แอมเนสตี้ชี้เป็นก้าวสำคัญคืนความยุติธรรม หลังศาลรับฟ้องคดีสลายการชุมนุมตากใบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 5042 ครั้ง

แอมเนสตี้ชี้เป็นก้าวสำคัญคืนความยุติธรรม หลังศาลรับฟ้องคดีสลายการชุมนุมตากใบ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้เป็นก้าวสำคัญในการคืนความยุติธรรม หลังศาลนราธิวาสรับฟ้องคดีสลายการชุมนุมตากใบ

24 ส.ค. 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แจ้งต่อสื่อมวลชนว่าสืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลในวันนี้ ซึ่งรับฟ้องคดีอาญาเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุทำให้มี ผู้เสียชีวิตที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 ตามคำร้องของเหยื่อและครอบครัวผู้เสียหาย

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าคำตัดสินของศาลในวันนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญเพื่อคืนความยุติธรรมที่ควรเกิดขึ้นมานานแล้วสำหรับผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อการใช้กำลังจนเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ ระหว่างการสลายกาชุมนุมที่ด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ทำให้ผู้เสียหายและครอบครัวได้ใช้เวลาเกือบ 20 ปี เพื่อรอความยุติธรรมและความรับผิดชอบจากอาชญากรรมที่โหดร้ายครั้งนี้

“ทางการไทยต้องเร่งดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลโดยทันทีและใช้มาตรการทั้งปวงที่จำเป็น เพื่อประกันไม่ให้คดีนี้ต้องหมดอายุความไป ทางการต้องรับรองให้ผู้เสียหายและครอบครัวของพวกเขาสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังต้องมีการประกาศยอมรับอย่างเป็นทางการถึงความจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเกิดขึ้นในเหตุการณ์ตากใบ”

ข้อมูลพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสเห็นชอบตามคำร้องของผู้เสียหายและครอบครัวที่ยื่นฟ้องเพื่อเอาผิดทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ คนที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมประท้วงที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส โดยมีอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารระดับสูงในเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ศาลตัดสินว่ามีมูลฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คนจากทั้งหมด 9 คน ซึ่งถูกฟ้องในเบื้องต้น โดยเป็นการฟ้องในข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว

อายุความในคดีนี้มีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ต.ค. 2567 หลังคำพิพากษาของศาลในวันนี้ จำเลยอย่างน้อย 1 คนต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลเพื่อรับฟ้องก่อนที่คดีจะหมดอายุความ การพิจารณาคดีจึงจะเริ่มต้นขึ้นได้ ตามมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดอายุความของความผิดทางอาญา

ในวันที่ 25 ต.ค. 2547 ผู้ชุมนุมประท้วงกว่า 2,000 คนได้มารวมตัวที่ด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชายชาวมลายูมุสลิมู 6 คน ซึ่งผู้ชุมนุมประท้วงเชื่อว่าได้ถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้โดยพลการ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริงในการสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตทันที 7 คน โดย 5 คนเสียชีวิตจากการถูกยิงที่หัว หลังการสลายการชุมนุม ได้มีการขนส่งชายชาวมลายูมุสลิม ประมาณ 1,370 คนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารในจังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างไป 150 กิโลเมตร ผลจากการถูกบังคับให้นอนทับซ้อนกันในรถบรรทุกทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 คน จากการกดทับหรือการขาดอากาศหายใจระหว่างการเดินทาง ผู้รอดชีวิตหลายคนได้รับการบาดเจ็บสาหัสและบางคนต้องพิการถาวร

คณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนความจริง ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลในขณะนั้น ประณามการใช้กำลังจนเกินขอบเขตและการขาดความรอบคอบในการขนส่งผู้ถูกควบคุมตัว แม้จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียหาย แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ซึ่งคณะกรรมการได้ระบุตัวตนไว้นั้น ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด

ในเดือน ต.ค. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เผยแพร่แถลงการณ์สาธารณะ เกี่ยวกับผลกระทบจากความล้มเหลวของทางการไทยในการอำนวยความยุติธรรมต่อผู้เสียหายจากการใช้ความรุนแรง เพื่อปราบปรามการประท้วงที่ตากใบและครอบครัวของพวกเขา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: