นักวิชาการชี้ 'คาร์บอนเครดิต' เป็นคำลวง ไม่ได้แก้ปัญหาโลกร้อน-สร้างความชอบธรรมให้บริษัทปล่อยมลพิษ ด้านภาคประชาชนกังวลกระทบสิทธิชุมชนในการจัดการป่า ขณะที่กรมป่าไม้ยันเป็นโอกาสให้ธุรกิจสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว พบป่าชุมชนกว่า 200 แห่งใน 18 จังหวัด กำลังกลายเป็นป่าคาร์บอน
กลไก ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือหลัก ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย (Kasikorn Research Center) ระบุว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2559 (ค.ศ. 2016) จนถึงเมษายน 2567 รวมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 3,258,033 tCO2eq มูลค่าการซื้อขายรวม 292 ล้านบาท คิดเป็นราคาเฉลี่ยตันละ 89.6 บาท
ช่วงต้นปี 2566 (ค.ศ. 2023) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบออกกฎหมายอนุบัญญัติ (Subordinate Legislation) ตาม พรบ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 [Community Forest Act, B.E. 2562 (2019)] ที่มีการกำหนดให้ภาคธุรกิจสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ‘ป่าชุมชน’ (Community Forest) [ซึ่งหมายถึงพื้นที่ป่า ที่ชุมชนได้รับอนุญาติจากรัฐให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการได้] ในการขายคาร์บอนเครดิต
นางนันทนา บุณยานันต์ (Mrs.Nantana Boonyanan) ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน (Community Forest Management Office) กรมป่าไม้ (Royal Forest Department) ได้กล่าวไว้ในประชุมออนไลน์เรื่อง 'โอกาสของป่าชุมชน คนดูแลป่า บนเส้นทางคาร์บอนเครดิต' เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าป่าชุมชนจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวถึง 55% เนื่องจากป่าไม้เป็นภาคส่วนเดียวที่ไม่ได้ปล่อยคาร์บอน แต่ช่วยดูดกลับคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรม ทำให้เอกชนสนใจมาสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ป่า
“คาร์บอนเครดิตในภาคป่าชุมชน เป็นโอกาสชุมชน ภาคธุรกิจจะเข้ามาเสริมหนุนป่าชุมชน มีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทำเอกสาร วางแปลง กรมป่าไม้ออกกฎหมายแบ่งปัน แต่ชุมชนต้องได้รับอนุมัติตั้งป่าชุมชน ชาวบ้านมีหน้าที่ดูแลป่า มีสิทธิรับประโยชน์จากป่า ทั้งผลผลิต ท่องเที่ยว การแบ่งปันคาร์บอนเครดิต” ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กล่าวเชิญชวนชุมชนต่าง ๆ ไว้ในการประชุมออนไลน์
‘ฟอกเขียว’ ให้เอกชนหรือไม่?
"คาร์บอนเครดิตเป็นคำลวง ไม่ได้ลดภาวะโลกร้อน โลกเดือด เพราะไม่แก้ปัญหาที่สาเหตุ อีกทั้งสร้างความชอบธรรมให้บริษัทที่ปล่อยคาร์บอน สามารถปล่อยคาร์บอนได้ต่อไป" บัณฑิตา อย่างดี นักวิชาการจากศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา กล่าว เธอยังชี้ว่าการให้เอกชนมีส่วนร่วมในโครงการคาร์บอนเครดิต ถือว่าเป็นการฟอกเขียวให้กับบริษัทเอกชนเหล่านั้นอย่างชัดเจน
“คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ เหมือนเป็นการสัมปทานป่าไม้รูปแบบใหม่" บัณฑิตา กล่าว ทั้งนี้ไทยได้ยกเลิกการให้สัมปทานป่าไม้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) แล้ว
บัณฑิตา ได้ยกตัวอย่างจากการศึกษาของเธอ ที่พบว่าสัญญาโครงการคาร์บอนเครดิตของชุมชนแห่งหนึ่งในภาคใต้ที่ทำร่วมกับบริษัทแห่งหนึ่ง มีลักษณะไม่เป็นธรรม ละเมิดต่อสิทธิชุมชน สร้างภาระให้กับชุมชนเกินสมควร เช่น ในสัญญาระบุว่าผลงานหรือทรัพย์สินทางปัญญาใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานภายใต้สัญญาให้บริษัทเป็นผู้ทรงสิทธิ เป็นต้น
แม้จะกำหนดให้ชุมชนมีหน้าที่รับผิดชอบในการฟื้นฟูป่า ส่วนการป้องกันการบุกรุกป่าชายเลนทั้งที่อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก แต่สัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตในโครงการนั้นกลับไม่เป็นธรรม เพราะบริษัทได้ส่วนแบ่งไปถึง 70% ชุมชนได้ส่วนแบ่งเพียง 20% เท่านั้น และส่วนที่เหลืออีก 10% แบ่งปันให้กับรัฐ
“ควรมีการทบทวนนโยบายคาร์บอนเครดิต โดยเฉพาะภาคป่าไม้ และควรทบทวนสัญญาคาร์บอนเครดิต หากชุมชนใดที่เซ็นสัญญาแล้วประสงค์จะยกเลิก สามารถยกเลิกได้” บัณฑิตา กล่าว
ในภาพรวม บัณฑิตามองว่าคาร์บอนเครดิต เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน จากพลังงานฟอสซิล ไปสู่พลังงานที่เป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยควรมีมาตรการให้ผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ลดละเลิกการปล่อยก๊าซ เช่น เก็บภาษีทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซ เก็บภาษีทางอ้อมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือปริมาณการใช้ไฟฟ้า
"ในต่างประเทศใช้หลายวิธีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งการสนับสนุนให้ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง รวมทั้งมาตรการทางภาษี แต่ว่าไทยในตอนนี้กลับมุ่งเน้นไปที่เรื่องคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียว” บัณฑิตา กล่าว
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนกับรัฐนำพื้นที่ป่า เข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตมากขึ้น ตัวอย่างจากการศึกษาของกรีนพีซ (ประเทศไทย) พบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT Public Company Limited) และบริษัทในเครืออีก 7 บริษัท ตั้งเป้าหมายในระยะ 10 ปี ที่จะปลูกป่าชดเชยคาร์บอนถึง 2 ล้านไร่
ช่วง พ.ศ. 2565-2566 (ค.ศ. 2022-2023) บริษัท ปตท. ได้ปลูกป่าไปแล้วเกือบ 1 แสนไร่ (160,000,000 ตารางเมตร) ปลูกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (Conservation Forests) ประมาณ 9 หมื่นไร่ (144,000,000 ตารางเมตร) และในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (National Forest Reserves Areas) ประมาณ 1 หมื่นไร่ (16,000,000 ตารางเมตร) โดยทางบริษัทเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการปลูกป่าเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 10 ปี หลังจากการปลูกเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทก็ได้นำโครงการปลูกป่าไปขึ้นทะเบียนกับทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (Thailand Greenhouse Gas Management Organization - TGO) เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิต
ข้อมูลของกรมป่าไม้ (Royal Forest Department) แสดงให้เห็นว่าในช่วง พ.ศ. 2565-2566 (ค.ศ. 2022-2023) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (National Forest Reserves Areas) มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนถึง 12 บริษัท และปลูกป่าไปแล้วเกือบ 3 แสนไร่ (480,000,000 ตารางเมตร)
"สามารถกล่าวได้ว่า ระเบียบว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมสามารถจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการของตนเองได้ … นั่นเท่ากับว่าภาคอุตสาหกรรมได้รับใบอนุญาตให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ‘license to pollute’ จากกิจกรรมปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่า แทนที่จะมุ่งไปที่การจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงสะอาดมาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโลกร้อน" ระบุไว้ในงานศึกษาของกรีนพีซ
"ภาคประชาชนให้ความเห็นว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นการฟอกเขียว โดยการแย่งยึดทรัพยากรของชาวบ้านไปให้กลุ่มทุน ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่ได้แก้ปัญหาโลกร้อนแต่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทุนที่ก็ยังคงได้สิทธิในการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง ด้วยการสร้างกลไกการตลาดเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น" นายสนธิ คชวัฒน์ (Sonthi Kotchawat) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว วิพากษ์นโยบายคาร์บอนเครดิตไว้เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2567
หวั่นกระทบสิทธิชุมชน
“เรากังวลว่าการเดินหน้าโครงการคาร์บอนเครดิตนี้ จะกระทบต่อขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชุมชนของชาวบ้าน” พชร คำชำนาญ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) กล่าว
พชร ระบุถึงสถานการณ์ในภาคเหนือที่เริ่มมีการนำป่าชุมชนหลายแห่งเข้าโครงการคาร์บอนเครดิต แม้ปัจจุบันโครงการเหล่านั้นจะยังไม่มีผลกระทบให้เห็นชัดเจน แต่ก็มีความกังวลว่าจะเป็นการกระทบต่อการเรียกร้องสิทธิชุมชน ในการให้สิทธิท้องถิ่นและชาวบ้านจัดทรัพยากรป่าไม้
“เราเรียกร้องสิทธิ์ที่จะจัดการทรัพยากรที่แท้จริง ไม่ใช่ค่าตอบแทนจากการดูแลป่าให้กับบริษัทที่ปล่อยมลพิษ โดยเฉพาะชาวบ้านกลุ่มชาติพันธ์ซึ่งอาศัยพึงพิง ใช้พื้นที่ป่าในการดำรงชีวิตสูง สิทธิในการเข้าถึงป่าจึงมีคุณค่ากับพวกเขามากกว่า เมื่อเทียบกับเม็ดเงินจากส่วนแบ่งหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากโครงการคาร์บอนเครดิต ยังไม่มีอะไรที่รับประกันว่าต่อไปชาวบ้านจะเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าได้เหมือนเดิมไหม” พชร กล่าว
P-move เคยออกแถลงการณ์ 'คัดค้านนโยบายขายคาร์บอนเครดิต ฟอกเขียวกลุ่มทุน แย่งยึดที่ดินคนจน' ชี้ว่าการเดินหน้านโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยแถลงไว้จะสร้างความระส่ำระส่ายต่อหลากหลายชุมชนท้องถิ่นที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรมากว่าหลายทศวรรษ
"เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายคาร์บอนเครดิต เพราะกำลังเอื้อกลุ่มทุนให้ยังทำลายล้างโลกนี้ต่อไปได้ ฟอกตัวคนบาปให้กลับมาขาวสะอาด ฟอกเขียวให้กลุ่มทุนยังเดินหน้าลิดรอดสิทธิประชาชน กอบโกยผลประโยชน์บนผืนดินนี้ต่อไปอย่างมูมมาม ... และเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านต้องเร่งเดินหน้าสังคายนากฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดินทั้งระบบ คืนความเป็นธรรม คืนความเป็นคนให้กับประชาชน" ระบุไว้ในแถลงการณ์ของ P-move
อรนุช ผลภิญโญ (Oranuch Pholpinyo) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (Network for Northeast Land Reform) กล่าวว่าในภาคอีสาน เท่าที่ราบก็เริ่มมีการเดินหน้าโครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนจากบ้างแล้ว และภาคประชาชนในพื้นที่ก็มีความกังวลใจในประเด็นนี้
"เท่าที่ทราบคือ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าชุมชนที่มีจำนวนเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ (1,600,000 ตารางเมตร) ในภาคอีสานเองพื้นที่ป่าชุมชนขนาดใหญ่ก็อาจจะมีไม่มากนัก ซึ่งหากจะทำโครงการคารืบอนเครดิตต้องรวมกันเป็นแปลงใหญ่เพื่อให้เกิดความคุ้มทุน" อรนุช กล่าว
อรนุชมองว่าความห่วงกังวลคือโครงการคาร์บอนเครดิตจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนมากกว่าชุมชนที่อยู่ในฐานะเป็นผู้ดูแลจัดการป่าชุมชนในพื้นที่ นอกจากนี้ชุมชนอาจจะถูกจำกัดสิทธิ์การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไข และระเบียบที่รัฐกำหนด และที่ผ่านมาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นส่วนใหญ่คือภาคอุตสาหกรรม และประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่กลุ่มทุนเหล่านี้ไม่เคยได้แสดงจุดยืนว่าต้องการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
"เหล่านี้ไม่รวมในพื้นที่อนุรักษ์ที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และนำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างชุมชนกับรัฐที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาก็จะเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น และเท่าที่ทราบจากข้อมูลคือการค้าคาร์บอนเครดิตเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน" อรนุช กล่าว
ภาพรวมป่าไม้ในไทยลดลง
ที่มาภาพ: กรมป่าไม้
ไทยถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่พื้นที่ป่าไม้ลดลง ข้อมูลจากกรมป่าไม้ (Royal Forest Department) ชี้ว่าในปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 138,566,875 ไร่ (221,707,000,000 ตารางเมตร) หรือคิดเป็น 43.21% ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) มีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียง 101,818,155.76 ไร่ (162,909,049,216 ตารางเมตร) หรือคิดเป็น 31.47% ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น
เมื่อพิจารณาเฉพาะ ‘ป่าชุมชน’ พบว่าช่วงหลังการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าชุมชนชะลอตัวลง จากข้อมูลที่รวบรวมโดย The Glocal พบว่าภาพรวมระหว่าง พ.ศ. 2556-2565 (ค.ศ. 2013-2022) แม้ว่าตัวเลขพื้นที่ป่าชุมชนจะเพิ่มขึ้นจาก 3,545,035 ไร่ (5,672,056,000 ตารางเมตร) ใน พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) เป็น 6,230,622 ไร่ (9,968,995,200 ตารางเมตร) ใน พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) แต่หากพิจารณาตามช่วงเวลาแล้ว พบว่าการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอยู่ในช่วง พ.ศ. 2556-2561 เท่านั้น (ค.ศ. 2013-2018)
ใน พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) พื้นที่ป่าชุมชนในไทยขึ้นไปแตะที่ระดับสูงสุดคือ 6,340,799 ไร่ (10,145,278,400 ตารางเมตร) แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา แนวโน้มพื้นที่ป่าชุมชนกลับลดลง โดยในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) (ค.ศ. 2018-2022) ลดลงเฉลี่ยปีละ 22,035 ไร่ (35,256,000 ตารางเมตร)
ดลวรรฒ สุนสุข (Donlawat Sunsuk) จาก The Glocal กล่าวว่าจากการค้นคว้าเรื่องนี้ พบว่าหลังพื้นที่ป่าชุมชนในไทยเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) แต่จากนั้นกลับลดลง สันนิฐานได้ว่าชุมชนที่มีความพร้อมและศักยภาพในการจัดการป่าได้เข้าร่วมโครงการจนเกือบครบทุกพื้นที่แล้ว ส่วนชุมชนอื่น ๆ นั้นอาจจะมีข้อจำกัด
“อาจมีข้อจำกัดสองประการ ประการแรก คือ ขาดศักยภาพหรือความพร้อมในการบริหารจัดการป่าชุมชน ประการที่สอง คือ อาจติดขัดกับกฎระเบียบและข้อบังคับตาม พรบ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ก็เป็นได้ แต่นั่นเป็นสถานการณ์ก่อนที่รัฐจะผลักดันโครงการขายคาร์บอนเครดิตอย่างจริงจัง” ดลวรรฒ กล่าว
ข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (Center for Ecological Awareness Building) ณ เดือนกันยายน 2566 พบว่าป่าชุมชน 211 แห่ง ในพื้นที่ 18 จังหวัด กำลังกลายเป็นป่าคาร์บอน
“จากนี้ไป ภาครัฐอาจประกาศพื้นที่ป่าชุมชนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ป่าชุมชุนเหล่านั้นทำโครงการคาร์บอนเครดิตร่วมกับบริษัทเอกชน ส่วนชุมชนที่อยากจัดการป่าด้วยตนเอง แต่ไม่ประสงค์ขายคาร์บอนเครดิตและไม่มีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมหาผลประโยชน์นั้น พวกเขาจะถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่ ประเด็นนี้คงต้องช่วยกันจับตาต่อไป” ดลวรรฒ กล่าว.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ