'ข้าวเม่านางรอง' จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชน

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ต.ค. 2567 | อ่านแล้ว 27 ครั้ง

'ข้าวเม่านางรอง' จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชน

กลุ่มแปรรูปข้าวเม่าบ้านโคกว่าน จ.บุรีรัมย์ ผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยกระดับการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าหลากหลายรูปแบบ สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ชุมชน พร้อมขยายตลาดสู่ระดับภูมิภาค

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รายงานว่า “ข้าวเม่า” เป็นอาหารว่างที่มีรากเหง้ามาจากภูมิปัญญาของชาวนาไทย ซึ่งสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน โดยการผลิตข้าวเม่าแต่เดิมเป็นการทำในครอบครัว แต่ในปัจจุบัน กลุ่มแปรรูปข้าวเม่าบ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ก้าวไปอีกขั้นในการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยและหลากหลาย แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ กลุ่มฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องการขยายตลาดจากระดับชุมชนไปสู่ระดับภูมิภาค แม้ว่าจุดเด่นของการผลิตข้าวเม่าในพื้นที่นี้คือสามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี ซึ่งต่างจากพื้นที่อื่น แต่ยังคงมีความจำเป็นในการพัฒนากระบวนการผลิต ที่ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาแรงงานแบบดั้งเดิมที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์และทีมวิจัยจากโครงการการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าใหม่สำหรับธุรกิจข้าวเม่านางรอง พ.ศ.2565 ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า จากโจทย์เบื้องต้นจึงเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อช่วยเหลือและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการเข้าไปเก็บข้อมูลและพูดคุยกับคนในชุมชน

พบว่า ปัญหาสำคัญนอกจากกระบวนการผลิตที่ยังคงพึ่งพาแรงงานดั้งเดิม คือปัญหาด้านสุขภาพของชาวบ้าน เนื่องจากกระบวนการผลิตที่มีการใช้แรงงานหนักและการสูดควันจากการคั่วข้าวเม่า รวมทั้งชุมชนยังขาดแคลนแรงงานและไม่มีผู้สืบทอดภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่า

สอดคล้องกับ นางทูล พรหมพนัด หนึ่งในนวัตกรผู้ผลิตข้าวเม่า เล่าว่า เมื่อก่อนต้องใช้แรงงานจากการขนฟืนเพื่อมาผลิตข้าวเม่าทำให้ปวดหลัง ผลจากการใช้ฟืนในการคั่วข้าวเม่าทำให้เกิดควันจำนวนมาก ทำให้หายใจลำบาก ประกอบกับมีจำนวนผู้สูงอายุในชุมชนมากขึ้น ทำให้กำลังการผลิตจึงลดลง

“บางวันแรงงานบางคนต้องหยุดงานเพราะสูดดมควันเยอะเกินไป นอกจากนี้ ในชุมชนมีผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้การผลิตเริ่มลดลง หลายคนแก่แล้วทำงานหนักไม่ไหว และไม่มีใครเข้ามาสืบทอดต่อ ทำให้ตอนนี้ผู้ผลิตข้าวเม่าเหลือน้อยมาก”

ดร.เชาวลิต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจยังพบว่า โอกาสทางการตลาดของข้าวเม่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแต่กำลังการผลิตลดลง ทำให้ทีมวิจัยเข้ามาช่วยในการพัฒนาเครื่องรีดข้าวเม่าและเตาไฟแบบใหม่ที่ประหยัดฟืนและลดควัน ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ผลิตสามารทำงานได้สะดวกขึ้นและลดผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้ง ยังมีการพัฒนากระบวนการผลิตและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ได้มากขึ้น เช่น ข้าวเม่าลูกชิ้นทอด ข้าวเม่าซีเรียล เป็นต้น

“การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตข้าวเม่านั้นไม่ใช่แค่การเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยให้ชาวบ้านสามารถผลิตสินค้าได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เราต้องการให้ชุมชนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดในปัจจุบันได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทั้งในแง่ของรสชาติและสุขภาพ”

ปัจจุบัน กลุ่มข้าวเม่าฯ มีการขยายตลาดในแพลตฟอร์มออนไลน์และการออกบูธในงานต่างๆ ทำให้ยอดขายและการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอีกปัจจัยในการขยายฐานลูกค้าไปยังจังหวัดอื่นๆ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

“ตั้งแต่ใช้เตาใหม่ การทำข้าวเม่าก็ง่ายขึ้น ไม่มีควัน สุขภาพคนทำก็ดีขึ้น เมื่อก่อนเราทำข้าวเม่าแบบธรรมดาขาย แต่ตอนนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น ลูกชิ้นข้าวเม่าทอด ซึ่งได้รับความนิยมมาก และมีการออกบูธในงานต่างๆ มีการขายออนไลน์จากที่อาจารย์สอนการใช้โซเชียลมีเดียในการโปรโมต ทำให้มีลูกค้าใหม่ๆเพิ่มขึ้นและสินค้าข้าวเม่าเป็นที่รู้จักมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับไปยังจังหวัดที่มีการจัดเทศกาลกินข้าวเม่า ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายได้รู้จักข้าวเม่ามากขึ้น และเป็นกุศโลบายในการรวมตัวกันของญาติพี่น้องในชุมชน เป็นการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน

การพัฒนาการผลิตข้าวเม่าในชุมชนนางรองจึงถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน นวัตกรรมที่นำมาใช้ในการผลิตไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของชาวบ้าน แต่ยังช่วยให้กลุ่มผู้ผลิตสามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น

ความร่วมมือเหล่านี้ ไม่เพียงแต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการขยายตลาด โดยการรวมตัวกันของชุมชนทำให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: