ต้นทุนไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนงวด ก.ย.-ธ.ค. 2567 ถูกรวมในค่าไฟฟ้า 16.62 สตางค์ต่อหน่วย

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 ก.ค. 2567 | อ่านแล้ว 6503 ครั้ง

ต้นทุนไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนงวด ก.ย.-ธ.ค. 2567 ถูกรวมในค่าไฟฟ้า 16.62 สตางค์ต่อหน่วย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เผยต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่รวมในค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 2567 ปรับขึ้นเป็น 16.62 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้า 10,020 ล้านบาท ที่ประชาชนต้องร่วมกันจ่าย ระบุปี 2568 ยังมีไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากโครงการไฟฟ้าสีเขียว 4,852.26 เมกะวัตต์ ทยอยเข้าระบบ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายต่อ แต่ยืนยันช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมได้ เหตุควบคุมราคาไว้เพียงกว่า 2 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2567 Energy News Center รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ผูกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้างวดล่าสุดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2567 ที่จะถึงนี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่าจากมาตรการให้เงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) และเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ยังคงส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2567 คิดเป็น 16.62 สตางค์ต่อหน่วย หรือรวมเป็น 10,020 ล้านบาท ที่ประชาชนต้องจ่ายรวมในค่าไฟฟ้าด้วย

อย่างไรก็ตามต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนยังต้องคิดรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าตลอดที่ยังมีสัญญา Adder และ FiT ซึ่งคาดว่าระบบ Adder จะหมดในปี 2570

ส่วนในปี 2568 ยังมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบอีก คือ การรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวที่ผ่านมาจำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ โดยมีการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าไว้ต่ำประมาณ 2 บาทต่อหน่วย ดังนั้นจะส่งผลให้ต้นทุนจากพลังงานทดแทนในส่วนนี้ไปปรากฏในค่าไฟฟ้าปี 2568 ไม่มากนัก และจะเป็นส่วนช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมลดลงได้ด้วย

สำหรับต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตลอดปี 2567 นี้คาดว่าจะอยู่ที่ 16.70 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นเงินที่ประชาชนต้องร่วมกันจ่ายอยู่ที่ 32,436 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่มีต้นทุนอยู่ที่ 18.19 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 35,457 ล้านบาท และเมื่อย้อนดูสถิตินับตั้งแต่การคิดค่าไฟฟ้าฐานปี 2558 จะพบว่าทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่แพงสุด อยู่ที่ปี 2564 มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 30.87 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นราคา 54,065 ล้านบาท ที่ประชาชนต้องร่วมกันจ่ายรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า

ส่วนค่าไฟฟ้าหลักงวด ก.ย.-ธ.ค. 2567 กกพ. กำลังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากประชาชน 3 แนวทาง ซึ่งแปรผันตามการชำระหนี้คืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือ 1. ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) 222.71 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 6.01 บาทต่อหน่วย 2. ค่า Ft 113.78 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.92 บาทต่อหน่วย และ 3. ค่า Ft 86.55 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.65 บาทต่อหน่วย

อนึ่ง สัญญา Adder หรือ “เงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” เริ่มทำมาตั้งแต่ประมาณปี 2550 และเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2554 มีอายุสัญญาประมาณ 10 ปี ซึ่งกำหนดให้ราคา Adder 8 บาทต่อหน่วย และลดลงเหลือ 6.50 บาทต่อหน่วยในภายหลัง โดยผู้ผลิตไฟฟ้าจะได้ค่าไฟฟ้าแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1. ค่าไฟฟ้าขายส่ง ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง 2. ค่า Adder 8 หรือ 6.50 บาทต่อหน่วย ซึ่ง Adder โครงการสุดท้ายที่เข้าระบบจะสิ้นสุดในปี 2570

ดังนั้น Adder ที่ทยอยหมดอายุลงจึงส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่มาจากไฟฟ้าพลังงานทดแทนลดลงไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าที่ได้ Adder ยังคงมีสัญญาผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง แม้สัญญา Adder จะหมดลง แต่จะได้รับเฉพาะเงินจากราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว (ค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีเก่า จะมีต้นทุนแพงกว่าโรงไฟฟ้าใหม่)

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้รับทราบปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงที่มาจากโรงไฟฟ้าเก่าที่ได้รับ Adder และอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากโรงไฟฟ้าเก่าดังกล่าวจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 20-25 ปี หรือจนกว่าโรงไฟฟ้าจะหมดอายุลง แม้จะไม่ได้รับ Adder แล้วก็ตาม ซึ่งบางโรงไฟฟ้ายังได้ปรับเปลี่ยนอะไหล่จนทำให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานเกินกว่าอายุโรงไฟฟ้า ซึ่งจะกลายเป็นภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าประชาชนที่ต้องซื้อไฟฟ้าราคาแพงกว่าโรงไฟฟ้าใหม่

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานจะพิจารณาว่าดำเนินการอย่างไร เพื่อให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบในราคาที่ลดลง เช่น การนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองแทนการขายเข้าระบบ หรือเจรจาปรับลดค่าไฟฟ้าลงเพื่อให้เข้าร่วมโครงการไฟฟ้าสีเขียวในอนาคตที่กำหนดราคาขายไฟฟ้าไม่แพง เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: