ศอ.บต. ยุคใหม่ 'แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง' ร่วมภาคประชาสังคมเปิดเวทีระดมความเห็น

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 27 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 13906 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน.

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2567 ณ ห้องศรีนาฆารา โรงแรมเซาร์เทิร์นปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคใต้ (สนง.กสม.ภาคใต้) สถาบันพระปกเกล้าและ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการพัฒนา/หลักสูตรพัฒนาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติฯ

สำหรับ เป้าหมายที่จัดอบรมในครั้งนี้ เพื่อหนุนเสริมภาคประชาสังคมให้เป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้และเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ที่เชื่อมโยงและส่งเสริมการทำงานอย่างเป็นหุ้นส่วนการทำงาน ร่วมแลกเปลี่ยนและกำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างเป็นหุ้นส่วน เป็นแนวทางที่เน้นการร่วมมือกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชุมชน อาทิ การใช้และพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน การสร้างความรู้สึกในการเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน ตลอดจน การวางกลไกที่เหมาะสม การวางเป้าหมายและแผนงานร่วมกัน ร่วมสื่อสารและสร้างความเข้าใจร่วมกัน ด้วยการพัฒนาทักษะ และสร้างองค์ความรู้ การวิเคราะห์ข้อมูล การบริหารจัดการงบประมาณ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ในการนี้ นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้เน้นย้ำการร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนา องค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหนุนเสริมประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของพื้นที่ จชต. ที่เป็นแนวทางการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม และพร้อมขยายผลในประเด็นที่เป็นความสนใจของภาคประชาสังคม และ ศอ.บต. ตามหลักคิด“แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ให้สอดคล้องกับ (ร่าง) แผนส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2567 – 2570 ในการขับเคลื่อนกระบวนการมีส่วนร่วมของ ศอ.บต. ตามมาตรา 9 (10) ตาม พรบ.การบริหารราชการ จชต.ต่อไป

นางมัยมูเนาะ ชัยบุตรดี ชาวบ้านจากนักรบผ้าถุง อำเภอจะนะ เล่าว่า “ทะเลจะนะมีความอุดมสมบูรณ์ สร้างวิถีชีวิตที่เรียบง่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ และเป็นรายได้ของชาวบ้านทุกช่วงวัย อย่างไรก็ตามไม่ใช่ชาวบ้านจะไม่ต้องการการพัฒนา แต่คงจะดีกว่าหากภาครัฐลงมาดูแลและร่วมมือกับชาวบ้านในการพัฒนาพื้นที่ ในทางกลับกันทั้งศอ.บต.กอ.รมน. คนของรัฐ กลับอยู่กับนายทุน ไม่ได้อยู่กับชาวบ้าน ประชาชน การพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ ชาวบ้านอยากได้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าพัฒนาแล้วมันทำให้ชีวิตเขาล้มเหลว ชีวิตครอบครัวต้องล่มสลาย เขาก็ปฏิเสธ ดังนั้นหัวใจของการทำงานร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนคือการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง“

ยุบ ศอ.บต. ข้อเสนอก่อนหน้านี้

ต้องยอมรับก่อนหน้านี้มีข้อเสนอยุบ ศอ.บต. จากภาคประชาสังคมบางส่วน

ทำไมนะหรือ ก็เพราะ ศอ.บต.ในยุคภายใต้รัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ได้เป็นองค์กรแห่งความหวังในการแก้ปัญหาชายแดนใต้อีกต่อไป ตัว ศอ.บต.เองได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่เสียเอง ปรากฏการณ์การที่ ชัดที่สุดของ ศอ.บต. คือดันนิคมอุตสาหกรรมจะนะอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เพื่อให้ TPIPP สามารถตั้งนิคมอุตสาหกรรมท่ามกลางการคัดค้านอย่างหนักของคนในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านจะนะ มองว่า ศอ.บต.คือ องค์กรเพื่อนายทุนขุนศึกไปแล้ว มีไว้ก็เปลืองภาษีประชาชน นอกจากนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ศอ.บต. ยุคนี้ก็ดันนิคมอุตสาหกรรมหนองจิก 2,000 ไร่ โดยไม่สนใจเสียงคนพื้นที่ ดันโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชน 300 เมกะวัตต์ในชายแดนใต้เอื้อนายทุนเต็มที่โดยขาดการควบคุมกำกับมลพิษที่เกิดขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็แล้วแต่หลัง ศอ.บต. ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีการเปลี่ยนเลขาธิการ ศอ.บต. คนใหม่ อีกทั้งรัฐสภามีการตั้งกมธ.ปรับกฎหมาย เรียกว่า ”ปลดล็อกคำสั่ง คสช. คืน ‘สภาที่ปรึกษา’ สร้างการมีส่วนร่วม ชายแดนใต้“ (อ่านเพิ่มเติมใน: https://theactive.net/news/politics-20240529/)

ดังนั้นหวังว่า ศอ.บต.ยุคใหม่ จะเป็นที่พึ่งภาคประชาชนมากกว่านายทุน หลังการอบรมพัฒนาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมในครั้งนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: