แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566/67 ที่รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2566 ในรายงานปีนี้ได้ให้ภาพรวมเรื่องสิทธิมนุษยชน 5 ภูมิภาคและข้อมูล 155 ประเทศ เพื่อชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบที่น่ากลัว จากความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น
24 เม.ย. 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566/67 ที่รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2566 ในรายงานปีนี้ได้ให้ภาพรวมเรื่องสิทธิมนุษยชน 5 ภูมิภาคและข้อมูล 155 ประเทศ เพื่อชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบที่น่ากลัว จากความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น และระบบกฎหมายระหว่างประเทศที่เกือบจะล่มสลาย พร้อมฉายภาพให้เห็นความน่ากังวลของการปราบปรามสิทธิมนุษยชน และการละเมิดหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมระดับโลกที่หยั่งรากลึกมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศมหาอำนาจเกิดการแย่งชิงความเป็นใหญ่ จนทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศตกอยู่ในสถานะความรุนแรง
พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกในปี 2566 ว่าเป็นปีแห่งความขัดแย้ง และไม่มีท่าทีว่าจะลดทอนความรุนแรงลง แม้หลักฐานที่ใช้ยืนยันว่าการก่ออาชญากรรมสงครามยังคงเพิ่มจำนวนมากขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นพบพลเรือนต่างต้องแบกรับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่รัฐต่างๆ ยังคงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
“การเพิกเฉยที่เห็นได้ชัดอย่างมากต่อกฎหมายระหว่างประเทศของอิสราเอล ส่งผลเลวร้ายยิ่งขึ้นเนื่องจากพันธมิตรของอิสราเอลไม่สามารถยุติการนองเลือดอย่างทารุณของพลเรือนที่เกิดขึ้นในกาซาได้ ประเทศพันธมิตรหลายแห่ง ต่างเคยเป็นผู้ออกแบบระบบกฎหมายในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากสงครามของรัสเซียที่ยังคงกระทำต่อยูเครนแล้ว เราได้เห็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งที่เกิดขึ้นในซูดาน เอธิโอเปีย และเมียนมา ระเบียบโลกที่มีอยู่บนพื้นฐานหลักเกณฑ์ตอนนี้เสี่ยงถูกทำลายจนหมดสิ้น” พุทธณี กล่าว
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังมีหลายประเด็นน่าห่วงใย สิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลไทยควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ สิทธิเด็ก สิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นส่วนตัว .การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และการลอยนวลพ้นผิด
“ทางการไทยยังปราบปรามการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เด็กหลายร้อยคนยังคงถูกพิจารณาคดีหรือถูกดำเนินคดีอาญา จากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมและรูปแบบอื่น กฎหมายใหม่เอาผิดกับการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย แต่ยังไม่ส่งผลให้เกิดการรับผิดรับชอบที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งกรณีการหายตัวไปของนักปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองเมื่อปี 2557 มีการจัดตั้งกลไกใหม่เพื่อคัดกรองผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยแล้ว แต่หลายคนยังคงถูกกักตัวโดยไม่มีเวลากำหนดในสภาพที่เลวร้าย ส่งผลให้ชายชาวอุยกูร์สองคนเสียชีวิต” ปิยนุช กล่าว
“ปัจจุบันรัฐบาลยังเลือกปราบปรามกลุ่มคนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมืองและสังคม ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนปี 2566 พบว่ามีบุคคลอย่างน้อย 1,938 คน ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงตั้งแต่ปี 2563 ในจำนวนนี้มี 1,469 คนถูกดำเนินคดีตามคำสั่งในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ห้ามการชุมนุมสาธารณะ ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 และต่อมามีคำสั่งยกเลิกการบังคับใช้ช่วงปลายปี 2565 ส่วนอีกหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ (ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์) หรือข้อหายุยงปลุกปั่น โดยในปีนั้นมีการดำเนินคดีทั้งหมด 295 คดี”
ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเสริมว่า ‘เทคโนโลยี AI หรือ โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์’ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ทุกคนเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ เช่น AI หรือแพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นที่ถูกสร้างโดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Big Tech) อาจเป็นศัตรูร้ายที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาพบว่า หน่วยงานทหาร หน่วยงานการเมือง บรรษัท หลายประเทศทั่วโลก นำเทคโนโลยี AI มาใช้โดยปราศจากกฎหมายกำกับดูแล หรือมีการใช้สปายแวร์และเครื่องมือสอดแนมโจมตีนักกิจกรรมภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ในการควบคุมเรื่องนี้ จนทำให้เกิดการถูกเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ปลุกปั่นเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ สร้างความแตกแยกในสังคม และยังพบว่ารัฐบาลในหลายประเทศใช้เครื่องมือนี้กับกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบมากที่สุดในสังคม
“เรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงหรือเห็นความสำคัญเท่าไหร่คือ ‘การคุกคามทางดิจิทัลต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ ในรายงานฉบับนี้ระบุว่าเดือนสิงหาคม ปี 2566 ผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เขียนจดหมายถึงรัฐบาลไทยให้คุ้มครองดูแล ‘อังคณา นีละไพจิตร’ และ ‘อัญชนา หีมมิหน๊ะ’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง ที่ถูกข่มขู่คุกคามในโลกออนไลน์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 2 คนได้ฟ้องร้องกองทัพและสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากได้รับการรายงานข่าวว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน. )อาจมีส่วนในการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation) หรือ IO เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี ผ่านเว็บไซต์ Pulony ในปีเดียวกัน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเขียนจดหมายถึงรัฐบาลแสดงความกังวลเกี่ยวกับสปายแวร์เพกาซัสของบริษัทเอ็นเอสโอกรุ๊ปที่ทำธุรกิจสอดแนมทางไซเบอร์ต่อคนร่วมชุมนุมประท้วงปี 2563 และ 2564 หนึ่งในนั้น ‘จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ไผ่ ดาวดิน’ ได้รับผลกระทบ จนเกิดการฟ้องร้องต่อบริษัทดังกล่าวฐานละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว” ปิยนุช กล่าว
แอมเนสตี้ ประเทศไทย มีข้อเรียกร้องประเด็น สิทธิมนุษยชนถึงทางการไทย 8 ข้อ ได้แก่ประเด็น สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ สิทธิเด็ก นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นส่วนตัว การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การลอยนวลพ้นผิด
สำหรับงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566/67 จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 24 เมษายน 2567 สำหรับประเทศไทย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ และพุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเป็นตัวแทนมอบรายงานพร้อมทั้งข้อเรียกร้องถึงทางการไทย โดยมี นายอานนท์ ยังคุณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบและสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบข้อเสนอแนะและรายงานฉบับดังกล่าว
เอกสารแนบ
รายงานประจำปี 2566/67 ในส่วนของภาพรวมเอเชีย-แปซิฟิก-ประเทศไทย-ประเทศเมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม.pdf
รายงานประจำปีทั่วโลก 2566/67 ฉบับภาษาอังกฤษ-english.pdf
ข้อเสนอแนะแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อรัฐบาลไทย (ภาษาไทย).pdf
ข้อเสนอแนะแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อรัฐบาลไทย (ภาษาอังกฤษ).pdf
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ