เสวนา 'หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ' ชี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ ตราบใดที่ไม่หาผู้รับผิดชอบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ก.ค. 2567 | อ่านแล้ว 8391 ครั้ง

เสวนาเรื่อง “หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ: การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” ระบุการจัดการกับการระบาดของปลาหมอคางดำ จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ ตราบใดที่ไม่หาผู้รับผิดชอบ

เว็บไซต์ BIOTHAI รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 มีการเสวนาเรื่อง “หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ: การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และอดีตคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพระดับชาติ (NBC) กล่าวว่า ประชาชนต่างล้วนเชื่อสิ่งที่ CPF ให้ข้อมูลว่าปลา 2,000 ตัวตายทั้งหมดและถูกฝังกลบไว้ที่ฟาร์มยี่สารแล้ว แต่มีหลักฐานอื่นที่ชี้ชัดว่าการระบาดของปลาหมอคางดำอยู่ที่ฟาร์มนั้นอยู่แล้ว โดยการระบาดเริ่มต้นที่คลองดอนจั่น คลองหลวง คลองเจ๊ก คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน และคลองผีหลอก ในเขตตำบลยี่สาร และตำบลแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม ซึ่ง CPF เป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำเพียงรายเดียว ทั้งนี้ ในรายงานของกรมประมงพบว่า การระบาดมีแหล่งที่มาร่วมกัน และไม่ได้มาจากการนำเข้าหลายครั้ง

“เราได้ข้อมูลมาว่า ปลาไม่ได้ตายเหมือนที่เป็นข่าว ฟาร์มที่เลี้ยงเป็นบ่อดิน และเพาะพันธุ์ต่อมาอีกหลายรุ่น โดยเอาไข่ไปฟักทุก 7 วัน ปลาหมอคางดำอยู่ในฟาร์มยี่สารมาโดยตลอด แม้ระบบน้ำในฟาร์มจะเป็นระบบปิด แต่ก็มีการสูบน้ำทิ้งออกนอกฟาร์ม ทำให้ปลาหลุดไปในคลองธรรมชาติ” เลขาธิการมูลนิธิชีววิถีเปิดเผย และว่า การจัดการกับการระบาดของปลาหมอคางดำ จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ ตราบใดที่ไม่หาผู้รับผิดชอบ

วิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะทำหลังจากนี้คือ เราจะมีปฏิบัติการของประชาชนตอบโต้ การเปิดเผยความจริง และปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567 เป็นประกาศที่อันตราย และอาจส่งผลทำให้มีการนำพืช ปลา หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงยิ่งกว่าปลาหมอคางดำที่ระบาดในขณะนี้ เพราะไม่กำหนดให้มีการรับผิดชอบใดๆ เลย นอกเหนือจากนี้ยังได้เตรียมการสนับสนุนการฟ้องร้องคดี ทั้งในส่วนของสภาทนายความที่จะมีการแถลงข่าวในเร็วๆนี้ และการฟ้องร้องในดคีเกี่ยวกับการปกครองและการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐด้วย

ด้านอัคคพล เสนาณรงค์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กล่าวว่า การกำกับดูแลเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้เป็นภาวะโทษกันหมด จึงต้องมีบทบาท การกำกับ แนวปฏิบัติที่ชัดเจน อย่างแผนรองรับเมื่อเกิดการหลุดลอด หรือกองทุนแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยเก็บจากเอกชนที่ทำงานวิจัย สิ่งสำคัญที่สุดคือ รัฐต้องมีสัญญา เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีว่าหากเกิดความเสียหายต้องมีคนรับผิดชอบ และสุดท้ายต้องพึ่งศาลในการชี้ถูกชี้ผิด

“ผมเชื่อว่า เกษตรกรต้องลุกขึ้นมาสู้ด้วยตัวเอง เพราะถ้าหวังจะให้รัฐฟ้อง ชาติหน้า และหวังว่าถ้าบริษัทถูกฟ้องจริงๆ ให้มีความใจกว้าง จะได้ชี้แจงต่อสาธารณชนสู่ศาล สร้างความโปร่งใส หากเอกชนมีหลักฐาน โชว์ภาพได้เลย ไม่ใช่แค่เอกสาร” อัคคพล กล่าว

อัคคพล ยกตัวอย่างว่า จากบทเรียนการระบาดของผักตบชวา ปีนี้ใช้งบประมาณในการกำจัดประมาณ 5,000 ล้านบาท และต้องใช้งบมากขึ้นทุกปี ยิ่งกำจัดก็ยิ่งขยายไปทั่วประเทศ กรณีปลาหมอคางดำก็เช่นกัน จะเกิด cobra effect ยิ่งให้เงิน มันจะยิ่งเพิ่ม คนให้เงินจะให้เงินไปเรื่อยๆ จากที่ปลาไม่มีที่อีสาน ที่เหนือ ต่อไปนี้จะมีกันหมด เพราะขนาดผักตบลอยน้ำยังกำจัดไม่ได้เลย นี่ปลาอยู่ในน้ำ จะกำจัดได้อย่างไรหมด ที่น่าเป็นห่วงคือจะไม่ใช่แค่ประชาชนแต่จะมีหน่วยงานด้วย

วินิจ ตันสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ความเห็นว่า ปลาหมอคางดำระบาดรุนแรงที่สุดคือประเทศไทย เพราะสภาพอากาศพร้อมมากเลยขยายพันธุ์ได้เต็มที่ ซึ่งพฤติกรรมของปลา เมื่อปล่อยลงบ่อน้ำไปแล้ว มันจะบริโภคสัตว์น้ำที่มีราคาของเราไป เช่น รุมกินกุ้งขาว ซึ่งชาวบ้านที่เลี้ยงกุ้ง อย่างไรก็หมด

ทั้งนี้ ข้อมูลของกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดในปี 2561 คาดการณ์ว่ามีปลาหมอคางดำ 30 ล้านตัว คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 350 ล้านบาท และปัจจุบันแค่ชุมชนแพรกหนามแดงเพียงชุมชนเดียวมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

“รัฐต้องจัดสรรงบประมาณมา คุณสร้างปัญหาต้องแก้ ไม่ใช่ให้ประชาชนมาแก้ปัญหา ให้ออกไปจับปลา น้ำมันก็ไม่ให้เขา ซึ่งมันไม่คุ้ม รัฐบาลต้องเยียวยา เสียหายเท่าไหร่ต้องมาดูกัน และมาตรฐานทั่วโลกคือ ใครสร้างปัญหาคนนั้นจ่าย เรื่องนี้ถูกปล่อยปละละเลยมานาน ทั้งที่คุยมาทุก 3 ปี เมื่อรู้ข้อมูลควรจะเริ่มได้แล้ว โดยการกำจัดให้หมดให้มากที่สุด และจำกัดพื้นที่ไม่ให้ระบาดมากกว่านี้” ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกล่าว

ด้านสุรชัย ตรงงาม กรรมการและเลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมทุกอย่างย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ เราจะทำให้มีผู้รับผิดชอบโดยไม่ลอยนวลพ้นผิดได้อย่างไร ทำอย่างไรให้มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ทำความจริงให้ปรากฏ และให้กฎหมายถูกบังคับใช้ ไม่เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ใช้สิทธิฟ้องร้องต่อรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ

บุญยืน ศิริธรรม ชาวประมงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า วันนี้เขาไม่มีปลาให้เลือกกิน เพราะในพื้นที่ไม่มีปลาอื่นอยู่เลย ปลากระบอก ปลาพื้นถิ่นถูกปลาหมอคางดำกินหมด ในฐานะชาวประมงต้องการได้วิธีทำลาย จับ หรือจัดการอย่างไรไม่ให้มันระบาดต่อ ไม่ใช่บอกให้ประชาชนจับกิน ปลามันไม่มีเนื้อ และกระดูกแข็งติดคอ

นอกจากนี้ บุญยืนยังเสนอว่า ความเสียหายนั้นประเมินได้ยาก อย่างผู้เพาะเลี้ยง ตอนนี้เพาะไม่ได้ ปล่อยปลากะพงลงไป แต่ปลาหมอมันมากกว่าก็ถูกกินหมด ส่วนคนที่คิดว่า ตัวเองได้รับความเสียหาย ให้โทรร้องเรียนได้ที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค สายด่วน 1502

อนึ่งในงานเสวนานี้ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี ยังได้เปิดภาพของฟาร์มยี่สาร ในช่วงปี 2553-2560 โดยประมาณ ซึ่งได้จากอดีตเจ้าหน้าที่ของฟาร์มดังกล่าว มาแสดงต่อผู้เข้าร่วมเสวนา เพื่อยืนยันว่าตลอดช่วงปีดังกล่าว ยังคงมีการเลี้ยงปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง

 

*หมายเหตแก้ไขข้อมูลเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2567

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: