหลักสูตรแกนกลาง ทำให้นักเรียนได้รู้จริงรู้เป็นทำเป็นปฎิบัติจริง และสามารถนำไปสื่อสารกับประชาชนทั่วไปได้ นอกจากนี้ยังมีการระดมทุน ระดมแรง ระดมทรัพย์ จากคนในชุมชนที่ได้มาช่วยผลักดันให้นักเรียนได้เรียนรู้ มีวิชาชีพเป็นทักษะติดตัวไปกับการทำงาน ซึ่งจะทำให้เขาเป็นผู้นำความรู้ด้วยตัวเอง เรียนรู้การทำงานเป็นทีม กลายเป็นผู้นำในห้องเรียนหรือของชุมชนต่อไปในอนาคต”

ด้าน น.ส.ปวีณา พุ่มพวง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดถนนกะเพรา อ.แกลง จ.ระยอง ได้เปิดเผยว่า “ปัจจุบันทางโรงเรียนยังคงใช้หลักสูตรเดิมคือ 6 ชั้นเรียน 6 อาชีพ โดยยึดพื้นที่เป็นฐานคือทั้งในโรงเรียนและพื้นที่ของชุมชน ซึ่งรวมถึงตัวบุคคลคือปราชญ์ชาวบ้าน ที่จะมาช่วยสนับสนุนในแต่ละฐาน ที่จะเปลี่ยนไปคือความเข้มข้นและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้รับเพิ่มเติมจากภายนอก โดยชั้น ป.1 จะเป็นฐานสวนผักของพ่อ, ป.2 จะเป็นเรื่องเห็ดแปลงร่าง, ป.3 เป็นเรื่องมหัศจรรย์ใบขลู่, ฐานของพี่ ป.6 เป็นเรื่องหอยจ๊อหรรษา แต่ที่ภาคภูมิใจมากจะเป็นโครงงานของ ป.4 ซึ่งแต่เดิมจะเป็นฐานเรื่องหอยนางรม โดยเมื่อเด็กได้ลงพื้นที่และเห็นเปลือกหอยกองอยู่ จึงได้มีความคิดว่านอกจากเอามาทำหอยนางรม 3 รสแล้วจะสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง ทางคุณครูจึงเสนอแนะว่าเปลือกหอยนั้นมีแคลเซียมคาร์บอเนตช่วยในการเติบโตของพืช และเปลือกที่แข็งนั้นน่าจะนำมาแทนปูนซีเมนต์หรือทรายได้ จึงเกิดการทดลองขึ้นมา ซึ่งปรากฎผลว่าสามารถทำได้จริงๆ นักเรียนจึงเอาเปลือกหอยมาตำให้ละเอียดด้วยครกแล้วนำมาเป็นส่วนผสมในการทำซีเมนต์ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์กระถางต้นไม้ ที่ถือว่าเป็นการนำสิ่งของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเมื่อทางชุมชนได้เห็นก็เกิดไอเดีย นำมาซึ่งความช่วยเหลือจากกรมประมง ด้วยการมอบเครื่องอัดบดเปลือกหอย เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีมากขึ้น จนกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ในชุมชนขึ้นมา โดยโครงงานฯ ดังกล่าวได้รับรางวัลมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ได้รับรางวัลที่ 1 การประกวดโครงการวิทยาศาสตร์ระดับเขตพื้นที่ ได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลที่ 3 ในการแข่งขันระดับประเทศ ในส่วนของ ป.6 ซึ่งเป็นฐานเรื่องปู ได้ทำหอยจ๊อหรรษา ก็ได้เกิดความคิดในการนำกระดองและเปลือกของปูมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หลังจากระดมความคิดร่วมกับคุณครู จึงพบว่าในเปลือกปูมีสารชนิดหนึ่งที่จะช่วยชะลอการหมดอายุของผักและผลไม้ โดยโครงงานฯ นี้ ได้รับรางวัลที่ 2 ระดับเขตพื้นที่”

กลับมาที่ ดร.รัตนา แซ่เล้า ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ต่อสู้ความขาดแคลนด้วยพลังบวก นำทรัพยากรหรือสิ่งที่มีอยู่รอบตัวมาผลักดันให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ขึ้นได้ ต้องขอชื่นชมท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงการได้รับเป็นสถานศึกษาพระราชทาน โรงเรียนถ้าได้ผู้นำที่มีคุณภาพ สามารถระดมกำลังจากทุกภาคส่วน สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น เกิดการเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมกับชุมชน นำสิ่งใหม่หรือที่มีอยู่แล้วมาสร้างสรรค์ เปลี่ยนแปลง หรือต่อยอด ก็จะนำพานักเรียนให้ประสบความสำเร็จในที่สุด”

สำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มเติม สามารถชมคลิปการสัมภาษณ์ได้จากรายการ 1 ในพระราชดำริ ตอนความฝันอันสูงสุด นวัตกรน้อยเพื่อชุมชน ซึ่งทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD ร่วมกับมูลนิธิอานันทมหิดล ได้จัดทำขึ้น โดยคลิกไปที่ https://www.youtube.com/watch?v=6zntkhtRCNk ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: