เกษตรอเมริกันพร้อมรับเทคโนโลยีอัตโนมัติ แม้ยังคลางแคลงใจ

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 2284 ครั้ง

เกษตรอเมริกันพร้อมรับเทคโนโลยีอัตโนมัติ แม้ยังคลางแคลงใจ

สื่อ VOA เผยภาคเกษตรอเมริกันจ่อรับเทคโนโลยีอัตโนมัติ แม้เกษตรกรยังคลางแคลงใจ ปัจจุบันตลาดสำหรับอุปกรณ์ทำฟาร์มอัตโนมัติทั่วโลกมีมูลค่าเกินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์แล้วและยังขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการจากตลาดสหรัฐฯ นั้นคิดเป็นมูลค่าราว 30% ของความต้องการทั่วโลก | ที่มาภาพ: VOA

VOA รายงานเมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2567 ว่าปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เอื้อให้เครื่องยนต์ทำงานอัตโนมัติซึ่งกำลังเป็นสิ่งที่มีผู้นำมาลองใช้งานมากมาย แม้แต่ในงานด้านการเกษตรในบริเวณแถบตะวันตกตอนกลางของสหรัฐฯ (Midwest) และตัวอย่างของอนาคตของความก้าวหน้าทางการเกษตรที่ว่านี้ ก็คือ การใช้รีโมทซึ่งควบคุมได้จากปลายนิ้ว อย่างเช่น อากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กหรือโดรนในการพ่นน้ำยาบำรุงพืชและหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ทำหน้าที่หยอดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นตัวอย่างนวัตกรรมที่เดนนิส โบว์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริม จากศูนย์ Center for Digital Agriculture (CDA) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ทำการทดสอบอยู่

แต่แม้ความก้าวหน้าที่ว่านี้จะดูน่าสนใจไม่น้อย การเปลี่ยนความคิดของเหล่าเกษตรกรให้หันมาใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

โบว์แมน อธิบายว่า เกษตรกรมักมีความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยี และการจะทำให้พวกเขาสนใจได้ ก็ต้องแสดงให้เห็นว่า อุปกรณ์เหล่านี้ตอบโจทย์ต่าง ๆ ได้จริงเสียก่อน

ไบรอัน คอร์คิล เกษตรกรจากรัฐอิลลินอยส์ ที่ใช้แรงงานของตนเองและจากคนในครอบครัวเพื่อช่วยทำฟาร์ม มองว่า เทคโนโลยีนั้นจะสามารถช่วยรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ไม่น้อย

แต่ขณะที่ การใช้โดรนพ่นน้ำยาบำรุงพืช หรือใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อหว่านเมล็ดข้าวไรย์ระหว่างแถวที่ใช้ปลูกข้าวโพด สามารถช่วยประหยัดเวลาของคอร์คิลในการลงมือทำทุกอย่างด้วยตนเองได้อย่างแน่นอน เกษตรกรรายนี้กลับยังไม่สนใจที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้งาน

คอร์คิล กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของต้นทุน เพราะแม้จะเป็นระบบอัตโนมัติ เขาก็ยังต้องหาคนมาคอยเฝ้าติดตามการทำงานของเครื่องมือที่ว่าอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้ เดนนิส โบว์แมน จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ จึงเชื่อว่า การผสานเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ากับความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจเป็นหัวใจสำคัญที่จะสามารถดึงให้เกษตรกรหันมายอมรับและใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ได้สักวัน

“หนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญของ AI คือระบบอันชาญฉลาดที่จะช่วยวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้เราตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น” โบว์แมน จากศูนย์ CDA ยังชี้ว่า “ในขณะที่เรากำลังพยายามผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงโลกให้มากขึ้น จำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นและมีการใช้งานพื้นที่การเกษตรเยอะขึ้น เราจำต้องเพิ่มทั้งผลผลิตและประสิทธิภาพ”

การตัดสินใจต่าง ๆ ที่มีระบบ AI มาช่วยวิเคราะห์ ประโยชน์ที่ได้รับไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเหล่าเกษตรกรเท่านั้น แต่ผลเชิงบวกยังได้ขยายไปถึงทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทานของการเกษตรทั่วโลกด้วย

ในปัจจุบัน ตลาดสำหรับอุปกรณ์ทำฟาร์มอัตโนมัติทั่วโลกมีมูลค่าเกินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์แล้วและยังขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการจากตลาดสหรัฐฯ นั้นคิดเป็นมูลค่าราว 30% ของความต้องการทั่วโลกซึ่งคาดว่า จะเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ เนื่องมีความเป็นไปได้ ที่เหล่าเกษตรกรจะยอมรับการใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: