หน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ระบุ 'ทุนพื้นที่ที่หลากหลาย' โจทย์ตั้งต้นสู่ 'การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก' ซึ่งโจทย์ดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการทำงานร่วมกัน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าและยั่งยืนมากขึ้น
“เป้าใหญ่ของการทำงานของเราคือการหนุนเศรษฐกิจฐานราก เพราะเราพูดถึงโมเดลการพัฒนาประเทศแบบใหม่ ที่ไม่ใช่การสร้าง Growth Engine หรือสร้าง New S-Curve แต่เป็นการไปเสริมและพัฒนาทักษะทั้ง Upskill และ Reskill ให้เศรษฐกิจฐานรากสามารถอยู่รอดในยุคที่ต้องแข่งขันกันสูง”
ส่วนหนึ่งจากการสะท้อนของ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่แสดงมุมมองต่องานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจฐานรากและความเข้มแข็งของชุมชน
นอกจากนี้ การใช้ Global Trend เข้ามาเป็นแรงหนุนในการขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพื้นที่ ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไปเพราะเป็นความก้าวหน้าของสายเทคโนโลยีและกลุ่มอุตสาหกรรม แต่พบว่าหากมุ่งแค่พัฒนาไปตามกระแสของโลก จะเกิดปัญหาที่ตามมา ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการรายใหญ่เกิดขึ้นได้แต่รายเล็กเกิดขึ้นยาก เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในมุมนี้จะเกิดความมั่งคั่งที่กระจุกตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ กลุ่มคนที่เข้าถึงเทคโนโลยี เข้าถึงตลาด เข้าถึงทุน เกิดการจ้างงาน แต่กลับพบว่า โอกาสที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะเติบโตนั้นค่อนข้างยาก เพราะโดนควบคุมด้วยอุตสาหกรรมรายใหญ่ 2.เกิดการจ้างงานน้อยลง เนื่องจากโดนควบคุมด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก และต้องใช้แรงงานที่มีทักษะขั้นสูงตามเทคโนโลยี
จากปัญหาดังกล่าว ดร.กิตติ แสดงทรรศนะว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางทุนวัฒนธรรม ดังนั้น โมเดลสำหรับการพัฒนาประเทศ คือต้องใช้ทุนในประเทศที่มีอยู่มาต่อยอด แม้ว่าจะมีมวลรวมเศรษฐกิจไม่มาก แต่สามารถกระจายรายได้สูงในรูปแบบ BCG Economy Model ซึ่งเป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต สามารถกระจายโอกาส กระจายรายได้ ไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นอย่างทั่วถึง จากนั้นจึงหาเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนหรือเรียกว่าผู้ประกอบการชุมชน
ทั้งนี้ การสร้างให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้มแข็งได้ต้องใช้งานวิจัยเชิงพื้นที่ไปหนุนเสริม โดยไม่ทิ้ง
อัตลักษณ์หรือบริบทของพื้นที่นั้นๆ ภายใต้หลักการ “กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยต้องเติบโตและมีส่วนแบ่งกับตลาดได้ทุกระดับ แล้วขยายไปสู่ตลาดโลก”
“จากการลงพื้นที่ที่นักวิจัยไปเจอ คือมีกลุ่มอาชีพครัวเรือนแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหรือยังไม่ได้ตั้งเป็นกลุ่มอย่างเป็นทางการ เช่น กลุ่มอาชีพการเลี้ยงกบ เลี้ยงปู เลี้ยงปลา กลุ่มจักสานฯลฯ พอเกิดกลุ่มหลาย ๆ กลุ่มรวมกันแล้วเรียกว่าเครือข่ายธุรกิจชุมชน ซึ่งหากมีการเข้าไปหนุนเสริมจากทุนที่เขามีอยู่แล้ว จะเกิดการสร้างรายได้ สร้างคุณค่าได้มากขึ้น”
ท้ายที่สุด สิ่งสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากคือ การหนุนผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังไม่เข้มแข็งให้สามารถลุกขึ้นมา สร้างงาน สร้างอาชีพ ที่จะเชื่อมโยงไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเงินในระดับท้องถิ่น มีรายได้เพียงพอสำหรับความต้องการพื้นฐานและสามารถพัฒนาตนเองได้ และดูแลครอบครัวชุมชนตัวเองต่อไป ที่จะนำไปสู่การลดความยากจนและเพิ่มโอกาสทางสังคม อีกทั้งโมเดลการพัฒนาแบบนี้สร้าง“สำนึกท้องถิ่น”ให้กับคนและกลไกในพื้นที่ให้รักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองอย่างยั่งยืนต่อไป
ซึ่งโจทย์ดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการทำงานร่วมกัน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าและยั่งยืนมากขึ้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ