ชาวบ้านกังวลปัญหาควันพิษจากโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช (เบนาร์นิวส์) 23 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 6621 ครั้ง

รายงานพิเศษจากสื่อ 'เบนาร์นิวส์' เผยการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมรีไซเคิลเยอะที่สุดอยู่ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และมีการกระจายตัวไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดนี้ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง กำลังสร้างความกังวลจากควันพิษที่ปล่อยมาจากโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ | ที่มาภาพ: AP (อ้างในเบนาร์นิวส์)

เอ๋ รู้สึกมึนงงศีรษะทุกครั้งที่ได้กลิ่นคล้ายยาฆ่าแมลงลอยมาจากปล่องควัน ภายในโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านที่เธอพักอาศัยในตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

เอ๋ เล่าว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนายทุนจากประเทศจีนเข้ามาทำธุรกิจโรงงานคัดแยกฯและโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่หลายโรงงาน โดยเริ่มต้นจากการมาขอเช่าพื้นที่ พอหมดสัญญาเช่าก็ขยับขยายไปซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างโรงงานของตนเอง ขณะที่โรงงานบางแห่งย้ายฐานไปประกอบกิจการในพื้นที่อื่นหรือจังหวัดใกล้เคียง

“ตอนแรกมีไม่กี่โรงงาน ตอนนี้ขยายข้ามหมู่บ้านไปหลายพื้นที่ มันกระจายออกไปเยอะ” เอ๋ เป็นชาวบ้านที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว วัย 53 ปี ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ โดยขอสงวนชื่อและนามสกุลจริงเพื่อความปลอดภัย

“เป็นการปลูกสร้างโรงงานเพื่อการปล่อยเช่า คนจีนปลูกเอง เพราะเห็นชื่อเขาเป็นเจ้าของที่ดิน เขาเป็นนักธุรกิจบินเข้าออกประเทศไทย-จีน เป็นประจำ ไปหาคนที่สนใจทำธุรกิจตรงนี้มาดูสถานที่ แล้วขนของนำเข้ามาคัดแยกกันที่นี่ มีคนทำงานพร้อมส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว” เอ๋ กล่าวพร้อมระบุว่า มีนายทุนจีนซื้อที่ดินติดกับสวนของเธอทำโรงงานคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อหลายปีก่อน

จากแนวโน้มการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ ชาวบ้าน ต่างออกมาเรียกร้องถึงผลกระทบจากสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น แคดเมี่ยม และไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนกว่า 400 รายการ ในปี 2563

“เราสังเกตเห็นการเติบโตของ Chinese Money ในธุรกิจนี้ มันขยายตัวเร็วมากนับจากปีที่จีนบังคับห้ามนำขยะเข้าไปในจีน แต่ประเทศไทยรับเข้ามาเยอะ เพราะกฎหมายไทยแก้ให้ไปทางนั้นด้วย” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์

“พอต่างประเทศเขาปิด ประเทศไทยก็เปิดให้มันก็ทะลักเข้ามา” เพ็ญโฉม กล่าวเพิ่มเติม

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านมลพิษและขยะอุตสาหกรรมมานานกว่า 20 ปี รวมรวมข้อมูลจากกรมศุลกากร กระทรวงพานิชย์ พบว่าในช่วง 10 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนตุลาคม ปี 2566 ประเทศไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศจำนวน 56,154 ตัน, หลังจากนำเข้า จำนวน 58,877 ตัน ในปี 2562 ตลอดทั้งปี, เมื่อเทียบกับการนำเข้าเพียง 2,824 ตัน ในปี 2560 ก่อนที่รัฐบาลจีนจะประกาศห้ามนำเข้าเด็ดขาด โดยประเทศผู้ส่งออกในลำดับต้น ๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น

ข้อมูลจาก มูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการรีไซเคิลประเภท106 จำนวน 993 แห่ง และมีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลประเภท105 จำนวน 1,613 แห่ง รวมแล้วกว่า 2,600 แห่ง ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี

เราพบการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมรีไซเคิลเยอะที่สุดอยู่ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และมีการกระจายตัวไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดนี้ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง” เพ็ญโฉม ระบุ

Picture1.png

เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจค้นโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ใน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 (บก.ปอศ.)

โรงงานในพื้นที่เกษตรกรรม

ห่างจากหมู่บ้านที่เอ๋อาศัยอยู่ออกไปราว 1 กิโลเมตร มีโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนพื้นที่เกษตรกรรมทำไร่มันสำปะหลัง เมื่อไหร่ก็ตามที่โรงงานแห่งนี้เดินเครื่องเปิดเตาหลอมขยะ ชาวบ้านจะได้กลิ่นฉุนเหมือนยาฆ่าแมลงลอยตามลมมาอย่างตลบอบอวน หลายคนมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่ออก

“ชาวบ้านรวมตัวกันประท้วงหน้าโรงงาน คนจีนเจ้าของโรงงานออกมาขอโทษ บอกว่าจะปรับปรุงเตาหลอม เครื่องจักร และต่อปล่องควันให้สูงขึ้น” เอ๋ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายปีก่อน

“ตอนนี้ยังได้กลิ่นอยู่ แม้ว่ามันจะไม่ได้เหม็นรุนแรงหนักเหมือนก่อน แต่คนที่อยู่ใกล้ติดกับโรงงานยังได้กลิ่นมากเวลาลมพัดต่ำลงมา” เอ๋ กล่าว

เอ๋ ยังกล่าวต่อด้วยว่า ชาวบ้านที่นี่ต่อสู้ดิ้นรนกันมากว่า 2 ปี แต่ก็ทำอะไรไม่ได้จนเขาชินชาและทำใจว่า เราต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะเขาก็ไม่รู้จะย้ายไปไหนเหมือนกัน ส่วนตัวเธอนั้นซื้อบ้านหลังใหม่นอกพื้นที่ไว้แล้ว แต่พ่อกับแม่ยืนยันจะอยู่บ้านหลังนี้ต่อไป

จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิบูรณะนิเวศพบว่า ในพื้นที่หมู่ 9 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม มีการออกใบอนุญาตโรงงานคัดแยกขยะประเภท105 และโรงงานรีไซเคิลประเภท106 รวมกันมากกว่า 30 ใบ โดยปรากฏชื่อบริษัทและบุคคล เพียงไม่กี่กลุ่มเป็นผู้ขอใบอนุญาต

“เราพบชื่อบริษัทแห่งหนึ่งจดทะเบียนได้ใบโรงงานคัดแยกประเภท105 จำนวน 6 ใบ และใบโรงงานรีไซเคิลประเภท106 จำนวน 9 ใบ และยังมีชื่อบุคคลหนึ่งได้รับใบอนุญาตโรงงานรีไซเคิลประเภท106 จำนวน 5 ใบ จำเป็นไหมที่บริษัทหนึ่งหรือบุคคลหนึ่งต้องมีใบอนุญาตเยอะขนาดนี้” ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโสและที่ปรึกษาชุมชนมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งข้อสังเกต

ดาวัลย์ แสดงเอกสารที่ปรากฏชื่อบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 15 ใบ ที่ต่อมามีการแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทเป็นทอด ๆ และบางใบอนุญาตมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้ง

“นี่คือแพทเทิร์นของธุรกิจการจัดสรรที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมรีไซเคิล เพราะมันมีทั้งที่ดิน ตัวอาคารที่เขาจะสร้าง และมีใบอนุญาต เพื่อรองรับทุนจากประเทศจีนให้เข้ามาเช่าซื้อ หรือประกอบกิจการ หรือเทคโอเวอร์” ดาวัลย์ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์

TH-waste2.jpgทีมวิจัยจากมูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมกับสมาคมอาร์นิกาสาธารณรัฐเช็กลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดิน ตะกอนดิน ไข่เป็ด รอบโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อนำไปตรวจหาสารมลพิษตกค้าง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 (สมาคมอาร์นิกา)

เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังระบุด้วยว่า แม้ประเทศไทยประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแล้ว แต่เป็นการห้ามเพียงบางรายการไม่ได้ครอบคลุมทุกรายการอย่างเด็ดขาด เปิดโอกาสให้มีช่องว่างในการนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย รวมถึงการลักลอบนำเข้าโดยไม่แจ้งพิกัดศุลกากร หรือ แจ้งเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่

ดาวัลย์ แสดงคลิปวิดิโอที่ชาวบ้าน หมู่ 9 ต.เกาะขนุน บันทึกไว้ขณะที่รถตู้คอนเทนเนอร์ ประมาณ 20 คัน วิ่งเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งเลขทะเบียนรถบรรทุกและเลขตู้คอนเทนเนอร์ ตรงกับสำเนาเอกสารการนำเข้าที่ระบุว่าเป็น "Mixed Metals" หรือ โลหะผสม

“มีการเลี่ยงไม่ใช้พิกัดศุลกากร โดยใช้คำว่า Mixed Metals แต่แท้จริงแล้ว เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศ มันเข้ามาทีละเยอะ ๆ เป็นของล๊อตใหญ่ ๆ ไม่มีการควบคุม” ดาวัลย์ ระบุขณะแสดงคลิปวิดิโอ

“ประเทศไทยเปิดรับมากไป และอันนี้คือฐานใหม่ที่ย้ายมาจากจีน” ดาวัลย์ กล่าวเพิ่มเติม

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทีมวิจัยจากมูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมกับสมาคมอาร์นิก้า สาธารณรัฐเช็ก ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดิน ตะกอนดิน ฝุ่น และไข่เป็ด ในชุมชนรอบโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการพบสารมลพิษตกค้างยาวนานจำพวกไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยพบค่าปนเปื้อนสูงสุดในตัวอย่างไข่เป็ด

ตรวจเข้มโรงงานขยะพิษผิดกฎหมาย

ในเดือนกันยายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ เข้าตรวจค้นบริษัทสองแห่ง ใน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และอีกแห่งหนึ่งใน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่ใช้เป็นสถานที่เก็บและคัดแยกขยะรวมกันมากกว่า 1,000 ตัน พบขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อว่าลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศโดยผิดกฎหมายปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก

“ผมสนใจเรื่องการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผมมองว่าเราไม่ควรเป็นที่ทิ้งขยะของใคร มันไม่แฟร์ ประเทศอื่นไม่ควรทำแบบนี้กับประเทศไทย” พ.ต.อ. ชัชวาล ชูชัยเจริญ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์

ที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบริษัทสองแห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน พบว่ามีส่วนที่ขยายการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต พบอุปกรณ์ไฟฟ้า แผงวงจร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่กองอยู่บนพื้น และที่บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ๊กสีขาวรวมแล้วหลายร้อยกิโลกรัม เชื่อว่าเป็นขยะที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย

สำหรับการตรวจค้นโรงงานพื้นที่กว่า 10 ไร่ ที่ อ.พนมสารคาม พบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบตเตอรี่ โน้ตบุ๊ก จอคอมพิวเตอร์ จนถึงเศษซากชิ้นส่วนที่บดแล้วบรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ๊กจำนวนมาก และขณะตรวจค้นพบรถตู้คอนเทนเนอร์ที่เตรียมขับออกจากโรงงาน ภายในตู้คอนเทนเนอร์มีถุงบิ๊กแบ๊กบรรจุแท่งทองแดงที่ผ่านการหลอมแล้วเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อเตรียมส่งออก โดยแต่ละถุงมีตัวอักษรภาษาจีนและภาษาอังกฤษกำกับ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า โรงงานแห่งนี้ได้รับอนุญาตให้คัดแยกขยะธรรมดาเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ไปตรวจเจอขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก จึงเชื่อว่ามีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์

“โรงงานแรกที่ปทุมธานีมีใบอนุญาตประกอบกิจการขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่โรงงานที่สองและที่สามไม่มีใบพวกนี้เลย มันผิดตั้งแต่ต้น” พ.ต.อ. ชัชวาล กล่าว

TH-waste3.pngเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์บรรจุถุงที่เต็มไปด้วยแท่งทองแดงที่ผ่านการหลอมแล้ว ภายในโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 (บก.ปอศ.)

โดยเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ. โรงงานฯ, ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต, ติดตั้งเครื่องจักรไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต และมีการระบายอากาศเสียจากกระบวนการผลิตโดยไม่ผ่านระบบขจัดมลพิษทางอากาศ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ยึดและอายัดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 1,960 ชิ้น, โน้ตบุ๊ก จำนวน 60 ชิ้น และเศษชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อีกกว่า 1 ตัน เชื่อว่าเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย ด้านตัวแทนบริษัทอ้างว่าซื้อมาจากผู้ขายในประเทศ แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมาแสดงได้

พ.ต.อ. ชัชวาล ระบุว่า จากนี้ไปจะมีปฏิบัติการเข้าตรวจค้นโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องสงสัยว่าทำผิดกฎหมายที่เข้มข้นขึ้น

“เราจะเข้าไปตรวจค้นพร้อมหมายศาลโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าถ้ามีหลักฐานถึง เพราะฉะนั้นเขาต้องระวังตัวว่ามันคุ้มกับของที่เขาแอบซ่อนไหม หรือคุ้มกับการโดนดำเนินคดีหนัก ๆ ถึงขั้นปิดโรงงานไหม” พ.ต.อ. ชัชวาล หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ระบุ

“เราจะเริ่มทำให้เห็น เขาจะได้กังวลเราซะที” พ.ต.อ. ชัชวาล กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: