วิจัยชี้ไทยมีศักยภาพก้าวสู่ 'ครัวแห่งอนาคต' ด้วยโปรตีนจากพืช สร้างมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 พ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 5339 ครั้ง

งานวิจัยล่าสุดชี้ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางโปรตีนยั่งยืนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากปรับเปลี่ยนสู่โปรตีนจากพืช 50% ภายในปี 2050 จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1.3 ล้านล้านบาท พร้อมลดก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าการลดรถยนต์ 8.45 ล้านคันในสหรัฐฯ ด้าน Madre Brava เสนอ 3 มาตรการเร่งด่วนพัฒนาอุตสาหกรรมโปรตีนจากพืช หวังผลักดันไทยสู่ครัวแห่งอนาคตที่ยั่งยืน

งานวิจัยล่าสุดจาก Madre Brava เรื่อง “ครัวแห่งอนาคต: ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หากประเทศไทยสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน” ที่จัดทำร่วมกับ Asia Research and Engagement พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางโปรตีนที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเปลี่ยนจากการผลิตโปรตีนจากสัตว์ไปสู่โปรตีนจากพืช และการเปลี่ยนผ่านนี้สามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตโปรตีนชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นผู้ส่งออกโปรตีนสุทธิเพียงรายเดียวในทวีปเอเชีย ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม ความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหาร และชื่อเสียงในฐานะ “ครัวของโลก” ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางโปรตีนที่ยั่งยืนของโลกในอนาคต

“ในขณะนี้ ประเทศไทยยังคงพึ่งพาการนำเข้าสัตว์และวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในด้านราคาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากพืชอาจลดการพึ่งพาวัตถุดิบที่นำเข้า ลดการตัดไม้ทำลายป่า และบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการศึกษานี้จำลองสถานการณ์สามแบบ ได้แก่ การดำเนินการตามปกติ การใช้โปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ร้อยละ 30 และร้อยละ 50 ภายในปี 2050 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่สามารถเกิดขึ้นในด้านสภาพภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน และการสร้างงาน”

“การเปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ในประเทศไทย 50% ภายในปี 2050 สามารถนำมาซึ่งประโยชน์หลายด้าน ได้แก่ การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ถึง 1.3 ล้านล้านบาทและเพิ่มความพึ่งพาตนเอง การสร้างงานสูงสุด 1.15 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมโปรตีนจากพืช การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 35.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์ 8.45 ล้านคันในสหรัฐอเมริกา และการประหยัดพื้นที่การผลิตถึง 21,700 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับจังหวัดนครราชสีมา สรุปแล้ว การสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีนนี้มีศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในประเทศไทย”

ทำอย่างไรให้ประเทศไทยก้าวสู่ฐานะศูนย์กลางอาหารจากพืชแห่งทวีปเอเชีย

ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ฐานะศูนย์กลางอาหารจากพืชแห่งทวีปเอเชีย จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการส่งเสริมโปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ร้อยละ 50 ภายในปี 2050 โดยสามารถดำเนินการได้ดังนี้:

สร้างความเท่าเทียมในตลาด: รัฐบาลควรพิจารณานโยบายภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการจำหน่ายโปรตีนจากพืช และทำให้อาหารจากพืชเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อสนับสนุนการเลือกอาหารที่มีสุขภาพดีและยั่งยืน

การจัดซื้อของภาครัฐ: ส่งเสริมการจัดเมนูอาหารที่เน้นพืชในกิจกรรมของหน่วยงานรัฐบาล และเพิ่มตัวเลือกเมนูอาหารจากพืชในโรงอาหารของรัฐ โรงเรียน และโรงพยาบาล

การเปลี่ยนผ่านด้านโปรตีนอย่างเป็นธรรม: พัฒนาแนวทางสนับสนุนทางการเงินและโครงการพัฒนาศักยภาพสำหรับเกษตรกรไทย เพื่อให้สามารถเปลี่ยนมาผลิตพืชผลสำหรับโปรตีนจากพืชได้

โดยการดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของโปรตีนจากพืชในประเทศไทยและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคอีกด้วย

“เราต้องสร้างความหลากหลายในอาหารการกินของเราตอนนี้ พอพูดถึงโปรตีน เราก็จะนึกถึงเนื้อสัตว์ เนื้อปลา แต่จริงๆ แล้ว โปรตีนมาจากหลายแหล่งได้ มาจากพืช มาจากสัตว์ รวมกันได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารก็แนะนำว่าให้หาแหล่งโปรตีนจากพืชมาเสริม และโปรตีนจากพืชควรจะเป็นแหล่งโปรตีนหลักในอาหารของเรา ความหลากหลายก็คือ มาจากพืช มาจากสัตว์ รวมกัน ไม่ใช่โปรตีนจากสัตว์อย่างเดียว” วิชญะภัทร์กล่าว

บทบาทของภาครัฐและเอกชนในการเพิ่มการเข้าถึงโปรตีนที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงโปรตีนที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารขนาดใหญ่ บริการจัดหาอาหาร และผู้ผลิตอาหาร โดยจากงานวิจัยมีข้อเสนอแนะสำหรับแต่ละกลุ่มมีดังนี้

  1. ซูเปอร์มาร์เก็ต: ควรตั้งเป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดขายโปรตีนที่ยั่งยืน โดยลดราคาผลิตภัณฑ์จากพืชให้เทียบเท่ากับโปรตีนจากสัตว์ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอาหารสุขภาพ และจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากพืชในตำแหน่งที่เด่นชัด พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเตรียมอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ
  2. ผู้ผลิตอาหาร: ควรปรับใช้กลยุทธ์ความหลากหลายของแหล่งโปรตีนในแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความยั่งยืน โดยลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกให้มีรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น พร้อมราคาเหมาะสม
  3. บริษัทให้บริการอาหาร: ควรเพิ่มเมนูที่ทำจากพืชและแสดงให้เห็นควบคู่กับเมนูปกติ โดยควรตั้งราคาเมนูจากพืชให้เทียบเท่ากับเมนูปกติเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการเลือกซื้อ

“เราอยากจะเห็นอนาคตที่มีพืชมาเป็นทางเลือกให้คนรับประทาน เป็นอนาคตสำหรับคนไทยที่มีโปรตีนจากพืชที่ดีต่อสุขภาพ ที่ยั่งยืนกว่า หาซื้อได้ง่าย ไม่ต้องเสียสละ ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เราอยากจะเห็นสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่ทุกคนสามารถทำเพื่อสิ่งแวดล้อมได้โดยที่ไม่ลำบากเกินไป” วิชญะภัทร์กล่าวทิ้งท้าย

บทบาทของ Madre Brava คือการสร้างองค์ความรู้และผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีความยั่งยืน และราคาเข้าถึงได้ 100% โดยทำการศึกษาวิจัยและประยุกต์ข้อมูลที่มีอยู่แล้วให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ต่างๆ รวมถึงสื่อสารองค์ความรู้ และสร้างบทสนทนากับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้ตระหนักถึงโอกาสและเห็นความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ผลิตและบริโภคโปรตีนที่ยั่งยืน

 

รายงาน “ครัวแห่งอนาคต: ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หากประเทศไทยสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน”: ที่นี่

ดาวน์โหลดอินโฟกราฟฟิค: ที่นี่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: