ม.มหิดล ลงพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วทุ่งใหญ่นเรศวร วิจัยความมั่นคงทางอาหาร

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.ค. 2567 | อ่านแล้ว 7946 ครั้ง

ม.มหิดล ลงพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วทุ่งใหญ่นเรศวร วิจัยความมั่นคงทางอาหาร

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันโภชนาการร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ลงพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วทุ่งใหญ่นเรศวร วิจัยความมั่นคงทางอาหาร รับภัย Climate Change โลก

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2567 งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่าปัจจุบันทั่วโลกต้องระส่ำระสายไปด้วยภัยจาก “สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” (Climate Change) จนส่งผลกระทบไปถึง “ความมั่นคงทางอาหาร” (Food Security) จาก “ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity) ในพื้นถิ่นที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันโภชนาการ ร่วมกับ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยเรื่องความมั่นคงทางอาหารร่วมกับชุมชนกะเหรี่ยงโผล่ว (Pwo Karen) ซึ่งอาศัยในพื้นที่กว่า 200 ปี ปัจจุบันเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก

ซึ่งระยะทางไม่ห่างมากนักจากที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี พบว่าชุมชนร่วมมือกันดูแลผืนดิน แหล่งน้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ผลตอบแทนกลับมาคือความหลากหลายอาหารกว่า 300 ชนิด หลายชนิดอุดมด้วยสารอาหารสำคัญดีต่อสุขภาพของคนในชุมชน

ปัจจุบัน เพื่อสนองวิกฤติเร่งด่วน “ภาวะโลกร้อน” ได้มีการขยายบริบทงานวิจัยครอบคลุม “Climate Change” โดย สถาบันโภชนาการ ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกลุ่มนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด (Hokkaido University) มหาวิทยาลัยโตเกียว (Tokyo University) และ มหาวิทยาลัยฮิโรชิมา (Hiroshima University) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมด้วย มหาวิทยาลัยตะวันออกเฉียงเหนือแห่งรัฐ (North-Eastern Federal University) สหพันธรัฐรัสเซีย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และทีมวิจัยอิสระ ภายใต้ทุน e-ASIA Joint Research Program พร้อมสนับสนุนให้ “ของดี” แหล่งอาหารดั้งเดิมของชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วทุ่งใหญ่นเรศวรเกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นำทีมวิจัยโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำหน่วยมนุษยโภชนาการ และคณะผู้วิจัยจากหน่วยส่งเสริมโภชนาการและสุขภาวะ และโภชนาการชุมชน

ตัวอย่างจากที่เคยสำรวจพบว่า แหล่งอาหารธรรมชาติในท้องถิ่นที่อุดมด้วยธาตุเหล็กและแคลเซียม ได้แก่ “คลูมี” (ภาษาถิ่น-หอยน้ำจืด) หากคลื่นความร้อนถาโถมจนส่งผลให้ระดับน้ำเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ในวันหนึ่งชาวชุมชนฯ หา “คลูมี” จากท้องถิ่นธรรมชาติมารับประทานอย่างเช่นเหมือนก่อนได้ยาก

การทำงานร่วมกับองค์กรในชุมชน อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โรงพยาบาลสังขละบุรี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกองม่องทะ และทีมเยาวชนได้ร่วมศึกษาวิถีการดูแลแหล่งอาหารของชุมชน การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง คุณค่าโภชนาการของอาหารท้องถิ่น การประเมินภาวะโภชนาการ ทำให้งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมศักยภาพสุขภาวะชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วทุ่งใหญ่นเรศวรให้มีความมั่นคงยั่งยืนทางอาหาร คล้องกับสภาวะ Climate Change และการเปลี่ยนแปลงของสังคม

สำหรับความคืบหน้างานวิจัย ปัจจุบันได้รับการตีพิมพ์แล้วในส่วนของการออกแบบงานวิจัย (Study Protocol) ในวารสารวิชาการนานาชาติสาขาวิทยาศาสตร์ “PLOS ONE” โดยมีปลายทางเพื่อให้ชุมชนเกิดการ “เฝ้าระวัง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก “ภัยแล้ง” ที่เกิดจาก “โลกร้อน” พร้อมผลักดันสู่ “นโยบายจัดการสิ่งแวดล้อม” เพื่อ “ความมั่นคงยั่งยืนทางอาหาร” โดยเปรียบเทียบระหว่างประเทศร่วมวิจัยเพื่อขยายผลสู่ระดับโลก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: