เปิดตัวเลข 4 จังหวัดนำร่องเปิดผับถึงตี 4 พบคนตายจากเมาแล้วขับพุ่ง 80%

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.พ. 2567 | อ่านแล้ว 3175 ครั้ง

เปิดตัวเลข 4 จังหวัดนำร่องเปิดผับถึงตี 4 พบคนตายจากเมาแล้วขับพุ่ง 80%

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุขในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดตัวเลข 4 จังหวัดนำร่องเปิดผับถึงตี 4 พบคนตายจากเมาแล้วขับพุ่ง 80% ชี้หากไร้การควบคุมตายเพิ่มอีก 10 เท่า

Hfocus รายงานเมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2567 ว่านพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุขในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ขอขอบคุณคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน และมีมติไม่เห็นชอบให้เพิ่มเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยยืนยันหลักการสำคัญว่า การพัฒนาเศรษฐกิจต้องไปคู่กับการพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ ประชาชนสุขภาพดี ได้รับความเสมอภาค และปราศจากภัยอันตรายที่ไม่จำเป็น

จากการติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว โดยขยายเวลาปิดสถานบริการในเวลาตี 4 ในพื้นที่สี่จังหวัดนำร่องได้แก่ กทม. เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และเกาะสมุย ซึ่งมีสถานบริการขึ้นทะเบียนประมาณ 1,800 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566 พบว่าได้สร้างผลกระทบชัดเจน โดยดูจากฐานข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในเดือนม.ค. 2567 ในพื้นที่นำร่อง รวม 205 ราย เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือนม.ค. 2566 ที่ยังไม่มีนโยบายดังกล่าว ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 49 ราย คิดเป็น 31 % หากวิเคราะห์เฉพาะช่วงเวลา 02.00-05.59 น. ที่ตรงกับช่วงเวลาที่ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังมีนโยบายพบการเสียชีวิต 18 รายเพิ่มจากปีก่อน 8 ราย หรือเพิ่มขึ้น 80% แนวโน้มนี้เหมือนกันทั้ง 4 จังหวัด ฉะนั้นจึงยืนยันได้ว่า นโยบายขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สถานบริการเกิดผลกระทบรุนแรงคือเพิ่มการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเวลาเช้าตรู่อย่างน้อยที่สุด 8 รายต่อเดือน หรือประมาณ 100 รายต่อปี

นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ควรสนับสนุนการขยายเวลาขายแอลกอฮอล์ให้กับร้านอาหารเพิ่มเติมอีก เพราะจะมีผลทำให้คนเสียชีวิตเพิ่มอีก 5-10 เท่า หรือประมาณ 500-1000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ไม่เพียงเฉพาะคนที่ดื่มเท่านั้น แต่อาจมีถึง 1 ใน 4 ที่เป็นชาวบ้านธรรมดา คนทำมาหากิน แม้กระทั่งตำรวจที่ปฏิบัติหน้า ต้องเสียชีวิตเพราะถูกคนเมาขับรถชน ยังไม่นับรวมที่พิการอีกจำนวนมาก ตนเห็นว่า รัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้โดยไม่ส่งเสริมการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการวิจัยต่างสอดคล้องกันว่าการดื่มแอลกอฮอล์แม้ไม่ถึงระดับมึนเมาแต่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ทำลายทรัพยากรบุคคลที่ควรสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ เกิดการทะเลาะวิวาทเป็นคดีความเพิ่มขึ้น ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น และเกิดหนี้สินครัวเรือนมากขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: