สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ยุง เป็นพาหะที่ก่อให้เกิดโรคหลายโรคซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคชิคุนกุนย่า โรคไข้สมองอักเสบ เป็นต้น ดังนั้นการป้องกันยุงกัดจึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจและให้ความสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทากันยุง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หลายคนต่างหันมาเลือกใช้กัน เนื่องจากพกพาสะดวก ใช้ง่าย ในบทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ทากันยุงกัน มาดูกันเลย....
ผลิตภัณฑ์ทากันยุง ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ อย. โดยทั่วไปมี 2 แบบ คือ
- ผลิตภัณฑ์ทากันยุงที่มีสารเคมีเป็นสารออกฤทธิ์ไล่ยุง ได้แก่ ดีอีอีที (DEET), เอทิลบิวทิลอะซีทิลอะมิโนโพรไพโอเนต (Ethyl butylacetyl aminopropionate) และ อิคาริดิน (Icaridin)
- ผลิตภัณฑ์ทากันยุงที่มีน้ำมันตะไคร้หอม หรือ Citronella oil เป็นสารออกฤทธิ์ไล่ยุง
ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขทะเบียน อย. วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่รับแจ้ง
คำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ทากันยุง
- ห้ามรับประทานผลิตภัณฑ์ทากันยุง
- ควรใช้ในกรณีที่ความจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นประจำ
- ห้ามนำไปใช้แทนแป้ง/โลชัน ทั่วไป
- ห้ามใช้บริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือทาบริเวณแผล
- ควรเก็บผลิตภัณฑ์ในที่มิดชิด ห่างจากเด็ก อาหาร และสัตว์เลี้ยง
- ล้างมือทุกครั้งหลังใช้ผลิตภัณฑ์
สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์ทากันยุงในเด็กนั้นให้ดูที่คำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ว่าห้ามใช้ในเด็กอายุเท่าใด เนื่องจากสารออกฤทธิ์แต่ละชนิดจะมีข้อแนะนำการใช้ในเด็กที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก ชนิด และความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี ดังนั้นจึงควรอ่านฉลากพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญ!! ก่อนใช้อย่าลืมทดสอบการแพ้ โดยการทาบริเวณข้อพับ/ท้องแขน ถ้าไม่เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง จึงใช้บริเวณอื่นได้
ข้อมูลอ้างอิง
ป้องกันยุงกัด ทำอย่างไร
ยารักษาไข้มาลาเรียและผลิตภัณฑ์ทากันยุง
ผลิตภัณฑ์กันยุงกับเด็กเล็ก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ