วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (CITE ) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) พาส่องเทรนด์ AI ปี 2025 เครื่องมืออัจฉริยะที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หนทางสู่โอกาส-ทางรอด-การปรับตัว ในโลกของการทำงาน เรียน และชีวิตประจำวัน
ผศ.ดร. ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (College of Engineering and Technology : CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวถึงเทรนด์ที่น่าจับตามอง ปี 2025 โดยกล่าวว่า AI ยังเป็นเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และการเรียน ที่ทุกช่วงวัยไม่ควรมองข้าม ควรเตรียมพร้อมเพื่อก้าวให้ทันความท้าทายใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม
ทั้งนี้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกในช่วง 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ใช้งานต่างๆ ก็สามารถเรียนรู้และนำมาช่วยทั้งในการทำงาน การเรียน และอื่นๆ ช่วยสร้างความได้เปรียบที่เหนือกว่าจากทักษะการใช้งาน AI อย่างไรก็ตาม AI ก็อาจมีบทบาทด้านลบได้ในแง่ของการทดแทนคนทำงานได้เช่นกัน ทั้งนี้ McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ ได้สำรวจพบว่ามีการใช้งาน Generative AI เพื่อช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนในการทำงานที่ซ้ำซ้อนลงได้จริง นำไปสู่การทำงานที่ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมูลค่าตลาดทั่วโลกของธุรกิจที่ใช้งาน Generative AI ในปี 2024-2030 จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 46.47 ต่อปี ดังนั้นในปี 2025 นี้ AI จะมีบทบาทที่สำคัญและมีเทรนด์อะไรใหม่ที่น่าจับตามองเช่นใดจึงควรต้องทำความเข้าใจต่อไป
AI ตัวช่วยประมวลผลข้อมูลสุดล้ำ
“ปัจจุบันพบว่า การสืบค้นข้อมูลผ่าน ChatGPT หรือ AI ตัวอื่น ๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่การสืบค้นแบบเก่า เช่นการสืบค้นผ่าน Search Engine ต่าง ๆ เริ่มลดน้อยลง เนื่องจาก AI มีความสามารถมากขึ้น สรุปข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็วกว่า นอกจากนี้ยังสามารถช่วยทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลต่างๆ ผ่านคอมพิวเตอร์ได้ เช่น ร่างเอกสาร วาดรูป แปลและเรียบเรียง แต่งเพลง สำรวจงานวิจัย สรุปเนื้อหาวิชา เขียนโปรแกรม รวมไปถึงงานขึ้นต้นแบบ เขียนแบบ โครงร่าง การทดสอบไอเดีย เปรียบเสมือนมีเลขาหรือผู้ช่วยส่วนตัว ซึ่ง AI บางตัวสามารถสั่งการด้วยเสียงได้แล้ว รวมทั้งรองรับภาษาไทยได้ค่อนข้างดี อย่างไรก็ตามต้องระวังผลงานที่ AI ทำออกมานั้นอาจจะมีผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง หรือมีข้อผิดพลาดได้ ซึ่งเกิดจาก Halucination ของตัว AI เอง ทำให้เหมือนอาการของคนเพ้อ ดังนั้นผู้ใช้งานยังต้องกลั่นกรองผลลัพธ์ต่าง ๆ ให้ดี” ผศ. ดร. ชัยพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม AI ก็สามารถนำมาสนับสนุนการทำธุรกิจต่างๆ ได้มากมาย เช่น ช่วยวิเคราะห์คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าให้สามารถทำการตลาดได้แม่นยำขึ้น หรือการสร้าง Chatbot ช่วยตอบคำถามหรือข้อสงสัยของลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ประกาศหรือผู้อ่านข่าวเสมือน การช่วยสรุปรายงานการประชุม เป็นต้น
AI Agent
ปัจจุบันเริ่มมีการทดสอบการให้ AI ทำงานแทนหรือ AI Agent โดยใช้วิธีการ LAM (Large Action Model) เช่น การค้นหาและจองโรงแรมหรือตั๋วเครื่องบิน ค้นหาและซื้อสินค้าที่ต้องการ การอ่านและส่งอีเมล์ การลงตารางเวลา การตอบคำถามลูกค้าโดยอัตโนมัติ เขียนและทดสอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นำเข้าข้อมูล spreadsheet และสร้างกราฟอัตโนมัติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การให้ AI ทำงานบางอย่างได้แทนเรานั้น จำเป็นต้องให้ข้อมูลบางอย่างที่ใช้ในการเข้าถึงได้ เช่น ข้อมูลส่วนตัว ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน เป็นต้น ซึ่งค่อนข้างมีความเสี่ยงพอสมควร เนื่องจากเราไม่เห็นกระบวนการทำงานของ AI ที่นำข้อมูลเราไปทำงาน รวมทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากการข้อมูลสำคัญหลุดหรือถูกแก้ไขจากข้อผิดพลาดของ AI เอง ซึ่งเรื่องนี้้อาจจะต้องระวัง รวมทั้งกำหนดนโยบายในการใช้งาน AI Agent ให้ดี
ปัจจุบันผู้ให้บริการ AI ส่วนใหญ่ให้บริการผ่านระบบสมาชิก ซึ่งอาจไม่มีหรือมีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนรายปี สำหรับผู้ใช้บริการแบบฟรีก็ยังคงมีอยู่ต่อไป เพียงแต่ว่าในอนาคตการหารายได้จากผู้ใช้งานฟรีนั้นอาจอยู่ในรูปแบบโฆษณา ดังนั้นอาจจะได้เห็นการใช้งาน Advertisement token ซึ่งผู้ให้บริการ AI อาจจะเปิดให้กับเจ้าของธุรกิจต่าง ๆ ซื้อ token สำหรับคำตอบของการค้นหาที่เกี่ยวข้องกับ prompt ที่ผู้ใช้งานถามตัว AI ดังนั้นในอนาคตเจ้าของธุรกิจอาจจะต้องทำการตลาดด้วย SEO หรือซื้อ Advertisement token กับผู้ให้บริการ AI ด้วย
“จากที่ทุกคนเคยมี Email Account หรือ Chat ID ใช้กันโดยทั่วไป ต่อจากนี้คาดว่าทุกคนจะมี AI Account ที่สามารถช่วยดำเนินการต่าง ๆ ได้ เปรียบเสมือนการมี Jarvis เหมือนในภาพยนตร์ ช่วยงานเราต่าง ๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นสั่งให้รวบรวมข้อมูล ซื้อสินค้า จองห้องพัก เขียนตอบอีเมล เปิดโปรแกรม Excel แล้วเอาข้อมูลมาคำนวณ หรือสร้างกราฟ อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานก็ต้องระวังความผิดพลาดที่อาจเกิดจากทำงานที่ผิดพลาดของ AI ได้ ดังนั้นผู้ใช้งานจะต้องคอยระวังหรือไม่ให้เกิดผลกระทบจาก action ที่ผิดพลาดของ AI ด้วย รวมทั้งการให้ AI มี action ในงานที่อ่อนไหวต่าง ๆ รวมทั้งความมั่นคงด้วย” ผศ.ดร.ชัยพร กล่าว
ไม่อยากโดน Disrupt ต้องปรับตัว
แน่นอนว่างานที่ AI ทำออกมานั้นควรจะต้องจบหรือกลั่นกรองด้วยคนที่เป็นผู้ใช้งาน แต่ AI ก็จะลดจำนวนคนที่ต้องทำเพราะ AI ช่วยทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่า เปรียบเสมือนว่า ก่อนที่เราจะมีเครื่องคิดเลขใช้ เราก็ต้องเสียเวลามานั่งบวกลบคูณหารกัน แต่พอมีเครื่องคิดเลขเราก็สามารถร่นระยะเวลาการคำนวณที่ซับซ้อนได้เร็วมากขึ้น ดังนั้นเราในฐานะผู้ใช้งานจำเป็นต้องขยับขึ้นไปทำงานที่ซับซ้อนหรือใช้พลังความคิดหรือการสร้างสรรค์ที่มากยิ่งขึ้น หรือมองในภาพรวมของงานขนาดใหญ่มากขึ้น
AI ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่ไม่เหมือนเดิม ในด้านบวก เป็นการเข้ามาสนับสนุนการทำงาน ที่ช่วยลดขั้นตอน เพิ่มประสิทธิภาพงาน และสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันในอีกด้านเป็นการเข้ามาแทนตำแหน่งงานที่ทำได้เร็วและดีกว่าอย่างแน่นอน
“ดังนั้นจะอยู่รอดได้ในยุคของAI ต้องมอง AI ให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยเราทำงานเก่งขึ้น เร็วขึ้น ดีขึ้น แต่ถ้าขาดการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสุดท้ายเราก็จะถูกแทนที่” ผศ.ดร.ชัยพร กล่าว
ทั้งนี้หลักสูตรวิศวะ-ไอทีของ DPU ได้พัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยได้นำ AI และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องเข้ามายกระดับช่วยในการเรียนของนักศึกษา รวมทั้งการสร้างและพัฒนาตัว AI ขึ้นมาสำหรับประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ โดยตรง เช่น หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรวิศวกรรมข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ cite.dpu.ac.th ซึ่งสอนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ พร้อมด้วยห้องปฏิบัติการเฉพาะทางที่ทันสมัย โดยที่ในแต่ละปีนักศึกษาจะทำโครงงาน หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสำหรับตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและอุตสาหกรรมในอนาคต
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ