ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ CPF ย้ำนำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมาใช้ตั้งแต่ปี 59 แล้ว

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 3486 ครั้ง

ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ CPF ย้ำนำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมาใช้ตั้งแต่ปี 59 แล้ว

บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ย้ำนำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมาใช้ตั้งแต่ปี 2559 หยุดรับซื้อผลผลิตจากพื้นที่บนภูเขาลาดชัน รับซื้อผลผลิตที่มาจากแปลงปลูกมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ส่งผลให้ปัจจุบันข้าวโพดที่รับซื้อในประเทศไทยทั้งหมดสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงพื้นที่ปลูกได้ 100%

เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2567 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้ร่วมสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล โดยการประกาศนโยบายไม่รับซื้อและไม่นำเข้าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่บุกรุกป่าและเผาแปลง นำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมาใช้ในกระบวนการจัดหาข้าวโพดตั้งแต่ 1 ม.ค. 2559 เป็นต้นมา ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพโปรดิ๊วส หยุดรับซื้อผลผลิตจากพื้นที่บนภูเขาลาดชัน รับซื้อผลผลิตที่มาจากแปลงปลูกมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ส่งผลให้ปัจจุบันข้าวโพดที่รับซื้อในประเทศไทยทั้งหมดสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงพื้นที่ปลูกได้ 100%

ระบบตรวจสอบย้อนกลับนับเป็นอีกกลไกสำคัญที่มีประสิทธิภาพ ช่วยยุติปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลอดการบุกรุกป่า และปลอดเผา ตอบรับนโยบายการแก้วิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และช่วยให้เกษตรกรไม่เสียโอกาสจากมาตรการตัดสิทธิการช่วยเหลือชดเชยเมื่อพบการเผา

นอกจาก สำหรับการกำกับดูแลการเผาแปลงของเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทาน กรุงเทพโปรดิ๊วสได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยติดตามและกำกับดูแลการเผาแปลงของเกษตรกร โดยเทียบกับข้อมูลพิกัดแปลงปลูกของเกษตรกรจากระบบตรวจสอบย้อนกลับ ช่วยให้บริษัทฯ พบการเผาแปลงของเกษตรกรได้แบบเรียลไทม์ทุกวัน ในกรณีที่พบการเผาแปลงบริษัทฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยกับเกษตรกรเพื่อให้ความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกปลอดเผา และการจัดการเศษวัสดุที่เหมาะสม และจะหยุดรับซื้อผลผลิตเป็นเวลา 1 ปี จากแปลงที่พบเผาซ้ำเป็นรอบที่สอง

เพื่อให้การยุติการเผาแปลงอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว กรุงเทพโปรดิ๊วส บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ Public – Private Partnership เพื่อกำกับดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในห่วงโซ่อุปทานหยุดการเผาแปลงเป็นศูนย์ ภายใต้โครงการ “Partner to Green คู่ค้าข้าวโพดพันธมิตร พิชิตหมอกควัน” ที่คิกออฟตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2566 ที่ผ่านมา ผนึกพลังพ่อค้าคนกลางที่ทำหน้าที่รวบรวมข้าวโพด เป็นเครือข่ายร่วมกันติดตามดูแลและยุติการเผาของเกษตรกร โดยกรุงเทพโปรดิ๊วสแบ่งปันข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมกรณีที่เกิดจุดความร้อนในแปลงเกษตรกรที่ลงทะเบียนในระบบตรวจสอบย้อนกลับ ให้แก่คู่ค้าพันธมิตรเครือข่ายเพื่อช่วยกันติดตามและกำกับดูแลเกษตรกรลดและหยุดการเผา

ขณะเดียวกัน กรุงเทพโปรดิ๊วสยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมวิชาการเกษตร ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือGAP (Good Agricultural Practices) พร้อมทั้งยังพัฒนาแอปพลิเคชัน "ฟ.ฟาร์ม" เป็นผู้ช่วยเกษตรกรเข้าถึงข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับปริมาณฝน อุณหภูมิ ลม ข้อมูลราคาและการขายผลผลิต ตลอดจนคำแนะนำการจัดการตอซัง สนับสนุนเกษตรกรเพิ่มคุณภาพผลผลิตได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ กรุงเทพโปรดิ๊วส ยังเปิดแอปพลิเคชัน “ฟ.ฟาร์ม”​ เป็นช่องทางการร้องเรียนพบการเผาแปลงข้าวโพด สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแจ้งเบาะแสการเผาแปลง โดยผู้ที่พบเห็นการเผาแปลงข้าวโพด ถ่ายรูปการเผาไว้เป็นหลักฐาน พร้อมแจ้งข้อมูลระบุตำแหน่งแปลงที่พบ (ตำแหน่งจีพีเอส) ผ่านทางแอป ฟ.ฟาร์ม

เมื่อได้รับแจ้งแล้ว บริษัทฯ จะตรวจสอบว่าแปลงที่เผาเป็นของเกษตรกรในระบบตรวจสอบย้อนกลับหรือไม่และส่งทีมงานเข้าไปกำกับดูแล พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจและรับรู้ถึงผลกระทบของการเผาแปลง รวมถึงมาตรการของบริษัทฯที่จะหยุดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรที่มีการเผาแปลงซ้ำเป็นเวลา 1 ปี สำหรับแปลงเผาที่ถูกร้องเรียนไม่ได้อยู่ในระบบตรวจสอบย้อนกลับ บริษัทจะประสานงานแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวกับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องนี้ต่อไป

การนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ปฏิบัติการสู้ฝุ่น เป็นอีกความมุ่งมั่นของกรุงเทพโปรดิ๊วส ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการจัดการบริหารปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 นำไปสู่การสร้างอากาศสะอาดให้กับคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: