เรื่องเล่าจากนิทรรศการ Four Senses of Rights ส่วนหนึ่งภายใต้โครงการเขียน เปลี่ยน โลก ที่ถูกจัดทำขึ้นโดยนักศึกษาฝึกงานจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผู้มีความเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนเป็นของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ภายในห้องสี่เหลี่ยมชั้น 3 ของอาคาร Palette Artspace ย่านทองหล่อ รูปภาพของคนทั้ง 4 คน ถูกติดอยู่ที่ริมผนังทางเข้าฝั่งทางด้านซ้ายมือ ถัดไปเพียงไม่กี่ก้าวก็เจอเข้ากับแว่น VR ที่ฉายภาพน้ำทะเลที่ค่อยๆ กัดเซาะแผ่นดินของลุงพอลและลุงพาไบ ผู้นำชุมชน Guda Maluyligal Nation ทางตอนเหนือสุดของออสเตรเลียพวกเขากำลังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อชุมชนดั้งเดิมของพวกเขา
ถัดไปจากนั้นจอ LCD เปิดคลิปวิดีโอหนึ่งที่มีเพียงแต่สีดำ พร้อมซับไตเติ้ลเสียงของใครคนหนึ่ง ที่เมื่อลองสวมหูฟังฟังเสียงก็พบว่ามันกลายเป็นเสียงสะอื้น ที่พาผู้ฟังจมดิ่งไปกับเรื่องราวของทูลานี มาเซโกะ ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในประเทศเอสวาตินีซึ่งปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทูลานีเคยออกมาวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมในประเทศของเขา ก่อนถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2566 ต่อหน้าภรรยาของเขาที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับทูลานี
ถัดไปฝั่งตรงข้ามของห้อง มีรูปของแม่ลูกคู่หนึ่งที่ถูกแขวนอยู่ระหว่างกลางของเสื้อสีดำสองตัว ด้านหน้ามีตาชั่งสองแขน ที่ด้านหนึ่งแทนด้วยสัญลักษณ์ของอำนาจที่มีน้ำหนักมากกว่าเสียงของประชาชนเพียงแค่หนึ่งคนในอีกด้าน ไม่ต่างอะไรจากเรื่องราวของอันนา มาเรีย ซานโตส ครูซ แม่ผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับลูกชายของเธอที่มีชื่อว่า เปรโตร เฮนดริค นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวบราซิล ที่ได้จัดกิจกรรมเดินเพื่อสันติภาพ เขาถูกสังหารโดยชายสวมฮู้ด 3 คน โดยมีการตั้งข้อหาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สังหารเขาแต่ทั้งหมดก็ยังลอยนวล อันนาผู้เป็นแม่จึงออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกของเธอ แต่เธอกลับถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
และสุดท้ายคืออัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการชาวไทยที่ถูกจำคุกยาวนานถึง 87 ปี เพียงเพราะการแชร์คลิปเสียงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์บนโซเชียลมีเดียของเธอ ขวดน้ำหอมสีดอกอัญชัญตั้งอยู่ที่ด้านหน้ารูปของเธอ แม้ดอกอัญชัญจะไร้กลิ่นหอมหวาน แต่ดอกอัญชัญก็มีกลิ่นและตัวตนเป็นของตัวเอง
นิทรรศการ Four Senses of Rights ทั้ง 4 เรื่องราวนี้ เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการเขียน เปลี่ยน โลก หรือ Write For Rights ที่ถูกจัดทำขึ้นโดย บรี แสงเทียน เผ่าเผือก และ ฟ้า อังคณา อัญชนะ นักศึกษาฝึกงานจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผู้มีความเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนเป็นของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน รายงานชิ้นนี้จะพาไปชมที่มาของนิทรรศการดังกล่าว และความมุ่งมั่นที่จะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของทั้ง 2 คน
4 sense of Human rights สัมผัสทั้ง 4 ผ่านเรื่องราวผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
“นิทรรศการนี้เริ่มมาจากการที่เราอยากนำเสนอเรื่องราว ของคนที่ถูกละเมิดสิทธิผ่านการมีส่วนร่วม โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 4 เราเชื่อว่าถ้าได้ทำอะไรด้วยตัวเอง มันจะจดจำได้ง่ายกว่า”
บรีเล่าเรื่องราวที่มาของนิทรรศการ 4 sense of Human rights ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 ก.พ. 2567 โดยการนำเรื่องราวของผู้คนจากโครงการเขียน เปลี่ยน โลก หรือ Write For Rights ประจำปี 2566 ทั้ง 4 คน มานำเสนอผ่านผัสสะการดู การฟัง การสัมผัสและการดมกลิ่น ในฐานะที่บรีเรียนปริญญาตรีสาขาการเมืองการปกครอง และปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เธอกล่าวว่านี่คือโอกาสแรกในชีวิตของเธอในการจัดนิทรรศการเช่นนี้
ในขณะที่ฟ้า นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็เป็นอีกหนึ่งนักศึกษาฝึกงานของแอมเนสตี้ ที่ได้เข้ามาฝึกงานฝ่ายแคมเปญ ฟ้าเล่าว่าเลือกที่จะจัดนิทรรศการในย่านทองหล่อ เพราะอยากให้ชนชั้นกลางในเขตเมือง ได้สัมผัสความรู้สึกของการถูกกดขี่ และการที่คนที่รักถูกบังคับให้สูญหาย ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับเรื่องราวของอันนา มาเรีย ซานโตส ครูซ แม่ผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับลูกชายของเธอที่ประเทศบราซิล
“แคมเปญที่เราทำอาจจะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวันนี้หรือปีนี้ แต่ถ้าเราสามารถรวบรวมพลังของผู้คนได้นานพอ มันก็สามารถเปลี่ยนได้” ฟ้ากล่าว
ฟ้าได้เสริมจากไอเดียของบรีว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะสื่อสารเรื่องราวผู้คนที่ถูกละเมิดสิทธิ ผ่านการพูดหรือการอ่าน แต่หลายครั้งคนทั่วไปก็ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ การให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมกับเรื่องราวจึงเป็นวิธีที่ดีกว่า
บรีเล่าว่ามีคนที่มาฟังเรื่องราวของทูลานี มาเซโกะ ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในประเทศเอสวาตินี เขาบอกกับเธอว่าเรื่องราวดังกล่าวทำงานกับความรู้สึกของเขาเป็นอย่างมาก
“คนที่มานิทรรศการอย่างน้อยที่สุดจะได้เรียนรู้ว่ามีคนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ทั่วโลก ผ่านเรื่องราวของพวกเขาที่เรานำมาจัดแสดง” บรีกล่าว
ซึ่งแน่นอนว่านิทรรศการดังกล่าว คือความสำเร็จก้าวหนึ่งของทั้งสองคนในฐานะนักศึกษาฝึกงาน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ทั้งสองคนต่างผ่านการเรียนรู้ และบทเรียนระหว่างทางของการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน
เหนื่อยจริง เรียนรู้จากพื้นที่จริง ประสบการณ์ฝึกงานกับแอมเนสตี้
“งานสิทธิมนุษยชนไม่ใช่งานที่สบาย มันอาจทำให้เราเกิดความกลัวและหนีไปทำอย่างอื่นไหม?”
ข้อความข้างต้นเป็นคำถามที่ฟ้าถูกถามเมื่อเข้ามาสัมภาษณ์ฝึกงานกับแอมเนสตี้ ฟ้ายอมรับว่าในวันดังกล่าวเกิดความกลัวว่าครอบครัวอาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ฟ้ากำลังจะทำ รวมทั้งความกลัวเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยที่อาจถูกคุกคามจากการทำงานได้ แต่สุดท้ายฟ้าก็เลือกที่จะทำมัน เพราะความต้องการที่จะเข้าใจงานด้านสิทธิมนุษยชน
ทางด้านบรีนั้นก็บอกว่า ความกังวลเรื่องความปลอดภัยและการถูกคุกคามเกิดขึ้นกับเธอเป็นธรรมดา แต่เธอเชื่อว่าหากทำงานตามข้อกำหนดขององค์กร สุดท้ายแล้วองค์กรและงานที่ทำจะปกป้องคนทำงานเอง
“ทุกคนที่นี่ทำงานหนัก” บรีกล่าวถึงเพื่อนร่วมงานของเธอ “ทุกคนมีความคิดเห็นที่หลากหลาย และเคารพความหลากหลายของทุกคน เราปะทะกันทางความคิด แต่ในท้ายที่สุดมันคือเป้าหมายเดียวกัน ให้สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของคนทุกคน”
โดยก่อนที่จะเข้ามาฝึกงานนั้น ทั้งสองได้แชร์เรื่องราวชีวิตที่ทำให้ทั้งคู่สนใจงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยทางฝั่งของฟ้านั้น ตัดสินใจเรียนรัฐศาสตร์ในช่วงที่เกิดการชุมนุมปี 2563
“ช่วงนั้นเกิดคำถามในใจว่า ทำไมมีคนหลายกลุ่มออกมาประท้วงตั้งคำถามกับรัฐบาล เราเลยคิดว่า สาขาที่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้คือคณะรัฐศาสตร์”
แม้ว่าฟ้าจะมาจากครอบครัวที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกันข้ามกับตัวเอง ทั้งยังถูกตั้งคำถามว่า ทำไมถึงตัดสินใจฝึกงานกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่างแอมเนสตี้ แต่ด้วยความที่ฟ้ามองว่าการฝึกงานกับแอมเนสตี้ นั้นตอบโจทย์และทำให้ฟ้าสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน
ตรงกันข้ามกับบรีที่ครอบครัวของเธอนั้น เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้ซึมซับอยู่ในตัวเธอตั้งแต่เด็ก เธอจึงเลือกที่จะมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ หลังจากเรียนจบปริญญาโท
“ในแคมเปญปล่อยเพื่อนเรา มีการเขียนจดหมายสื่อสารถึงเพื่อนที่ถูกคดีทางการเมือง” บรีเล่าเรื่องราวที่เธอจำจดได้อย่างไม่ลืมระหว่างฝึกงาน “เราได้รับมอบหมายในการถอดความจดหมาย ต้องอ่านจดหมายทุกฉบับและถอดความมันออกมา บางจดหมายทำให้เราร้องไห้ แต่ก็ทำให้เรารู้สึกดีที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้ ได้สื่อสารให้เพื่อนหลังกำแพงไปสู่สังคมว่า ยังมีคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่”
สำหรับฟ้าเองก็ได้กล่าวว่า การฝึกงานครั้งนี้คือการพัฒนาตัวเองที่ทำให้ฟ้ากล้าที่จะจับไมโครโฟน และเล่าเรื่องราวของผู้คนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนให้กับคนทั่วไปฟัง
“วันนั้นเป็นครั้งแรกที่เราเข้าใจว่าข้อความที่เราพูดไป มันมีหลายคนที่เขาฟัง” ฟ้ากล่าว
โดยหลังจากการจบฝึกงาน บรีได้รับโอกาสในการทำงานต่อกับแอมเนสตี้ ในตำแหน่ง campaign assistant ส่วนฟ้านั้นอยากใช้เวลาหลังเรียนจบในการพักผ่อนและกลับมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและความหลากหลายทางอัตลักษณ์ในอนาคต ฟ้ายังคงไม่ลืมคำถามที่ได้รับตอนสัมภาษณ์ฝึกงาน โดยในวันนี้ก็ได้รับคำตอบใหม่หลังจากผ่านไป 4 เดือน
“หลังจากฝึกงานทำให้รู้ว่า เราไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิด เรากำลังทำงานและยืนหยัดอยู่บนสิ่งที่ถูกต้องต่างหาก ความกลัวเหล่านี้ไม่มีแล้ว เราสื่อสารในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
Write for Rights ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เมล็ดพันธุ์แห่งสิทธิมนุษยชนยังคงผลิบาน
“การเขียนยังมีพลัง แม้สื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่การเขียนยังคงทำงานผ่านกระบวนการทางความคิดและอารมณ์ ทำให้เราเห็นว่ามันช่วยคนได้จริงๆ”
บรีเล่าถึงโครงการเขียน เปลี่ยน โลก หรือ Write For Rights ที่เธอคลุกคลีมาตลอด 4 เดือนของระยะเวลาการฝึกงาน บรีเห็นว่าการเขียนสามารถช่วยคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในแง่ของการกดดันรัฐบาล ทำให้คนทั่วโลกมาสนใจและเขียนจดหมายถึงผู้คนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่แอมนาสตี้เลือกมานำเสนอในแต่ละปี
ฟ้าเองมองว่าการเขียนคือวิธีการสื่อสารแบบดั้งเดิม และเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของแอมนาสตี้ รวมทั้งการเขียนยังแสดงถึงเจตจำนง ที่ผู้เขียนได้ทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง
โดยทั้งบรีและฟ้านั้นต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า คนรุ่นใหม่ต่างตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชน และไม่เห็นด้วยกับการที่ใครคนใดคนหนึ่งถูกกดขี่โดยอำนาจจากรัฐ ดังนั้นภาพที่ทั้งสองอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงคือ คนทุกคนในสังคมเท่ากัน
“เราเชื่อว่ามันค่อยๆ เปลี่ยน ไม่มีใครรั้งความเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยถ้าเปลี่ยนไม่ได้ในช่วงชีวิตของเรา ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคตต่อไป”
บรีกล่าวทิ้งท้าย ก่อนที่ฟ้าจะได้เชิญชวนให้คนที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้ลองมาฝึกงานกับทางแอมเนสตี้ ประเทศไทยเพราะยังมีเรื่องราวสิทธิมนุษยชนอีกหลายเรื่องราว ที่ไม่ได้ถูกบรรจุไว้อยู่ในตำราเรียน
ท้องฟ้าด้านนอกมืดสนิทไปแล้วในช่วงหัวค่ำของวัน แต่แสงสีและผู้คนที่ขวักไขว่ในย่านทองหล่อ ยังคงให้ความรู้สึกตื่นตัวอยู่ในเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยผู้คนนับล้าน ห้องนิทรรศการ Four Senses of Rights ตั้งอยู่เบียดชิดกับบันไดรถไฟฟ้า BTS ที่มีเพียงกระจกกั้น คนเมืองกำลังเลิกงานเดินทางกลับบ้านอย่างเร่งรีบ ในอีกไม่ช้าแสงไฟในนิทรรศการก็จะดับลงเมื่อถึงเวลาปิด ในกระบวนการสุดท้ายของนิทรรศการ บรีและฟ้าเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมได้ลงชื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลุงพอลและลุงพาไบ, ทูลานี มาเซโกะ, อันนา มาเรีย ซานโตส ครูซ และอัญชัญ ปรีเลิศ ก่อนที่จะเชิญชวนให้เขียนจดหมายถึงพวกเขาเป็นลำดับสุดท้าย
การเขียนยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญ และทำให้โครงการเขียน เปลี่ยน โลก หรือ Write For Rights ยังคงมีอยู่ต่อไป และในฐานะที่ฟ้าและบรีคลุกคลีอยู่กับโครงการดังกล่าวมาตลอด 4 เดือน เราจึงขอให้ทั้งสองเขียนหนึ่งประโยค ที่แทนความหมายเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับทั้งสองคน
“คนทุกคนเท่ากัน” ฟ้า
“สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของคนทุกคน” บรี
ร่วมลงชื่อใช้พลังของคนธรรมดาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนด้วยกันได้ที่ www.aith.or.th
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ